หมากผู้หมากเมีย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หมากผู้หมากเมีย งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หมากผู้หมากเมีย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หมากปู๊, ปู๊หมาก, หมากผู้ (ภาคเหนือ), มะผู้มะเมีย (ภาคกลาง), ทิฉิ่งเฮี้ยะ, เที่ยชู (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyline fruticosa (L.) A.Chev
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cordyline fruticosa L., alodracon terminalis (L.) Kunth  Aletris chinensis Lam., Calodracon heliconiifolia (Otto & A.Dietr.) Planch., Cordyline fruticosa L.
ชื่อสามัญ Cabbage palm, Good luck plant, Palmm lily, Red dracaena, Polynesian, Ti plant
วงศ์ Asparagaceae
 

ถิ่นกำเนิดหมากผู้หมากเมีย 

หมากผู้หมากเมีย เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย (น่าจะหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้) แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์หมากผู้หมากเมีย จนได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะของสี และใบที่สวยงามแปลกตามากมาย เช่น พันธุ์เพชรชมพู พันธุ์เพชรเจ็ดสี, พันธุ์รัศมีเพชร เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณหมากผู้หมากเมีย

  • แก้ไข้
  • แก้ตัวร้อน
  • ช่วยขับพิษไข้หัว
  • แก้หวัด
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้อาการคันตามผิวหนัง
  • แก้ไข้ออกผื่น
  • แก้ไข้กำเดา
  • แก้หัด
  • แก้ตาแดง
  • ช่วยรักษาอีสุกอีใส
  • แก้เม็ดผดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้เป็นยาฟอกเลือด
  • แก้ไอ
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้วัณโรค
  • แก้ประจำเดือนมามากเกินปกติ

            มีการนำหมากผู้หมากเมียมาใช้ประโยชน์ต่างๆมากมายหลายด้าน เช่น ในภาคเหนือมีการนำช่อดอกอ่อนของหมากผู้หมากเมีย มาประกอบอาหารต่างๆ หรือ นำมาลวกจิ้มน้ำพริก ส่วนใบและดอกใช้นำมาปักแจกันบูชาพระนอกจากนี้ยังมีการปลูกเพื่อประดับบ้านเรือน หรือ สวนหย่อมตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพราะมีดอกและใบหลากสีสวยงามตามสายพันธุ์ต่างๆ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไข้ แก้ตัวร้อน ใช้ขับพิษหัวไข้ แก้หวัด แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ไข้กำเดา แก้ไอ แก้บิด โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ฟอกเลือด แก้ไอ ไอเป็นเลือด แก้ท้องเสีย แก้บิด โดยการใช้รากแห้ง 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงทวาร แก้ประจำเดือนมามากเกินไป แก้วัณโรค โดยการนำดอกแห้ง 10-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ออกผื่น แก้หัด อีสุกอีใส แก้อาการคันตามบริเวณผิวหนัง โดยใช้ใบหมากผู้หมากเมีย และใบมะยมนำมาแช่น้ำอาบ ใช้พอกแผลห้ามเลือดโดยใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณแผล


ลักษณะทั่วไปของหมากผู้หมากเมีย 

หมากผู้หมากเมีย จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นเป็นลำต้นเดี่ยว หรือ อาจแตกกอในบางสายพันธุ์ลำต้นมีลักษณะตรงและอาจมีการแตกกิ่ง สูงประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีรอยการติดใบรอบๆ ลำต้น ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับรอบลำต้น เป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม ก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ส่วนใบกว้าง 10-20 เซนติเมตร  ยาว 25-50 เซนติเมตร (ตามสายพันธุ์) ใบมีสีต่างๆ แตกต่างกันตามสายพันธุ์ ดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ช่อแขนงยาว 5-10 เซนติเมตร มีดอกย่อยติดช่อดอกจำนวนมาก ดอกมีสีเหลือง แดง ม่วง (ตามสายพันธุ์) ผลเป็นรูปทรงกลมแห่งสีแดง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร เปลือกหนา เมล็ดหนาเมล็ดมีสีดำใน 1 ผลมีหลายเมล็ด

หมากผู้หมากเมีย

การขยายพันธุ์หมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมียสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การปักชำ, การแยกเหง้า, การตอน และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำเพราะเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว และได้ผลสูง โดยมีวิธีการง่ายๆ คือ ตัดส่วนของลำต้น หรือ กิ่งแก่จากต้นที่มีเหง้ามากแล้วนำมาปักลงในแปลง หรือ บริเวณที่ต้องการ หรือ อาจนำไปเพาะไว้ในถุงเพาะชำรอให้รากออกก่อนปลูกในหลุมก็ได้ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้หมากผู้หมากเมีย เป็นพืชที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดิน

หมากผู้หมากเมีย

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีในส่วนใบของหมากผู้หมากเมีย พบว่ามีสารกลุ่ม Phenols และ Amino acid เช่น glutamic acid, Aspartic acid เป็นต้น ส่วนในผลพบสาร neocycasin และ cycasin และในส่วนเมล็ดยังพบว่ามีสารชนิดหนึ่งเคลือบอยู่บนผิวของเมล็ด คือ สาร Phytomelanin

