เลี่ยน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เลี่ยน งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เลี่ยน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เซี่ยน, เคี่ยน (ภาคเหนือ), เลี่ยนใบใหญ่, เกษมณี, เลี่ยนดอกม่วง (ภาคกลาง, ทั่วไป), ชวนเลี่ยนจื่อ (จีนกลาง), ชวนเลี่ยนจี้ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Malia azeedarach Linn.
ชื่อสามัญ Umbrella china berry, Bestard Cedar, Bead tree, Pride ofIndica, Persian Lilac, China tree
วงศ์ MELIACEAE

ถิ่นกำเนิดเลี่ยน

เลี่ยนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเอเซียใต้ ตั้งแต่อิหร่าน และแถบภูเขาหิมาลัย ต่อเนื่องมาจนถึงประเทศไทย รวมถึงตอนใต้ของจีนญี่ปุ่น แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิคจนถึงประเทศออสเตรเลียทางด้านตะวันออก และปาปัวนิวกินี นอกจากนี้พบในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล และอาร์เจนตินา

            สำหรับในประเทศไทยพบเลี่ยน ตามธรรมชาติในป่าทั่วไป เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง โดยมักจะขึ้นอยู่ตามบริเวณที่ราบเป็นเขาไหล่เขา ริมลำห้วยที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 500 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณเลี่ยน

  1. ใช้ขับพยาธิ
  2. แก้ไข้
  3. แก้โรคเรื้อน
  4. รักฝีคันทะมาลา
  5. รักษาเหา
  6. แก้ผดผื่นคัน
  7. แก้โรคผิวหนัง
  8. ใช้บำรุงไฟธาตุ
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. ขับระดูในสตรี
  11. บำรุงโลหิต
  12. ใช้พอกแผล
  13. แก้น้ำร้อนลวก
  14. ช่วยให้เจริญอาหาร
  15. ช่วยบำรุงร่างกาย
  16. แก้ม้ามโต
  17. แก้ปวดในข้อ
  18. แก้นิ่ว
  19. แก้ปวดศีรษะ ปวดประสาท  
  20. ช่วยคลายเครียด
  21. แก้ร้อนใน
  22. ใช้รักษาอาการปวดบริเวณใต้ชายโครง
  23. รักษาอาการปวดท้อง
  24. ใช้รักษาอาการไส้เลื่อน
  25. ทำให้อาเจียน
  26. รักษาอัณฑะปวดบวม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. ใช้ขับพยาธิหากเป็นพยาธิตัวกลมในเด็กเล็ก ใช้เปลือกต้นหรือเปลือกราก 3 กรัม ต้นน้ำดื่ม แต่หากเป็นพยาธิปากขอ ใช้เปลือกต้น 600 กรัม ใส่น้ำ 3,000 มล. ต้มให้เหลือ 600 มล. และใช้เปลือกผลทับทิม 25 กรัมเติมน้ำ 300 มล. ต้มให้เหลือ 120 มล. นำทั้งสองมาผสมกัน กินครั้งละ 30 มล.
  2. ใช้แก้โรคเรื้อนขับพยาธิตัวกลม โดยใช้ผลแห้ง 15-20 กรัม มาต้นน้ำดื่ม
  3. ช่วยบำรุงโลหิต ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว โดยใช้ใบสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม
  4. ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน โดยใช้เปลือกต้น หรือ เปลือกรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  5. แก้อาการปวดศีรษะ ปวดประสาท โดยการนำใบ และดอกมาตำพอกศีรษะ
  6. ใช้แก้ผื่นคัน ปวดฟัน โดยใช้เปลือกต้นเลี่ยน ต้มน้ำชะล้าง หรือ ใช้บ้วนปาก
  7. ใช้แก้หิด โดยใช้เปลือกต้น และกิ่งเผาเป็นเถ้า ผสมน้ำมันหมูทา
  8. ส่วนในการแพทย์แผนจีนระบุถึงขนาดการใช้คลายเครียด บรรเทาปวด แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว โดยใช้ใบสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม และใช้ผลแห้งขนาด 4.5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของเลี่ยน

เลี่ยนจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับสะเดา ลำต้นเปล่าตรง สูง 10-30 ม. ทรงพุ่มกลม ค่อนข้างโปร่ง โดยมีขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. เป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว เปลือกต้นสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นร่องตามแนวยาว กิ่งก้านมีสีเขียว กิ่งแก่มีสีม่วง ไม่มีขน กระพี้มีสีขาว แกนมีสีน้ำตาลอ่อน ใบมีขนอ่อนๆ ปกคลุม ทั้งนี้เลี่ยน พันธุ์เล็กใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนพันธุ์ใบใหญ่ จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20-30 ซม. มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยม โคนเชื่อมต่อกันเป็นรูปถ้วยลายแยก 5-6 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายมน และโค้งไปข้างหลัง มีสีชมพู หรือ ขาวอมม่วงอ่อน มีกลิ่นหอม โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-2.5 ซม. และมีเกสรเพศผู้มีสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นหลอด 10 อัน ออกดอกเดือน ธ.ค.-เม.ย. ผลมีลักษณะกลมรี ยาวได้ประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีรสฝาด ส่วนผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อน หรือ สีน้ำตาลเหลือง ภายในผลจะแบ่งออกเป็น 4-5 ช่อง และในแต่ละช่องจะมีเมล็ดรูปเหลี่ยมสีดำอยู่ 1 เมล็ด

