แพงพวยฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แพงพวยฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แพงพวยฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แพงพวยบก, พังพวยบก (ภาคกลาง), ผักปอดบก (ภาคเหนือ), นมอินทร์ (สุราษฏร์ธานี), ฉางชุนฮวา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Catharanthus roseus G.Don
ชื่อสามัญ Madagascar periwinkle, Rose periwinkle, Cape periwinkle, Vinea, Bringht eye, Indian periwinkle, Cayenne jasmine, Pink periwinkle, Old maid.
วงศ์ APOCYNACEAE

ถิ่นกำเนิดแพงพวยฝรั่ง

แพงพวยฝรั่งเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง แล้วแพร่ไปสู่ทวีปยุโรปประมาณ ปี ค.ศ.1757 แอฟริกา และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งนี้ในประเทศมาดากัสการ์แพงพวยฝรั่งถูกยกย่องว่าเป็นพืชพื้นเมืองของที่นั่น เพราะสามารถพบได้มากในธรรมชาติทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบันแพงพวยฝรั่งกระจายพันธุ์ และสามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อนต่างๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยช่วงหลัง พ.ศ.2516 เพราะในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ.2516) ไม่มีการบันทึกชื่อแพงพวยฝรั่ง เอาไว้

           ส่วนในปัจจุบันในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งในรูปแบบการปลูกลงแปลงเพื่อประดับตามบ้านเรือนอาคารต่างๆ หรือ การปลูกเป็นไม้กระถาง


ประโยชน์และสรรพคุณแพงพวยฝรั่ง

  1. แก้โรคเบาหวาน
  2. ช่วยลดไขมันในเลือด
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ
  4. แก้ท้องผูกเรื้อรัง
  5. ช่วยย่อยอาหาร
  6. แก้มะเร็ง
  7. ใช้แก้บิด
  8. แก้ปวด
  9. ใช้ขับพยาธิ
  10. ใช้ห้ามเลือด
  11. ขับระดูในสตรี
  12. รักษามะเร็งในเม็ดเลือด
  13. เป็นยาเย็น
  14. แก้หัด
  15. แก้ไข้
  16. ช่วยลดความดัน
  17. แก้ผดผื่น
  18. แก้แผลอักเสบอื่นๆ
  19. แก้อาการปวดฟัน
  20. ใช้แก้ร้อนใน
  21. ช่วยขับปัสสาวะ
  22. ช่วยขับเหงื่อ
  23. แก้บวม
  24. แก้ฝี
  25. ช่วยถอนพิษสำแดง
  26. แก้อาการตัวเหลืองอันเกิดจากพิษสุรา
  27. แก้โรคหนองใน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้หัด แก้ไข้จากหัด แก้ผดผื่น และแผลอักเสบอื่นๆ โดยใช้ต้นสด 30-60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วต้มดื่ม 

ใช้แก้อาการปวดฟันโดยต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม

ใช้ลดความดันโลหิต แก้เบาหวาน โดยใช้แพงพวย 15 กรัม ดอกเก๊กฮวย 6 กรัม และชุมเห็ดไทย 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน

ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้ทั้งต้นครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน

ช่วยแก้ไข้ แก้หวัด แก้ตัวร้อน แก้อาการไอแห้ง โดยใช้ต้นแห้ง 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม

ใช้แก้ฝีที่มีหัวกลัดหนองที่ยังไม่แตก โดยใช้ต้นสดนำมาต้มเอาน้ำชะล้าง ใช้ทั้งต้นตำพอก

ใช้ลดไขมันในเลือดสูงได้ โดยใช้ใบ หรือ ต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้า และเย็น

ลักษณะทั่วไปของแพงพวยฝรั่ง

แพงพวยฝรั่ง จัดเป็นไม้ล้มลุกเป็นทรงพุ่มสูง 30-120 เซนติเมตร โคนต้นแข็งลำต้นสีเขียวอ่อน หรือ สีน้ำตาลปนเขียว แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มียางสีขาวขุ่น ใบ ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบหนามีลักษณะแข็ง มีสีเขียวเข้มเป็นมัน และเป็นรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน โคนใบแหลม หรือ มน เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน หรือ เหลืองสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ใบกว้าง 2-3 ซม. ยาว 3-7 ซม. ดอก ออกเป็นกลุ่มตามส่วนปลายกิ่ง แต่ละกลุ่มมีดอกราว 3-4 ดอก เป็นดอกกลีบชั้นเดียว มีกลีบ 5 กลีบ แยกจากกัน กลีบดอกมี 2 สี คือ สีขาวและสีชมพู พันธุ์ดอกสีขาว ตรงกลางดอกมีสีเหลือง ส่วนพันธุ์ดอกสีชมพู ตรงกลางดอกมีสีแดง ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบมน และมีดิ่งแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลออกเป็นฝักรูปกระบอกยาวออกเป็นคู่ เมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว พอฝักแก่จะเป็นสีน้ำตาลดำ และจะแตกออกเมื่อฝักแห้งด้านในจะมีเมล็ดเล็กๆ สีดำ จำนวนมากประมาณ 750-1,000 เมล็ด

