สำรอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สำรอง งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพรสำรอง
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น ลูกสำรอง (ทั่วไป, ภาคกลาง), ปักจอง (ภาคอีสาน), แก่นเฉา ,ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย (ภาคตะวันออก), ฮวงไต้ไฮ้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (G.Don.) Guib. & Planch.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Scaphium linearicarpum (Mast.) Pierre, Scaphium macropodum Beaum, Scaphium lychnophorum (Hance) Pierre
ชื่อสามัญ Malva nut, Jelly nut
วงศ์ Sterculiaceae

ถิ่นกำเนิดสำรอง 

สำรองเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไป เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว ไทย รวมถึง จีนตอนใต้อีกด้วย โดยทั่วไปแล้วมักจะพบต้นสำรอง ได้ตามป่าที่มีความชื้นสูง เช่น ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้นที่มีแสงแดดส่องถึงพื้น และมีฝนตกชุก สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะจันทบุรี และตราด ส่วนภาคอื่นๆ ก็พบได้บ้างแต่จะน้อยกว่าภาคตะวันออก

ประโยชน์และสรรพคุณสำรอง

  1. แก้ไอ
  2. แก้ท้องเสีย
  3. รักษากามโรค
  4. แก้อาการร้อนใน
  5. แก้กระหายน้ำ
  6. ช่วยขับเสมหะ
  7. แก้เจ็บคอ
  8. แก้โรคเรื้อน
  9. แก้กุฏฐัง
  10. แก้กามโรค
  11. แก้พยาธิ
  12. แก้ลม
  13. แก้ไข้
  14. แก้ตานซาง ตานขโมยในเด็ก
  15. แก้ลมพิษ
  16. แก้ลม
  17. แก้ธาตุพิการ
  18. แก้ท้องเสีย
  19. แก้กระหายน้ำ
  20. แก้ตาอักเสบบวมแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำก็ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ โดยนำเปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดง หรือ ชะเอมเทศ ใช้รับประทาน หรือ ใช้ผลแห้ง 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้ ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ด้วยการใช้ลูกสำรอง 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวาน นำมาใช้จิบบ่อยๆ ใช้แก้กามโรค แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้พยาธิผิวหนังโดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคเรื้อน แก้กุฏฐัง แก้กามโรค โดยใช้แก่นต้นตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ตามขโมยในเด็ก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ลม แก้ธาตุพิการ โดยใช้ผล และเมล็ดแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ตาอักเสบบวมแดง โดยใช้วุ้นจากเปลือกหุ้มเมล็ดมาพอกบริเวณตาที่อักเสบ หรือ นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่ม แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซก็ได้เช่นกัน


ลักษณะทั่วไปของสำรอง
  

สำรอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อแข็งสูงได้ถึง 40 ม. ผลัดใบ และจะแตกเฉพาะเรือนยอด ลำต้นเปลาตรง เปลือกหยาบสีเทา หรือ เทาดำ มีรอยแผลเป็นทั่วไป เปลือกในเป็นสีชมพู มีเส้นตามยาว โคนต้นมีพูพอน ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 7-12 เซนติเมตร ยาว 13-25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 12.5-21 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ หนา ใบอ่อนสีแดงเรื่อๆ ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขอบใบเป็นลูกคลื่นเล็กน้อย โคนใบป้านมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ และมีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบ 3 เส้น และออกจากเส้นกลางใบข้างละ 6 เส้น ดอกออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกกิ่ง และปลายกิ่งประกอบด้วยก้านดอกหลัก ยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร แตกก้านดอกแขนงสั้นๆ ล้อมรอบ ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงทรงกระบอก 5 กลีบ กลีบดอกมีสีขาวแกมเขียว จำนวน 5 กลีบ เป็นแฉกคล้ายรูปดาวตรงกลางดอกมีเกสรแยกเพศ เป็นเกสรตัวผู้มีสีเหลือง และเกสรตัวเมีย เป็นสีแดงเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ ออกตามปลายกิ่ง เมื่อดิบจะเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีน้ำตาลมีขนาด 25x15 มิลลิเมตร ผิวเหี่ยวย่น สีน้ำตาล มีรูปกลมรีหัว ท้ายมน ผิวขรุขระ ที่ขั้วผลมีแผ่นบางๆ สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเหมือนใบเรือติดมากับผลเรียกว่าสำเภา มีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร  เมล็ดรูปทรงกระสวยหรือกลมรี สีน้ำตาล เปลือกแข็ง

