ไฟเดือนห้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ไฟเดือนห้า งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ไฟเดือนห้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เทียนแดง (ภาคกลาง), เทียนใต้ (ภาคอีสาน), บ้าสะแดง, เทียนทำ, พริกนก (เชียงใหม่), เต็งจ้อน (ลำปาง), ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์), ไม้เมืองจีน, ดอกไม้เมืองจีน (สุราษฏร์ธานี), นางแย้ม (โคราช), พอดอซู, พอสู่เหนาะ (กะเหรี่ยง), คำแค่ (ไทยใหญ่), จิงเฟีงฮวา, เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Asclepias curassavica Linn.
ชื่อสามัญ Blood Flower, Bastard ipecacuanha, Tropical milkweed, Silkweed, Mexican butterfly weed, Butterfly Weed, Milkweed, Silkweed
วงศ์ APOCYNACEAE- ASCLEPIADACEAE

ถิ่นกำเนิดไฟเดือนห้า 

ไฟเดือนห้าจัดเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อนบริเวณเมกซิโกลงมา สำหรับในประเทศไทยถูกนำเข้ามาเป็นไม้ประดับเป็นเวลานานแล้ว และได้กระจายพันธุ์ไปยังหลายภูมิภาค จึงมีชื่อพื้นเมืองที่หลากหลาย จนในปัจจุบันไฟเดือนห้า อาจจัดอยู่ในวัชพืชชนิดหนึ่งของไทย โดยสามารถพบได้บริเวณชายป่าทั่วไป ตามข้างทาง หรือ ที่รกร้างต่างๆ รวมถึงตามเรือกสานไร่นาของเกษตรกร เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณไฟเดือนห้า

  1. ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น
  2. แก้อักเสบ
  3. แก้ฝี
  4. เป็นยาบำรุงธาตุไฟ
  5. แก้บิด
  6. ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวเย็นหมดสติ
  7. รักษากลาก เกลื้อน
  8. ใช้เป็นยาขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟ
  9. แก้เลือดทำพิษในเรือนไฟ (การติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร)
  10. ขับประจำเดือน
  11. ใช้ฆ่าเชื้อโรคเรื้อน
  12. ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
  13. แก้หนองใน
  14. ใช้เป็นยาถ่าย
  15. ช่วยขับเสมหะ
  16. รักษาอาการฟกช้ำจากการหกล้ม
  17. แก้เหงื่ออกมาก
  18. แก้เต้านมอักเสบในสตรี
  19. ใช้ขับประจำเดือน
  20. รักษาฝีหนอง
  21. รักษาอาการคันจากโรคผิวหนัง
  22. ช่วยทำให้อาเจียน
  23. ใช้เป็นยากัดหูดตาปลา

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้

ใช้บำรุงธาตุไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับพิษเลือด ในเดือนอยู่ไฟ แก้เหงื่ออกมาก แก้เต้านมอักเสบในสตรี ใช้ขับประจำเดือน รักษาฝีหนอง โดยใช้เมล็ดไฟเดือนห้า แห้ง 6-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มหากใช้รากให้ใช้ 15-30 กรัม ใช้ฆ่าเชื้อโรคเรื้อน ขับพยาธิไส้เดือน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย ช่วยทำให้อาเจียน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้กัดหูดตาปลา รวมถึงรักษาอาการคันจากโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โดยใช้น้ำยางหรือน้ำคั้นจากต้นมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของไฟเดือนห้า

ไฟเดือนห้า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้นขึ้นมา กิ่ง และก้านมียางสีขาวคล้ายน้ำนมอยู่ภายใน ส่วนกิ่งอ่อน และก้านดอกมีขน ใบดอกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่หอก กว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น  ดอกออกเป็นช่อกระจุกคล้ายช่อซีร่มบริเวณง่ามใบ และปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยประมาณ 7-20 ดอก ดอกย่อยมีสีแดง ยาวเกือบ 1 เซนติเมตร กลีบดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนคล้ายกงล้อ หรือ มีลักษณะพับงอ และมีรยางค์รูปมงกุฎสีเหลือง หรือ ส้มยื่นออกมา มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีขนนุ่มสั้นๆ ขึ้นปกคลุม ยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ผล เป็นแบบผลแห้งรูปทรงยาวคล้ายรูปกระสวย ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่แบนสีน้ำตาลเข้ม ยาว 6-7 มิลลิเมตร เป็นกระจุกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร 