แพงพวยฝรั่ง

การขยายพันธุ์แพงพวยฝรั่ง

แพงพวยฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดจากฝักแห้งที่แตกมาทำการเพาะกับวัสดุเพาะที่ใช้เพาะพันธุ์พืชทั่วไป ในกระบะเพาะ จากนั้นรอ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก พอต้นกล้าที่ได้มีความแข็งแรงดีแล้วก็สามารถย้ายไปปลูกในแปลง หรือ ในกระถางตามที่ต้องการได้

           ทั้งนี้แพงพวยฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการแสง และอากาศร้อนแบบเต็มวง เนื่องจากเป็นพืชในเขตร้อน แต่ก็ชอบความชื้นปานกลาง โดยฉากพื้นที่ชายทะเล และยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศได้ดี

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของแพงพวยฝรั่ง พบว่ามีสาระสำคัญต่างๆ เช่น ammocalline, campesterol, acenine, ajalicine, akummigine, carosine, glutamine, loganin, Leurosidine, arginins ยับพบสารกลุ่ม Alkaloids อีกเป็นจำนวนมาก เช่น Vinblastine, Vincristine, Vincristine, Vinblastine, Vinrosidine, Vinleurosine ฯลฯ

โครงสร้างแพงพวยฝรั่ง  

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแพงพวยฝรั่ง

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแพงพวยฝรั่ง พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ขับปัสสาวะ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

การศึกษาทางพิษวิทยาของแพงพวยฝรั่ง

มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษในสัตว์ทดลองของแพงพวยฝรั่ง โดยการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากต้นแพงพวยฝรั่งในหนูแรท พบว่าขนาดที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน คือ ความเข้มข้น 1000 ppm (ส่วนในหนึ่งล้านส่วน) และที่ความเข้มข้น 500 ppm จะก่อให้เกิดความเป็นพิษแบบกึ่งเฉียบพลัน เมื่อป้อนต่อเนื่องกัน 21 วัน นอกจากนี้พบรายงาน (case-report) ในผู้ป่วยที่รับสารแอลคาลอยด์ vindesine และ vinorelbine ซึ่งสกัดจากต้นแพงพวยฝรั่ง ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ว่าก่อให้เกิดภาวะหายใจลำบากในผู้ป่วย

            นอกจากนี้ยังผลมีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า จากผลการทดสอบความเป็นพิษด้วยการฉีดสารสกัดจากใบแพงพวยฝรั่งด้วยเอทานอล 95% เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 4 กรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. แพงพวยเป็นพืชในวงศ์ APOCYNACEAE ซึ่งจะมียางสีขาว เมื่อนำมาใช้อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง หรือ ทางเดินอาหารได้
  2. แพงพวยฝรั่งมีสารอัลคาลอยด์ที่เป็นพิษสูง เมื่อใช้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้
  3. รากของแพงพวยฝรั่งมีสรรพคุณขับระดูในสตรี ดังนั้นสตรีมีครรภ์ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
  4. ในการใช้แพงพวยฝรั่ง เพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันมานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้แพงพวยฝรั่งเพื่อเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง แพงพวยฝรั่ง
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “แพงพวยฝรั่ง ”. หน้า 132-133.
  2. เดชา  ศิริภัทร.แพงพวยฝรั่ง งามอย่างเรียบง่าย และมีคุณค่า.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 330. ตุลาคม. 2549.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “แพงพวยบก”. หน้า 573-575.
  4. จารุพันธ์ ทองแถม. พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555. หน้า 465
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แพงพวย”. หน้า 400.
  6. แพงพวยฝรั่ง.กลุ่มสมุนไพรแก้มะเร็ง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/_19_2.htm.
  7. แพงพวยฝรั่ง. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?.id=6094