บัวเผื่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บัวเผื่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บัวเผื่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea stellata Willd.
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวขาบ, บัวผัน (ภาคกลาง), ดอกบ้าน, ป้านสังก่อน (ภาคเหนือ), บัวแบ้ (ภาคอีสาน), บัวขม (สุพรรณบุรี), นิโลบล (กรุงเทพฯ), ปาลีโป๊ะ (นราธิวาส)
ชื่อสามัญ Water lily, Blue lotus of India
วงศ์ NYMPHAEACEAE

ถิ่นกำเนิดบัวเผื่อน 

บัวเผื่อนจัดเป็นบัวชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิด และเป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในสกุลเดียวกับบัวผัน แต่จะมีลำต้น และดอกเล็กกว่าในอดีตมักพบได้ในแหล่งน้ำตื้นๆ บริเวณภาคกลาง และภาคใต้ของไทย โดยมักขึ้นอยู่ตามทุ่งนา คูคลองทั่วไปแต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ในสมัยโบราณที่เรียก พืชชนิดนี้ว่า “บัวเผื่อน” เพราะว่ากลีบดอกจะมีสีเผื่อนระหว่างสีขาวคราม และสีชมพูอ่อน ดังนั้นจึงมีการเรียกชื่อบัวเผื่อนมาจนถึงในปัจจุบัน

ประโยชน์และสรรพคุณบัวเผื่อน 

  1. ช่วยบำรุงกำลัง
  2. ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น
  3. ช่วยบำรุงครรภ์
  4. แก้ไข้
  5. แก้ตัวร้อน
  6. ช่วยบำรุงธาตุ
  7. บำรุงกำหนัด
  8. ใช้ขับลม
  9. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  10. แก้อาการหน้ามืด ตาลาย วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม
  11. แก้ใจสั่น
  12. บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
  13. รักษาอาการผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้
  14. ใช้รักษาโรคตับ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงร่างกาย, บำรุงธาตุ, บำรุงกำลัง, บำรุงครรภ์, บำรุงกำหนัด, ใช้ขับลม โดยใช้หัวหรือเหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำเหง้าบัวเผื่อน แห้งไปบดเป็นผงชงดื่มชาก็ได้ ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกายโดยใช้เมล็ดมาคั่วรับประทาน นอกจากนี้ยังมีการใช้บัวเผื่อน เป็นส่วนประกอบในตำรายาต่างๆ เช่น พิกัดบัวพิเศษ, ตำรับยาหอมเทพจิตร โดยขนาดวิธีใช้ที่ระบุไว้ในตำรายาเหล่านั้นได้อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของบัวเผื่อน
 

บัวเผื่อน จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำเช่นเดียวกันกับบัวชนิดอื่นๆ โดยเป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ช่อใบยังอ่อนอยู่ด้านบนจะมีสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนเหลือบเขียว และมักจะมีจุดสีน้ำตาลแดงอยู่ประปราย พอเมื่อใบแก่สีน้ำตาลอ่อนด้านล่างใบจะจางลงไป แต่จุดยังคงอยู่ แต่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้มขึ้น ซึ่งใบของบัวเผื่อนจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีก้านใบเป็นสีเขียวเหลือบสีน้ำตาลอ่อนดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ไม้ดกเหมือนบัวผัน โดยดอกจะอยู่เหนือน้ำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร และมีกลีบดอกราวๆ 20 กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น กลีบดอกเมื่อบานจะแผ่เป็นรูปถ้วย และบานได้ 3 วัน ซึ่งจะมีสีขาวเมื่อบานวันแรก แล้วจะค่อยๆ มีเหลือบชมพูอ่อนที่ปลายกลีบ และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเหลือบครามในวันสุดท้าย ภายในดอกมีเกสรเพศเมีย และก้านชูเกสรเพศผู้สีเหลือง ส่วนอับเรณูสีขาว และดอกจะไม่หอม ส่วนผลมักจะจมอยู่ใต้น้ำมีลักษณะกลมมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด

บัวเผื่อน

บัวเผื่อน

การขยายพันธุ์บัวเผื่อน 

บัวเผื่อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อและการแยกเหง้า และการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการปลูกบัวเผื่อนนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการปลูกบัวหลวง (ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้) แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ บัวเผื่อนจะต้องปลูกในระดับน้ำที่ตื้นส่วนบัวหลวง จะปลูกในระดับน้ำที่ลึกกว่า (0.5-1 เมตร)

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบัวเผื่อน พบว่า ใบของบัวเผื่อนพบสาร nympholide A ,B, myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, 1,2,3,4,6-Pentagalloylglucose, myricetin-3-Orhamnoside (myricitrin)ในดอกพบสาร pentosan, corilagin, gallic acid, kaempferol, isokaempferide, quercetin, quercetin -3-methylether และในเมล็ดพบสาร flavonoid, astragalin, quercetin, kaempferol และ gallic acid เป็นต้น 

โครงสร้างบัวเผื่อน

ที่มา : Wikipedia 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบัวเผื่อน

มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของบัวเผื่อน หลายฉบับพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด สาร Nymphagol จากดอกบัวเผื่อน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน และยังเพิ่มจำนวน β-cell ของตับอ่อนในหนูได้

           ส่วนสารสกัดจากใบบัวเผื่อนด้วยเอทานอล เมื่อให้หนูทดลองในขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวันสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้

           ฤทธิ์ปกป้องตับ สารสกัดดอกบัวเผื่อนด้วย 20% แอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ปกป้องตับหนูจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตราคลอดไรด์ โดยสามารถลดระดับ ALT,  AST, ALP และ bilirubin ได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับพบว่าบัวเผื่อนยังมีฤทธิ์ต่างๆ อีกเช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของบัวเผื่อน

มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากดอกบัวเผื่อน ในหนูถีบจักร โดยการกรอกทางปากในขนาด 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ซึ่งเปรียบเทียบกับขนาดการรักษาในคน 50,000 เท่า) พบว่าไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ไม่พบความเป็นพิษเช่นเดียวกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

                ถึงแม้ว่าจะมีการนำบัวเผื่อนมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้ โดยไม่มีอาการแสดงความเป็นพิษ แต่ในการนำมาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเป็นประจำ ก่อนจะใช้บัวเผื่อน เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง บัวเผื่อน
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร.โอเดียนสโตร์. กรุงเทพมหานคร. 2540.
  2. สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 3 พรรณไม้หอม. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,มปป.
  3. ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมนวล. บัวสมุนไพรในตำรับยาหอม ตอนที่ 2 ดอกบัวเผื่อน และดอกบัวขม. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
  4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร.วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 คณาเภสัช อมรินทร์.กรุงเทพมหานคร. 2547
  5. มงคล โมกขะสมิต. กมล สวัสดีมงคล. ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพร ไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 13. ฉบับที่ 1. 2514. หน้า 17-42
  6. บัวเผื่อน. ฐานข้อมูลเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=78
  7. . Bhandarkar MR, Khan A. Antihepatotoxic effect of Nymphaea stellata willd., against carbon tetrachloride-induced hepatic damage in albino rats. Journal of Ethnopharmacology 2004:91; 61-64
  8. Awatif A, Bates EC, Gray AI, Mackay SP, Skellern GG, Waigh RD. Two very unusual macrocyclic flavonoids from the water lily Nymphaea lotus. Phytochemistry 2003:63;727-731.
  9. Dhanabal SP, Maruga Raja MKM, Ramanathan M, Suresh B. Hypoglycemic activity of Nymphaea stellata leaves ethanolic extract in alloxan induced diabetic rats. Fitoterapia 2007:78 ;288-291.
  10. Wiart C. Medicinal Plants of Asia and the Pacific. CRC Press:New York, 2006
  11. Subash-Babu P, Ignacimuthu S. Agastian P, Varghese B. Partial regeneration of b-cells in the islets of Langerhans by Nymphayol a sterol isolated from Nymphaea stellata (Willd.) flowers. Bioorganic & Medicinal Chemistry 2009:17;2864-2870.