โคคลาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โคคลาน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร โคคลาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านนางล้อม, เครือแม่น้ำนอง (ภาคเหนือ), หวานดิน (ภาคกลาง), ลุมปรี, เถาขะโนม (ภาคตะวันออก), วาลำลงพนม (ปราจีนบุรี, กัมพูชา), กูเราะ, เปรียะ (นราธิวาส, มาเลเซีย), เถาวัลย์ทอง (ประจวบคีรีขันธ์), เถาพนม (ชลบุรี), ลุ่มปรี (ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn.
ชื่อสามัญ Fish-berry, Indian berry
วงศ์ MENISPERMACEAE

ถิ่นกำเนิดโคคลาน 

โคคลานเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยรวมถึงบางส่วนในประเทศกัมพูชา โดยในการค้นพบครั้งแรกพบในป่าบริเวณแนวชาวแดน ไทย-กัมพูชา ยาวไปถึงในดินแดนของประเทศกัมพูชาแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบันสามารถพบโคคลาน ได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ส่วนมากจะพบตามชายป่าของภาคตะวันออกส่วนในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ถึงนิวกินี

ประโยชน์และสรรพคุณโคคลาน

  • แก้ปวดปวดหลัง
  • แก้ปวดเอว
  • แก้ปวดกล้ามเนื้อ
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้เส้นตึง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้กษัย
  • แก้ไตพิการ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการคัน
  • รักษาโรคผิวหนังต่างๆ
  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยให้เจริญอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

            เถา และรากใช้ต้มน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกระดูก ปวดข้อ แก้เส้นเอ็นอักเสบตึงปวด บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้กษัย ขับปัสสาวะ อีกตำรับหนึ่งใช้โคคลาน 2 ส่วน ทองพันชั่ง มะตูม โด่ไม่รู้ล้ม อย่างละ 1 ส่วน ใส่น้ำให้ท่วมยาแล้ว นำไปต้มเดือด รินดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา โดยให้อุ่นยากินเรื่อยๆ จนยาจืดจึงเปลี่ยนยาหม้อใหม่ หรือ จะนำเครื่องยาแห้งตำรับนี้มาบดผงใส่แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 เวลาก็ได้

            นอกจากนี้ตามภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีการนำเถาโคคลาน ต้นโด่ไม่รู้ล้ม ต้น หรือ ใบทองพันชั่ง มาดองกับเหล้าขาว ใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก เพื่อแก้กษัย แก้ปวดเมื่อยกระดูก และเส้นเอ็น บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของโคคลาน

โคคลาน จัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เถายาวทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือ ทอดเลื้อยไปพันตามต้นไม้อื่นๆ เถาแก่มีขนาดใหญ่สีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้แข็ง ส่วนเถาอ่อน เปลือกสีครั่ง มีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ หรือ รูปหัวใจ ยาว 10-25 ซม. กว้าง 8-20 ซม. ผิวใบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ตรงโคนมีต่อมขมเล็กๆ อยู่ ดอกออกเป็นช่อโดยมีทั้งดอกเพศผู้ และเพศเมีย โดยดอกจะออกตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีความยาว 15-40 ซม. และมีดอกย่อยออกด้านข้างของช่อ ผลออกเป็นช่อ เป็นผลสดตอนอ่อนมีสีขาว เมื่อผลแก่จะมีสีแดง หรือ สีม่วง ลักษณะผลเป็นทรงกลม ขนาดเล็กผิวเกลี้ยง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เมล็ดมี 1 เมล็ดใน 1 ผล เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว มีรสขม อยู่ในผนังผลขั้นในที่มีรูปร่างคล้ายไต

โคคลาน

การขยายพันธุ์โคคลาน

โคคลาน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และจัดเป็นพืชป่าที่ยังไม่นิยมนำมาปลูกไว้ในบ้าน หรือ ปลูกในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นในการขยายพันธุ์ ส่วนมากจึงเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ มากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ของโคคลาน พบว่าสารต่างๆ หลายชนิด เช่น Picrotin, alkaloid Menispermine, Picrotoxinin, Cocculin, Stearophanic acid และ Paramenispermine

โครงสร้างโคคลาน      

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโคคลาน

จากการศึกษาวิจัยทางเภสัชพบว่าเมล็ดของโคคลาน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ, รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ส่วนสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโคคลาน มีฤทธิ์ต้านอักเสบ บรรเทาปวด ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของโคคลาน

สำหรับการศึกษาทางพิษวิทยานั้นยังไม่พบข้อมูลความเป็นพิษของโคคลาน แต่มีรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองบางฉบับพบว่าเมื่อใช้ในขนาดสูงมีผลมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้สัตว์ทดลองอาเจียน ท้องเสีย ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ และมีอาการชัก เป็นต้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้โคคลานเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ถึงแม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นพิษแต่ในงานวิจัยบางฉบับก็ได้รายงานว่ามีอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง ดังนั้นการใช้โคคลาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรใช้ตามปริมาณ และขนาดตามที่ระบุไว้ในตำรับนำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินกว่าที่ระบุ หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง โคคลาน
  1. ภญ.กฤติยา ไชยนอก. สมุนไพรไทยกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ. พืชที่ให้สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Psychotropic Plants). กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้. สำนักงานหอพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.
  3. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.โคคลาน. พจนานุกรมสมุนไพรไทยฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์รวมสาส์น. 2542. 880 หน้า
  4. สมุนไพร แก้ปวดเมื่อย. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6922