ส้มโอมือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ส้มโอมือ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ส้มโอมือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มมือ, ส้มนิ้ว (ทั่วไป), ฝอโส่ง, ฝูโส่ (จีน), บาราพิมพู (อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus medica Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus medica var., C. balotina Poit. & Turpin, C. tuberosa Mill., Aurantium medicum (L.) M. Gómez
ชื่อสามัญ Fingered citron, Buddha’s hand, Buddha's fingers
วงศ์ RUTACEAE


ถิ่นกำเนิดส้มโอมือ 

ส้มโอมือ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น ในอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา แล้วได้มีการแพร่กระจายไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อนต่างๆ ของทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศแต่ส่วนมากจะพบได้มากทางภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้เป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณส้มโอมือ

  1. ช่วยบำรุงหัวใจ
  2. ช่วยกระตุ้นหัวใจ
  3. ช่วยบำรุงเลือดลม
  4. ช่วยบำรุงลม
  5. ช่วยบำรุงตับ
  6. แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ
  7. แก้เสมหะโลหะ
  8. ใช้ละลายเสมหะ
  9. แก้ไอ
  10. แก้หืดหอบ
  11. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  12.  แก้จุกเสียด แน่นท้อง
  13. แก้อาหารไม่ย่อย
  14. แก้ปวดท้อง
  15. แก้ปวดกระเพาะ
  16. แก้วิงเวียนศีรษะ
  17. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  18. ใช้ละลายเสมหะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ลมคั่งค้างในกระเพาะอาหาร  ขับลม แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้จุดเสียดแน่นเฟ้อใช้ผลสด 12-15 กรัม หรือ ผลแห้ง 6 กรัม แช่ในน้ำร้อน หรือ ชงน้ำรับประทาน แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้วิงเวียน แก้ไอ หืดหอบ ใช้ละลายเสมหะ ใช้ผลแห้งครั้งละ 3-10 กรัม หรือ ดอกครั้งละ 3-6 กรัม หรือ รากครั้งละ 10-15 กรัม ผลแห้งครั้งละ 3-10 กรัม ต้มน้ำรับประทาน หรือ เข้ากับตำรับยาอื่น

           ส่วนในตำรายาจีนระบุขนาดวิธีใช้ดังนี้

           แก้อาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอชื้น ใช้ผลส้มโอมือ แห้ง 6 กรัม และปั๊วแห่ 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลเล็กน้อยรับประทานแก้ปวดท้อง ปวดกระเพาะ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ลมขึ้นท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ผลส้มโอมือแห้ง 6 กรัม และหง่วนโอ๊ว 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แก้อาหารไม่ย่อย ใช้ผลส้มโอมือ 5 กรัม, ขิง 5 กรัม, เปลือกมะนาว 5 กรัม, อึ่งไน้ 1 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 1 ครั้ง 


ลักษณะทั่วไปของส้มโอมือ
 

ส้มโอมือ จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กมีทรงพุ่ม สูงประมาณ 3-4 เมตร เนื้อไม้แข็ง และเหนียว เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีม่วงแดง กิ่งแก่สีเดียงกับลำต้น ตามลำต้น และกิ่งมีหนามสั้นแข็งอยู่ทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่สีเขียวเข้มหลังใบเรียบ ท้องใบสีเขียวอ่อน ส่วนปลายใบและโคนใบมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นกระจุกสีขาวโดยจะออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะหนา และแข็ง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งกลีบดอกด้านในจะเป็นสีขาว ด้านนอกมีสีม่วงแดง หลุดร่วง ผลออกเป็นผลเดียว รูปทรงรีขนาดใหญ่ ปลายผลแยกออกเป็นแฉกงอคล้ายนิ้วมือ ผลมีขนาดยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระเป็นมัน มีกลิ่นหอมข้างในผลจะเป็นเหมือนฟองน้ำหนาสีขาว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ไม่มีเนื้อผล และเมล็ด

ส้มโอมือ

การขยายพันธุ์ส้มโอมือ

ส้มโอมือสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการตอนกิ่ง และการทาบกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและให้ผลผลิตเร็วกว่าวิธีอื่นๆ โดยวิธีการตอนกิ่งส้มโอมือ สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ โดยหลังจากได้ต้นพันธุ์จากการตอนกิ่งมาแล้ว ให้นำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 4x4 เมตร ทั้งนี้ส้มโอมือ เป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดจัด และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี โดยหลังจากการปลูก 2-3 ปี จึงจะให้ผลครั้งแรก

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยในผิวผลส้มโอมือ ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ พบว่า มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีสารต่างๆ เช่น Citropten, Lime ttin และยังพบสาร Hesperidin, Diosmin และ Ascorbic acid อีกด้วย

โครงสร้างส้มโอมือ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของส้มโอมือ

มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาในสารสกัดของผลส้มโอมือ ในสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ และลดการบีบตัวของลำไส้ มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนตัวของลำไส้ของสัตว์ทดลองได้ ส่วนน้ำมันหอมระเหย ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว

การศึกษาทางพิษวิทยาของส้มโอมือ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในทางการแพทย์แผนจีนมีการะบุถึงข้อควรระวังในการใช้ส้มโอมือ ว่า ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ไม่ควรรับประทานส้มโอมือ
  2. ในการใช้ส้มโอมือเพื่อเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ตามขนาดที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ส้มโอมือเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ส้มโอมือ
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ส้มมือ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 530.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 1 น้ำกระสายยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556. หน้า 73
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ส้มมือ (Som Mue)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 283.
  4. ส้มโอมือ . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=119
  5. ส้มโอมือ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=134