ขันทองพยาบาท ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขันทองพยาบาท งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร ขันทองพยาบาท
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะดูกเลื่อม (ภาคเหนือ), หมากดูก (ภาคอีสาน), กระดูก (ภาคใต้), ขันฑสาร, ช้องรำพัน (จันทบุรี), ดูกหิน (สระบุรี), ขันทอง (พิษณุโลก), ขนุนดง (เพชรบูรณ์), ข้าวตาก (กาญจนบุรี), ขุนทอง, คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์), ป่าช้าหมอง (แพร่), เหมืองโลด (เลย), มะดูกดง (ปราจีนบุรี), ขอบนางนั่ง (ตรัง), เหล่ปอ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Suregada multiflora (A. Juss.) Baill.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gelonium multiflorum A. Juss., Suregada affinis (S.Moore) Croizat, Gelonium bifarium Roxb. ex Willd.
ชื่อสามัญ False lime
วงศ์  EUPHORBIACEAE

 

ถิ่นกำเนิดขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ อินเดีย บังกลาเทศ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และในคาบสมุทรมลายู เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ และชายป่าที่แห้งแล้ง ที่มีความสูงไม่เกิน 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณขันทองพยาบาท

  1. แก้น้ำเหลืองเสีย
  2. แก้โรคผิวหนัง
  3. แก้ไข้
  4. แก้พิษในกระดูก
  5. แก้มะเร็งคุดทะราด
  6. แก้กามโรค
  7. แก้กลากเกลื้อน
  8. แก้ลมพิษ
  9. แก้ประดงผื่นคัน
  10. แก้ประดง
  11. ใช้ฆ่าพยาธิ
  12. แก้โรคเรื้อน
  13. แก้ลม
  14. แก้โลหิตเป็นพิษ
  15. แก้โรคตับพิการ
  16. แก้ปอดพิการ
  17. ช่วยรักษามะเร็ง
  18. รักษามะเร็งคุด
  19. เป็นยาระบาย
  20. ใช้รักษาโรคผิวหนัง
  21. แก้ผื่นคัน
  22. ใช้รักษาเหงือกอักเสบ
  23. เป็นยาบำรุงเหงือก


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้น้ำเหลืองเสียโดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม, แก้ไข้, แก้กามโรค, แก้พิษในกระดูก, แก้โลหิตเป็นพิษ โดยใช้เนื้อไม้ หรือ แก่นขันทองพยาบาท ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ฝนกับหินแล้วผสมน้ำดื่ม บำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง โดยใช้เปลือกมาต้มกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากหลังแปรงฟัน ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน มะเร็งคุด โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอก หรือ ตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท จัดเป็น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-15 เมตร เป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ ส่วนกิ่งก้านกลมสีเทา กิ่งมักจะห้อยลง และบริเวณกิ่งมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม และมีเนื้อไม้สีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลม หรือ มน โคนใบแหลม เนื้อใบมีลักษณะหนา และเหนียว หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ มีสีอ่อนกว่าหลังใบ ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลือง และมีขนเป็นรูปดาว ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีความกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาว 2-5 มิลลิเมตร และส่วนของหูใบมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นกระจุกมีสีเขียวอมเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม โดยจะออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกใบ โดยแต่ละช่อจะมีดอกย่อย ช่อละ 5-10 ดอก มีใบประดับยาว 1 มม. กว้างประมาณ 0.8 มม. เป็นรูปหอก ตรงปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศ แยกต้น ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ มีขนาด 2.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 35-60 อัน ส่วนดอกเพศเมีย ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ โดยมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรตัวเมีย 3 อัน ผลเป็นดอกเดี่ยวแต่ออกเป็นกระจุก มีลักษณะเกือบกลม ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2-5มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พู ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม หนึ่งผลมี 3 เมล็ด ตามพูๆ ละ 1 เมล็ด มีขนาด 7-8 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม และมีเนื้อบางๆสีขาว (aril) หุ้มเมล็ดอยู่

 ขันทองพยาบาท  

การขยายพันธุ์ขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่โดยส่วนมากแล้วในอดีตมักจะไม่นิยมนำมาปลูกตามเรือกสานไร่นา หรือ ตามบริเวณบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีขนาดสูงใหญ่พอสมควร ดังนั้นการขยายพันธุ์จึงมักจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันมันเริ่มมีการเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าของขันทองพยาบาท มาปลูกบริเวณสวนสาธารณะ หรือ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามสถานที่ต่างๆ บ้างแล้ว

