ผักเบี้ยใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเบี้ยใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักเบี้ยใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเบี้ยดอกเหลือง (ภาคกลาง), ผักกาโค้ง (โคราช), ผักตะก้ง, ผักตาโก้ง (อุบลราชธานี), ผักอีหลู (ไทยใหญ่), ตือบ้อฉ่าย, แบขี่เกี่ยง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Portulaca consanguinea Schltdl, Portulaca fosbergii Poelln.
ชื่อสามัญ Purslane, Pigweed purslane
วงศ์ PORTULACACEAE

ถิ่นกำเนิดผักเบี้ยใหญ่

ผักเบี้ยใหญ่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของเอเชียใต้บริเวณประเทศอินเดียแล้วต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย ผักเบี้ยใหญ่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชที่มักพบในนาข้าว และแปลงผักต่างๆ เช่น ขึ้นช่าย หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ เป็นต้น และยังสามารถพบได้ตามบริเวณถนนหนทางต่างๆ อีกด้วย

           นอกจากนี้ผักเบี้ยใหญ่ ยังสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณดินที่ชื่นแฉะ หรือ บนฝั่งริมน้ำ ในแปลงเกษตรทั่วไป
 

ประโยชน์และสรรพคุณผักเบี้ยใหญ่

  1. ใช้แก้ร้อน
  2. ช่วยดับพิษ
  3. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  4. ช่วยฟอกโลหิต
  5. แก้หอบหืด
  6. แก้บิดถ่ายเป็นเลือด
  7. แก้ปวดฟัน
  8. แก้ปวดหู
  9. แก้ไอ
  10. แก้ไอกรน
  11. รักษาหนองใน
  12. รักษาแผลบวมอักเสบ
  13. แก้ฝีประคำร้อย  
  14. แก้ปัสสาวะขัด
  15. ช่วยหล่อลื่นลำไส้
  16. แก้ท้องร่วง
  17. แก้หวัด
  18. แก้ริดสีดวงทวารแตกเลือดออก
  19. แก้เบาหวาน  
  20. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  21. แก้ไฟลามทุ่ง
  22. รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  23. ใช้หล่อลื่นลำไส้
  24. ช่วยบำรุงผิวพรรณ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. แก้บิดถ่ายเป็นเลือด ใช้ต้นสด 550 กรัม ล้างสะอาดเอาไปนึ่ง 3-4 นาที แล้วตำคั้นเอาน้ำมาประมาณ 150 ซี.ซี. ให้กินครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง
  2. แก้หนองใน ปัสสาวะขัด ใช้ต้นสดคั้นเอาน้ำดื่ม
  3. แก้ไอกรน โดยใช้ต้นผักเบี้ยใหญ่ สด 250 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 100 ซีซี แล้วแบ่งกินวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
  4. แก้หวัด แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน นำส่วนเหนือดิน 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด โขลกคั้นเอาน้ำ กรองเอากากทิ้งผสมน้ำผึ้งลงไป 1 ช้อนโต๊ะ จิบกินแก้หวัด ระงับอาการไอ
  5. แก้ท้องร่วง ใช้ต้นสด 250-500 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลพอประมาณให้กินเรื่อยๆ จนหมดใน 1 วัน กินติดต่อกัน 2-3 วัน หรือ อาจใช้ต้นสดล้างสะอาดผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงกินครั้ง 3 กรัม กับน้ำอุ่น วันละ 3 ครั้งก็ได้
  6. ใช้ฟอกโลหิต แก้หอบหืด แก้ปวดหู แก้หนองใน ปัสสาวะขัด แก้เบาหวาน ใช้หล่อลื่นลำไส้ โดยใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม หรือ ต้นสด 60-120 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
  7. แก้พยาธิปากขอ ผู้ใหญ่ใช้ยานี้สด 150-170 กรัม ต้มเอาน้ำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 50 ซีซี และใส่น้ำตาลทรายพอประมาณลงไปผสมกินวันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3 วัน
  8. แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ใช้ใบสดกับส้มกบ (Oxalis Thunb.) อย่างละเท่าๆ กัน ต้มเอาไอรนพอเริ่มน้ำอุ่นใช้ชะล้าง วันละ 2 ครั้ง
  9. แก้แผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ใช้ต้นสดตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วใช้ทา หรือ ใช้นึ่งแล้วตำพอก
  10. แก้แผลแมลงกัดต่อย ใช้ต้นสดคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของผักเบี้ยใหญ่

