ฟักเขียว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฟักเขียว งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฟักเขียว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฟัก, แฟง, ฟักขาว, ฟักแผง, ฟักจีน, ฟักหอม (ภาคกลาง), มะฟักหม่น, มะฟักขี้หมู, ฟักหม่น (ภาคเหนือ), บักฟัก (ภาคอีสาน), ขี้พร้า (ภาคใต้), หลู่สะ, หลู่ซะ (กะเหรี่ยง), ตังกวย (จีน) หมากปักหม่น (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn. 
ชื่อสามัญ wax gourd, Ash gourd, Chinese Watermalon
วงศ์ Cucurbitaceae
 

ถิ่นกำเนิดฟักเขียว

ฟักเขียวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของฟักอยู่ในเขตร้อน (tropical) แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นที่ใด เพราะพบขึ้นอยู่ตามทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา มีการคาดการณ์กันว่าเหตุที่พบอยู่ทั่วไปทั้งสามทวีปนั้นอาจเกิดจากมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ นำจากแหล่งกำเนิดดั้งเดิมไปปลูกในที่ต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับพืชอีกหลายชนิดที่ยังไม่ทราบแหล่งกำเนิดดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกกันมากบริเวณทวีเอเชีย เช่นใน ไทย พม่า ลาว กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าฟักเขียวเข้ามาในไทยเมื่อนานมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงฟักเขียว ในคำให้พรในพิธีลงอู่ของเด็กไทยในสมัยก่อน ส่วนในปัจจุบันสามารถพบเห็นฟักเขียวได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคกลางที่นิยมนำมาบริโภค โดยจะพบเห็นได้ตามบ้านเรือนทั่วไป ท้องไร่ท้องนา หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณฟักเขียว

  1. แก้โรคบิด
  2. แก้ฟกช้ำ
  3. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  4. แก้บวมอักเสบมีหนอง
  5. แก้พิษผึ้งต่อย
  6. ช่วยรักษาบาดแผล
  7. แก้ธาตุพิการ
  8. ช่วยขับปัสสาวะ
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. แก้ไอ
  11. แก้หลอดลมอักเสบ
  12. แก้โลหิตเป็นพิษ
  13. แก้ไข้
  14. แก้ริดสีดวงทวาร
  15. แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
  16. แก้ตกขาว
  17. ช่วยละลายเสมหะ
  18. แก้ไตอักเสบ
  19. ช่วยบำรุงผิว
  20. แก้อาเจียนเป็นโลหิต
  21. แก้ฝีที่เต้านม
  22. ช่วยขับพยาธิ
  23. ช่วยเพิ่มพลังเพศ
  24. เป็นยาระบาย
  25. ใช้รักษาโรคชัก
  26. แก้โรคปอดและหอบหืด
  27. โรคเส้นประสาท
  28. รักษาโรคเบาหวาน
  29. แก้ไออักเสบเรื้อรัง
  30. แก้เบาขัดในสตรีระหว่างตั้งครรภ์


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1.  แก้ไตอักเสบบวมน้ำ โดยใช้เปลือกฟัก 120 กรัม หนวดข้าวโพด 30 กรัม ต้มกิน โดยแบ่งน้ำที่ต้มได้เป็น 3 ส่วน ใช้กิน 3 เวลา
  2. รักษาเบาหวาน โดยต้มฟักที่ปลอกเปลือกแล้ว ต้มน้ำกินครั้งละ 60-90 กรัม เป็นประจำ จะทำให้เบาหวานลดลง
  3. แก้เบาขัดในสตรีระหว่างตั้งครรภ์ นำฟักเขียวมาคั้นเอาน้ำ 1 แก้ว ผสมน้ำผึ้งให้พอมีรสหวาน ดื่มบ่อยๆ
  4. ไออักเสบเรื้อรัง ใช้เมล็ดฟัก 15-30 กรัม ต้มกินน้ำ
  5. แก้ร้อนใน ไข้สูง หรือไตอักเสบเรื้อรัง ใช้ฟักเขียว 500 กรัม ต้มน้ำให้ได้ประมาณ 3 แก้ว แบ่งกิน 3 ครั้ง ใน 1 วัน
  6. แก้ระดูขาว โดยใช้เมล็ดฟัก 30 กรัม บดเป็นผง เติมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ตุ๋นกินวันละ 2 ครั้ง
  7. แก้ริดสีดวงทวาร และอาการอักเสบเจ็บบริเวณทวารหนัก โดยต้มฟักแล้วเอาน้ำล้างบริเวณที่เป็นจะลดการอักเสบได้
  8. เอวแก้ฟกช้ำบวมเคล็ด โดยใช้เปลือกฟักผิงไฟให้แห้ง บดเป็นผงผสมเหล้ากินครั้งละ 6 กรัม จะช่วยลดความเจ็บปวดได้
  9. ใบช่วยแก้พิษจากการถูกผึ้งต่อย
  10. ใช้ลบเลือนรอยด่างดำบนใบหน้า โดยใช้ไส้ในผลสด 30-60 กรัม นำมาต้ม หรือ คั้นเอาแต่น้ำชโลมบนใบหน้าทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วล้างออก


