นางแย้มป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

นางแย้มป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร นางแย้มป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปิ้งหลาง, ปิ้งขาว, ปิ้งเห็บ (ภาคเหนือ), ขี้ขม (ภาคใต้), ซมซี่, กุ้มคือ (สุโขทัย), ฮอนห้อแดง (เลย), ต่างไก่แดง (ขอนแก่น), พอกวอ, โพะคว่อง (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum viscosum Vent.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum infortunatum Linn., Clerodendrum calycinum Turcz.
ชื่อสามัญ Hill glory bower
วงศ์ LAMIACEAE

ถิ่นกำเนิดนางแย้มป่า

นางแย้มป่า เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามป่าดิบป่าเบญจพรรณ หรือ ตามชายป่าต่างๆ ที่มีความสูงไม่เกิน 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล รวมถึงที่โล่งที่มีความชื้น หรือ บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีพุ่มทึบและมีความชื้นในดินสูง

ประโยชน์และสรรพคุณนางแย้มป่า  

  1. แก้ไข้
  2. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. แก้ไตพิการ
  5. ใช้ขับระดูในสตรี
  6. แก้เหน็บชา
  7. แก้ปวดข้อ
  8. แก้โรคเริม
  9. รักษางูสวัด  
  10. แก้โรคผิวหนัง
  11. แก้อาการปวดหัวข้างเดียว
  12. แก้ผื่นคัน
  13. แก้ไตพิการ
  14. แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง
  15. แก้ปวดเอว และปวดข้อ
  16. แก้พิษ
  17. รักษาโรคริดสีดวงทวาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ลำไส้อักเสบ ไตพิการ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับระดูในสตรี แก้ปวดข้อ แก้เหน็บชา โดยใช้รากนางแย้มป่า แห้งมาต้มกับน้ำดื่มใช้แก้ปวดเอว ปวดข้อ แก้กระดูกสันหลังอักเสบ โดยใช้ส่วนต่างๆ ทั้งต้นมาตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เริม งูสวัด โดยใช้รากมาฝนแล้วผสมกับน้ำปูนใสใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ โดยใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็น แก้อาการปวดหัวข้างเดียว โดยนำใบมาซ้อนกัน 3–7 ใบ แล้วใช้ห่อขี้เถ้าร้อน ใบฮ่อม และใบเครื่องเขาน้ำตำแล้วนำไปประคบศีรษะ


ลักษณะทั่วไปของนางแย้มป่า
 

นางแย้มป่า จัดเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งเป็นสันสี่เหลี่ยมตรงแต่ไม่มีขนปกคลุม เหมือนนางแย้ง (C.chinense (Osbeck) Mabb.) กิ่งอ่อน และต้นเปราะ ตามลำต้น และกิ่งอ่อนเป็นสีแดง หรือ สีดำอมน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อโดยจะออกเป็นคู่ ตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง หรือ รูปหัวใจ ปลายใบสอบแหลม โคนใบสอบ หรือ เว้ารูปหัวใจส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ ใบกว้างประมาณ 4-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-25 เซนติเมตร แผ่นใบแข็งเป็นสีเขียวเข้ม มีขนสากระคายมือ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยดอกจะรวมกลุ่มกันเป็นช่อแน่นตั้งตรง ในแต่ละช่อดอกจะยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงยาว 1-1.5 ซม. หลอดกลีบดอกยาว 1.5-2 ซม. ปากหลอดมีขนสั้นนุ่ม และมีปื้นสีชมพูอมม่วง สำหรับกลีบดอกเป็นสีขาว ยาว 1-1.5 ซม. มีเกสรเพศผู้ยาว 2.5-4 ซม. อยู่ 4-5 อัน โดยดอกจะมีกลิ่นหอมในตอนเช้า ผลออกเป็นรูปทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผิวผลมัน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม และจะดำ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงยาว 2-2.5 เซนติเมตรหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