ผักเบี้ยใหญ่ จัดเป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ ลำต้นเตี้ยแผ่ไปตามพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร หรือ อาจชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำมีสีเขียวอมม่วง หรือ ม่วงอมแดง ลำต้น และก้านกลมเรียบไม่มีขน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน โดยจะออกตามข้อของลำต้นและกิ่ง รูปร่างของใบคล้ายลิ้น หลังใบมีสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบมีสีแดงเข้ม ก้านใบสั้น ใบหนาผิวเรียบเป็นมัน กว้าง 5-15 มม. ยาว 1-3 ซม. ปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามยอดดอกมี ขนาดเล็ก สีเหลืองสด มักออกเป็นกลุ่ม 3-5 ดอก ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กช้อนกันเป็นคู่ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด ซึ่งแต่ละกลีบเป็นรูปหัวใจคว่ำ ลงที่ปลายกลีบ ตรงโคนดอกมีขนหรือเยื่อบางๆ หุ้มอยู่ โดยดอกจะเป็นแบบ 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน เกสรตัวผู้มี 8-12 อัน รังไข่มี 1 ห้อง ปลายแยกออกเป็นเส้นบางๆ 4-6 เส้น ผลเป็นรูปทรงกลม หรือ รี มีสีน้ำตาลเมื่อผลแก่จะแตกตรงกลางออกเป็น 2 ซีก เมล็ดเป็นทรงกลมมีสีเทาดำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มม. โดยใน 1 ผลมีเมล็ดจำนวนมาก

ผักเบี้ยใหญ่ 

การขยายพันธุ์ผักเบี้ยใหญ่

ผักเบี้ยใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และโดยส่วนมากแล้วการขยายพันธุ์ผักเบี้ยใหญ่ จะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากเมล็ดของผักเบี้ยใหญ่ มีความทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี มีอัตราการงอกสูง จึงสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วเป็นวงกว้าง จนมีการจัดให้ผักเบี้ยใหญ่เป็นวัชพืชทางการเกษตรชนิดหนึ่ง

ผักเบี้ยใหญ่

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของทุกส่วนของผักเบี้ยใหญ่พบว่ามีสารสำคัญที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น dopamine, dopa,noradrenaline, Oxalic acid, amyrin, alanine, lauric acid, serine, quercetin, sitosterol, campesterol และ Tocopherol เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีการนำมายอดอ่อนของผักเบี้ยใหญ่ ไปรับประทานเป็นอาหารซึ่งจะให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการยอดอ่อนผักเบี้ยใหญ่ (100 กรัม)

             - พลังงาน                      37                    กิโลแคลอรี

             - โปรตีน                       2.2                   กรัม

             - ไขมัน                         0.3                   กรัม

             - คอเลสเตอรอล            7.9                   กรัม

            - แคลเซียม                    115                  มิลลิกรัม

            - ฟอสฟอรัส                   40                    มิลลิกรัม

            - ธาตุเหล็ก                    1.4                   มิลลิกรัม

             - วิตามินเอ                   2,200              หน่วยสากล

            - วิตามินB1                  0.06                 มิลลิกรัม

            - วิตามินB2                  0.14                 มิลลิกรัม

            - วิตามินB3                  0.8                   มิลลิกรัม

            - วิตามินC                    21                    มิลลิกรัม

โครงสร้างผักเบี้ย

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักเบี้ยใหญ่

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งชาย และหญิงจำนวน 30 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผงเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 10 ก./วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ก. ร่วมกับโยเกิร์ตไขมันต่ำ 40 มล. และกลุ่มที่ได้รับยาลดน้ำตาลในเลือด metformin ขนาด 1500 มก./วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับเมล็ดผักเบี้ยใหญ่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และ low density lipoprotein cholesterol (LDL) ในเลือดลดลง แต่ระดับของ high density lipoprotein cholesterol (HDL) เพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน บิลิรูบิน (total และ direct bilirubin) และเอนไซม์ alanine-, aspartate- และ gamma glutamyl transaminase (ALT, AST, and GGT) ในตับจะลดลง แต่ระดับของอัลบูมินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ น้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายของผู้ป่วยก็ลดลงด้วยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบผลกับยา metformin แล้ว พบว่าเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ มีประสิทธิภาพดีกว่าในการลดน้ำตาลในเลือด ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และลดไขมันในผู้ป่วยเบาหวาน

           ฤทธิ์ระงับปวด และอักเสบ มีการศึกษาวิจัย และทดลอง โดยเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของส่วนเหนือดินผักเบี้ยใหญ่ (Portulaca oleracea L. subsp. sativa ( Haw. ) Celak.) แก่หนูขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องจะแสดงฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบ เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ใช้ diclofenac sodium แต่เมื่อให้ทางปากจะไม่สามารถแสดงฤทธิ์ดังกล่าว

           ฤทธิ์ต้านการหดเกร็ง และขยายหลอดลม มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของหลอดลมของยาต้มใบผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 1.0 และ 1.25 มก./มล. ในหลอดลมของหนูตะเภา พบว่าสามารถต้านการหดเกร็งของหลอดลมจากการเหนี่ยวนำด้วยโพแทสเซียมคลอไรด์ 60 มิลลิโมลาร์ แต่ประสิทธิ์ภาพต่ำกว่ายาขยายหลอดลม Theophylline ยาต้มใบผักเบี้ยใหญ่ขนาด 0.75,1.0 และ 1.25 มก./มล. สามารถต้านการหดเกร็งของหลอดลมจากการเหนี่ยวนำด้วย methacholine 10 มคก. ซึ่งมีประสิทธิภาพเท่ากับยาขยายหลอดลม theophylline ที่ขนาดเท่ากัน