ขันทองพยาบาท

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของขันทองพยาบาท พบว่า ราก พบสารในกลุ่ม diterpene diol ที่มีโครงสร้างเป็น 15b-diol, และพบent-kaurene-3b, สารกลุ่ม flavonesได้แก่ kanugin, pinnatin และ desmethoxy kanugin เปลือกต้น พบสาร diterpenoids ได้แก่ abbeokutone, suremulol C, D, entkaurene-3β,15 β-diol, helioscopinolide A, C, I,suregadolides, suregadolides C, suremulide A,suremulol A, bannaringaolide A, suremulol B (kaurane diol) และสารกลุ่ม triterpene alcohol ได้แก่ multiflorenol เมล็ด พบสารไกลโคไซด์ 7,4’-O-dimethylscutellarein 6-O-β-D-glucopyranoside ใบ พบสาร tetracyclic diterpene lactones ในกลุ่ม abiatene diterpene lactones หลายชนิด

โครงสร้างขันทองพยาบาท

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขันทองพยาบาท

ฤทธิ์แก้แพ้ มีการนำสารสกัดจากเปลือกของขันทองพยาบาท ด้วยไดคลอโรมีเทนมาแยกสารให้บริสุทธิ์จะได้สารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ ent-16 -kaurene-3 β,15 β,18-triol, ent -3-oxo-16-kaurene-15 β,18-diol, ent -16-kaurene-3 β,15 β-diol, abbeokutone, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I แล้วนำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์แก้แพ้ในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ β-hexosaminidase (ในการแพ้แบบ hypersensitivity type I จะมีอาการของโรคเกิดเร็วในเวลาเป็นนาที หรือ ชั่วโมง ภายหลังได้รับแอนติเจน ซึ่งจะเหนี่ยวนำการสร้างแอนติบอดีชนิด IgE ไปจับกับรีเซฟเตอร์บน mast cell และมีการปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ร่วมกับ histamine ที่เก็บไว้ใน mast cell ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการแพ้) ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 7 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแพ้ ของเซลล์ RBL-2H3 โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ของสารดังกล่าวข้างต้น มีค่าระหว่าง 22.5-42.2 ไมโครโมล โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน ketotifen fumarate (IC50 = 47.5 ไมโครโมล) แต่มีฤทธิ์น้อยกว่า quercetin (IC50=4.5 ไมโครโมล) แต่เมื่อนำสารทั้ง 7 ชนิด มาทดสอบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ β-Hexosaminidase โดยใช้ความเข้มข้นของสารเท่ากับ 100 ไมโครโมล พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งน้อยมาก แสดงว่าสารทั้ง 7 ชนิด ออกฤทธิ์แก้แพ้โดยยับยั้งการสลายตัวแกรนูลที่ปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase แต่ไม่ได้ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โดยตรง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัด และสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท โดยใช้เซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้ง nitric oxide (NO) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.6 µg/ml โดยสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ คือ helioscopinolide A แสดงฤทธิ์ยับยั้ง NO ได้สูงที่สุดที่ค่า IC50 เท่ากับ 9.1 μM ตามด้วย helioscopinolide C และ suremulol D มีค่า IC50 เท่ากับ 24.5 และ 29.3 μM ตามลำดับ นอกจากนี้สาร helioscopinolide A ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostraglandin E2 (PGE2) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 46.3 μM โดยฤทธิ์ต้านการอักเสบของ helioscopinolide A เกิดจากกลไกในการยับยั้งการแสดงออกของยีน iNOS และ COX-2 mRNA ทำให้การผลิต NO และพรอสตาแกลนดิน ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบลดลง โดยการออกฤทธิ์จะขึ้นกับขนาดของยา

การศึกษาทางพิษวิทยาของขันทองพยาบาท

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื้อไม้ขันทองพยาบาท มีพิษทำให้เมา ดังนั้นในการใช้เป็นสมุนไพรจึงควรระมัดระวังในการใช้
  2. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้  ส่วนเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ทีต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ขันทองพยาบาท
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขันทองพยาบาท (Khan Thong Phayabat)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 61.
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน, หน้า 415.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขันทองพยาบาท”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 101-102.
  4. วุฒิ วุฒิธรรมเวช, ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 (21 สิงหาคม พ.ศ.2540), หน้า 129.
  5. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ขันทองพยาบาท”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 77.
  6.  Cheenpracha S, Yodsaoue O, Karalai C, Ponglimanont C, Subhadhirasakul S, Tewtrakul S, et al. Potential anti-allergic ent-kaurene diterpenes from the bark of Suregada multiflora. Phytochemistry. 2006;67:2630-2634.
  7. Tewtrakul S, Subhadhirasakul S, Cheenpracha S, Yodsaoue O, Ponglimanont C, Karalai C. Anti-inflammatory principles of Suregada multiflora against nitric oxide and prostaglandin E2 releases. J Ethnopharmacology. 2011;133:63-66.
  8. ขันทองพยาบาท.ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.Phargaden.com/main.php?action=viewpage&pid=206