ทานาคา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทานาคา งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทานาคา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระแจะ, กระแจะจันทร์, พญายา (ภาคกลาง), ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคอีสาน), ตะนาว (มอญ), พินิยา (เขมร), กาซาน่า (พม่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson, Limonia crenulata Roxb.
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดทานาคา

ทานาคาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่นใน ประเทศพม่า และไทย แล้วต่อมาจึงกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา ลาว และในมณฑลยูนนานของจีนเป็นต้น

            สำหรับในประเทศไทยพบทานาคา มากทางภาคเหนือรวมถึงภาคตะวันตกที่มีชายแดนติดกับประเทศพม่า โดยจะพบมากตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่มี ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-400 ม.

ประโยชน์และสรรพคุณทานาคา

  1. แก้ลมบ้าหมู
  2. แก้โรคลำไส้
  3. แก้ปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่
  4. ใช้เป็นยาถ่าย
  5. ช่วยขับเหงื่อ
  6. แก้สิวฝ้า
  7. เป็นยาบำรุงกำลัง
  8. บำรุงร่างกาย
  9. แก้ไข้
  10. แก้พิษ
  11. แก้อาหารไม่ย่อย
  12. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  13. เป็นยาสมานแผล
  14. ช่วยเจริญอาหาร
  15. ช่วยดับพิษร้อน
  16. แก้กษัย
  17. ช่วยบำรุงเลือด
  18. แก้โลหิตพิการ
  19. แก้ผอมแห้ง
  20. บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น
  21. ช่วยขับผายลม
  22. ใช้แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง
  23. แก้ร้อนใน
  24. ขับเหงื่อ
  25. แก้โรคประดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้ปวดท้อง ปวดลิ้นปี่ ขับเหงื่อ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงเลือด ช่วยเจริญอาหาร แก้โลหิตพิการ แก้กษัย โดยใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ขับผายลม โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดตามข้อ แก้เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้ประดง โดยใช้เนื้อไม้ และเปลือกลำต้นทานาคา มาต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ ครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ใช้แก้สิวฝ้า แก้เส้นตึง แก้ผดผื่นคัน โดยใช้เนื้อไม้มาฝนให้แห้งเป็นผง แล้วผสมกับน้ำสะอาดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น แก้โรคประดงใช้ผสมกับกับสมุนไพรตัวอื่นๆเช่น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน


ลักษณะทั่วไปของทานาคา

ทานาคา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งในระดับ และมักจะต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น แต่เนื้อไม้สีขาว ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ลำต้น และกิ่งมีหนามแข็ง ยาวตรง หนามออกเดี่ยว หรือ เป็นคู่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร แต่กิ่งอ่อน และยอดอ่อนเกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 4-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร โคน และปลายใบมีลักษณะสอบแคบ ส่วนขอบใบเป็นซี่ฟันเลื่อยแบบตื้นๆ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษจนถึงหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวใบเนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆ กระจายอยู่ทั่วไป และมีเส้นแขนงของใบมีอยู่ประมาณข้างละ 3-5 เส้น ส่วนก้านใบแผ่เป็นปีก มีลักษณะเป็นครีบออกทั้งสองข้าง และเป็นช่วงๆ ระหว่างคู่ของใบย่อย และก้านช่อใบสามารถยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ ตามบริเวณซอกใบ ดอกสีขาว หรือ สีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ออก หรือ ลู่ไปทางก้านเล็กน้อย กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมันด้านใน สำหรับลักษณะกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันประปราย เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันใต้ยอดเกสรเพศเมีย จานฐานดอกเกลี้ยง ส่วนก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยยาว 8-10 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน ผลเป็นแบบผลสด รูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ในผลมีเมล็ดรูปทรงกลมสีน้ำตาลอมส้มอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด โดยเมล็ดจะมีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านผลยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร

ทานาคา

การขยายพันธุ์ทานาคา

ทานาคา สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เมล็ด และการปักชำ โดยในประเทศพม่าจะมีการนิยมนำมาปลูก และขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์กันมาก ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่นิยมนำมาปลูก เพราะเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวนาน ในการนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะเป็นการนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์มากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งเนื้อไม้ที่มีคุณภาพดีนั้นจะต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถนำมาใช้ได้ สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ทานาคา นั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปักชำไม้ยื่นต้นอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้ และเปลือกรากทานาคา พบว่า ทานาคามีสารประกอบทางเคมีจำนวนมาก เช่น 2-Hydroxyquinoline, N-acetyl-Nmethyltryptamine, 2-Quinolone, Tanakine tanakamine, 4-Methoxy-1-methyl-2-quinolone, 7-Methoxy-6-(2, 3-epoxy-6-methylbutyl), Sitosterol, Suberosin, Arbutin, Suberenol, Coumarin และ Marmesin