ลักษณะทั่วไปของฟักเขียว
 

ฟักเขียว จัดเป็นไม้เถาเลื้อยตระกูลแตง เช่นเดียวกันกับมะระจีน บวบเหลี่ยม หรือ แตงกวา มีลำต้นเป็นเถาแข็งแรง เลื้อยไปตามพื้น หรือ ค้างยาวหลายเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้น หรือ เถามีสีเขียว และมีขนค่อนข้างแข็งขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วต้น ขนมีสีเหลืองอมเทา ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตามข้อของเถา มีลักษณะเป็นหยัก หรือ เป็นเหลี่ยม แยกออกเป็น 5-7 แฉก ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจเป็นสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร และมีก้านใบ 5-10 เซนติเมตร ผิวใบหยาบ มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบมีสีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามข้อเถา เช่นเดียวกับใบซึ่งดอกมีสีเหลืองรูปแตร มีขนาด 6-15 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ยาว 3-5 เซนติเมตร ทั้งนี้ดอกตัวผู้ และเมียอยู่กันคนละดอก แต่อยู่ในเถาเดียวกัน ผลเป็นรูปกลมยาว หรือ เป็นรูปไข่แกมขอบขนาน หรือ อาจเป็นทรงกลม แต่โดยพันธุ์พื้นเมืองทั่วไป ผลมีความกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ผลอ่อนมีขนผิวผลสีเขียว ส่วนผลแก่ผิวนอกมีนวลเป็นแป้งสีขาวเคลือบอยู่ เปลือกแข็งมีสีเขียว เนื้อด้านในแน่นหนา ฉ่ำน้ำมีสีขาวปนเขียวอ่อน เนื้อตรงกลางฟู หรือ พรุน มีเมล็ดสีขาวอยู่แกนกลางจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปไข่ เมล็ดแบน มีสีขาวกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวเรียบ

ฟักเขียว

ฟักเขียว

การขยายพันธุ์ฟักเขียว 

ฟักเขียว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายมากเพียงแต่หว่านเมล็ดลงพื้นทั่วไปก็สามารถงอกขึ้นมาได้แล้ว แต่หากจะปลูกในแปลง เพื่อนำไปขายสามารถทำได้โดยไถดินลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์ แล้วย่อยหั่นให้ละเอียด หว่านปูนขาวประมาณ 100-300 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก อัตรา 2,000-2,500 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันส่วนวิธีปลูกทำได้โดยหยอดเมล็ด 2-3 เมล็ด ต่อหลุม ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วกลบหลุม หรือ คลุมด้วยฟางแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดิน และรดน้ำสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10-14 วัน หรือ มีใบจริง 2-4 ใบ ควรถอนแยกเหลือ 2 ต้นต่อหลุม ทั้งนี้ควรเว้นระยะห่างแถว 1-1.5 เมตร ระหว่าต้น 2-2.5 เมตร เมื่อฟักเริ่มเลื้อย หรือ มีอายุประมาณ 15-20 เมตร ควรทำค้างเพื่อให้เลื้อยเกาะขึ้นไปโดยปักไม้ทำค้างยาว 2-2.50 เมตร แล้วเอนปลายเข้าหากัน จากนั้นใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2-3 ช่วง ช่วงละ 40-50 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะสม และสะดวกต่อการทำ ควรหาที่รองผลฟักเพื่อกันไม่ให้ฟักเน่าเพราะโรค หรือ แมลงทำลาย หลังจากปลูกได้ประมาณ 60-70 วัน หรือ สังเกตได้จากผลว่าเริ่มมีไขสีขาวจับผลก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้มีดคมๆ ตัดที่ขั้วของผล ควรเหลือขั้วติดไว้ด้วย เพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในฟักเขียว พบว่าส่วนต่างๆ ของฟักเขียวมีสาระสำคัญดังนี้ ในผลพบสาร Stigmasterol, daucosterol, β-sitosterol, flavonoid, cucurbitacin, uronic acid ในเมล็ดพบสาร Oleic acid, liroleic acid, palmitic acid และ steaeric acid ในดอกพบสาร β-carotene เป็นต้น