สำรอง

การขยายพันธุ์สำรอง

สำรองสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดสำรอง นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในปัจจุบันการขยายพันธุ์สำรองนั้น ส่วนใหญ่เป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติในป่า ไม่ค่อยมีคนนำมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา ส่วนการเก็บลูกรองมาใช้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการเก็บจากในป่ามาใช้เป็นส่วนมาก

สำรอง

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของลูกสำรอง ที่มีการนำมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้ Bassorin, Glucorine และ Pentose นอกจากนี้ยังพบสารคาร์โบไฮเดรตที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม monosaccharide เช่น Mannose, Arabinose, Rhamnose, Xylose, Glucose, Galactose อีกทั้งลูกสำรองที่นิยมนำมารับประทานกันนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของสำรอง แห้ง (100 กรัม)

  • พลังงาน             394  กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                5.4  กรัม
  • ไขมัน                  2.4  กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต   75.3 กรัม
  • ใยอาหาร           67.1 กรัม
  • โซเดียม          10.7  มิลลิกรัม
  • แคลเซียม         237   มิลลิกรัม                               
  • เหล็ก                1.56  มิลลิกรัม
  • ไอโอดีน          9.12  ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1        0.02  มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2       1.84 มิลลิกรัม

โครงสร้างสำรอง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยของสำรอง

มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของลูกสำรอง พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น การศึกษาฤทธิ์การประเมินการลดปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอล และไดคลอโรมีเทนจากผลลูกสำรองในสัตว์ทดลอง พบว่า สารจากผลสำรองที่สกัดด้วยเอทานอลสามารถระงับปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลสิสระของสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรอง ในการลดอนุมูลอิสระชนิด DPPH และ lipid peroxide พบว่า สารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อ lipid peroxide ส่วนในการศึกษาคุณสมบัติของสารละลายน้ำโพลีแซคคาไรด์ของลูกสำรอง และฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านการอักเสบในหนู พบว่า ได้สารสกัด 2 ชนิด คือ acidic polysaccharide (ASP) กับ neutral polysaccharide (NSP) ซึ่งจากการทดลองสารสกัด acidic polysaccharide (ASP) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลจากการบริโภคน้ำลูกสำรอง ต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ในสัปดาห์ที่ 4 และ 8 กลุ่มทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือด และระดับ HbA1c ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนทำการทดลอง และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาบำบัดร่วมกับการบริโภคน้ำลูกรอง ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของสำรอง 

มีรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นถึงความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก และความเสียหายต่อโครโมโซมในเซลล์ไขกระดูของหนูขาวที่ได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากผลสำรอง โดยให้รับประทานที่ขนาด 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูขาว พบว่าหนูที่ได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่วนผสมของสารสกัดจากผลสำรองทางปาก ขนาด 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ไม่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษ หรือ ตายแต่อย่างใด รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครโมโซมเช่นกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ถึงแม้ว่าการศึกษาทางพิษวิทยาจะระบุว่าลูกสำรอง ไม่มีความเป็นพิษ หรือ มีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ในการใช้ลูกสำรองรวมถึงส่วนต่างๆ ของสำรอง เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากจะใช้ลูกสำรอง หรือ ส่วนต่างๆ ของสำรองเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง สำรอง
  1. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. ชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องของพุงทลาย (สำรอง). ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุงทะลาย”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 390.
  3. ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร. สำรอง.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 335. มีนาคม 2550
  4. เรณุกา วิญญูเจริญกุล. การศึกษาฤทธิ์ของลูกสำรองในการเป็นยาระบาย ลดน้ำตาลไขมันในเลือด และต้นออกซิเดชันในหนูขาวที่ได้รับอาหารไขมันสูงเปรียบเทียบกับผงบุก.วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2556. 120 หน้า
  5. Phengklai C. Sterculiaceae. In; Santisuk T, Larsen K, eds. Flora of Thailand, vol. 7
  6. Part 3. Bangkok: Prachachon Co. Ltd., 2001:539-654.
  7. ลูกสำรอง (Malva nut) สรรพคุณ และการปลูกลูกสำรอง พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. Phonsena P, Wilkie P. Scaphium affine (Mast.) Pierre (Sterculiaceae) new for Thailand. Thai For Bull (Botany) 2008;36:61-9.
  9. สุญาณี พงษ์ธนานิกร รัตติยา วีระนิตินันท์.2550. ผลของการบริโภคน้ำลูกรองต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล.17.120-127.