พญาวานร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พญาวานร งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พญาวานร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านพญาวานร, ว่านง็อก (ทั่วไป), ฮวานง็อก (เวียนนาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseuderanthemum palatiferum (Nees) Radlk.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eranthemum palatiferum Nees
ชื่อสามัญ Hoan-Ngoc
วงศ์ Acanthacea

ถิ่นกำเนิดพญาวานร

พญาวานรเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเวียดนาม โดยเป็นพืชที่ถูกค้นพบในป่าแถบเวียดนามเหนือ ประมาณปี ค.ศ.1990 และมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ต่อมาจึงได้มีการปลูกขยายทั้งเวียนนาม สำหรับในประเทศไทยนั้นพญาวานร ถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มทหารผ่านศึกสมัยสงครามเวียดนาม และในปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทยแล้ว
 

ประโยชน์และสรรพคุณพญาวานร 

  1. ลดความดันโลหิต
  2. แก้ท้องเสีย
  3. แก้ไขข้ออักเสบ
  4. แก้คออักเสบ
  5. แก้กระเพาะอาหารอักเสบ
  6. แก้ลำไส้อักเสบ
  7. แก้ตกเลือด
  8. ช่วยรักษาแผล
  9. แก้ท้องผูก
  10. ช่วยป้องกันโรคอหิวาต์
  11. ป้องกันท้องเสียในสัตว์เลี้ยง
  12. แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  13. บรรเทาอาการประสาทหลอน
  14. แก้ไข้หวัด
  15. รักษาโรคเบาหวาน
  16. รักษาตับอักเสบ
  17. รักษาอาการทางเดินอาหารไม่ปกติ
  18. แก้อาการท้องไส้ไม่ปกติ
  19. รักษาอาการคอพอก
  20. แก้เคล็ด
  21. รักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่นข้น
  22. รักษาอาการมดลูกหย่อนของหญิงคลอดบุตรใหม่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

มีการใช้ในพญาวานร ตามสรรพคุณของตำรายาพื้นบ้านเวียนนามดังนี้

  1. ใช้รักษาอาการท้องไส้ไม่ปกติ, ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยรับประทานใบสด 7-14 ใบ วันละ 2 ครั้ง
  2. ใช่รักษาโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้โดย รับประทานใบสดครั้งละไม่เกิน 7 ใบ วันละ 2 ครั้ง และต้องรับประทานติดต่อกันไปจนครบ 50 ใบ
  3. ใช้รักษาโรคตับอักเสบ คอพอก โดยรับประทานใบสดครั้งละ 7 ใบ วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไปจนครบ 150 ใบ
  4. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง รับประทานใบสดวันละ 5-9 ใบ
  5. ใช้รักษาโรคเบาหวานโดยรับประทานใบสด ในผู้ชายรับประทาน 7 ใบ ส่วนผู้หญิงรับประทานวันละ 9 ใบ ต่อวัน และให้รับประทานเป็นเวลาภายใน 90 วัน
  6. ใช้รักษาอาการปัสสาวะแสบ ปัสสาวะเป็นเลือดโดยนำใบสด 14-21 ใบ คั้นเอาน้ำข้นๆ รับประทาน
  7. ใช้สำหรับสตรีหลังคลอดบุตร รับประทานใบสดวันละ 1 ใบ โดยรับประทานทุกวันจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วกว่าปกติ และจำทำให้ฟื้นสุขภาพได้เร็วขึ้น


ลักษณะทั่วไปของพญาวานร

พญาวานร จัดเป็นไม้พุ่มพันธุ์ใบขนาดเล็ก สูง 1-3 เมตร ลำต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมตั้งตรง เปลือกต้นผิวเรียบสีเขียว ใบออกตามโคนง่านใบโดยจะออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอกมีสีเขียวมันเงา กว้าง 3-5 ซม. ยาว 5-15 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลมเรียว ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ผิวใบมีขนยางห่าง (pilose) ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงแบบช่อเชิงลด (spicilifom paniculate) มีใบประดับรูปแถบ หรือ อาจไม่มีใบประดับเลยก็ได้ มีก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 0.5 ม.ม. และที่ก้านดอกย่อยกลีบเลี้ยง รวมถึงใบประดับจะมีขนสั้นนุ่ม สำหรับกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปแถบ กลีบดอกเป็นสีชมพู น้ำเงิน ม่วง หรือ เกือบดำ มีหลอดดอกรูปทรงกระบอก และดอกเป็นรูปปากแตร หรือ รูปห้าแฉก

พญาวานร

การขยายพันธุ์พญาวานร

พญาวานรสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำ และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำยอด ซึ่งวิธีนี้จะเกิดรากเร็ว และต้นก็ตั้งตัวได้เร็วอีกด้วย