         นอกจากนี้ฟักเขียว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

         คุณค่าทางโภชนาการของฟักเขียวสด (100 กรัม)

  • พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
  • เส้นใย 2.9 กรัม 
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.040มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0. 110มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5 0.133 มิลลิกรัม                                      
  • วิตามินบี 6 0.035 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 19 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
  • แมงกานีส 0.058 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 111 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.61 มิลลิกรัม

 โครงสร้างฟักเขียว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฟักเขียว

ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาผลของสารสกัดผลฟักเขียว ด้วยเมทานอลในหนูถีบจักร โดยเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยกรดเกลือผสมกับอัลกอฮอล์ (0.3 M HCl และ ethanol 60%) indomethacin HCl/อัลกอฮอล์ และแอสไพริน พบว่าสารสกัดดังกว่างสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยลดการสูญเสียเยื่อเมือก และลดการเกิดแผล

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในประเทศเกาหลี โดยเป็นการทดสอบฤทธิ์ต้านการสร้างหลอดเลือดจากสารสกัดเมล็ดของฟักเขียวผลปรากฏว่าสารสกัดเมล็ดฟักเขียวลดการแบ่งตัวของเซลล์ และการสร้างหลอดเลือด ชนิดที่ต้องการสารกระตุ้นการเจริญจากไฟโบรบลาสต์ (basic fibroblast growth factor bFGF) โดยแปรผันตามความเข้มข้นสารสกัด โดยสารสกัดดังกล่าวไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ นอกจากนั้นแล้วสารสกัดเมล็ดฟักเขียว ยังแสดงผลหยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดชนิดที่ต้องการ bFGF ในสัตว์ทดลองอีกด้วย

            งานวิจัยในประเทศจีน มีการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน (angiotensin-converting enzyme ACE) ของเนื้อผล ไส้ เมล็ด และเปลือกฟักเขียวด้วยการสกัดต่างวิธี

            ผลปรากฏว่าสารสกัดจากเมล็ดมีสารต้านออกซิเดชั่นของกรดไลโนเลอิกมากที่สุด และพบน้อยสุดในเนื้อผล นอกจากนี้สารสกัดเมล็ดยังลดอัตราออกซิเดชั่นของไขมันชนิดไม่ดี (low-density lipoprotein = LDL) และยับยั้งฤทธิ์เอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดจากส่วนอื่นของผลฟัก คาดว่าผลเหล่านี้เนื่องมาจากเมล็ดฟักมีสารประกอบฟีนอล และมีฤทธิ์เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตสมากกว่าในส่วนอื่นของผล

การศึกษาทางพิษวิทยาของฟักเขียว

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจากฟักเขียว เป็นผักธาตุเย็น ตามตำรายาแพทย์แผนไทย ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเลือดเย็น หรือ หยางพร่องไม่ควรรับประทานฟักเขียว
  2. วิธีการเลือกซื้อฟักเขียวควรเลือกฟักที่มีเนื้อแข็ง ส่วนเนื้อภายในของฟักควรเลือกที่มีขอบของเยื่อเป็นสีเขียวเข้มแล้วค่อยๆ จากลงไปถึงตรงกลาง

เอกสารอ้างอิง ฟักเขียว
  1. เดชา ศิริภัทร. ฟัก.ผักเนื้อเย็นผิวนวลใย. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 208. สิงหาคม 2539
  2. เต็ม สมิตินันท์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
  3. ฟักยักษ์ (ฟักเขียว ). แผ่นพับข่าวประชาสัมพันธ์ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2555. ศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ (พืชสวน). กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษต รและสหกรณ์
  4. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2531. พจนานุกรมสมุนไพร ไทย. 880 หน้า.
  5. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ. ฟักช่วยย่อยอาหาร และบำรุงร่างกาย. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 349. พฤษภาคม 2551
  6. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของฟัก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542 ผักพื้นบ้านภาคกลาง 279 หน้า.