เห็ดฟาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

เห็ดฟาง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร เห็ดฟาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เห็ดฟาง, เห็ดเฟียง (ภาคเหนือ), เห็ดบัว (ภาคกลาง), เห็ดเฟียง (ภาคอีสาน), เขาดู (จีน), ฟุดูโรตาเกะ (ญี่ปุ่น), คาบูติ (ฟิลิปปินส์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ VolvariellaVolvacea(Bull. Ex.Fr.) Sing
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Volvaria volvacea, Agaricus volvaceus, Vaginata virgate, Amanita virgate.
ชื่อสามัญ Straw Mushroom, paddy mushroom, Chinese mushroom
วงศ์ Amanitaceae - Pluteaceae

ถิ่นกำเนิดเห็ดฟาง

เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเห็ดฟาง อยู่ในประเทศจีน ตามบันทึกในหนังสือของ Shu ting chang ระบุว่า ในสมัยราชวงศ์เชามีการนำเห็ดฟางมาปรุงเป็นอาหาร และปรุงเป็นยา ต่อจากนั้นจึงเริ่มมีการเพาะเห็ดฟางในประเทศจีน โดยเริ่มจากมลฑลกวางตุ้งแล้วขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ปัจจุบันมีการเพาะเห็นฟางกันมากในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีการทดลองเพาะพันธุ์เห็ดฟางครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2480 จากนั้นจึงมาการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะในปี พ.ศ.2481 จนมาถึงปัจจุบัน โดยแหล่งที่ทำการเพาะเห็ดฟางที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง ขอนแก่น หนองคาย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา เชียงราย ลำพูน เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณเห็ดฟาง

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยบำรุงตับ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้ช้ำใน
  • ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง
  • ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ
  • แก้ปวดบวมในร่างกาย
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
  • ช่วยป้องกันโรคเหงือก
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน 

           เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่คนไทยนิยมนำมาบริโภคมากที่สุด สำหรับการบริโภคเห็ดฟางนั้นนิยมบริโภคในรูปเห็ดฟางสด เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น แกง ต้ม ผัด หรือใส่ในยำต่างๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำเห็ดฟางมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่ เห็ดฟางตากแห้ง เห็ดฟางอบแห้ง น้ำปลาเห็ดฟาง ผัดซอสเห็ดฟาง ต้มยำเห็ดฝางโรยด้วยผักแผว น้ำเห็ดฟางเพื่อสุขภาพ ข้าวเกรียบเห็ดฟาง เป็นต้น 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการนำเห็ดฟาง มาใช้นั้น จะเป็นการนำมาใช้ประกอบอาหารสำหรับรับประทาน เพื่อให้ได้สารอาหาร และสรรพคุณทางยาเสียมากกว่า การที่จะนำมาใช้เป็นสมุนไพร ในรูปแบบการใช้อื่นๆ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน ได้มีการนำเห็ดฟางมาทำเป็นน้ำเห็ดฟางเพื่อสุขภาพ หรือ นำมาสกัดเอาสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในทางการแพทย์อื่นๆ อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของเห็ดฟาง

เห็ดฟาง มีประกอบที่สำคัญ ได้แก่ หมวกดอก (ดอกเห็ด) ครีบดอก ก้านดอก และปลอกหุ้ม หมวกดอก หรือ ดอกเห็ด มีลักษณะคล้ายร่ม ผิวเรียบสีขาวนวล หรือ สีเทาปนดำ กลางดอกเว้าเป็นแอ่ง ซึ่งตรงแอ่งนี้จะมีสีเข้ม และจางลงบริเวณขอบดอก ขนาดดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6–14 ซม. และขอบดอกจะคุ้มลง ซึ่งเนื้อเห็ดสามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อช้ำ หรือ ถูกอากาศหลังการหั่นกระแทก ครีบดอก คือ ส่วนที่เป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ได้หมวกเห็ด เรียงกันเป็นแนวขวางจากก้านดอกไปที่ปลายดอก ประมาณ 280-380 ครีม โดยมีระยะห่างประมาณ 1 มม. ครีบดอกเปลี่ยนจากขาวเป็นสีชมพูอ่อน และเป็นสีน้าตาลเข้มเมื่อถึงระยะสืบพันธุ์ เนื่องจากมีการสร้างสปอร์แล้ว ส่วนสปอร์เป็นสปอร์ใสไม่มีสี รูปไข่ กว้างประมาณ 5-6 ไมครอน ยาวประมาณ 7-9 ไมครอน ก้านดอก คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ชูดอกเห็ด และยังทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารไปให้แก่ดอกเห็ด โดยจะเชื่อมอยู่ระหว่างฐานดอก และกึ่งกลางดอก ก้านดอกมีลักษณะเป็นแท่งกลม มีสีขาว มีขนาด 0.5-1.5 x 3-8 เซนติเมตร ซึ่งก้านดอกจะประกอบด้วยเส้นใยที่เรียงตัวกันแน่นจนเห็นเป็นลักษณะแท่ง ปลอกหุ้มเป็นส่วนนอกสุดของเห็ด ทำหน้าที่หุ้มป้องกันอันตรายให้แก่ดอกเห็ด โดยจะห่อหุ้มดอกเห็ดในระยะที่เห็ดยังเล็กอยู่ และจะปริออกเมื่อดอกเห็ดเติบโตในระยะยืดตัว และสุดท้ายจะหุ้มอยู่บริเวณโคนก้านดอกเห็ด เรียกว่า วอลว่า (Volva)

