ปีบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปีบ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ปีบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาสะลอง, กาดสะลอง, กาสะลองดำ (ภาคเหนือ), กางของ (ภาคอีสาน), กัองกลางดง (ภาคกลาง), เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis Linn. f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bignonia  hortensis (L.f.)Oken, Millingtonia dubiosa Span.
ชื่อสามัญ Cork Tree, Indian Cork Tree.
วงศ์ Bignoniaceae

ถิ่นกำเนิดปีบ  

ปีบจัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณประเทศพม่า และไทย โดยมักจะพบขึ้นกระจัดกระจายทั่วๆ ไป ตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงปัจจุบันสามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ปีบเป็นต้นไม้มีดอกหอมของไทยที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานว่าวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่องได้บรรยายถึงปีบ ในตอนชมดง เช่น ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และเรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบต้นปีบได้หลายภาค เช่นใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณปีบ 

  1. ช่วยขยายหลอดลม
  2. รักษาหืด
  3. ช่วยบำรุงโลหิต
  4. ช่วยบำรุงกำลัง
  5. ช่วยบำรุงน้ำดี
  6. เพิ่มการหลั่งน้ำดี
  7. แก้ริดสีดวงจมูก
  8. แก้ไซนัสอักเสบ
  9. แก้ลม
  10. ช่วยบำรุงปอด
  11. แก้วัณโรค
  12. แก้โรคปอดอักเสบ
  13. แก้โรคปอดพิการ
  14. แก้ไอ
  15. แก้เหนื่อยหอบ
  16. ขับเสมหะ
  17. ใช้รักษาอาการหอบหืด
  18. ใช้เป็นสีย้อม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้รักษาอาการหืดหอบ และขยายหลอดลม โดยนำดอกปีบ แห้ง 5-7 ดอก ผสมกับยาสูบ เล็กน้อยมวนเป็นบุหรี่สูบ หรือ จะใช้ใบมวนบุหรี่สูบก็ได้ ใช้ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ใช้แก้ลม โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ชงเป็นชาก็ได้ ใช้แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ โดยใช้เปลือกรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของปีบ
   

ปีบจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แบบผลัดใบลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ มีช่องอากาศเรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน มีใบย่อย 4-6 คู่ เป็นรูปไข่ปลายแหลมกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยัก หรือ เว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ เห็นเส้นกลางใบ และต่อมขนได้ชัด ดอก ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณ ตามปลายกิ่งโตมีดอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งดอกมีสีขาว และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบรองกลีบดอกมีขนาดเล็กมาก มีโคนเชื่อมติดกันยาว 2-5 มม. ปลายแยกเป็นกลีบกลมๆ 5 กลีบ ขอบม้วนออก กลีบดอกยาวประมาณ 4.5-7 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อเล็กยาวแบบปากแตร ท่อมีขนาดกว้างประมาณ 2 มม. ยาว 6-8 ซม. ปลายท่อบานออก แยกออกเป็น 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ผลดอก เป็นฝัก แบน ยาวรูปขอบขนานหัวแหลมท้ายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.3 เซนติเมตร ยาว 25-30 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวพอแห้งจะแข็ง และแตกออก เมล็ดแบนสีขาว มีรูปหยดน้ำจำนวนมาก เมล็ดมีปีบ สีขาวบางๆ ทำให้สามารถปลิวไปตามลมได้ไกลๆ

