ดาหลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ดาหลา งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ดาหลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาหลา, กะลา, กาลา, จินตะหลา, ข่าน้ำ, หน่อกะลา (ทั่วไป), ปุด, ปุดกะลา (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nicolaia elatior (Jack) Horan.
ชื่อสามัญวงศ์  Zingiberales

ถิ่นกำเนิดดาหลา 

ดาหลาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าร้อนชื้นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่ในตำราบางฉบับก็กล่าวว่าถิ่นกำเนิดของดาหลาอยู่แถบหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย

            สำหรับในประเทศไทยนั้น คนไทยรู้จักดาหลามานานแล้ว ดังปรากฏหลักฐานต่างๆ เช่น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยปรากฏชื่อที่เรียกว่า กาลาปรากฏอยู่ในบทชมดง ร่วมกับต้นไม้ป่าชนิดต่างๆ และในหนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอปรัดเล พ.ศ.2416 มีการเรียกกาหลาว่า กะลา โดยมีคำอธิบาย ว่า "กะลา : คือ ผักอย่างหนึ่ง ต้นเท่าด้ามพาย ใบเหมือนข่า ปลูกไว้สำหรับกินหน่อ เป็นต้น และในปัจจุบันสามารถพบดาหลา ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยสามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และพบตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือ การปลูกเพื่อจำหน่ายในสวยในไร่แต่จะพบได้มากทางภาคใต้ เพราะคนในภาคใต้นำดาหลามาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณดาหลา

  1. ใช้ขับลม
  2. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  3. แก้ลมพิษ
  4. แก้โรคผิวหนัง
  5. แก้ท้องเสีย
  6. แก้เสมหะ
  7. แก้ปวดศีรษะ
  8. แก้ความดันสูง
  9. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  10. แก้โรคประดง
  11. ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  12. แก้แน่นหน้าอก
  13. ช่วยต้านอนุมูลอินสะ
  14. แก้ลมแน่นหน้าอบ
  15. ช่วยต้านมะเร็ง
  16. ช่วยป้องกันโรคเก๊าท์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด แก้ท้องเสีย โดยใช้กลีบดอกสด หรือ แห้ง 10-15 กลีบ มาต้นน้ำดื่ม ใช้แก้ลมพิษ และโดยใช้เหง้าใต้ดินโขลกผสมเหล้าโรงแล้วคั้นเอาน้ำมาบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 เวลา ใช้แก้ประดง แก้ผดผื่นคันตามตัว โดยใช้เหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม และใช้อาบด้วย ใช้บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ลมแน่นหน้าอบ โดยใช้หน่ออ่อน หรือ ดอกมาประกอบอาหารรับประทาน


ลักษณะทั่วไปของดาหลา

ดาหลา จัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอก และหน่อต้น ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นคล้ายข่า เรียกว่าลำต้นเทียม โดยลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินจะมีสีเขียวเข้มสูงประมาณ 2-5 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายใบข่า เป็นรูปทรงยาวเรียว ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ ใบกว้างราว 15-20 เซนติเมตร ยาวราว 30-40 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ ใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบเกลี้ยง ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวเป็นช่องอกขึ้นจากเหง้าใต้ดินก้านดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร และยาว 50-150 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกจะหนา ผิวเรียบเป็นมันวาวคล้ายพลาสติก กลีบดอกด้านนอกมีขนาดใหญ่ แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเข้าสู่ด้านใน ตรงศูนย์กลางดอกเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกลุ่ม ใบประดับรอบนอกแผ่น ใบประดับชั้นใน มีขนาดลดหลั่นกัน เกสรผู้ที่เป็นมันสีเลือดหมูเข้ม ขอบขาว หรือ เหลือง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน อับเรณูสีแดง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 10-16 เซนติเมตร ส่วนสีของดอกนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โดยในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีชมพูสีแดง สีขาว และสีชมพูอ่อน ผลรูปกลม มีขนนุ่มข้างในมีเมล็ดสีดำหลายเมล็ด

ดาหลา

ดาหลา

การขยายพันธุ์ดาหลา

ดาหลาสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การแยกหน่อ, การแยกเหง้า, การใช้เมล็ด เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นนิยมในปัจจุบันคือการแยกหน่อ โดยมีวิธีการดังนี้