เห็ดฟาง

การขยายพันธุ์เห็ดฟาง

เห็ดฟางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเชื้อ ซึ่งวิธีการเพาะเชื้อนั้น มีอยู่ 4  วิธี คือ กระเพาะแบบกดสูง การเพาะแบบกองเตี้ย การเพาะแบบโรงเรือน กระเพาะบนวัสดุประยุกต์ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในเกษตรกรที่ต้องการเพาะเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือ จำหน่ายในท้องถิ่น คือ วิธีการเพาะแบบกองเตี้ย โดยมีวิธีการดังนี้

           นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วันแล้ว นำมาวางเป็นกองในแนวเดียวกันตามทางยาว เพียงชั้นเดียว พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม ใช้มือกด หรือ ขึ้นเหยียบให้มีความสูงประมาณ 10-15 ซม. กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนตามยาวให้คำนวณตามความเหมาะสมจากนั้น นำอาหารเสริมมาโรยทับให้ทั่ว พร้อมโรยด้วยเชื้อเห็ดฟาง ที่คลุกกับแป้งสาลีแล้ว นำฟางมามาโรยทับบางๆ ให้มีความหนา 1-2 ซม. และรดน้ำพอชุ่ม จากนั้น ทำการปักหลักยึดโครง พร้อมนำผ้าพลาสติกคลุมให้ทั่วกอง และปล่อยให้มีรูระบายอากาศเล็กน้อย

           โดยในช่วงหลังการเพาะ 3-4 วัน แรก ไม่ต้องรดน้ำหลังจากนั้น 3-5 วัน จะเห็นเป็นเส้นใยสีขาวหรือเกิดตุ่มเห็ดจำนวนมาก จากนั้นให้ตรวจเช็คความชื้น ด้วยการบีบฟางข้าวดู หากฟางข้าวมีน้ำไหลออกแสดงว่าความชื้นยังเพียงพอ แต่หากบีบฟางแล้วรู้สึกแห้งกรอบ ไม่มีน้ำออกมาต้องรดน้ำให้ชุ่ม พอในระยะประมาณวันที่ 7-9 ดอกเห็ด จะเติบโตพร้อมสามารถเก็บผลผลิตได้ ทั้งนี้ในช่วงนี้ห้ามรดน้ำเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเน่า

เห็ดฟาง

องค์ประกอบทางเคมีเห็ดฟาง

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดฟาง พบว่าเห็ดฟางประกอบไปด้วย Polysaccharide, β-glucan และยังพบสาร cardiotoxic ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง สาร vovatoxin ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสและยังพบสาร Folic acid ที่ช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ในเห็ดฟางยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้           

                  คุณค่าทางโภชนาการ ของเห็ดฟางสด (100 กรัม)

                                    พลังงาน                        35                   แคลลอรี่

                                    โปรตีน                          3.2                   กรัม

                                    ไขมัน                            0.2                   กรัม

                                    คาร์โบไฮเดรต                5                     กรัม

                                    แคลเซียม                     8                     มิลลิกรัม

                                    ฟอสฟอรัส                     18                    มิลลิกรัม

                                    เหล็ก                             1.1                   มิลลิกรัม

                                    วิตามิน บี 3                     3                     มิลลิกรัม

                                    วิตามิน ซี                       7                     มิลลิกรัม

โครงสร้างเห็ดฟาง 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเห็ดฟาง

ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเห็ดฟาง พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการเจริญเติบโตของไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ ฤทธิ์ป้องกัน และยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีฤทธิ์ลดปัญหาไขมันในเส้นเลือด ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของเห็ดฟาง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรรับประทานเห็ดฟาง แบบสดๆ เนื่องจากสารที่คอยยับยั้งการดูดซึมอาการ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงควรทำให้สุกก่อนรับประทาน
  2. ในการเลือกเห็ดฟาง ควรเลือดให้ดีเพราะเห็ดฟางมีลักษณะคล้ายกับ เห็ดระโงกหิน ซึ่งเป็นเห็ดพิษ โดยสามารถจำแนกได้ด้วยสีสปอร์ (สปอร์ของเห็ดฟางเป็นสีชมพูอ่อน แต่สปอร์ของเห็ดระโงกหินเป็นสีขาว)

เอกสารอ้างอิง เห็ดฟาง
  1. สำนักพิมพ์แสงแดด. (2548). ผัก 333 ชนิด คุณค่าอาหาร และการกิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงแดด
  2. ชาญยุทธ ภาณุทัต. 2540. เทคนิคการเพาะเห็ดฟาง. กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร.กรุงเทพฯ 175.
  3. นิวัฒน์ ชาธิรัตน์. การเปรียบเทียบการเจริญเติบโต และปริมาณผลผลิตของเห็ดฟาง ในวัสดุเพาะที่แตกต่างกัน. ปัญหาพิเศษ วิทยาศาสตร์บัณฑิต. สาขาวิชาทรัพยากรเกษตรชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
  4. วัลลภ พรหมทอง. 2543.เห็ดเพาะกินได้ เพาะขายรวย. พิมพ์ครั้งที่ 5. สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ.
  5. พิมลมาส ฤทธิ์เพ็ญ. พลิกชีวิตด้วยแปดเห็ดมหัศจรรย์. วารสารวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ปีที่ 4. ฉบับที่ 4. ตุลาคม 2554-กันยายน 2555 หน้า 43-50
  6. เห็ดฟาง สรรพคุณ และการเพาะเห็ดฟาง. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. เห็ดฟาง. วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.wikipedia.com