เอื้อหมายนา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

เอื้อหมายนา งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เอื้องหมายนา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง), เอื้องใหญ่, เอื้องดิน (ภาคใต้), เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช), เอื้อง (อุบลราชธานี), เอื้องต้น (ยะลา), ซูแลโบ, ซูไลบ้อง (กะเหรี่ยง), จุยเจียวฮวย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Costus speciosus (Koen) Sm.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ costus speciosus smith, Cheilocostus  speciosus(J.Koenig) C.D.Specht.
ชื่อสามัญ Wild ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Crape ginger.
วงศ์ COSTACEAE

ถิ่นกำเนิดเอื้องหมายนา

เอื้องหมายนาจัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงเกาะนิวกินี ซึ่งพบว่าเอื้องหมายนามีสายพันธุ์ต่างๆ ถึง 90 ชนิดเลยทีเดียว สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเอื้องหมายนา ได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามบริเวณป่าดิบชื้นที่ราบเชิงเขา หรือ บริเวณ ริมน้ำ ริมทาง ที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้น


ประโยชน์และสรรพคุณเอื้องหมายนา

  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • แก้แผลหนอง
  • แก้อักเสบ
  • แก้บวม
  • แก้ตกขาว
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษาอาการปวดมวนในท้อง
  • ใช้สมานมดลูก
  • แก้ท้องผูก
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • แก้ถ่ายเป็นเลือด
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ไข้
  • แก้ซางเด็ก
  • ช่วยบำรุงมดลูก
  • สมานแผลภายใน
  • แก้หูน้ำหนวก (ย่างไฟคั้นเอาน้ำหยอด)

            เอื้องหมายนาถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้านทั้งในไทย และต่างประเทศ เช่น เหง้าสดใช้ประกอบอาหาร โดยจะเลือกใช้เหง้ามีเมือกลิ่นรสฝาด และไม่มีกลิ่น ส่วนหน่ออ่อน นำมาต้มให้สุกเพื่อขจัดกลิ่นแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือ นำไปปรุงอาหาร ในมาเลเซีย รวมถึงอินเดีย และฟิลิปปินส์ ก็ใช้หน่ออ่อนใส่แกง เป็นผักเช่นเดียวกันกับประเทศไทย นอกจากใช้เป็นอาหารของคนแล้วเอื้องหมายนา ยังถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังนิยมนำเอื้องหมายนามาปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ และตัดต้นที่มีช่อดอกไว้ ประดับแจกัน เนื่องจากทั้งต้น และกาบมีความสวยงามแปลกตาอีกด้วย

เอื้องหมายนา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

แก้บวมน้ำ, ขับปัสสาวะ, แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาว, แก้หนองแผลอักเสบ ใช้ถ่ายพยาธิ บำรุงมดลูก สมานแผลภายใน โดยการนำเหง้ามาต้มกับตะไคร้ กับน้ำดื่ม แก้ไอ ขับเสมหะ โดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ไอ ใช้เป็นยาระบาย โดยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้แก้โรคท้องมาน โดยการนำเหง้าเอื้องหมายนา สดมาตำพอกที่สะดือ แก้หูน้ำหนวก โดยการนำลำต้นมาย่างไฟแล้วคั้นเอาน้ำหยอดหู แก้แผลหนอง แก้แผลอักเสบ บวม โดยนำเหง้ามาต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็นหรือจะใช้เหง้าตำพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของเอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา จัดเป็นพืชล้มลุกมีเหง้า หรือ ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัว และมีลำต้นเทียมสีแดง อวบน้ำโผล่พ้นดินขึ้นมา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 9-15 เซนติเมตร มักขึ้นกันเป็นกอแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับมีกาบใบสีแดง หรือ น้ำตาลแดงปิดโอบรอบลำต้น ส่วนใบเป็นรูปรี หรือ หอกปลายใบแหลม โคนใบมนกว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ด้านท้องใบมีขนนุ่มสีเงินหลังใบเรียบมันมีสีเขียว เนื้อใบหนา ดอก ออกเป็นช่อรูปไข่ โดยจะออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน หรือ แทงออกจากดินโดยตรงช่อดอกมีสีแดงยาว 8-12 เซนติเมตร ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อย 19-42 ดอก ซึ่งกลีบดอกย่อยสีขาวแกมสีชมพู หรือ เหลือง อับเรณูสีเหลือง โดยดอกทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ผลกลมรีรูปกระสวย หรือ รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ส่วนปลายมีกลีบประดับติดอยู่มีกาบหุ้มผลเป็นสีแดง ส่วนเมล็ดเป็นรูปเหลี่ยมผิวมันแข็ง

เอื้องหมายนา

การขยายพันธุ์เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนาสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การแยกหน่อและการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการขยายพันธุ์เอื้องหมายนา ทั้งการเพาะเมล็ด และการแยกหน่อปลูก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้เอื้องหมายนา เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่ายไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค และศัตรูพืช แต่จะชอบดินร่วนที่มีความชุ่มชื้อมีแสงแดดรำไร และยังจัดเป็นพืชที่ยังพบได้มากในธรรมชาติอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากเหง้าของเอื้องหมายนา พบว่า เหง้าพบสาร Diosgenin, dioscin, beta-sitosterol, gracillin, tigogenin, cyanophoric substance, palmitic acid, saponins, dipsgenin, fatty acid.