           ทั้งนี้พญาวานร เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือ ดินมีความชื้นสูง ยังเป็นพืชที่ชอบที่ร่มหรือแสงแดดรำไร โดยเมื่อโตเต็มที่จะให้ใบมากถึง 700–1,000 ใบ/ต้น หากเด็ดยอดจะสามารถแตกกิ่งได้มากขึ้น และยังเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั้งในแปลงและในกระถางตามความเหมาะสมของพื้นที่


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของใบพญาวานร พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้

           Flavonoids, β-sitosterol, phytol, 3-0-(β-D-glucopyranosyl)-sitosterol, สารผสมระหว่าง stigmasterol กับ poriferasterol,n-pentacosan-1-ol, สารผสมระหว่าง kaempferol-3-methyl ether-7-0-beta-glucoside กับ apigenin-7-0-β-glucoside, 1-triacontanol,salicylic acid,glycerol 1-hexadecanoate,palmitic acid และ pseuderantin เป็นต้น

โครงสร้างพญาวานร

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของใบพญาวานร

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสกัดเอทิลอะซีเดท และบิวทานอลจากใบ ซึ่งมีฟลาโวนอยด์เป็นองค์ประกอบหลักมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดลองโดยใช้ human blood peroxidase modei

            ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำสารสกัดจากใบพญาวานร (PPE) มาทดสอบพบว่า หนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ได้รับสารสกัดจากใบพญาวานร (PPE) 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดระดับ Fasting plasma glucose (FPG) ได้อย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อได้รับนาน 14 วัน พบว่ามีระดับ FPG ต่ำกว่าหนูในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งได้รับยา glibenclamide 0.25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังสามารถเพิ่มระดับ high-density lipoprotein (HDL) และช่วยลดระดับ Low-density lipoprotein (LDL) , total cholesterol (TC), triglyceride (TG), blood urea nitrogen (BUN), alkaline phosphatase (ALP) ได้อีกด้วย แต่การได้รับสารสกัดจากใบพญาวานร มากเกินไปอาจก่อให้เกิดพิษได้

            ฤทธิ์ต้านเชื้อรา ส่วนสกัดเอทิลอะซีเดท และบิวทานอลจากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida atbicans และ C.stellatoides

            ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนสกัดเอทิลอะซีเดท และบิวทานอลจากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 10 ชนิด โดยเฉพาะส่วนสกัดเอทิลอะซีเดทจะมีฤทธิ์แรงต่อเชื้อ Salmonella typhi 158,Shigella flexneri และ E.coli

            ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด สารสกัดเมทานอลจากใบ ความเข้มขัน 100 มคก./มล.มีฤทธิ์อย่างอ่อน (น้อยกว่า 25%) ในการยับยั้งการสร้างหลอดเลือดในเซลล์ human umbilical venous

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบ เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์มะเร็ง B16 melanoma โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ครึ่งหนึ่ง (GI50) คือ มากกว่า 100 มคก.มล.

การศึกษาทางพิษวิทยาของใบพญาวานร

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. แม้ว่าในตอนนี้จะมีการนำพญาวานร ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังขาดข้อมูลการศึกษาทางคลินิกในคนขนาดที่เหมาะสมในการใช้ และความเป็นพิษ ดังนั้นจึงควรพิจารณา และระมัดระวังในการใช้
  2. เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้พญาวานร เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ใบพญาวานร
  1. เบญจพร ศรีสุวรมาศ และคณะ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสมุนไพรพญาวานร โดยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สมุนไพร : พ.ศ.2552
  2. วงศ์สกัดฉั่วสกุล , อรัญญา ศรีบุศราคัม, ฮวานง็อก (Hoan Ngoc) สมุนไพรในกระแส. จุลสารข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 25. ฉบับที่ 3. เมษายน 2551.หน้า 3-6
  3. ว่านพญาวานร ความเป็นมงคล ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูก. พืชเกษตรดอทคอม.เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Tran, T.A.and Ziegler,S.(2001). Utilization of medicinal plants in Bach Ma National Park, Vietnam. Medicinal Plant Conservation 7,3-5.
  5. กองโรงพยาลภูมิภาค (2542) คู่มือการปฏิบัติงานแบคทีเรีย.กรุงเทพฯ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.กองวิทยาศาสตร์การแพทย์. (2529.)
  6. Le Vam Lan; Ziegler,S. and Grever,T. (2002). Utilization of forest products and environmental services in Bach Ma National Park, Vietnam. Hanoi Vietnam:German Development Service
  7. ข้อมูล.รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด. ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์.ฉบับวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 หน้า 5
  8. ต้นพญาวานร.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5420
  9. กัญจนา ธีระกุล และคณะ (2538) จุลชีววิทยาปฏิบัติการ. กรุงเทพฯคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  10. Dieu HK,Loc CB< Yamasaki S,Hirata Y.The effects of Pseuderanthemum palatiferum,a new medicinal plant, on growth performances and diarrhea of piglets JARQ 2006;40(1):85-91.