โครงสร้างทานาคา  

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทานาคา

            ฤทธิ์ปกป้องผิวจากแสงอัลตราไวโอเลต มีผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสำคัญที่ชื่อ marmesin ที่พบในเนื้อไม้ และเปลือกรากของทานาคา เป็นสารกรองแสงอัลตร้าไวโอเลตได้ โดยแสงอัลตร้าไวโอเลตจะก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังโดยกระตุ้นการสังเคราะห์ เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1 (matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจน ที่ช่วยคงความแข็งแรง และยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนัง และลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจนพบว่าสารสกัดลำต้นทานาคา สามารถยับยั้ง MMP-1 และเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน จึงพิสูจน์ภูมิปัญญาที่ชาวเมียนมาร์ใช้ได้ดี

            ฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า สาร arbutin มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ซึ่งเม็ดสีเมลานินเป็นเหตุของฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว โดยฤทธิ์ในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ tyrosinase ที่มีบทบาทในการสังเคราะป็เม็ดสีผิวหรือเมลานิน โดยการเปลี่ยนสารตั้งต้นไทโรซินให้เป็นเมลานินได้

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจับพบว่าผงทานาคา และสารสกัดน้ำของทานาคายังแสดงฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น ลดการเสื่อมของเซลล์ และต้านการอักเสบ ส่วนสาร suberosin ที่พบในทานาคายังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยป้องกันรักษาสิวได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของทานาคา

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ผงทานาคาที่มีคุณภาพดี และมีสารสำคัญครบถ้วนนั้นต้องเป็นผงทานาคา ที่ได้จากเนื้อไม้ทานาคาที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมี หลักการพิสูจน์ผงทานาคาแท้แบบง่ายๆ โดยให้เอามะนาวบีบลงบนผงทานาคา หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าผงทานาคานั้นจะถูกผสมด้วยดินสอพอง ส่วนอีกวิธีหนึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสัมผัส โดยห่างหยิบเอาผงทานาคาใส่นิ้วมือแล้วลองบี้ดูหากเนียนเหมือนแป้งฝุ่น ก็แสดงว่ามีการผสมดินสอพองมา ซึ่งทานาคาของแท้จะต้องหยาบนิดหน่อย เหมือนเม็ดข้าวสารคั่ว และสำหรับการใช้ส่วนต่างๆ ของทานาคาเพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายานั้นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำยายานั้นๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใจใช้ทานาคาในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ทานาคา
  1. พร้อมจิต ศรลัมพ์ วงศ์สถิต ฉั่วกุล และสมภพ ประธานธุรารักษ์.(2535). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ กรุงเทพฯ, บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “กระแจะ”. หน้า 83.
  3. สุบัณฑิต  นิ่มรัตน์, ตรีรัตน์ สุขสวัสดิ์, วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย .การประเมินการปนเปื้อนแบคทีเรียในผลิตภัณฑ์ทานาคาที่จำหน่ายในสาธารณรัฐแห่งสหภาคเมียนม่าร์. วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 42. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2557. หน้า 781-791
  4. รศ.พร้อมจิต คอลัมน์. หน้าสวยด้วย ”ทานาคา ของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. กระแจะ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargorder.com/main.php?action=viewpage&pid=6
  6. Lindsay, S.W., Ewald, J.A., Samung, Y., Apiwathaasorn, C. and Nosten, F. (1998). Thanaka and deetmixture as a mosquito repellent for use by Karen women. Med Vet Entomol. 12: 295-301
  7. Kanlayavattanakul M, Phrutivorapongkul A, Lourith N, Ruangrungsi N. Pharmacognostic specification of Naringi crenulata stem wood.J Health Res 2009;23(2):65-9.
  8. Amornnopparattanakul P, Khorana N, Viyoch J. Effects of Hesperethusa crenulata’s bark extract on production of pro-collagen type I and inhibition of MMP-1 in fibroblasts irradiated UVB. International Conference on Biological, Biomedical and Pharmaceutical Sciences (ICCEPS' 2012), Pattaya, 28-29 July, 2012.
  9. Nayar, M.N.S., Sutar, C.V. and Bhan, M.K. (1971) Alkaloids of the stem bark of Hesperethusa crenulata. Phytochemistry. 10: 2843–2844
  10. Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak, P. and Heinrich, M. Biological activities and safety of Thanaka (Hesperethusa crenulata) stem bark. J Ethnopharmacol 2010;132(2):466-72.
  11. Figueroa, M., Rivero-Cruz, I., Rivero-Cruz, B., Bye, R., Navarrete, A. and Mata, R. (2007). Constituents, biological activities and quality control parameters of the crude extract and essential oil from Arracacia tolucensis var. multifida. J Ethnopharmacology. 113: 125–131.
  12. Joo SH, Lee SC,Kim SK.  UV absorbent, marmesin, from the bark of Thanakha, Hesperethusa crenulata L.J Plant Biol2004;47(2):163-5.
  13. Abu Zarga, M.H. (1986). Three new simple indole alkaloids from Limonia acidissima. J Nat Product. 49: 901–904