โสมไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โสมไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โสมไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โสมคน (ภาคกลาง), ว่านผักปั๋ง (ภาคเหนือ), กู่เหยิ่นเซิน, โทวหนิ่งเซียม (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.
ชื่อสามัญ Java ginseng, Sweetheart, Fame Flower, Surinam Purslane, waterleaf, Ceylon Spinach
วงศ์ PORTULACACEAE
 

ถิ่นกำเนิดโสมไทย

เชื่อกันว่าโสมไทย เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังดินแดนต่างๆ ในอเมริกาใต้ และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยนั้นสามารถโสมไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบได้ตามบริเวณที่ชุ่มชื้นใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือ ตามที่ชุ่มชื้นในป่าเต็งรัง และป่าโปร่งทั่วไป รวมถึงตามบริเวณบ้านพักอาศัยในชนบททั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณโสมไทย

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. ช่วยบำรุงกำลัง
  3. แก้อ่อนเพลีย
  4. แก้อักเสบ
  5. ช่วยลดอาการบวม
  6. ช่วยบำรุงปอด
  7. แก้ธาตุอ่อน
  8. แก้ไอ
  9. แก้ไข้
  10. แก้ปัสสาวะขัด
  11. แก้ท้องเสีย
  12. แก้ไอเรื้อรัง
  13. แก้บวมอักเสบมีหนอง
  14. ช่วยขับน้ำนม
  15. แก้ปัสสาวะขัด
  16. แก้เหงื่อออกมากผิดปกติ
  17. แก้ไอเป็นเลือด
  18. แก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  19. รักษาอาการของโรคไต
  20. รักษาอาการของโรคตับ
  21. รักษาโรคหอบหืด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้อ่อนเพลีย โดยใช้เหง้าแห้งามาดองกับเหล้าใช้รับประทานวันละ 1 เป๊ก ใช้บำรุงปอด แก้อักเสบ แก้ปัสสาวะขัด แก้ไข แก้ไอ ไอเป็นเลือด โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้เหงื่อออกมากผิดปกติ หรือ แก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ โดยใช้รากสด 60 กรัม มาต้มกินกับน้ำ วันละ 2-3 ครั้ง ใช้ขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด โดยใช้ใบอ่อนมาทำอาหารรับประทาน แก้บวมอักเสบมีหนอง รักษาฝีอักเสบมีหนอง โดยใช้ใบสดนำมาตำให้แหลกผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น ส่วนการใช้โสมไทย ในตำรายาจีนระบุว่าใช้บำรุงร่างกายหลังการฟื้นไข้ใหม่ๆ โดยใช้รากแห้ง 30 กรัม รากโชยกึงป๊วก 30 กรัม และโหงวจี้ม่อท้อ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน แก้ธาตุอ่อน กระเพาะลำไส้ไม่มีเรี่ยวแรง ถ่ายกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้รากแห้ง 30 กรัม และพุทราจีน 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน ไอเรื้อรังซึ่งเกิดจากปอด ด้วยการใช้รากแห้ง หงู่ตั่วลักแห้ง อย่างละประมาณ 30 กรัม เจียะเชียงท้อแห้ง 15 กรัม และแบะตง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน


ลักษณะทั่วไปของโสมไทย

โสมไทย จัดเป็นพืชล้มลุกคล้ายกับโสมคน ขนาดเล็ก สูง 60-80 เซนติเมตร หรือ อาจสูงได้ถึง 1 เมตร ต้นเป็นเหลี่ยมตั้งตรงน้ำ แตกกิ่งบริเวณโคนต้นลำต้นอ่อนมีสีเขียวเปราะ และหักง่าย เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเนื้อแข็ง มีเหง้าใต้ดินเมื่อรากโตเต็มที่จะมีรูปร่างเหมือนโสมจีน หรือ โสมเกาหลีเปลือกรากเป็นสีขาว หรือ สีน้ำตาลเนื้อในสีขาวนวล มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว แบบเรียบสลับลักษณะของใบเป็นรูปมนรี หรือ รูปไข่กลับ ปลายมน หรือ แหลมสั้น ใบกว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 5-7.5 ซม. โดยปลายใบจะโตกว่าโคนใบ โคนสอบแหลม เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวมันวาว ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบชูตั้ง ดอกออกเป็นช่อบริเวณยอด หรือ ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ หรือ เป็นรูปกลมรี ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นสีม่วงแดงไม่มีกลิ่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 2 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย สีขาวใส ห่อหุ้มดอกในขณะตูม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน สีเหลือง ล้อมรอบเกสรเพศเมีย ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นเส้นบางๆ คล้ายกับด้ายสีชมพู และมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายแฉกจะแยกออกเป็น 3 แฉก ผลเป็นรูปทรงกลม หรือ กลมรี ผิวเรียบขนาดเล็ก ประมาณ 3 มิลลิเมตร ผลจะเป็นสีเขียว แล้วจะเป็นสีเหลืองอ่อน สีแดง และสีเทาเข้ม เมื่อแก่จัดจะแตกทำให้เมล็ดฟุ้งกระจายตกลงบนพื้นดิน ภายในผลมีเมล็ดสีดำลักษณะกลมแบนผิวเรียบขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด

โสมไทย

การขยายพันธุ์โสมไทย

โสมไทยสามารถขยายพันธุ์โสมไทย ได้โดยการใช้เมล็ด โดยการนำเมล็ดที่แก่ (สีดำ) ของโสมไทย มาแช่น้ำ 1 คืน แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะที่ผสมวัสดุเพาะไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มนำไปวางไว้ที่ร่ม หรือ เรือนเพาะชำ รอจนต้นมีอายุ 20-30 วัน หรือ สูง 10-15 เซนติเมตร และมีใบจริง 2-3 คู่ จึงนำไปปลูกในแปลงได้ สำหรับวิธีการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้ล้มลุกประเภทอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

โสม

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของโสมไทย พบว่ามีสารสำคัญๆดังนี้ ในใบ และลำต้นพบสารกลุ่ม flavonoids และ Chromene นอกจากนี้ยังพบสาร javaberine A,B , octacosanol, hentriacontane, dotriacontane, triacontane, heneicosanoic acid, β-sitosterol และ stigmasterol นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของโสมไทย ยังพบสาระสำคัญ อาทิเช่น camphor, borneol, limonene, camphene, myrcene, cineol, pinene, pinostrobin, thujene, rubramine เป็นต้น

 โครงสร้างโสมไทย

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโสมไทย

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโสมไทย พบว่าสารสกัด Octacosanol จากรากของโสมไทยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสเริม ลดคอเลสเตอรอล ฤทธิ์รักษาโรคผิวหนังอักเสบ ฤทธิ์รักษาอาการโรคพาร์กินสัน และฤทธิ์รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาทางพิษวิทยาของโสมไทย

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. โสมไทยเป็นพืชที่มีปริมาณกรดออกซาสิกสูงอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต โรคเกาต์ ไม่ควรรับประทานรวมถึงคนที่มีภาวะสุขภาพปกติ ก็ควรบริโภคแต่น้อยเช่นกัน
  2. ในการใช้โสมเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป หรือ ใช้ติดเป็นประจำก่อนจะใช้โสมไทย เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง โสมไทย
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “โสมคน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 792-794.
  2. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.ดร. 2531. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. 880 หน้า.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “โสมไทย ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 568.
  4. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
  5. โสมไทย. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=117