ขจร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขจร งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขจร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลิด, ผักสลิด, ดอกขจร (ภาคกลาง), ผักสลิดคาเลา (ภาคเหนือ), ผักขิก, ผักสลิดป่า, ผักกะจอน (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Telosma cordata (Burm. f.) Merr. 
ชื่อสามัญ Cowslip creeper
วงศ์ ASCLEPIADACEAE

ถิ่นกำเนิดขจร 

ขจรเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น จีนตอนใต้ อินเดีย เวียดนาม ลาว พม่า และไทย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ถือได้ว่าขจร เป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีการนำมาประกอบอาหารรับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว และยังเป็นพืชผักที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง รวมถึงตามที่รกร้างทั่วไป และตามริมแม่น้ำลำคลองต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณขจร

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย
  2. ช่วยเจริญอาหาร
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. ช่วยขับสารพิษ
  5. แก้อาการท้องเสีย
  6. ช่วยบำรุงเลือด
  7. แก้โลหิตเป็นพิษ
  8. ช่วยบำรุงปอด
  9. ช่วยบำรุงหัวใจ
  10. ช่วยบำรุงสายตา
  11. ช่วยบำรุงตับ
  12. ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี
  13. ช่วยลดไข้
  14. ช่วยขับเสมหะ
  15. ใช้ถอนพิษเบื่อเมา
  16. แก้อาการหวัด
  17. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  18. แก้ท้องผูก
  19. แก้หน้ามืดตาลาย
  20. แก้อาเจียน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยบำรุงสายตา บำรุงปอด บำรุงโลหิต บำรุงตับ แก้เสมหะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการหวัด โดยการนำดอกขจร ยอดอ่อน หรือ ผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้ดอกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ โดยการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของขจร

ขจร จัดเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อยขนาดเล็กเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ซึ่งเถายาวจะสามารถเลื้อยยาวได้มากกว่า 3-10 เมตร และเถาจะแตกกิ่งจำนวนมาก เถาอ่อน และกิ่งอ่อนมีลักษณะกลม เปลือกเถาสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำ และจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา ปลายเถา หรือ ปลายกิ่งมีขนอ่อนปกคลุมซึ่งเถาขจรไม่มีมือเกาะเหมือนไม้เถาเลื่อยอื่นๆ ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว

           ใบเป็นใบเดี่ยวออกบริเวณข้อของเถาโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง กลางใบกว้างส่วนโคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10เซนติเมตร หลังใบ และท้องใบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง เป็นสีเขียวสด ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย และมีขนอ่อนปกคลุม เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัด มี 5 เส้น  ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5-2เซนติเมตร

           ดอกออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามข้อลำต้น ง่ามใบ หรือ ปลายกิ่ง และจะมีดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านดอกสั้นสีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร พวงดอก หรือ ช่อดอกแต่พวงจะมีดอกย่อยประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยจะแข็งมีกลิ่นหอม และมีสีเขียวอมสีเหลือง หรือ สีส้มบริเวณกลางดอกมีสีเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกย่น และบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก 

           ผลออกเป็นฝัก มีคล้ายฝักถั่วเขียว แต่ยาวกว่า ฝักมีรูปร่างกลม เรียวยาวผิวเกลี้ยง ตัวฝักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลม ฝักกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล และเมื่อฝักที่แก่เต็มที่จะปริแตกแยกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่กว้างลักษณะแบนปลายตัด และมีขนซึ่งจะมีจำนวนมาก

ขจร

การขยายพันธุ์ขจร 

ขจรสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่นการใช้เมล็ด การปักชำ และการแยกราก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำกิ่ง เพราะเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และจะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว และสามารถแตกกิ่งได้มากใกล้เคียงกับต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้

           ตัดเลือกเถาแก่ที่มีขนาดตั้งแต่นิ้วก้อยขึ้นไป และเถามีสีน้ำตาลอมเทา โดยจะตัดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้น นำมาแช่น้ำยาเร่งราก และน้ำยาป้องกันเชื้อรา ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำปักชำในถุงพลาสติกดำ ซึ่งจะใช้ประมาณ 4-6 ท่อน/ถุง หลังจากนั้น นำถุงเพาะชำมาวางเรียงกันในที่แสงรำไร แล้วให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดูแลได้ประมาณ 10-15 วัน ท่อนพันธุ์ก็จะแทงยอด และใบใหม่ออกมาก หลังจากนั้น ดูแลอีกประมาณ 20-30 วัน จึงจะสามารถนำลงปลูกในแปลงดินได้

           โดยก่อนจะนำลงปลูกในแปลงดิน ควรเตรียมแปลงดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชให้หมดก่อน ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน โดยการปลูกควรเว้น ระยะปลูกระหว่างต้น x ระหว่างแถว ประมาณ 25 เซนติเมตร x 2-2.5 เมตร หรือเว้นระยะปลูกระหว่างหลุม x ระยะห่างแถว 2.5 เมตร x 2-2.5 เมตร โดยแต่ละหลุมควรปลูก 3-5 ต้น การทำค้างควรทำยาวตามแนวแถวที่ปลูก ด้วยการปักหลักไม้ด้านข้างแถวเป็นระยะๆ ระยะห่างระหว่างหลักประมาณ 2 เมตร แต่ละหลักขึงด้วยเส้นลวดเป็นตาข่าย สำหรับการเก็บดอกขจร จะสามารถเริ่มเก็บได้หลังการปลูกประมาณ 3 เดือน และจะเก็บต่อเนื่องได้นานถึง 8 เดือน

องค์ประกอบทางเคมี

ดอกขจร มีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด อาทิเช่น Flavonoid, Anthocyanin, Beta–Carotene และ Ascobic acid เป็นต้น นอกจากนี้ดอกขจรยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของดอกขจร (100 กรัม)

  • พลังงาน                                    72                                แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                           10.6                             กรัม
  • โปรตีน                                       5.0                               กรัม
  • ไขมัน                                         1.1                               กรัม
  • ใยอาหาร                                  0.8                               กรัม
  • วิตามินเอ                                  3,000                           หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1                               0.04                             มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                                0.12                             มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3                               0.17                             มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                                    68                               มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม                         70                               มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                                   1.0                              มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส                        90                               มิลลิกรัม                       

โครงสร้างขจร 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขจร

มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขจร หลายฉบับระบุว่า ดอกขจรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง บำรุงกระดูก และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของขจร

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ขจร เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาว และหวานรับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว ดังเดิมในการนำมารับประทานเป็นอาหารนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่ในการนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาดที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ขจรเป็นสมุนไพรเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ขจร
  1. รศ.ดร.สุธาทิพ  ภมรประวัติ. ขจรโสน.คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่มที่ 337. พฤษภาคม 2550.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“ขจร (Kha Chon)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 56.
  3. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. 2538. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. หน้า 120. ผักพื้นบ้าน. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ
  4. มธุรส วงษ์ ครุฑ.”ดอกขจร” ปลูกกินได้คุณค่า...ปลูกขายได้ราคา. คอลัมน์เกษตรน่ารู้.นิตยสาร นสพ. กสิกรปีที่ 86. ฉบับที่ 3.พฤษภาคม-มิถุนายน 2556. หน้า 37-39
  5. ผักขจร/ผักสลิด/ดอกขจร/ดอกสลิด สรรพคุณการปลูกดอกขจร. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkset.com