ผักแขยง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักแขยง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักแขยง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกะแยง, ผักคะแยง, ผักอีออม (ภาคอีสาน), ผักพา (ภาคเหนือ), ผักลืมผัว (ภาคกลาง), สุ่ยฝูโหยว, จุ้ยหุ่ยยัง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila aromatica (Lam.) Merr
วงศ์ Scrophulariaceae
 

ถิ่นกำเนิดผักแขยง

ผักแขยงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียซึ่งคลอบคลุมในหลายๆประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พบว่า ไทย ลาว กัมพูชา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยัง ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยพบผักแขยง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแล้วจะพบได้มากทางภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยจะพบตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ริมคันนา ริมหนองน้ำ และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าวอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณผักแขยง

  1. ช่วยระบายท้อง
  2. แก้ไข้
  3. แก้ไอ
  4. แก้ปวดประจำเดือน
  5. ช่วยขับลม
  6. ช่วยเจริญอาหาร
  7. ขับน้ำนม
  8. แก้ท้องเสีย
  9. แก้อาหารเป็นพิษ
  10. ช่วยในการฆ่าเชื้อโรค
  11. เป็นยาระบายอ่อนๆ
  12. แก้อักเสบ
  13. แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
  14. แก้พิษเบื่อเมา
  15. แก้คันตามผิวหนัง
  16. แก้กลาก
  17. ใช้ลดอาการบวมซ้ำ
  18. แก้ฝี
  19. แก้พิษงู

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ แก้ไอ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร ขับน้ำนม ระบายท้อง โดยใช้ต้นสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้พิษเบื่อเมาโดยใช้ต้นแห้งที่เก็บเอาไว้ประมาณ 1 ปี มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ฝี กลาก และอาการคันตามผิวหนังโดยใช้ต้นสดตำพอก หรือ คั้นเอาน้ำทา หรือ จะต้มน้ำชะล้าง บริเวณที่เป็นก็ได้ ใช้ลดอาการบวมซ้ำ โดยนำลำต้นผักแขยง มาขยำแล้วใช้ประคบ ใช้แก้อาการวิงเวียนศีรษะโดยใช้ลำต้น และใบสด นำมาขยำดม


ลักษณะทั่วไปของผักแขยง
 

ผักแขยง จัดเป็นพืชล้มลุกเนื้ออ่อนมีอายุปีเดียว ลำต้นมีลักษณะอวบทรงกลม ตั้งตรงผิวลำต้นมีสีเขียวอ่อน และมีขนปกคลุม ด้านในลำต้นกลวงเป็นรูอากาศ เห็นได้ชัดโดยลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.35 เซนติเมตร สูงประมาณ 20-35 เซนติเมตร ลำต้นมีกลิ่นฉุนแรง และให้รสเผ็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงข้ามตามข้อปล้องของลำต้น หรือ อาจมี 3 ใบ ก็ได้ รูปทรงของใบเป็นแบบใบรีรูปของขนานมีสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ใบยาว 1.5-5 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ฐานใบหุ้มลำต้น ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ไม่มีก้านใบ ด้านบนของใบมีตุ่มเล็กๆ ที่เป็นต่อมน้ำมันอยู่มาก ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ อาจจะแทงเป็นช่อ บริเวณซอกใบ โดยในแต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีเขียวมีขน ลักษณะดอกเป็นรูปกรวยกลีบดอกสีแดงสีชมพูอ่อน หรือ สีม่วงยาว 0.3 เซนติเมตร และแยกออกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนมาก และมีก้านเกสรตัวผู้สีขาว 4 อัน ผลมีลักษณะรียาว ปลายผลเรียวแหลม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีน้ำตาล เมื่อแก่เต็มที่ ผลจะปริแตกออกเป็น 4 แฉก ต้านในมีเมล็ดรูปทรงกลมสีน้ำตาลอมดำขนาดเล็กจำนวนมาก

ผักแขยง

การขยายพันธุ์ผักแขยง

ผักแขยงสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด และการปักชำลำต้นนั้น จะเป็นการนำมาปักขำเฉพาะการปลูกในกระถางเพื่อใช้สำหรับในครัวเรือนตามชนบทเท่านั้น สำหรับการขยายพันธุ์หลักๆ ของผักแขยง นั้น ส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดในธรรมชาติมากกว่าการนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์เพราะผักแขยงก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าว และมักจะถูกกำจัดออกจากแปลงนาทั่วๆไป

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของผักแขยง พบว่ามีสารสำคัญๆ อยู่หลายชนิดเช่น Stigmasterol, β-sitosterol, Isothymusin, Nevadensin, Salvigenin, Chlorogenic acid, Caffeic acid และในส่วนของ ต้น และใบของผักแขยงยังมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.13% ประกอบไปด้วยสาร d-limonene และ d-perillaldehyde

            นอกจากนี้ในส่วนที่กินได้ของผักแขยง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่กินได้ของผักแขยง (100 กรัม)

–          พลังงาน :                                  32                    กิโลแคลอรี

–          เส้นใย :                                     1.5                   กรัม

–          แคลเซียม :                               55                    มิลลิกรัม

–          ฟอสฟอรัส :                            62                    มิลลิกรัม

–          เหล็ก :                                      5.2                   มิลลิกรัม

–          วิตามิน A :                               5,862               หน่วยสากล

–          วิตามิน B1 :                              0.02                 มิลลิกรัม

–          วิตามิน B2 :                             0.87                 มิลลิกรัม

–          วิตามิน B3 :                              0.6                   มิลลิกรัม

–          วิตามิน C :                               5                      มิลลิกรัม 

โครงสร้างผักแขยง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักแขยง

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักแขยง รวมถึงน้ำมันหอมระเหยของผักแขยงพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งเต้านม ฤทธิ์ต้านอนูมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ฤทธิ์ระงับประสาท ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักแขยง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานผักแขยง เพราะอาจทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ ส่วนสตรีหลังคลอดควรระมัดระวังในการรับประทานผักแขยงเพราะอาจเกิดการแพ้ได้เช่นกัน
  2. ผักแขยงมีสารแคลเซียมออซาเลตสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานผักแขยง เพราะหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานเป็นประจำอาจทำให้เกิดนิ่วในอวัยวะต่างๆ ได้

เอกสารอ้างอิง ผักแขยง
  1. ไทยโพสต์. “หอมผักแขยง ผักกลางนารสร้อนแรง ต้านมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net.  [20 ส.ค. 2014].
  2. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข. 2542 ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า
  3. ดร.ประไพภัทร คลังทรัยพ์.ผักแขยง ...กลิ่นแรงแต่ดีและมีประโยชน์. คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้านปีที่ 34. เล่มที่ 4. 6. กุมภาพันธ์ 2556. หน้า 20-23
  4. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 129
  5. กองโภชนาการ กรมอนามัย 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม 48 หน้า.
  6. ผักแขยง/ผักกะออมประโยชน์ และสรรพคุณผักแขยง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. สุกัญญา แซ่ลี้.สุมาลี บุญศรี. จินตนา ชัยสุโรจน์.อรุณ จันทร์คำ 2555.Proceeding of NESTC pp 72-79.