            แยกหน่อที่มีความสูงประมาณ 60-100 ซ.ม. ขึ้นไป โดยใช้กึ่งแก่ที่มีในติดอยู่ประมาณ 4-5 ใบ จากนั้นใช้มีดตัดให้มีเหง้า และควรมีรากติดอยู่ด้วย ซึ่งหน่อแก่นี้จะมีหน่อดอกอ่อนๆ ติดมาด้วยประมาณ 3 หน่อ แล้วนำไปในถุงพลาสติก 1 เดือน เพื่อให้หน่อแข็งแรงก่อนนำไปปลูกต่อไป จากนั้นทำการขุดยกร่องสวน โดยใช้แปลงปลูกว้าง 2-3 เมตร ความยาวตามขนาดของพื้นที่ และมีการไถพรวนตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน เก็บวัชพืชออกให้หมด จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม ปลูกลงในหลุมที่เตรียมไว้ แล้วทำการกลบดินให้สูงประมาณ 6 นิ่ว รดน้ำให้ และควรหาไม้หลักมาผูกติดกับลำต้นกันต้นโยก สำหรับระยะการปลูกดาหลาจะไม่มีระยะปลูกที่แน่นอน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะปลูกในระยะ 2x2 เมตร 

            สำหรับในระยะเริ่มแรกของการปลูก ควรรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 1 ครั้ง เมื่อต้นดาหลา ตั้งตัวได้อาจเว้นระยะห่างของการให้น้ำจากวันละครั้งออกไปเป็นประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของดอกดาหลา พบว่า สารสำคัญที่พบในดอกดาหลา คือ สารกลุ่ม flavonoids เช่น myricetin, apigenin, luteolin, quercetin, anthocyanins, kaempferol, สารกลุ่ม phenolic เช่น tannic acid, gallic acid, cafeic acid, chlorogenic acid สารกลุ่ม glycosides สารแทนนิน กรดไขมัน เช่น oleic acid, palmitoleic  acid, linoleic acid และน้ำมันหอมระเหยเช่น α-pinene, dodecanal เป็นต้น

โครงสร้างดาหลา

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของดาหลา

ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลจากส่วนดอกมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 และชนิด MDA-MB-231 ได้ดีในขณะที่สารสกัด 50% hydroglycol จากส่วนดอดาหลา มีฤทธิ์กระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (melanoma cell) ชนิด B16 ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาด และระยะเวลาที่ให้โดยสารสกัดมีผลทำให้เซลล์เกิดการตายแบบ apoptosis ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยา หรือ ผลิตภัณฑ์สำหรับต้านมะเร็งดังกล่าว

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล จากส่วนดอกมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Listeria monocytogenes, Escherichia coli, Salmonella typhimurium และ Pseudomonas aeruginosa โดยมีค่า minimal inhibitory concentrations (MIC) อยู่ในช่วง 30 -100 µg/mL และน้ำมันหอมระเหย จากส่วนดอกก็มีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิดเช่นกัน โดยพบว่ามีฤทธิ์ต้าน S.aureus, B. cereus, Candida albicans และ Cryptococcus neoformans

           ฤทธิ์ลดระดับกรดยูริกในเลือดสาร polyphenol และ flavonoidจากดอกดาหลา มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ซึ่งช่วยลดระดับของกรดยูริก (uric acid) โดยมีทดลองในหนูแรทพบว่าเมื่อให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับของกรดยูริกในเลือดสูงด้วย beef broth กินสารสกัดน้ำจากส่วนดอกขนาด 200 มก./กก. เปรียบเทียบผลกับยา allopurinol ขนาด 180 มก./กก. พบว่าสารสกัดดังกล่าว สามารถลดความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดได้แม้ประสิทธิภาพจะน้อยกว่ายามาตรฐานก็ตาม