ปีบ

การขยายพันธุ์ปีบ

ปีบสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ด หรือ การนำรากรอบๆต้นปีบมาเพาะเป็นต้น โดยมีวิธีการ คือ ตัดรากบริเวณรอบๆ ต้น เป็นท่อนๆ ขนาด 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปปักชำในกระบะที่ผสมด้วยดินร่วน ปุ๋ยคอก และขี้เถ้าแกลบแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรอให้รากที่เพาะนั้นแทงยอดขึ้นมาพบประมาณจึงสามารถนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการได้ ทั้งนี้ปีบเป็นไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดี แต่ก็ค่อนข้างชอบอากาศชุ่มชื้น และสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดินแต่จะชอบดินร่วนปนทรายมากกว่าชนิดอื่น ดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกไม้ปีบ จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของปีบ สารเคมีที่พบในดอก คือ สารในกลุ่ม Glycosides เช่น scutallerin, scutellarein-5-galactoside, salidroside,2-(3,4-dihydroxy phenyl)-ethyl glucoside, 2-phenyl rutinoside, acetoside,p-coumaryl alcohol glucoside, phenyl propanoid glucosides, cornoside, isoeugenol glucoside, rengyolone, rengyoside B, rengyol, isorengyol, rengyoside A, millingtonine และสารในกลุ่ม Flavanoids เช่น scutellarein-5-glucuronide, Hispidulin, hortensin, scutellarein, 3,4-dihydroxy-6,7-dimethoxyflavone ใบพบฟลาโวนอยด์ hispidulin, dinatin และสารอื่นๆ ได้แก่ rutinoside, ß carotene ในผลพบสาร acetyl oleanolic acid เปลือกต้นพบสาร คือ sitosterol, สารขม และ tannins รากพบสาร คือ lapachol, beta-sitosterol,hentriacontane, paulownin 

โครงสร้างปีบ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของปีบ

ฤทธิ์บรรเทาอาการโรคหอบหืด มีการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณแบบกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) ของตำรับยาดอกปีบ โดยทำการพ่นสารสกัดน้ำจากดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน ในอาสาสมัครชายหญิงที่เป็นโรคหอบหืด จำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี โดยพ่นยา ขนาด 3 มล. จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 นาที โดยทำการนัดจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน วัดค่า PEFR ก่อน และหลังการให้ตำรับยาดอกปีบ ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครมีค่า PEFR เฉลี่ยก่อน และหลังได้รับตำรับยาพ่นดอกปีบ เท่ากับ 38.72% และ 68.53% ตามลำดับ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย 0.55 จากผลการศึกษาวิจัยแสดงว่าตำรับยาพ่นดอกปีบมีประสิทธิผลในการรักษาโรคหอบหืดได้ 

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับเช่น สารสกัดเมทานอลจากดอกมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในหนูทดลอง สารสกัดเอทานอลจากดอกมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษในหนูทดลอง สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในหลอดทดลอง สารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิ สาร hispidulin จากดอก มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้สงบระงับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีอาการลมชักได้สารสกัดใบด้วยอะซิโทนมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง

การศึกษาทางพิษวิทยาของปีบ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรสูดดมกลิ่นของดอกปีบ มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้
  2. ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ไม่ควรใช้ดอกปีบเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้
  3. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของปีบเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช่เช่นเดียวกับกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ปีบเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ปีบ
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2541.
  2. เดชา ศิริภัทร. ปีบ. ราชินีจากป่าตะวันตก.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 293. กันยายน 2547
  3. ปริ่มเฉนียน มุ่งการดี. ปีบ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 8 ฉบับที่ 4. 2534:17-19.
  4. ภญ.กฤติยา ไขยนอก. หอมดอกปีบ. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ประสิทธิผลของตำรับยาดอกปีบต่ออัตราการหายใจของผู้ป่วยโรคหอบหืด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ปีบ. กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_08_2.htm
  7. ปีบ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargan.com/main.php?action=viewpage&pid=237
  8. Surendra Kumar M, Astalakshmi N, Chandran J, Jaison J, Sooraj P, Raihanath T, et al. A Review on Indian cork tree - Millingtonia hortensis linn.F. World Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2014;3(10):256-71
  9. Kumari A, Sharma RA. A Review on Millingtonia hortensis Linn. Int J Pharm Sci Rev Res 2013;19(2):85-92.
  10. Nagaraja MS, Paarakh PM. Millingtonia hortensis Linn. - a review. Pharmacologyonline 2011;2:597-602.