เลี่ยน 

การขยายพันธุ์เลี่ยน

เลี่ยนสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด ติดตา การปักชำ แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดมากกว่าเพราะสามารถทำได้ง่าย สะดวก และประหยัด โดยมีวิธีการดังนี้

           แยกเอาเนื้อหุ้มเมล็ดออกจากผลที่แก่จัดแล้วนำเปลือกหุ้มเมล็ดไปตากแดดจัดๆ 2–3 วัน จากนั้นเปลือกหุ้มเมล็ดก็จะร้าวตรงรอยต่อระหว่างช่องเมล็ด จากนั้นใช้ฆ้อนเล็กๆ ทับเบาๆ ให้เปลือกหุ้มเมล็ดแตกตามรอยร้าว เมล็ดอยู่ภายในจะหลุดออกมา แล้วนำไปแช่น้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แล้วจึงหว่านลงในแปลงเพาะ หรือ กระบะเพาะที่เตรียมวัสดุเพาะไว้ (โดยวัสดุเพาะเป็นทรายหยาบผสมขี้เถ้าแกลบในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน) หลังจากหว่านแล้วกลบเมล็ดด้วยทรายละเอียดบางๆ แล้วรดน้ำเช้า–เย็น ประมาณ 5–8 วัน เมล็ดก็เริ่มงอก และการงอกจนถึง 40 วัน หลังจากเพาะเมล็ด จึงย้ายชำกล้าอ่อนลงถุง จากนั้นดูแลบำรุงรักษากล้าไม้จนอายุประมาณ 6 เดือน หรือ กล้าไม้สูงประมาณ 30–50 เซนติเมตร ความโตที่คอราก 0.3–0.5 เซนติเมตร จึงสามารถนำไปปลูกได้ สำหรับการปลูกระยะปลูกที่เหมาะสมควรเป็น 3x3 เมตร หรือ 4x4 เมตร หลุมปลูกไม้เลี่ยน ใช้ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอย หรือ ปุ๋ยหมัก หลุมละ 1 กิโลกรัม

เลี่ยน

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของเลี่ยน ปรากฏว่า พบสารสำคัญๆ หลายชนิด เช่น เปลือกต้นพบสาร Triacontane, kulinone, B-sitosterol, ajaridin และ Glucose ส่วนใบพบสาร Carotenoid, azadirachin, Meliantin ในผลพบสาร Bakayanin, Neo-bakayanin, toosendanin, Margosine, Steroid, Fixed oil และกำมะถัน ในเมล็ดพบสาร Tetranortriterpenoids และในน้ำมันจากเมล็ดพบสารกลุ่ม Fatty acid เช่น Palmitic acid, Oleic acid, Linoleic acid, Myristic acid รวมถึงสาร salanine อีกด้วย

โครงสร้างเลี่ยน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเลี่ยน

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งของสารสกัด 12-O Acetylazedarachin B ที่สกัดได้จากผลเลี่ยนในหลอดทดลอง (in vitro) โดยทำการทดลองเลี้ยงเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60) เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร (AZ521) เซลล์มะเร็งปอด (A549) และเซลล์มะเร็งเต้านม (SK-BR-3) ในอาหารเลี้ยงเซลล์ (RPMI 1640 medium สำหรับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เซลล์มะเร็งเต้านม และ DMEM medium (สำหรับเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร) ที่มีสารสกัด 12-O Acetylazedarachin B อยู่ 50 นาโนโมลลาร์ จากการวัดอัตราการอยู่รอดของเซลล์ด้วยวิธี MTT assay พบว่า สารสกัดเลี่ยน 12-O Acetylazedarachin B มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งปอด การวิเคราะห์การเหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis ของเซลล์ผ่านการกระตุ้นที่ตัวรับสัญญาณ (death receptor) ของเซลล์ ด้วยการย้อมเซลล์ด้วยสี Vnnexin V-propidium iodide และตรวจด้วย flow cytometry พบว่าสารสกัด 12-O Acetylazedarachin B มีผลเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ด้วยวิธี western blot analysis พบว่าสารสกัด 12-O Acetylazedarachin B มีผลลดการแสดงออกของโปรตีน procaspase-3, 8 และ 9 และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน cleaved caspase-3, 8 และ 9 และอัตราส่วนการแสดงออกของโปรตีน Bax/Bcl-2 ผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัด 12-O Acetylazedarachin B ที่สกัดได้จากผลเลี่ยนมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis และ necrosis

