แพงพวยน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แพงพวยน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แพงพวยน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พังพวย, ผักแพงพวย (ทั่วไป), ผักปอดน้ำ (ภาคเหนือ), ปี่แปฉ่าย, จุ่ยเล่ง, สุ่ยหลง, นั่งจั้ว, กั้วกัวเสอ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jussiaea repens Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Jussiaea adscendens Linn,  Ludwigia adscendens (L.) H.Hara
ชื่อสามัญ Sunrose willow, Creeping water primrose, Water primrose
วงศ์ ONAGRACEAE

ถิ่นกำเนิดแพงพวยน้ำ 

แพงพวยน้ำ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของโลก ในทวีปแอฟริการ และเอเชีย โดยในทวีปเอเชียมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ซึ่งจะพบเห็นได้ตั้งแต่ จีน อินเดีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมไปถึงในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยถูกจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในนาข้าว ซึ่งมักจะพบได้ตามทุ่งนา ตามห้วยหนองคลองบึง หรือตามข้างทางที่มีน้ำขังนานๆ

ประโยชน์และสรรพคุณแพงพวยน้ำ

  1. ใช้ดับร้อน
  2. แก้บวม
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  5. แก้พิษ
  6. แก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา
  7. แก้ไอแห้งๆ
  8. แก้อาการบวมน้ำ
  9. แก้โรคหนองใน
  10. แก้หัด
  11. แก้หวัด
  12. แก้ตัวร้อน
  13. รักษาแผลอักเสบ
  14. แก้ผื่นคัน
  15. แก้หัด
  16. แก้ปวดฟัน
  17. แก้ท้องผูก
  18. แก้แผลหกล้ม
  19. แก้แผลเน่าเปื่อย
  20. แก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนอง
  21. แก้กลากน้ำนม


รูปแบบและขนาดวิธีใช้
 

  1. แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง โดยใช้ต้นสดทั้งต้น 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  2. แก้อาการบวมน้ำ โดยใช้แพงพวยน้ำ ชะเอมเทศ หกเหล็ง จุยเจ่า จุยฮ่วยเฮีย กับ อย่างละ 15 กรัม ต้มกับน้ำกิน
  3. แก้หวัด ตัวร้อน ไอแห้งๆ ใช้ทุกส่วนของต้นที่แห้งแล้ว หนัก 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน
  4. แก้ดีซ่านเกิดจากพิษสุรา ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสด 1 กำมือ คั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งกิน
  5.  แก้ผดผื่นคัน หัด หลังจากหัดออกแล้วไข้ไม่ลด ใช้ต้นสดทั้งต้น หนัก 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำแล้วนำไปต้มกิน
  6. แก้ปวดฟัน ใช้ต้นแห้งทั้งต้น 60 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
  7. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ท้องผูก ใช้ต้นสดทั้งต้น ตำคั้นเอาน้ำ 60-120 กรัม ผสมน้ำผึ้งแล้วนำไปตั้งไฟให้อุ่นแล้วกิน
  8. แก้แผลหกล้ม แผลเน่าเปื่อย ใช้ต้นแพงพวยน้ำ สดตำพอก
  9. แก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนอง ยังไม่แตก ใช้ทั้งต้นต้มเอาน้ำล้างและเอาต้นสดๆ ตำพอกบริเวรที่เป็นอีกทีหนึ่ง
  10. แก้กลากน้ำนม ใช้ต้นสดทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของแพงพวยน้ำ
 

