ส้มเกลี้ยง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

ส้มเกลี้ยง งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ส้มเกลี้ยง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มจีน, ส้มตรา, ส้มเฉ้ง (ภาคกลาง), มะเกี้ยง, มะส้มเกี้ยง (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus sinensis (L.) Osbeck
ชื่อสามัญ Sweet orange, Sevile orange, Bilti oranges,
วงศ์ RUTACEAE
 

ถิ่นกำเนิดส้มเกลี้ยง

ส้มเกลี้ยง เป็นพืชที่มีการสันนิษฐานกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิม น่าจะอยู่ในประเทศจีนตอนใต้แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์มายังบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียในหมู่เกาะมลายู และภูมิภาคอินโดจีน ได้แก่ เวียดนาม พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น หลังจากนั้นเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกจึงมีการนำไปปลูกยัง ทวีปอื่นๆ สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีการนำส้มเกลี้ยงเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อใด พบแต่เพียงรายงานซึ่งมีต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส แปล และจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2236 ที่กล่าวถึงส้มชนิดต่างๆ 3 ชนิด คือ ส้มโอ ส้มแก้ว และมะกรูด แต่ก็เชื่อกันว่าน่าจะมีการเริ่มนำเข้ามาปลูกในไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถึง ตอนต้นของกรุงธนบุรี

ประโยชน์และสรรพคุณส้มเกลี้ยง

  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • แก้ลักปิดลักเปิด
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • แก้ทางลม
  • แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ   
  • ช่วยลดอาการเครียด
  • ช่วยลดอาการนอนไม่หลับเนื่องจากความกังวล
  • ช่วยกระตุ้นให้เบิกบาน
  • แก้ผิวหนังอักเสบ
  • ช่วยลดริ้วรอย
  • ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  • ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ
  • ช่วยขับน้ำดี
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน
  • ช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

           ส้มเกลี้ยง ถูกจัดให้เป็นพืชตระกูลส้มในจำพวกส้มหวาน (sweet orange) ดังนั้น จึงถูกนำมาใช้บริโภคเป็นผลไม้มาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยได้รับความนิยมไปในหลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะในการนำไปทำเป็นน้ำส้มคั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นน้ำส้มคั้นสด ที่มีรสชาติดีที่สุด หรือ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อื่นๆ นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมนำมาไหว้เจ้าในช่วงเทศกาล ตรุษจีน, สารจีน, ไหว้พระจันทร์ อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไอ ขับเสมหะ รักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้หลอดลมอักเสบ โดยการรับประทานส้มเกลี้ยงเป็นผลไม้สด หรือ จะรับประทานเป็นน้ำส้มคั้นก็ได้ ส่วนน้ำมันจากผิวส้มเกลี้ยง ใช้สูดดมอาการเครียด นอนไม่หลับ ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่อักเสบ ฆ่าเชื้อโรค และลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้า ใช้หยดใส่น้ำดื่มช่วยขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร กระตุ้นการทำงานของน้ำเหลือง โดยน้ำมันผิวส้มเกลี้ยง นี้ควรใช้ในความเข้มข้นไม่เกิน 1.4% และควรใช้เพียง 3-10 หยอดเท่านั้น


ลักษณะทั่วไปของส้มเกลี้ยง

ส้มเกลี้ยงนั้นจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 4-8เมตร (แต่อาจสูงได้ถึง 10 เมตร) ลำต้น และกิ่งก้าน มีหนาม แข็งขนาดใหญ่ ทรงต้นแผ่กว้างค่อนข้างทึบ ใบจัดเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่าแผ่นใบ หรือ ตัวใบ แผ่นใบมีรูปร่างกลมมน เรียวยาว รูปไข่ยาว หรือ รูปโล่ ปลายใบแหลมมน ขอบใบเรียบ สีของใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนที่สองคือก้านใบ ซึ่งมีส่วนของก้านใบที่เรียกว่าหูใบ (wing) มีลักษณะเป็นปีก รูปทรงคล้ายรูปหัวใจเล็ก และเรียวสีด้านบนเขียวเป็นมัน ด้านหลังจะอ่อนกว่า ดอกออกเป็นช่อขนาดปานกลาง ซึ่งจะออกตามซอกใบ ที่อยู่บริเวณปลายกิ่ง โดยอาจมีดอกย่อยดอกเดียว หรือ มากถึง 10-20 ดอก ต่อ 1 ช่อดอก ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีขาว มีประมาณ 4-5 กลีบ ผลเป็นรูปทรงกลมถึงกลมแป้น ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ผิวผลมีตุ่มน้ำมันเล็กๆ กระจายอยู่รอบผล เปลือกผลแข็งมีความหนา ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้มสด ภายในผลอัดกันแน่นด้วยเนื้อ ลักษณะเรียวยาว สีเหลือง มีรสหวานอมเปรี้ยว และมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะทรงกลมปลายแหลม เปลือกย่นซึ่งเมล็ดส้มเกลี้ยง จะใหญ่กว่าเมล็ดส้มเขียวหวานเล็กน้อย