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับฤทธิ์ขยายหลอดลมของยาต้มผักเบี้ยใหญ่ขนาด 0.25 มล./กก.ในผู้ป่วยโรคหอบหืด 30 คน พบว่ามีผลเพิ่มประสิทธิภาคการทำงานในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย (ค่า  FEV1 และ  PEFR เพิ่มขึ้น) โดยประสิทธิภาพเท่ากับยาทานขยายหลอดลม theophylline (3 มล./กก.) แต่ประสิทธิภาคต่ำกว่ายาพ่นขยายหลอดลม   salbutamol 200 มคก.

           ฤทธิ์รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูกของสตรี มีการศึกษาในสตรีที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน (premenopause) ที่มีอายุเฉลี่ย 45.3 ± 3.7 ปี ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูก ที่ประกอบด้วย menorrhagia คือ ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด > 7 วัน หรือ > 80 มล./วัน ในแต่ละรอบเดือน metrorrhagia คือ ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด > 1 ครั้ง/เดือน และมาไม่สม่ำเสมอ polymenorrhea คือ ภาวะการมีเลือดประจำเดือนออกถี่เกือบทุก 21 วัน และ intermenstrual bleeding คือ ภาวะเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือนปกติ ซึ่งรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล และมีแนวโน้มต้องผ่าตัดมดลูก จำนวน 10 คน ซึ่งทุกคนถูกตัดชิ้นเนื้อในผนังมดลูกเพื่อส่งตรวจ พบว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาที่มดลูก จำนวน 6 คน เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ 1 คน ถุงน้ำที่เยื่อบุผิวมดลูก 1 คน ส่วนที่เหลือ 2 คน ไม่พบความผิดปกติ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานผงของเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ขนาด 5 กรัม ผสมกับน้ำหวานร้อน ทุก 4 ชม. ภายใน 48 ชม. หลังจากการเริ่มมีรอบเดือน นาน 3 วัน ผู้ป่วยทุกคนต้องจดบันทึกปริมาณ ระยะเวลา รูปแบบการมีเลือดออกของรอบเดือน พร้อมทั้งติดตามผลนาน 3 เดือน พบว่า 80% ของผู้ป่วย ระยะเวลา และปริมาณการมีเลือดออกของรอบเดือนลดลง และรูปแบบการมีรอบเดือนกลับสู่สภาวะปกติหลังจากรับประทานผงของเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ แต่มีผู้ป่วย 2 คน ที่ไม่ได้ผล (1 คน เป็นเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ อีก 1 คน เป็นเนื้องอกที่มดลูก) โดยไม่มีผลข้างเคียง และอาการเลือดออกผิดปกติไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกในผู้ที่ทำการรักษาแล้วได้ผลดี ในช่วงที่ติดตามผลนาน 3 เดือน จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าผงเมล็ดผักเบี้ยใหญ่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูกในคนได้ดี

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักเบี้ยใหญ่

มีรายงานผลการทดสอบความเป็นพิษของผักเบี้ยใหญ่ พบว่าเมื่อให้วัวกินใบผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 48 กรัมต่อน้ำหนักตัว(กิโลกรัม) ไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
  2. ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการใช้ รวมถึงบุคคลทั่วไปก็ไม่ควรรับประทานผักเนื้อใหญ่สด ในปริมาณมากๆ เพราะใบสดของผักเบี้ยใหญ่ มีกรดออกซาลิกสูง อีกทั้งยังมีปริมาณโพแทสเซียม สูง
  3. ในการใช้ผักเนื้อใหญ่เป็นสมุนไพร ควรใช้ในปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ผักเบี้ยใหญ่เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค

เอกสารอ้างอิง ผักเบี้ยใหญ่
  1. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.ผักเบี้ยใหญ่. คอลัมน์สมุนไพร น่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 2. มิถุนายน 2522
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ผักเบี้ยใหญ่”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 104.
  3. ผลลดน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ผักเบี้ยใหญ่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 498-499.
  5. ณัฏฐณิชชา มหาวงษ์. สมุนไพรกับโรคหอบหืด,จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 29. ฉบับที่ 3. เมษายน 2555. 15 หน้า
  6. ฤทธิ์ระงับปวด และอักเสบของผักเบี้ยใหญ่ .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. Boskabady MH, Broushaki MT, Aslani MR. Relaxant effect of Portulaca Oleracea on guinea pig tracheal chains and its possible mechanism(s) of action. Medical hypotheses and research 2004;1(2/3):139-47.
  8. Malek F, Boskabady MH, Borushaki MT, Tohidi M. Bronchodilatory effect of Portulaca oleracea in airways of asthmatic patients. J Ethnopharmacol 2004;93(1):57- 62.