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทำการทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติที่ไขกระดูกด้วยการป้อนน้ำที่มี lead acetate ความเข้มข้น 500 ppm นาน 14 วัน แล้วป้อนสารสกัดเอทานอลจากส่วนดอกดาหลาขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ในหนูพบว่าสารสกัดดังกล่าวทำให้ lipid hydroperoxides และ protein carbonyl ที่เพิ่มขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วย lead acetate มีระดับลดลง ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระ และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำลายไขกระดูกของ lead acetate ด้วย แสดงให้เห็นว่าดอกดาหลามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีและสามารถปกป้องไขกระดูกจากการถูกทำลายด้วย lead acetate ได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของดาหลา

ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของดาหลา อีกทั้งการรับประทานในรูปแบบของอาหารก็มีความปลอดภัยสูง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่มีประวัติการแพ้ขิง ข่า ไพล หรือ พืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE (ขิง, ข่า, ขมิ้น, ไพล) ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานดาหลา เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน
  2. ดาหลา ถือเป็นพืชที่มีการนำมาใช้เป็นอาหารอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงหากนำมารับประทานในรูปแบบของอาหาร แต่ในการนำมาใช้ในรูปแบบของสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังของสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยอาจใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ดาหลาเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ดาหลา
  1. กัญจนา ดีวิเศษ, บรรณาธิการ. ผักพื้นบ้านภาคใต้. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2542.
  2. เดชา ศิริภัทร.กาหลา. งดงาม เรียบง่าย และทนทาน ปานสิ่งประดิษฐ์. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน 296. ธันวาคม 2546.
  3. ภญ.กฤติยา ไชยนอก. ดาหลา...ใส่แจกันก็สวย ใส่ยานด้วยก็มีประโยชน์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. สุรวิช วรรณไกรโรจน์. การปลูกดาหลา. สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  5. Yan SW, Asmah R. Comparison of total phenolic contents and antioxidant activities of turmeric leaf, pandan leaf and torch ginger flower. Int Food Res J. 2010;17(2):417-23
  6. Wijekoon MMJO, Bhat R, Karim AA, Fazilah A. Chemical composition and antimicrobial activity of essential oil and solvent extracts of torch ginger inflorescence (Etlingera elatior Jack.). Int J Food Prop. 2013;16(6):1200-10.
  7. Sulaiman SF, Sajak AAB, Ooi KL, Supriatno, Seow EM. Effect of solvents in extracting polyphenols and antioxidants of selected raw vegetables. J Food Compost Anal. 2011;24(4-5):506-15.
  8. Haleagrahara N, Jackie T, Chakravarthi S, Rao M, Pasupathi T. Protective effects of Etlingera elatior extract on lead acetate-induced changes in oxidative biomarkers in bone marrow of rats. Food Chem Toxicol. 2010;48(10):2688-94
  9. Dewi AR, Nur'aini I, Bahri IS, Afifah HN, Fattah A, Tunjung WAS. Antihyperuricemic activity of ginger flower (Etlingera elatior Jack.) extract in beef broth-induced hyperuricemic rats (Rattus norvegicus). AIP Conference Proceedings. 2016;1755(1, Advances of Science and Technology for Society): 140012/1-/6
  10. Maimulyanti A, Prihadi AR. Chemical composition, phytochemical and antioxidant activity from extract of Etlingera elatior flower from Indonesia. J Pharmacogn Phytochem. 2015;3(6):233-8
  11. Krajarng A, Chulasiri M, Watanapokasin R. Etlingera elatior extract promotes cell death in B16 melanoma cells via down-regulation of ERK and Akt signaling pathways. BMC Complement Altern Med. 2017;17(1):415
  12. Ghasemzadeh A, Jaafar HZE, Rahmat A, Ashkani S. Secondary metabolites constituents and antioxidant, anticancer and antibacterial activities of Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm grown in different locations of Malaysia. BMC Complement Altern Med. 2015;15:335
  13. Susanti D, Awang NA, Qaralleh H, Sheikh Mohamed HI, Attoumani N. Antimicrobial activity and chemical composition of essential oil of malaysian Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith flowers. JEOP. 2013;16(2):294-9
  14. Wijekoon MMJO, Bhat R, Karim AA. Effect of extraction solvents on the phenolic compounds and antioxidant activities of bunga kantan (Etlingera elatior Jack.) inflorescence. J Food Compost Anal. 2011;24(4-5):615-9.