มะพร้าว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมลูงานวิจัย

มะพร้าว งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะพร้าว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะป้าว, มะป้าว, มะป๋าน (ภาคเหนือ), บักพร้าว (ภาคอีสาน), พร้าว (ภาคใต้), ดุง (จันทบุรี), เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์), ยอ (ยะลา), คอส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โพล (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กลาปอ (มลายู), เอี่ยจี้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera  Linn.
ชื่อสามัญ Coconut
วงศ์ ARECACEAE - PALMACEAE

ถิ่นกำเนิดมะพร้าว

ถิ่นกำเนิดที่แน่นอนของมะพร้าวนั้นยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นที่ใด แต่เชื่อกันว่ามะพร้าวน่าจะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแถบประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และต่อมาได้มีชาวสเปนนำไปปลูกในหมู่เกาะเวสท์อินดีส และทะเลแครีเบียนตอนใต้ นอกจากนี้ชาวยุโรปยังนำไปปลูกในประเทศบราซิล และชาวโพสิเนเซียนนำไปปลูกยังเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก จนมีการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก เช่น ในปัจจุบันนี้

           สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะพร้าว ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีทั้งพันธุ์ต้นสูงและพันธุ์ต้นเตี้ย โดยเฉพาะในภาคใต้จะพบมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น ใน จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณมะพร้าว

  • ช่วยห้ามเลือด
  • แก้ปวด
  • ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยลดอาการบวม
  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง
  • แก้พิษ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • รักษาโรคเบาหวาน 
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้เลือดกำเดาออก
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้นิ่ว
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้กลากเกลื้อน
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยขับพยาธิตัวตืด
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ปากเจ็บ
  • แก้หิด

           มะพร้าวนับเป็นพืชที่อยู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังนั้นจึงมีการนำมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหลายๆ ด้านด้วยกัน เช่น ใช้เป็นอาหารโดยสามารถ เนื้อมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็กๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออกมาทำอาหารทั้งอาหารคาว-หวานได้หลายเมนู ส่วนเนื้อมะพร้าว อ่อนสามารถนำไปกินเป็นของว่าง หรือ นำไปแปรรูปเป็นขนมได้เช่นกัน ยอดอ่อนมะพร้าว หรือ เรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (coconut’s heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนจำเป็นต้องโค่นต้นมะพร้าวเพื่อเก็บยอดอ่อน ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกย้ายอดอ่อนมะพร้าวว่า “สลัดเจ้าสัว” จั่นมะพร้าวให้น้ำตาล ซึ่งนำไปทำน้ำตาลมะพร้าวสำหรับทำเป็นเครื่องปรุงอาหารคาว หรือ ขนมหวานก็ได้ จาวมะพร้าวใช้นำมาเป็นอาหาร หรือ กินเล่นเป็นของว่างได้ น้ำมะพร้าวก็สามารถนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่มดับกระหายได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มความกระชุ่มกระชวย ให้ร่างกายตื่นตัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำส่วนต่างๆ ของมะพร้าว มาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกเช่น กากมะพร้าวที่เหลือจากการคั้นกะทิ สามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ ใยมะพร้าวนำไปใช้ยัดฟู ทำเสื่อ หรือ นำไปใช้เพาะปลูกทางการเกษตรได้ กะลามะพร้าวสามารถนำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ เป็นต้น ก้านใบ หรือ ทางมะพร้าวใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว หรือ ใช้ทำซุ้มประตูในงานสำคัญๆต่างๆ เป็นต้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. ใช้ขับพยาธิตัวตืด หรือ พยาธิใบไม้ในลำไส้ โดยให้กินเนื้อมะพร้าวครึ่งลูก ทุกเช้า ตอนท้องว่าง หลังจากนั้น 3 ชั่วโมงค่อยกินอาหาร 
  2. แก้กลาก โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเคี่ยวให้ร้อน ทิ้งไว้ให้พออุ่น ทาบริเวณที่เป็นวันละหลายๆ ครั้ง หรือ ใช้ถ่านกะลาที่เผาจากกะลามะพร้าว นำไปบดผสมน้ำนิดหน่อยทาก็ได้
  3. แก้เลือดกำเดาออก ใช้เปลือกต้นมะพร้าวจำนวนพอควรต้มกินน้ำ
  4. รักษาโรคเบาหวาน ใช้เนื้อมะพร้าวมาคั่วให้เหลือง โรยเกลือเล็กน้อย แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 10 วัน
  5. แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้รากมะพร้าว ทุบให้แตก 3 กำมือ ต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น
  6. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้กะลามะพร้าวมาเผาไฟจะได้เป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
  7. แก้ปากเจ็บ โดยการนำรากมะพร้าวมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก เช้า กลางวัน เย็น
  8. แก้กระหาย ช่วยแก้พิษ ขับปัสสาวะ ลดบวม
  9. แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้นิ่ว ให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนวันละ 2-3 แก้ว