แพงพวยน้ำ จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อย หรือ ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำ หรือ บนดินที่ชื้นแฉะลำต้นเป็นรูปกลม อวบน้ำ ผิวตามลำต้นจะไม่มีขนปกคลุม ลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดง เป็นข้อปุ่ม และตามข้อของลำต้น จะมีรากฝอย มีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัว ให้สามารถลอยน้ำได้ โดยมีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับจากลำต้นแบบเวียนรอบต้น ใบรูปแบบไข่กลับปลายใบกลมมน ส่วนฐานใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบแผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ต้นล่างสีอ่อนกว่า มีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้านของแผนใบ ใบมีขนาดกว้าง 0.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.3-1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ตรงข้างใบ หรือ ซอกใบ ก้านดอกยาว 2-3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะแหลมยาวประมาณ 7 มม. ด้านนอกมีขนอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีขาว โคนกลีบเป็นสีเหลืองอ่อน โดยดอกจะยาวประมาณ 12 มม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน มีรังไข่ 5 อัน มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายเป็นตุ่มมีรอยแยกตื้น 5 รอย ทั้งนี้ดอกแพงพวยน้ำ จะหลุดร่วงได้ง่าย ผล เป็นฝักทรงกระบอกตรง ยาว 2-3 ซม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเรียบเป็นมันสีดำหรือน้ำตาลดำ

แพงพวย

การขยายพันธุ์แพงพวยน้ำ 

แพงพวยน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการแยกต้นปลูก ในอดีตนั้นแพงพวยน้ำ มักจะขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เพราะแพงพวยน้ำ ถูกจัดเป็นวัชพืชที่รุกรานนาข้าว รวมถึงในแปลงปลูกพืชผักที่เป็นพืชน้ำ หรือ อยู่ในที่ชื้นแฉะต่างๆ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการค้นคว้าวิจัยพบว่าแพงพวยน้ำสามารถใช้รับประทานได้ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงรวมถึงยังมีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่สามารถรักษาโรคได้หลายโรค จึงเริ่มมีการเพาะปลูกกันมากขึ้น โดยวิธีการที่นิยม คือ การใช้เมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูกต่อไป

แพงพวยน้ำ

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของแพงพวยน้ำ พบว่าส่วนต่างๆของแพงพวยน้ำ พบสารสำคัญๆ หลายชนิด เช่น Flavonoid, glycoside, Glucoline, Phenols และ Amino acid ต่างๆ เป็นต้น

           นอกจากนี้ส่วนที่กินได้ของแพงพวยน้ำ (ลำต้น ยอดอ่อน ใบอ่อน) ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการจากส่วนที่กินได้ของแพงพวยน้ำ (100 กรัม)

-           พลังงาน                              36                    กิโลแคลอรี่

-           โปรตีน                                 3.3                   กรัม

-           ไขมัน                                  0.4                   กรัม

-           คาร์โบไฮเดรต                     4.8                   กรัม

-           ใยอาหาร                             3.3                   กรัม

-           แคลเซียม                          57                    มิลลิกรัม

-           ฟอสฟอรัส                           300                  มิลลิกรัม

-           ธาตุเหล็ก                           1.3                   มิลลิกรัม

-           วิตามิน A                             9878                หน่วยสากล

-           วิตามิน B2                          0.01                 มิลลิกรัม

-           วิตามิน B3                           2.8                   มิลลิกรัม

-           วิตามิน C                            3                      มิลลิกรัม                          

โครงสร้างแพงพวยน้ำ 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำ

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำทั่วในไทย และต่างประเทศหลายฉบับระบุถึงแพงพวยน้ำ มีฤทธิ์ต่างๆ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือดรวมถึง ยับยั้งการอักเสบได้ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของแพงพวยน้ำ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้แพงพวยน้ำ เป็นยาสมุนไพรควรคำนึงถึงความปลอดภัย และความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้แพงพวยน้ำเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง แพงพวยน้ำ
  1. เต็ม สมิตินันท์. 2523.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
  2. ภก.ชัยโย  ชัยชาญทิพยุทธ.พังพวย. คอลัมน์ สมุนไพร น่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 6. ตุลาคม 2521
  3. วัชรี ประชาศรัยสรเดช. 2542. ผักพื้นเมือง เหนือ อีสาน ได้. 81 หน้า.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. “แพงพวยน้ำ ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 402.
  5. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 15 July 2015.
  6. กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 48 หน้า.