ส้มเกลี้ยง  

การขยายพันธุ์ส้มเกลี้ยง

ส้มเกลี้ยง สามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง การติดตา การปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการ ตอนกิ่ง เพราะทำได้ง่าย และมีอัตราการขยายพันธุ์สำเร็จสูงกว่าวิธีอื่น ส่วนวิธีการปลูก ส้มเกลี้ยงนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์ส้มโอ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ส้มเกลี้ยง

องค์ประกอบทางเคมีส้มเกลี้ยง

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆของส้มเกลี้ยง พบว่า มีสารสำคัญต่างๆ เช่น apigenin, abscisic acid, hesperidin, neohesperidin, acetaldehyde, caffeic acid, aniline, anthanilic acid, quercetin, aurapten, bergapten, bisabolene, braylin, bergamoltin, cadinene, camphene, campesterol, cirantin, stigmasterol, carvone, citbismine, eriocitrin, scoppsrone  นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยจากผิวส้มเกลี้ยง ยังพบสาร limonene, alpha-pinene, citronellal, linalool, geraniol, decanal, myrcene, sabinene, octanal , neral

โครงสร้างส้มเกลี้ยง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของส้มเกลี้ยง

ฤทธิ์ยับยั้งไวรัส มีการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำเดือดจากผลส้มเกลี้ยง พบว่ามีผลยับยั้งการติดเชื้อ rotavirus เมื่อทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง (in vitro) โดยสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ คือ เฮสเพอริดิน (hesperidin) และนีโอเฮสเพอริดิน (neohesperidin) และค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส 50% (IC50) เท่ากับ 10 และ 25 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นของส้มเกลี้ยง ระบุว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้ออีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของส้มเกลี้ยง

เนื่องจากข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาของส้มเกลี้ยงมีน้อยมากจึงไม่สามารถรวบรวมมาลงไว้ในบทความนี้ได้ แต่มีการศึกษาวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ การศึกษาผลของสารสกัดมาตรฐานของส้มเกลี้ยง ซึ่งใช้เป็นอาหารเสริมในการควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย ต่อค่าเภสัชจลนศาสตร์ของยา amiodarone (ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ) โดยการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อเปรียบเทียบ คือ การรับประทานแบบครั้งเดียวพร้อมกับการให้ยา และการรับประทานแบบต่อเนื่องก่อนการได้รับยา โดยในการทดลองที่ 1 ได้ทำการป้อนหนูแรทด้วยสารสกัดมาตรฐานของส้มเกลี้ยง ขนาด 164 มก./กก.น้ำหนักตัว พร้อมกับการป้อนยา amiodarone ขนาด 50 มก./กก. ส่วนในการทดลองที่ 2 ได้ทำการป้อนหนูแรทด้วยสารสกัดมาตรฐานจากส้มเกลี้ยง ขนาด 164 มก./กก./วันต่อเนื่องกัน 14 วัน แล้วจึงป้อนยา amiodarone ขนาด 50 มก./กก. ในวันที่ 15 ของการทดลอง พบว่าการป้อนสารสกัดมาตรฐานของส้มเกลี้ยงต่อเนื่องกันก่อนการได้รับยา มีผลเพิ่มความเข้มข้นสูงสุดในเลือดของยา amiodarone (Cmax) แต่ไม่มีผลต่อระยะเวลาที่ระดับยาในเลือดมีค่าสูงสุด (Tmax) และค่าพื้นที่ใต้กราฟของยา (AUC) แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากส้มเกลี้ยง ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยา amiodarone ได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ควรเก็บรักษาน้ำมันจากผิวส้มเกลี้ยงในภาชนะกันแสง เพราะน้ำมันจากผิวส้มเกลี้ยงมีสาร limonene ซึ่งเป็นสารที่เกิดออกซิเดชั่นได้ง่าย และเมื่อโดนแสงจะเปลี่ยนรูปเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้
  2. ในการใช้ส้มเกลี้ยง เป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคหากเป็นการรับประทานผลสุก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หากใช้เปลือกผล หรือ น้ำมันจากผิวส้มเกลี้ยงก็ควรต้องระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่นกัน โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีตามที่ตำรับตำรายาต่างๆได้ ระบุไว้ ไม่ควรใช้เกินขนาด หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ส้มเกลี้ยงเป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ส้มเกลี้ยง

  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง”. หน้า 154-155.
  2. อันตรกิริยาระหว่างส้มเกลี้ยงกับยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ amiodarone. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. เต็ม สมิตินันท์.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรุงเทพมหานคร.หจก.ฟันนีพับบลิชชิ่ง. 2523. 379 หน้า ไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ “คนไทยลืม “ส้มแก้ว” แล้วหรือ?” เคหการเกษตร. 25:93-97
  4. ผลส้มเกลี้ยงยับยั้งการติดเชื้อไวรัส. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง ” หน้า 174-176.
  6. ส้มจีน.ฐานข้อมูลวิทยาเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=128