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัย สารลิโมนอยด์จากเปลือกต้นเลี่ยน โดยเมื่อนำไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60 : myeloid leukemia), เซลล์มะเร็งตับ (SMMC-7721 : hepatocellular carcinoma), เซลล์มะเร็งปอด (A-549 : lung cancer), เซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 (human breast adenocarcinoma), และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (SW480 : colorectal cancer) ของคน พบว่าค่าความเข้มข้นครึ่งหนึ่ง IC50 ที่เป็นพิษกับเซลล์มะเร็งดังกล่าวมีค่าอยู่ระหว่าง 0.003-0.555 ไมโครโมลาร์อีกด้วย

           ฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลม มีการศึกษาวิจัย สาร Toosendanin ที่สกัดได้จากเปลือกด้วยแอลกอฮอล์ ปรากฏว่ามีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมของหนูที่อยู่นอกร่าง โดยจากการทดลองพบว่า สารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 สามารถทำให้ส่วนหัวของพยาธิมึนชา และสารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 5,000-9,000 จะทำให้พยาธิมีอาการมึนชาทั้งตัว ทำให้พยาธิไม่สามารถยึดเกาะภายในลำไส้ได้

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ระบุว่า สารสกัดแอลกอฮอล์ และสารทูเซนดานิน (toosendanin) จากผลเลี่ยนมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ และสารทุเซนดานินยังมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในกระต่าย ส่วนสารสกัดผลเลี่ยน ด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 10% มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา

การศึกษาทางพิษวิทยาของเลี่ยน

มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดผลด้วยคลอโรฟอร์ม เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 เท่ากับ 1.5 กรัม/กิโลกรัม ส่วนสารสกัดผลด้วยอีเทอร์ เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ เท่ากับ 1.04 กรัม/กิโลกรัม และเมื่อฉีดสารทูเซนดานินที่สกัดจากผลเลี่ยน เข้าช่องท้อง หลอดเลือดดำ ใต้ผิวหนัง และให้ทางปากหนูถีบจักร พบว่าขนาดสารทูเซนดานินที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50(LD50) มีค่าเท่ากับ 13.8, 14.6, 14.3 และ 244.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ เมื่อฉีดสารดังกล่าวเข้าใต้ผิวหนัง และให้ทางปากหนูขาว ฉีดเข้าหลอดเลือดดำกระต่าย พบว่าขนาดสารดังกล่าวที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย ร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 9.8, 120.7 และ 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์และผู้ที่มีอาการแขนขาเย็น กลัวหนาว ไม่กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก และใส ท้องร่วง ปวดท้อง เป็นชันฝ้าบนลิ้นขาว
  2. ผลเลี่ยน มีพิษอาจทำให้ท้องเสีย อาเจียน อัมพาต และเสียชีวิตได้
  3. ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ เนื่องจากยามีพิษอันจะทำให้ตับเกิดอาการเป็นพิษได้
  4. สารพิษที่พบในผลเลี่ยน คือ แอลคาลอยด์ azaridine ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียน และท้องร่วงอย่างแรง เป็นอัมพาต หายใจไม่สม่ำเสมอ หายใจขัด หากเด็กเล็กๆ กินผลเลี่ยนเข้าไปเพียง 6-8 ผล จะเป็นอันตรายถึงตายได้ การรักษาเบื้องต้นทำได้โดย ทำให้อาเจียน ให้ดื่มนมหรือไข่ขาวเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

เอกสารอ้างอิง เลี่ยน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เลี่ยน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 703-705.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์.ก่อนกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ).ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตตินันทน์.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2544.) สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร. บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. หน้า 170. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เลี่ยน ”. 
  4. สุนทรี  สิงหบุตรา.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด .พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร. โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์. 2536.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “เลี่ยน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 504.
  6. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.สมุนไพรก้าวใหม่.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร. บริษัท เมติคัล มีเดีย จำกัด 2537.
  7. ฤทธิ์เป็นพิษกับเซลล์ของสารลิโมนอยด์จากต้นเลี่ยน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ธาตรี ผดุงเจริญ,สุชาดา สุขหร่อง. พืชสมุนไพรจากดอกไม้สีม่วง...ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 48-49
  9. ผลเลี่ยน. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และกรมแพทย์ทางเลือก กระทรวงศาสตร์สุข พ.ศ.2557.หน้า 133-135
  10. สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือฐานข้อมูลพืชพิษ กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์กรมการศาสนา 2545.
  11. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เลี่ยน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 703-705.
  12. ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากผลเลี่ยน (Melia azedarach) .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  13. เลี่ยน. กลุ่มยาแก้โรคเรื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_21_2.htm