ลักษณะทั่วไปของมะพร้าว

มะพร้าวจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูง 5-30 เมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) ลำต้นมีลักษณะกลมตั้งตรงไม่มีกิ่งก้าน เปลือกต้นมีสีเทา แข็ง ผิวขรุขระ ตามลำต้นจะมีรอยแผลใบตลอดลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับมีสีเขียวขนาดกว้างประมาณ 2-5 ซ.ม. ยาว 50–120 ซ.ม.โคนใบ และปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน ใบมะพร้าว เรียงติดกันเป็นแผงทั้งสองข้างของทางมะพร้าว มีประมาณ 200-240 ใบ ใบที่อยู่ส่วนโคนของทาง และตอนปลายทางจะสั้นประมาณ 30 ซม. ส่วนใบที่ติดอยู่ตรงกลางยาวมากถึง 120 ซม. ส่วนทางมะพร้าวยาวประมาณ 5–6.5 เมตร ก้านทางยาวประมาณ 1.2–1.65 เมตร ทางมะพร้าวที่อยู่บนยอดมะพร้าว ติดเรียงเวียนรอบต้น แต่ละทางติดเวียนรอบต้นห่างกันเป็นมุม 137–140 องศา โดยต้นมะพร้าวจะมีทางบนต้น 12-30 ทาง ดอก ออกเป็นช่อแขนงตามบนลำต้นตรง โคนทางที่อยู่ในซอกมุมใบ ดอกเป็นดอกเล็ก มีกลีบดอกที่ลดรูปมี 4-6 อัน ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้ และเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ และดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ดอกตัวผู้มีสีเหลืองหม่น ดอกตัวเมียสีเขียวแกมเหลือง และเมื่อตาดอกเจริญเติบโตเป็นจั่นแล้ว จะโผล่ออกมาจากโคนทางเมื่อออกมาใหม่ๆ มีกาบหุ้มจั่น หรือ ช่อดอกไว้ท้าให้มองดูคล้ายกับใบหอกมีปลายแหลม เมื่อจั่นโตเต็มที่จะแตกออกตามแนวยาวจากปลายมาหาโคนท้าให้เห็นช่อดอกอยู่ภายใน ผล เป็นรูปทรงกลม หรือ รี ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอแก่เป็นสีน้ำตาล 

           ทั้งนี้ผลมะพร้าวจะมีเปลือก 3 ชั้นคือ เปลือกชั้นนอก (exocarp) เป็นเส้นใยที่เหนียวและแข็ง เมื่อแก่อาจมีสีเขียว แดง เหลือง หรือ น้้าตาล เปลือกชั้นกลาง (mesocarp) มีลักษณะเป็นเส้นใย มีความหนาพอประมาณ เปลือกชั้นใน (endocarp) มีลักษณะแข็งหรือที่เรียกกันว่า กะลา (shell) ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วน endoxarp เข้าไปจะเป็นส่วน เอนโดสเปิร์ม หรือ ที่เรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าว ซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่ เอนโดสเปิร์ม ก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปจนหมด

มะพร้าว

การขยายพันธุ์มะพร้าว

มะพร้าวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด (เพาะผลมะพร้าว) โดยต้องมีการคัดเลือกผลที่จะนำมาเพาะดังนี้ ควรเลือดผลที่แก่จัดมีรูปทรงสวยงามได้สัดส่วน ที่มาจากต้นแม่ที่สมบูรณ์และมีอายุ 10 ปีขึ้นไป จากนั้นปาดเปลือกทางด้านหัวออกขนาดประมาณเท่าผลส้มเขียวหวานเพื่อให้น้ำซึมเข้าได้สะดวกใน ระหว่างเพาะ และช่วยให้หน่องอกแทงออกมาได้ง่าย วางผลมะพร้าวตามแนวนอนลงในร่องที่เตรียมไว้ หันด้านที่ปาดขึ้นข้างบนเรียงไปตามทิศ ทางเดียวกัน ให้แต่ละผลติดกันหรือห่างกันไม่เกิน 5 เซนติเมตร กลบทราย หรือ ดินให้ส่วนของผลมะพร้าวโผล่พ้นผิวดินประมาณ 1/3 ของผลแล้วรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ โดยสังเกตจากความชื้นตรงบริเวณรอยปาด  หลังจากเพาะแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์หน่อจะเริ่มงอก ในระยะแรกๆ จะงอกน้อย เมื่อเลย 4 สัปดาห์ไปแล้วหน่อจะงอกมากขึ้น (มะพร้าว ที่ไม่งอกภายใน 10 สัปดาห์ หรือ 70 วัน ควรคัดทิ้ง) เมื่อหน่อยาวประมาณ 1-3 นิ้ว ควรย้ายลงแปลงชำ

          โดยย้ายหน่อมะพร้าวจากแปลงเพาะลงช้าในหลุมให้หน่อตั้งตรง กลบดินหนาประมาณ 2/3 ของผล เพื่อไม่ให้ดินทับส่วนคอของหน่อพันธุ์ ใช้ทางมะพร้าว หรือ หญ้าแห้งคลุมแปลง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ถ้าฝนไม่ตก รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ และเมื่อหน่อมะพร้าวสูง 30-50 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกในแปลง หรือในบริเวณที่ต้องการ

          ส่วนวิธีการปลูกควรปลูกในฤดูฝน ขุดดินบนหลุมปลูกที่เตรียมไว้ ให้เป็นหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าผลมะพร้าวเอาหน่อที่คัดเลือกแล้วมาตัดรากที่หักช้ำออก ใช้ปูนขาว หรือ ยากันราทาตรงรอยตัดวางหน่อลงในหลุม ให้หน่อตั้งตรง ตัดหน่อไปในทิศทางเดียวกัน เอาดินกลบอย่างน้อย 2/3 ของผล เพื่อให้พอดีมิดผลมะพร้าว แต่ระวังอย่าให้ดินทับโคนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อถูกรัด ต้นจะโตช้า แต่เมื่อมะพร้าวโตขึ้นก็ควรจะกลบดินให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันโคนลอย เอาไม้ปักเป็นหลักผูกยึดกับต้นให้แน่น เพื่อป้องกันลมโยก

มะพร้าว

องค์ประกอบทางเคมี

            มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของมะพร้าวพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีสาระสำคัญ ดังนี้ auxin, 1,3 diphenylurea, cytokinin, acid phosphatase, catalase, dehydrogenase, diastase, peroxidase, RNA polymerase, apscisic acid, β-sitosterol ในเนื้อมะพร้าวพบสาร caprylic acid, chloric acid, α-amyrin, ß–amyrin, cycloartenol, squalene ,campesterol, β-sitosterol, stigmasterol, n-docosane, n-tricosane, alanine, glutamic acid, lysine, ligustrazine