ไฟเดือนห้า

การขยายพันธุ์ไฟเดือนห้า

ไฟเดือนห้าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ มากกว่าการนำมาปลูก เพราะไฟเดือนห้าจัดเป็นวัชพืชในแปลงเกษตรของไทย ดังนั้นจึงไม่มีการนิยมนำมาปลูกแต่อย่างใด สำหรับการขยายพันธุ์ในธรรมชาติของไฟเดือนห้า นั้น จะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดจากฝักที่แห้ง แตกออกแล้วเมล็ดหล่นลงพื้นดิน จากนั้นได้รับน้ำฝนจากธรรมชาติ แล้วจึงงอกออกมาเป็นต้นใหม่ในแต่ละปี

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของไฟเดือนห้า พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น Ascurogenin, Curassvicin Asclepin, Curassicin, Calotropin ส่วนในรากพบสาร glycoside และ asclepiadin อีกด้วย

            นอกจากนี้ในน้ำยางยังพบสารประกอบอีกหลายชนิด เช่น quercetin, sterols, acidic mucilage, caffeic acid และ cardenolide ในต้นพบสาร β-sitosteol เป็นต้น

โครงสร้างไฟเดือนห้า

   ที่มา : Wikipedai

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของไฟเดือนห้า

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของไฟเดือนห้า ในต่างประเทศ ระบุว่าในยางของไฟเดือนห้ามีเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่ชื่อ ซีสเตอีน โปรทีเอส (cysteine proteases) ทำให้เลือดหยุด และแผลเปื่อยหายเร็วขึ้น ยังพบว่าสามารถต้านการเจริญของเชื้อรา เช่น เชื้อกลากเกลื้อน และแคนดิดา (Candida albicans) ได้

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยระบุว่า สาร cardenolides ที่พบในน้ำยางของไฟเดือนห้ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในหลายทดลองได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของไฟเดือนห้า

มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า ทุกส่วนของต้นไฟเดือนห้า จะมียางสีขาว ซึ่งเป็นพิษ สารพิษในยางขาวมีหลายชนิด เช่น คาร์ดิโนลายด์ (cardenolides) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ซึ่งทำให้หัวใจสัตว์ทดลองเต้นแรงขึ้น และหากบริโภคยอดอ่อน ใบ ลำต้น ราก และดอกของไฟเดือนห้า ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดพิษขึ้นได้โดยอาการพิษจะมีอาการปวดท้อง มีไข้ หายใจลำบาก ม่านตาขยาย และกล้ามเนื้อเกร็ง อาจทำให้ตายได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไฟเดือนห้าเป็นพืชที่มีพิษ หากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้ ดังนั้นวิธีการใช้ตามตำรายาต่างๆ ผู้ที่เตรียมยาต้องเป็นหมดที่ชำนาญ รู้จักการสะตุเพื่อลดพิษก่อนนำมาปรุงยา
  2. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานสมุนไพรไฟเดือนห้า เพราะมีฤทธิ์ขับประจำเดือน
  3. ในการใช้น้ำยางของไฟเดือนห้า มากัดหูด ตาปลา หรือ การรักษาผดผื่นคันโรคผิวหนังชนิดต่างๆ อาจทำให้เกิดแผลเป็นใหญ่ที่แพ้ได้

เอกสารอ้างอิง ไฟเดือนห้า
  1. ไฟเดือนห้า. สารานุกรมพืช. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ไฟเดือนห้า”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 414.
  3. ไฟเดือนห้า. คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง. นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2563
  4. ไฟเดือนห้า. อุทยานธรรมชาติวิทยาศิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=137