นางแย้มป่า

การขยายพันธุ์นางแย้มป่า

นางแย้มป่าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง แต่มีที่เป็นที่นิยมในการขยายพันธ์ในปัจจุบัน คือ การขุดต้นอ่อนที่เกิดจากรากของต้นใหญ่ที่อยู่ใกล้ผิวดินมาปลูกเลี้ยง เพราะสะดวก และเจริญเติบโตเร็วกว่าวิธีอื่นๆ แต่ทั้งนี้การขยายพันธุ์ของนางแย้มป่าส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก เพราะนางแย้มป่า เป็นสมุนไพรที่ยังไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลาย มีเพียงหมอยาพื้นบ้านนำมาใช้เท่านั้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของนางแย้มป่า พบว่า ในดอก พบสารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ apigenin, acacetin และ quercetin พบสารกลุ่ม flavonoids glycosides ได้แก่ methyl ester of acacetin-7-O-glucuronide ส่วนในใบ พบสารกลุ่ม flavonoids glycosides ได้แก่ scutellarin, hispidulin-7-O-glucuronide และสารกลุ่ม diterpenoids ได้แก่ clerodin  นอกจากนี้ในส่วนเหนือดิน พบสารกลุ่ม Steroids ได้แก่ stigmasterol และ poriferasterol เป็นต้น

โครงสร้างนางแย้มป่า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนางแย้มป่า

ฤทธิ์ต้าเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัด 80% เอทานอล-น้ำ จากใบนางแย้มป่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Pseudomonas aeroginosa, Bacillus subtilis และ Staphylococcus aureus โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ เท่ากับ 25, 25, 6.25 และ 25 mg/m ตามลำดับ สำหรับสารสกัด 80% เอลานอล-น้ำ จากรากนางแย้มป่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis โดยมีค่าความเข้มขันที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ เท่ากับ 12.5 mg/ml 

           ส่วนสารสกัดเอทานอลจากใบของนางแย้มป่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus megaterium,Salmonella typhi และ klebsiella pneumoniae โดยมีค่า MIC เท่ากับ 64 µg/ml ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Streptococcus-β-haemolyticus และ Escherichia col โดยมีค่า MIC 128 µg/ml  นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลจากรากของนางแย้มป่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา  Aspergillus niger และ Candida albicans

           และสารสกัดเอทานอลจากรากของแย้มป่าที่ความเข้มขัน 25.0 µg/disc มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด crowngall tumor จากเชื้อ Agrobacterium tumefaciens ได้ 33.31%

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดเอทานอลจากใบนางแย้มป่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ hydroxyl, superoxide anion และ  nitric oxide โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.121, 0.173 และ 0.221 mg/ml ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัดเอทานอลจากใบนางแย้ม เพิ่มปริมาณเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในตับ (hepatic antioxidant enzymes) และมีฤทธิ์ปกป้องตับที่ถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (CCl4) โดยปริมาณเอนไซม์ superoxide dismutase, catalase และ peroxidase มีค่าเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารสกัด ค่าเอนไซม์  AST (serum aspartate transaminase), ALT (alanine aminotransferase) และ ALP (alkaline phosphatase) มีค่าลดลง

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดน้ำจากใบนางแย้มป่า ความเข้มข้น 0.33 mg/ml มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ angiotensin converting enzyme (ACE) 48% ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

           ฤทธิ์ช่วยการสมานแผล สารสกัดเอทานอลจากใบนางแย้มป่ามีฤทธิ์ช่วยการสมานแผล (wound healing activity) โดยมีการทดลองใช้ยาเตรียมที่มีสารสกัดที่มีความเข้มข้น 4%w/w ทาแผลผ่าตัดแบบ excision เป็นเวลานาน 16 วัน ให้ผลการสมานแผลดีเท่ากับการใช้ยาขี้ผึ้งที่มี nitrofurazone ความเข้มข้น 1%w/w สำหรับผลการสมานแผลจากการผ่าตัดแบบ incision พบว่าสารสกัดเอทานอลเพิ่มค่า skin breaking strength เป็น 606 ±14.61 g เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (406.33±6.08 g) ในเวลา 10 วัน

           ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพกาทำงานของสมอง มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมทานอล จากใบของนางแย้มป่า ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว (mg/kg) มีฤทธิ์เพิ่มความจำในหนู Swiss albino Wistar mice ในการทดลองที่ใช้ rectangular maze และ Y maze หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดในขนาดที่สูงกว่า (200 mg/kg) จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีมากกว่าหนูกลุ่มที่ได้รับขนาดที่ต่ำกว่า (100 mg/kg)

การศึกษาทางพิษวิทยาของนางแย้มป่า

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้นางแย้มป่า เพื่อเป็นยาสมุนไพรในการใช้บำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นพลองเหมือด เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยความเป็นพา ขนาดที่เหมาะสมที่ใช้ในคน รวมถึงการวิจัยทางคลินิกกับคน ดังนั้นในการใช้ตามตำรับตำรายาต่างๆนั้น ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำรายานั้นๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้เพราะมีฤทธิ์ขับระดูในสตรี ส่วนเด็กผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้นางแย้มป่า เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง นางแย้มป่า
  1. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และคณะ สมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทสามเจริญพาณิชย์จำกัด. 2549.
  2. เดชา ศิริภัทร.ขวัญนางแย้ม. ความหอมคู่คนไทยนับหลายร้อยปี. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 304. สิงหาคม 2547
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2540.
  4. ศ.ดร.ภก.นิจศิริ เรืองรังสี, ดร.ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน. รายงานฉบับสมบูรณ์เรื่อง การศึกษาวิจัยสมุนไพร นางแย้มป่า เพื่อประเมินคุณค่า และความสำคัญประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก .23 หน้า.
  5. วีระชัย ณ นครและคณะ. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอ เอส พรินติง เฮาส์. 2544.
  6. Akihisa T, Matsubara yuzuru, Ghosh P, Thakur S, Shimizu N, Tamura T, et al. The 24α- and 24β-epimers of 24-ethylcholesta-5,22-dien-3β-ol in two Clerodendrum species. Phytochemistry. 1988;27(4):1169–72.
  7. Subramanian SS, Nair AGR. Scutellarin and hispidulin-7-O-glucuronide from the leaves of Clerodendrum indicum and Clerodendron infortunatum. Phytochemistry. 1973;12(5):1195.
  8. Gupta S, Gupta R. Detection and quantification of quercetin in roots, leaves and flowers of Clerodendrum infortunatum L. Asian Pacific Journal of Tropical Disease. 2012;2, Supplement 2:S940–3.
  9. Somanadhan B, Varughese G, Palpu P, Sreedharan R, Gudiksen L, Wagner Smitt U, et al. An ethnopharmacological survey for potential angiotensin converting enzyme inhibitors from Indian medicinal plants. Journal of Ethnopharmacology. 1999;65(2):103–12.
  10. Gouthamchandra K, Mahmood R, Manjunatha H. Free radical scavenging, antioxidant enzymes and wound healing activities of leaves extracts from Clerodendrum infortunatum L. Environmental Toxicology and Pharmacology. 2010;30(1):11–8
  11. Valsaraj R, Pushpangadan P, Smitt UW, Adsersen A, Nyman U. Antimicrobial screening of selected medicinal plants from India. Journal of Ethnopharmacology. 1997;58(2):75–83.
  12. Harsha VH, Hebbar SS, Hegde GR, Shripathi V. Ethnomedical knowledge of plants used by Kunabi Tribe of Karnataka in India. Fitoterapia. 2002;73(4):281–7.
  13. Gupta R, Singh HK. Nootropic potential of Alternanthera sessilis and Clerodendrum infortunatum leaves on mice. Asian Pacific Journal of Tropical Disease. 2012;2, Supplement 1:S465–70
  14. Sinha NK, Seth KK, Pandey VB, Dasgupta B, Shah AH. Flavonoids from the flowers of Clerodendron infortunatum. Planta Medica. 1981;42(7):296-8
  15. Haque N, Chowdhury SAR, Nutan MTH, Rahman GMS, Rahman KM, Rashid MA. Evaluation of antitumor activity of some medicinal plants of Bangladesh by potato disk bioassay. Fitoterapia. 2000;71(5):547–52.