            ส่วนจาวมะพร้าวพบ mannan นอกจากนี้ในน้ำมะพร้าวในเนื้อมะพร้าวยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมะพร้าว อ่อน (100 กรัม)

  • พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 3.71 กรัม
  • น้ำตาล 2.61 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.1 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • โปรตีน 0.72 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม                                                                        
  • วิตามินบี 2 0.057 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.08 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.032 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 2.4 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.29 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 250 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม                                                       

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อมะพร้าว (100กรัม)

  • พลังงาน 354 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 24.23 กรัม
  • น้ำตาล 6.23 กรัม
  • เส้นใย 9 กรัม
  • ไขมัน 33.49 กรัม
  • โปรตีน 3.33 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.66 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.54 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5 1.014 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 3.3 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 2.43 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 32 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 113 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 356 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 1.1 มิลลิกรัม

โครงสร้างมะพร้าว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะพร้าว

ฤทธิ์สมานแผล มีการศึกษาวิจัยกลไกการออกฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อน (Cocos nucifera L.) ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น ไฟโตเอสโตเจน (phytoestrogen), เบต้า-ซิโตสเตอรอล (β-sitosterol) ในหนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ออก (ovariectomized rat) โดยในการทดลองได้แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูที่ผ่าเปิดหน้าท้องแต่ไม่ได้ตัดแยกรังไข่ออก (sham-operated), กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออก (ovariectomized; ovx), กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออก และได้รับ estradiol benzoate (EB) ขนาด 2.5 มก./กก./วัน โดยฉีดเข้าทางช่องท้อง, กลุ่มที่ 4 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ออก และได้กินน้ำมะพร้าวอ่อนขนาด 100 มล./กก./วัน โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จะได้รับน้ำปราศจากไอออน (deionized water) หลังจากทำการผ่าตัดเอารังไข่ออกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จึงทำให้หนูเกิดแผลขนาด 1 ซม. จำนวน 2 แผลที่บริเวณผิวหนังส่วนหลังจากนั้นจึงเริ่มให้สารทดสอบตามกลุ่มเป็นเวลา 7 วัน หรือ 14 วัน เมื่อครบกำหนดเวลา หนูจะถูกฆ่าและนำมาประเมินผล จากผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นเวลา 14 วัน จะมีขนาดของเซลล์ผิวหนังคีราติโนไซต์ (keratinocyte) ใหญ่กว่า และมีกิจกรรมภายในไซโตพลาสซึมมากกว่าของหนูในกลุ่ม ovx นอกจากนี้ยังพบว่า macrophage migration inhibitory factor (MIF) ของหนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมะพร้าวอ่อน มีระดับลดลง โดย MIF เป็นสารในร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบ จากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อนเกิดจากการเพิ่มการแลกเปลี่ยนสารต่างๆ ผ่านไซโตพลาสซึมภายในของเซลล์ผิวหนังและกลไกการยับยั้ง MIF

            ฤทธิ์ลดภาวะกระดูกพรุน มีการศึกษาวิจัยในหนู (Wistar rats) เพศผู้ โดยนักวิจัยไทย พบว่าการให้น้ำมะพร้าว อ่อนในขนาด 100 มล/กก น้ำหนักตัว นาน 14 วัน มีผลเพิ่มความหนาของกระดูกอ่อนขากรรไกรล่าง (mandibular condylar cartilage) ในกลุ่มหนูที่ไม่ได้ตัดอัณฑะออก การศึกษาโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกันในระยะต่อมาในลักษณะเดียวกัน พบว่าการให้น้ำมะพร้าวอ่อนในขนาด 100 มล/กก นาน 14 วัน มีผลเพิ่มความหนาของกระดูกฟองน้ำของขากรรไกรล่าง (mandibular cancellous bone) ในกลุ่มหนูที่ไม่ได้ตัดอัณฑะออก และ กลุ่มหนูที่ตัดอัณฑะออก ซึ่งคาดว่าน้ำมะพร้าวอ่อนน่าจะมีประโยชน์ในการชะลอภาวะกระดูกพรุนในชายวัยหมดฮอร์โมน