โครงสร้างหมากผู้หมากเมีย 

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหมากผู้หมากเมีย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ของสาร steroidal saponins สามชนิด ที่แยกได้จากใบของหมากผู้หมากเมีย ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้เทคนิค microdilution method ต่อเชื้อ S. aureus  ATCC 25923, E. coli  ATCC 25922, P. aeruginosa ATCC 27853, E. faecalis ATCC 29212 และ C. albicans  ATCC 24433 ผลการทดลองพบว่า สารทุกชนิดไม่สามารถยับยั้งเชื้อได้ที่ความเข้มข้นสูงสุด 256 มิลลิกรัม/ลิตร ยกเว้น compound ที่ 2 สามารถยับยั้งเชื้อ E. faecalis ได้ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 128 มิลลิกรัม/ลิตร

           ส่วนการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอลของหมากผู้หมากเมีย และส่วนสกัดย่อยอื่นๆ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเมทานอลขนาด 500 μg/disk มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ระดับปานกลางต่อเชื้อ Escherichia  coli, Shigella boydii, Streptococcus pyogenes  และ Staphylococcus epidermidis โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของ clear zone เท่ากับ 12, 14, 13 และ 12 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน kanamycin ขนาด 30μg/disk ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของ clear zone เท่ากับ 39, 38, 40 และ 32 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัด hexane มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ระดับต่ำต่อเชื้อ Escherichia  coli (8 มม.), Salmonella typhi (9 มม.), shigella boydii (8 มม.) และ Shigella dysenteriae (9 มม.) ในขณะที่สารสกัด acetone และ chloroform ไม่ออกฤทธิ์

           ฤทธิ์ต้านเชื้อโปรโตชัง trypanosoma มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ trypanosoma ของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล โดยทำการศึกษาในหลอดทดลอง ทดสอบฤทธิ์ต่อเชื้อ Trypanosoma evansi สายพันธุ์  Te7 (ซึ่งเป็นโปรโตซัวที่พบในกระแสเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ทำให้เกิดโรคทริพพาโนโซมิเอซิส หรือ เซอร่า (surra) ที่ทำให้อาการมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซีดผอม เบื่ออาหาร ดีซ่าน ทำให้แท้ง บวมน้ำ อาการรุนแรงจะมีไข้ ขาแข็ง หลังแข็ง คอบิด ตาอักเสบ ขุ่น โลหิตจาง และอาจตายอย่างเฉียบพลันได้) ซึ่งได้มีการทดสอบโดยวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (IC50)  ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอล มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ trypanosoma โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 7.61 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในขณะที่สารสกัดน้ำ มีค่า IC50 เท่ากับ 48.1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร จากการศึกษานี้สรุปว่าสารสกัดของหมากผู้หมากเมีย มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ T. evansi  ได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของหมากผู้หมากเมีย

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดหมากผู้หมากเมีย ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์ไตของลิง (green monkey kidney (Vero) Cells) และใช้เทคนิค MTT-cell proliferation assay kit และทำการวัดความเข้มข้นเฉลี่ยที่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ (Median cytotoxic concentration : CC50) พบว่าสารสกัดน้ำ จากใบของหมากผู้หมากเมีย มีค่า CC50 เท่ากับ 1,309.01±53.81 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และในสารสกัดเอทานอล มีค่า CC50 มากกว่า 500  ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาความเป็นพิษของหมากผู้หมากเมีย อีกฉบับหนึ่งระบุว่าจากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยป้อนให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 4,545 เท่า ในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานหมากผู้หมากเมีย เพราะมีฤทธิ์ขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้แห้งบุตรได้
  2. มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่าหมากผู้หมากเมียหากรับประทานในขนาด และปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดพิษได้
  3. ในการใช้หมากผู้หมากเมียเป็นสมุนไพร ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนใช้หมากผู้หมากเมีย เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง หมากผู้หมากเมีย
  1. สิทธา จัดอารีย์. ผลของสูตรปุ๋ยที่มีต่อการเจริญเติบโต สีของใบหมากผู้หมากเมีย. ปัญหาพิเศษปริญญาจรี ภาควิชาพืชสงวนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 23 หน้า
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “หมากผู้หมากเมีย”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 616. 
  3. กองส่งเสริมพืชสวน. 2539. การผลิตไม้ดอกไม้ประดับเชิงอุตสาหกรรม. กรมส่งเสริมการเกษตร. 153 น.
  4. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หมากผู้หมากเมีย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 821-822.
  6. หมากผู้หมากเมีย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com*main.php?action=vicwpage&pid=167
  7. Ahmed F, Das PK, Islam MA, Rahman KM, Rahman MM, Selim MST. Antibacterial activity of Cordyline terminalis. Kunth. leaves. J Med Sci. 2003;3(5-6):418-422.
  8. Fouedjou RT, Teponno RB, Quassinti L, Bramucci M, Petrelli D, Vitali LA, et al. Steroidal saponins from the leaves of Cordyline fruticosa (L.) A. Chev. and their cytotoxic and antimicrobial activity. Phytochemistry Letters. 2014;7:62-8.
  9. Dyary HO, Arifah AK, Sharma RSK, Rasedee A. Antitrypanosomal and cytotoxic activities of selected medicinal plants and effect of Cordyline terminalis on trypanosomal nuclear and kinetoplast replication. Pakistan Vet J. 2014;34(4):444-448.
  10. Xinqi,chen and N.J.Turiand.(2000) Liliaceae (Conlyline).In Flora of China vol.24:204.