โครงสร้างเอื้องหมายนา

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเอื้องหมายนา

ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดมีผลการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของเอื้องหมายนา (Costus speciosus) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงด้วยยา propylthiouracil ขนาด 0.01% โดยผสมในน้ำดื่มเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นให้สารสกัดเอื้องหมายนาในขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และจุลพยาธิวิทยาของตับกับหนูกลุ่มที่ได้รับยาลดไขมันในเลือด simvastatin ขนาด 7.2 มก./กก. หนูกลุ่มควบคุม และหนูปกติ (normal control) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดขนาด 50, 100 มก./กก. ไม่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และไม่สามารถปกป้องตับ ซึ่งพบเซลล์บวมน้ำขนาดใหญ่ และพบไขมันแทรกระหว่างเซลล์ตับในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 50 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ ส่วนสารสกัดขนาด 200 มก./กก. สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้เทียบเท่ากับยา simvastatin 7.2 มก./กก. และเซลล์ตับไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา โดยพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มหนูปกติ

           ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับ มีการศึกษาทดลองฤทธิ์ต้านการก่อพิษในตับของสารสกัดน้ำ และอัลกอฮอล์ของเหง้าเอื้องหมายนา โดยใช้ CCl4 และ Acetaminophen เหนี่ยวนำการทำลายตับในหนูขาว และใช้ silymarin ซึ่งเป็น สารที่สกัดได้จากพืชเป็นสารมาตรฐานเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ โดยเมื่อป้อนสารสกัดน้ำ และอัลกอฮอล์ของเอื้องหมายนา ขนาด 300 และ 500 มก.ต่อ กก. ก่อนและหลังการให้ CCl4 1.5 มล.ต่อ กก. เข้าใต้ผิวหนัง และเมื่อป้อน Acetaminophen 3 กรัม ต่อ กก. สามารถยับยั้งพิษของ CCl4 ที่ทำให้ SGOT, SGPT, SALP, SSDH และ SGLDH เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การเปรียบเทียบจากเปอร์เซนต์การลดลงของเอนไซม์แต่ละตัว และเอนไซม์ทั้งหมด พบว่า ความแรงของสารสกัดทั้งสองมีประสิทธิภาพดี (78.2 - 96.0%) เท่ากับ ขนาดของ silymarin และเมื่อนำชิ้นเนื้อเยื่อตับไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าเซลล์ของ เนื้อเยื่อตับเกิดการคืนสภาพเป็นปกติ

           ฤทธิ์ในการเป็น estrogen ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นผลจากสาร saponin ซึ่งพบมากในเหง้า โดยจะทำให้น้ำหนักมดลูกเพิ่มขึ้น และเพิ่มการสะสมของไกลโคเจน กระตุ้นให้มีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุมดลูก และช่องคลอด นอกจากนี้ ยังยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนเมื่อทำการป้อนสารสกัดให้แก่หนูที่ขนาด 5-500 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของเอื้องหมายนาอีกหลายฉบับ มีรายงานว่าสารสกัดเอื้องหมายนาจากเหง้า และเมล็ดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในหนู และสุนัขทดลองได้ และสาร alkaloid ที่พบในเอื้องหมายนามีฤทธิ์คล้าย papaverine ซึ่งทำให้มดลูกคลายตัว มีฤทธิ์เป็น antispamodic, cardiotonic, hydrocholeretic, diuretic, central nervous system depressant แต่ไม่มีผลในเชิงเป็น inflammatory, antiarthritis, anticonvulsant, anagesic, antipyretic และ anti-snake venom

การศึกษาทางพิษวิทยาของเอื้องหมายนา

มีรายงานว่ามีการศึกษาวิจัยโดยให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ ของเอื้องหมายนา แก่สัตว์ทดลองในขนาดที่สูง พบว่าไม่มีพิษต่อตับแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรรับประทานเหง้าสดของเอื้องหมายนา ในปริมาณที่มากเพราะอาจทำให้มีอาการท้องร่วง อาเจียน
  2. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก และอาจไปรบกวนรอบเดือนอีกด้วย
  3. การใช้เอื้องหมายนา ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะ ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากรวมถึงใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้เอื้องหมายนาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง เอื้องหมายนา

  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “เอื้องหมายนา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 155.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เอื้องหมายนา ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 845-847.
  4. ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสารสกัดน้ำจากเอื้อยหมายนา. ข่าวความเคลื่อนไหว. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “เอื้องหมายนา (Ueang Mai Na)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 345.
  6. ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับของ CCI 4 และ Acetaminophen จากสารสกัดเอื้องหมายนา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. เอื้องหมายนา. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=138
  8. Gogoi JC, Sharma DK. 2001. Prevention of carbon-tetrachloride and acetaminophen induced hepatitic damage by an extract from Costus speciosus. International Congress and 49th Annual Meeting of the Society for Medicinal Plant Research, Sep 2-6, 2001, Erlangen, Germany
  9. Tewari PV, Chaturvedi C, Pandev VB. 1973. Antifertility activity of Costus speciosus. Indian J Pharm 35(4), 114-15
  10. Chandel KPS, Shukla G, Sharma N. 1996. Biodiversity in medicinal and aromatic plants in India. ICR: New Delhi.
  11. Singh S, Sanyal AK, Bhattacharya SK, Pandey VB. 1972. Estrogenic activity of saponins from Costus speciosus (Koen) Sm. Indian J Med Res 60(2), 287-90
  12. Bhattachaya SK, Parikh AK, Debnath PK, Pandey VB, Neogy NC. 1973. Pharmacological studies with the alkaloids of Costus speciosus. J Indian Med 8(1), 10-19
  13. Mosihuzzaman M, Nahar N, Ali L, Rokeya B, Khan AK, Nur-E-Alam M, Nandi RP. 1994. Hypoglycemia effects of three plants from eastern Himalayan belt. Diabetes Res 26(3), 127-38