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อเมตาบอลิสมของกระดูกในหนูเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม baseline กลุ่มหนูที่ผ่าเปิดหน้าท้องแต่ไม่ได้ตัดแยกรังไข่ออก (sham-operated) กลุ่มที่ถูกตัดรังไข่ (bilateral ovariectomy) และกลุ่มที่ถูกตัดรังไข่ และได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนความเข้มข้น 5 เท่า ในขนาด 10 มล./กก. นน.ตัว/วัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าหนูในกลุ่มที่ตัดรังไข่และได้รับน้ำมะพร้าวอ่อนจะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกและอัตราการสร้างกระดูกสูงกว่ากลุ่มตัดรังไข่แต่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว แสดงว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีผลต่อเมตาบอลิสมของกระดูกและอาจช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกที่เกิดขึ้นหลังจากหมดประจำเดือนได้

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดคลายตัวของสารสกัดเอทานอลจากกะลามะพร้าว (CNE) ต่อหลอดเลือดแดงทั้งในภาวะที่มีและไม่มี endothelium พบว่า CNE มีผลลดการหดตัวของหลอดเลือดแดงที่ถูกกระตุ้นด้วย norepinephrine, phenylephrine หรือ potassium chloride ได้ดีในภาวะที่มี endothelium และฤทธิ์คลายหลอดเลือดของ CNE จะถูกยั้บยั้งเมื่อให้ร่วมกับ NG-nitro-L-arginine (nitric oxide synthase inhibitor) และ 1H-[1,2,4]-oxadiazolo-[4,3-A]-quinoxalin-1-one (ODQ: guanylase cyclase inhibitor) ส่วน atropine (muscarinic receptor antagonist) และ indomethacin (cyclooxygenase inhibitor) มีผลยับยั้งเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ glibenclamide (ATP-sensitive K+ channel blocker) ไม่มีต่อการทำงานของ CNE และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความดันโลหิตสูงโดยเกลือ acetate deoxycorticosterone (DOCA) พบว่าหนูแรทที่ได้รับ CNE ขนาดวันละ 300 มก./กก.น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 12 วัน มีความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (จาก 185.3 ± 4.7 มม.ปรอท เหลือ 145.6 ± 6.1 มม.ปรอท) โดยพบว่าสารสำคัญที่มีผลต่อการออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอล ได้แก่ chrologenic acid, vanillic acid และ ferulic acid จากการทดลองที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าสารสกัดเอทานอลจากกะลามะพร้าวช่วยลดความดันโลหิต โดยเกี่ยวข้องกับการสร้าง nitric oxide จาก endothelium ผ่าน nitric oxide/guanylase cyclase pathway โดยตรง รวมถึงมีผลกระตุ้น muscarinic receptor ใน cyclooxygenase pathway

            ฤทธิ์ชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ มีการศึกษาพบว่าในน้ำมะพร้าวอ่อนประกอบด้วยสารประกอบ ทรานส์-ซีติน ในปริมาณประมาณ 181.93 นาโนโมลาร์ ในรูปแบบต่างๆ โดยสารประกอบนี้อยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนพืช คือ กลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) มีรายงานว่าสารประกอบ ทรานส์-ซีติน แสดงคุณสมบัติยังยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเตอเรส (acetylcholinesterase) (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์) และสามารถใช้ในโรคอัลไซเมอร์ หรือ ความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม (dementia) นอกจากนี้การศึกษาอีกฉบับยังพบว่า ทรานส์-ซีติน สามารถป้องกันการสร้างโปรตีนอะมัยลอยด์-เบต้า (amyloid-β protein) (ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์เร็วขึ้น) เมื่อทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้สาร ทรานส์-ซีติน ทดสอบกับเซลไฟโบรบลาสต์ของคน พบว่าสารนี้แสดงฤทธิ์ชะลอความแก่ 

           ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาในหนูขาว (albino rats) เพศผู้ โดยให้น้ำมะพร้าวอ่อน หรือ น้ำมะพร้าวแก่ ในขนาด 4 มล/100 กรัม น้ำหนักตัว พบว่า การให้น้ำมะพร้าวสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด, คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี คือ ชนิด วี แอล ดี แอล (VLDL cholesterol) และ แอล ดี แอล (LDL cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) และมีผลเพิ่มระดับ คอเลสเตอรอลชนิดดี คือ ชนิด เอช ดี แอล (HDL cholesterol) ด้วย นอกจากนี้ ระดับไขมันในเนื้อเยื่อของตับ หัวใจ ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน พบว่าน้ำมะพร้าวมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับไขมัน และมีผลส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับไขมัน น้ำมะพร้าวมีผลเร่งการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นกรดน้ำดี และเพิ่มการขับถ่ายน้ำดี และนิวทรัลเสตียรอล สำหรับในตับและในหลอดเลือดแดงใหญ่ มีการสะสมของไขมันในเนื้อเยื่อลดลงมาก พบว่าระดับของกรดอะมิโน แอล-อาร์จินีน (L-arginine) ในเลือด, ระดับไนไตรต์ในปัสสาวะ และการทำงานของเอนไซม์ไนตริคออกไซด์ซินเตส (nitric oxide synthase) สูงขึ้น ซึ่งเอนไซม์นี้มีหน้าที่เปลี่ยน แอล อาร์จินีน ให้เป็นไนตริคออกไซด์ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของผนังหลอดเลือดให้อยู่ในสภาวะที่ดี การศึกษาโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกันในระยะต่อมาในหนูเพศผู้ พบว่าน้ำมะพร้าวมีผลลดคอเลสเตอรอลคล้ายคลึงกับยาโลวาสแตติน (lovastatin) ในขนาด 0.1 กรัม/100 กรัมของอาหาร ระยะเวลา 45 วัน

           ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ มีการศึกษาฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมของสารสกัดน้ำและสารสกัด butanol จากส่วนเปลือกสีเขียวของมะพร้าว ในหนูเมาส์พันธุ์ swiss albino เพศผู้ 36 ตัว ซึ่งตรวจวิเคราะห์อุจจาระแล้วพบว่าติดพยาธิชนิด Syphacia obvelata และ Aspiculuris tetraptera ในการทดลอง แบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ให้สารสกัดเปลือกมะพร้าว และยาถ่ายพยาธิแก่หนูทั้งหกกลุ่มด้วยวิธีป้อนเข้ากระเพาะ (intragastric route) ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ให้สารสกัดน้ำเปลือกมะพร้าวขนาด 1000 มก./กก. กลุ่มที่ 2 ให้สารสกัดน้ำเปลือกมะพร้าวขนาด 2000 มก./กก. กลุ่มที่ 3 ให้สารสกัด butanol เปลือกมะพร้าว ขนาด 500 มก./กก. กลุ่มที่ 4 ให้สารสกัด butanol เปลือกมะพร้าว ขนาด 1000 มก./กก. กลุ่มที่ 5 ให้ยาถ่ายพยาธิ febendazole ขนาด 0.56 มก./กก. (positive control) และกลุ่มที่ 6 ให้ 3% dimethylsulfoxide ขนาด 0.02 มล./กก. (negative control) กลุ่มที่ 1, 2, 5 และ 6 ทำการให้สารสกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ส่วนกลุ่มที่ 3 และ 4 ให้ 3 วัน เมื่อครบ 5 วันหนูทุกตัวถูกผ่าเปิดลำไส้ใหญ่ เพื่อนับจำนวนพยาธิ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกมะพร้าวไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิ และสารสกัด butanol เปลือกมะพร้าวขนาด 500 มก./กก. และ 1000 มก./กก. สามารถฆ่าพยาธิได้ 62.72 และ 98.36% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่ม negative control

