สีเสียดเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สีเสียดเทศ งานวิจัยและประโยชน์ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สีเสียดเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สีเสียดแขก (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Uncaria gambir (Hunter) Roxb..
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ourouparia gambir (Hunter) Baill., Uruparia gambir (Hunter) Kuntze, Nauclea gambir Hunter
ชื่อสามัญ Pale catechu, Gambier, Gambir catechu, Terra japonica
วงศ์ Rubiaceae

ถิ่นกำเนิดสีเสียดเทศ 

สีเสียดเทศ เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ บริเวณประเทศพม่า อินเดีย ลาว กัมพูชา ส่วนในประเทศไทยพบได้ประปราย แต่ไม่มากเท่าสีเสียดไทย ดังนั้นคนไทยจึงนิยมนำสีเสียดไทยไปใช้เป็นสมุนไพรมากกว่าสีเสียดเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณสีเสียดเทศ

  1. ใช้เป็นยาห้ามเลือดที่ออกทางจมูก
  2. ใช้แก้อาการท้องร่วง
  3. รักษาแผลเปื่อย
  4. รักษาริดสีดวงทวาร
  5. ใช้ทาบริเวณน้ำกัดเท้า
  6. แก้บิดมูกเลือด 
  7. ใช้ทาสมานแผล
  8. เป็นยาห้ามเลือด
  9. แก้ลงแดง
  10. แก้กำเดา
  11. ใช้ทำยาอม ยาบ้วนปาก
  12. รักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร
  13. บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
  14. รักษาอาการเสียงแหบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง แก้กำเดา โดยใช้ก้อนสีเสียดเทศ มาบดเป็นผลโดยใช้ประมาณ 0.3-1 กรัม หรือ ทุบเป็นก้อนเล็กๆ พอประมาณต้มกับน้ำดื่มใช้สมานแผล แก้ริดสีดวง ใส่แผลเน่าเปื่อยต่างๆ ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ก้อนสีเสียดมาบดเป็นผง ใช้ทา หรือ ใส่บริเวณที่เป็นแผลต่างๆ


ลักษณะทั่วไปของสีเสียดเทศ

สีเสียดเทศ จัดเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง หรือ ไม้พุ่มแกมเถา มีลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ส่วนบริเวณก้านใบมีหนามงอเหมือนเขาควายยื่นออกมา ลักษณะใบยาวเป็นรูปไข่ ปลายแหลม

           ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่น ช่อดอกกลม ออกดอกตามซอกใบ และมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก กลีบดอกมีสีแดง หรือ สีชมพูเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.25 เซนติเมตร สำหรับผลเป็นรูปกระสวยเมื่อแก่จะแตกออกมาโดยมีเมล็ดอยู่ด้านใน

สีเสียดเทศ

การขยายพันธุ์สีเสียดเทศ

สีเสียดเทศ สามารถขยายพันธ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าการนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ ดังนั้นในการนำสีเสียดเทศมาใช้ประโยชน์จึงเป็นการเก็บมาจากธรรมชาติมากกว่าการปลูกไว้ใช้เอง แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำต้นสีเสียดเทศ มาปลูกในเชิงพาณิชย์กันบ้างแล้วในต่างประเทศ

สีเสียดเทศ

องค์ประกอบทางเคมี

สีเสียดเทศมีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรโดยจะนำใบ และกิ่งอ่อนมาต้มแล้วกรองเอาเศษออก เคี่ยวจนเป็นยางแล้วจะทิ้งไว้ให้เย็นก็จะได้เป็นก้อนแข็งที่เรียกว่าก้อนสีเสียดเทศ ซึ่งจากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของก้อนสีเสียดเทศ พบว่ามีสารสำคัญกลุ่มสารกลุ่ม tannin เช่น catecchin, catechu red, catechutannic acid สารกลุ่ม flavonoid เช่น quercetin, chalcane-flavan dimers, gambiriin A1, A2, B1 และ B2, (+) catechin, (+)- epi-catechin, และ dimeric ของ proanthocyanidins, gambiriin C, procyanidin B1, procyanidin B3, และสารกโครงสร้างสีเสียดเทศ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสีเสียดเทศ

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศ (สารสกัดแห้งที่ได้จากการนำสีเสียดเทศมาสกัดด้วยน้ำร้อน 80°C แล้วนำสารสกัดที่ได้มาละลายในตัวทำละลาย 3 ชนิดข้างต้น) ทำการศึกษาทางเคมีในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต สามารถกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ได้สูงที่สุด รองลงมา คือ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำตามลำดับ โดยที่ความเข้มข้น 50 ppm ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล, สารสกัดน้ำ และสารมาตรฐานวิตามินซี มีค่าเท่ากับ 88.63, 85.98, 82.23 และ 90.29% ตามลำดับ การหาปริมาณสารฟีนอลรวม (total phenolic content) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu method รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของสารสกัด (mg/g GAE) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณฟีนอลรวมสูงที่สุด รองลงมา คือ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยมีค่า total phenolic content ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ เท่ากับ 113.43, 99.25 และ 76.75 mg/g GAE ตามลำดับ การหาปริมาณสารคอนเดนแทนนินรวม (total condensed tannin) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยการทำปฏิกิริยากับ formaldehyde และหาปริมาณของสารที่เกิดจากปฏิกิริยา ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต มีปริมาณสารคอนเดนแทนนินรวม สูงที่สุด รองลงมา คือ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยค่า total condensed tannin ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีค่าเท่ากับ 93.12, 75.35 และ 66.96% ตามลำดับ การหาปริมาณฟลาโวนอยด์รวม (total flavonoids) ของสารสกัดที่ได้จากสีเสียดเทศ ตรวจสอบโดยทำปฏิกิริยาการเกิดสีกับ AlCl3 รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของแคทิชินต่อกรัมสารสกัด (mg/g catechin) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณฟลาโวนอยด์รวมสูงที่สุด รองลงมา คือ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ตามลำดับ โดยค่าปริมาณฟลาโวนอยด์รวม ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีค่าเท่ากับ 93.31, 70.94 และ 60.85% mg/g catechin ตามลำดับ การหาปริมาณสารคาเทชิน ด้วยวิธี HPLC พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตต สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ มีปริมาณคาเทชิน เท่ากับ 87.33, 59.47 และ 42.75% ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีปริมาณรวมของสารฟีนอล คอนเดนแทนนิน และฟลาโวนอยด์ สูงที่สุด และสามารถกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด จากการหาปริมาณคาเทชินยังพบว่ามีปริมาณสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารสกัดอื่น อีกทั้งพบว่าลักษณะโครมาโตรแกรมจาก FTIR มี functional group ทั้งหมดที่ตรงกับคาเทชิน

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากสีเสียดเทศ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar disk diffusion method หาบริเวณที่เกิดการยับยั้งเชื้อ หรือ โซนใส (inhibition zone) และใช้วิธี agar dilution method ในการหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) เชื้อที่ใช้ทดสอบได้แก่ เชื้อ methicillin-resistant S. aureus (MRSA)ที่แยกได้จากโรงพยาบาล และเชื้อ S. aureus ATCC 25923 เป็นเชื้อมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากสีเสียดเทศ มีความสามารถในการต้านเชื้อ MRSA โดยมีค่า inhibition zone เท่ากับ 13.08±0.53 และ 19.33±0.26 มิลลิเมตร ตามลำดับ มีค่า MIC เท่ากับ 6.3-12.5 และ 0.4-0.8 mg/ml ตามลำดับ ส่วนค่า MBC เท่ากับ 12.5-25 และ 3.2 mg/ml ตามลำดับ (เชื้อมาตรฐานมีค่า inhibition zone เท่ากับ 13 และ 14 มิลลิเมตร ตามลำดับ มีค่า MIC เท่ากับ 3.2 และ 0.4 mg/ml ตามลำดับ ส่วนค่า MBC เท่ากับ 25 และ 3.2 mg/ml ตามลำดับ)

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ การทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี MTT assay ใช้ 0.5 mM H2O2 เหนี่ยวนำให้เซลล์เกิดความเสียหาย ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำที่ได้จากสีเสียดเทศมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกมนุษย์ได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษเมื่อใช้ในขนาดความเข้มข้นถึง 500 µg/ml และเมื่อใช้สารสกัดในขนาดความเข้มข้น 50 µg/ml สารสกัดน้ำ และวิตามินซี ทำให้เซลล์รอดชีวิตได้เท่ากับ 100.1±4.6% และ 82.4±2.1% ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสีเสียดเทศอีกหลายฉบับระบุว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ต้านออกซิเดชั่น ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ลดความดันโลหิต

การศึกษาทางพิษวิทยาของสีเสียดเทศ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาของสีเสียดเทศ ดังนั้น ในการใช้สีเสียดเทศสำหรับเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ มีควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้สีเสียดเทศเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ


เอกสารอ้างอิง สีเสียดเทศ
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และนงลักษณ์ เรืองวิเศษ.วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย.คอนเซพท์ เมดิคัส จำกัด กรุงเทพมหานคร 2551. หน้า 502-510.
  2. ดร.ศิริมา สุวรรณกูฏ. สีเสียด. สมุนไพรแก้ท้องร่วง. บทความสมุนไพร. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี
  3. สีเสียดเทศ .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedeug.com/main.php?action=viewpage&pid=138
  4. Voravuthikunchai SP, Kitpipit L. Activity of medicinal plant extracts against hospital isolates of methicillin-resistant Staphylococcus aureus. Clinical Microbiology and Infection. 2005;11(6):510-512.
  5. Kassim MJ, Hussin MH, Achmad A, Dahon NH, Suan TK, Hamdan HS. Determination of total phenol, condensed tannin and flavonoid contents and antioxidant activity of Uncaria gambir extracts. Majalah Farmasi Indonesia. 2011;22(1):50-59.
  6. Taniguchi S, Kuroda K, Doi K-I, et al. Revised Structures of Gambiriins A1, A2, B1, and B2, ChalcaneFlavan Dimers from Gambir (Uncaria gambir Extract). Chem Pharm Bull 2007, 55: 268-72.
  7. Sazwi NN, Nalina T, Rahim ZHA. Antioxidant and cytoprotective activities of Piper betle, Areca catechu, Uncaria gambir and betel quid with and without calcium hydroxide. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2013;13(351):1-12.