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะพร้าว

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ควรรับประทานมะพร้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว ในปริมาณที่พอดี โดยเฉพาะกะทิ เพราะอาจทำให้ได้รับพลังงาน และไขมันมากเกินไปได้
  2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ และโรคไต ควรบริโภคน้ำมะพร้าวแต่พอดีไม่ควรดื่มมากจนเกินไป
  3. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้องรังต่างๆ รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะบริโภคมะพร้าว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง มะพร้าว
  1. ฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. รศ.วิมล ศรีสุข. น้ำมะพร้าว...เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. น้ำมะพร้าวอ่อนกับผลต่อมวลกระดูก และสร้างกระดูกในหนูที่ถูกตัดรังไข่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. วิทิต วัฒนาวิบูล.มะพร้าว กลูโคสธรรมชาติ.คอลัมน์อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 87. กรกฎาคม 2529.
  5. สารสกัดจากกะลามะพร้าวช่วยลดความดันโลหิต.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฤทธิ์ฆ่าพยาธิของสารสกัดจากเปลือกมะพร้าว . ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. มะพร้าว.กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_10_6.htm
  8. มะพร้าว, มะเฟืองมะไฟ ผลไม้สารพัดประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pabpad.com
  9. Lima EB, Sousa CN. Cocos nucifera (L.) (Areaceae): A phytochemical and pharmacological review. Braz J Med Biol Res 2015; 48(11): 953-64.
  10. DebMandal M, Mandal S. Coconut (Cocos nucifera L.: Areaceae): In health promotion and disease prevention. Asian Pacific J Trop Med 2011: 241-7.
  11. Radenahmad N, Vongvatcharanon U, Withyachumnarnkul B, Connor JR. Serum levels of 17β-estradiol in ovariectomized rats fed young-coconut-juice and its effect on wound healing. Songklanakarin J Sci Technol 2006; 28(5): 897-910.
  12. Loki AL, Rajamohan T. Hepatoprotective and antioxidant effect of tender coconut water on CCl4, induced liver injury in rats. Indian J Biochem Biophy 2003; 40: 354-7.
  13. Sandhya VG, Rajamohan T. Comparative evaluation of the hypolipidemic effects of coconut water and lovastatin in rats fed fat-cholesterol enriched diet. Food Chem Toxicol 2008; 46(12): 3586-92.
  14. Effiong GS, Ebong PE, Eyong EU, Uwah AJ, Ekong UE. Amelioration of chloramphenicol induced toxicity in rats by coconut water. J Appl Sc Res 2010; 6(4): 331-5.
  15. Morii Y, Matsushita H, Minami A, Kanazawa H, Suzuki T, Subhadhirasakul S, Watanabe K, Wakatsuki A. Young coconut juice supplementation results in greater bone mass and bone formation indices in overiectomized rats: a preliminary study. Phytother Res 2015; 29: 1950-5.
  16. Sandhya VG, Rajamohan T. Comparative evaluation of the hypolipidemic effects of coconut water and lovastatin in rats fed fat-cholesterol enriched diet. Food Chem Toxicol 2008; 46(12): 3586-92.
  17. Sandhya N, Rajamohan T. Beneficial effects of coconut water feeding on lipid metabolism inn cholesterol-fed rats. J Medicinal Food 2006; 9(3): 400-7.
  18. Yusuh M, Phochanukoon N, Radenahmad N, Eksomtramate M, Ruangsri P, Chatanasuksilpa A, Nitiruangjaras A. Changes of condyle cartilage on orchidectomized rats fed with young coconut juice: Novel preliminary finding. Songklanakarin J Sci Technol 2010; 32(4): 33-9.