ตะไคร้หอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะไคร้หอม งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะไคร้หอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จะไครมะขูด, จะไครหอม, จั้กไคหอม (ภาคเหนือ), ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus (L.) Rendle
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cymbopogon winterianus Jowitt. 
ชื่อสามัญ Citronella grass
วงศ์  POACEAE - GRAMINEAE

ถิ่นกำเนิดตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ซึ่งน่าจะอยู่ในบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก และสำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้น้อยกว่าตะไคร้ แกง (C.Citratus  Stapf)


ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้หอม

  • ช่วยทำให้มดลูกบีบตัว ทำให้แท้ง
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้ริดสีดวงในปาก
  • ช่วยขับประจำเดือน
  • ช่วยขับระดูขาว
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้จุกเสียดแน่นท้อง
  • แก้อาเจียน
  • แก้ปากแห้งแตก
  • แก้แผลในปาก
  • แก้ตานซางในลิ้น และปาก
  • บำรุงธาตุ
  • แก้เลือดลมไม่ปกติ
  • แก้ไข้
  • แก้ตานซางที่ลิ้น
  • แก้ริดสีดวง
  • ใช้ทาผิวหนังกันยุง และแมลง (น้ำมันหอมระเหย)
  • แก้วิงเวียน (ตะไคร้หอมกับเปล้าใหญ่เครือส้มลม และใบหนาด)
  • แก้ลม (ตะไคร้หอมกับเปล้าใหญ่เครือส้มลม และใบหนาด)
  • แก้คลื่นเหียนอาเจียน
  • ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • แก้กำเดา
  • แก้เส้น (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)
  • แก้ลมปัดฆาฏ (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)
  • แก้ลมอัมพาต (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)
  • แก้จับโปง (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)
  • แก้ตะคริว (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)
  • แก้เมื่อยขบ (ใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 11 ชนิด)

           ถึงแม้ว่าตะไคร้หอมจะมีลักษณะต่างๆ ค่อนข้างที่จะคล้ายกับตะไคร้แกงแต่ก็นิยมนำมาบริโภคเหมือนตะไคร้แกง ดังนั้น ในการนำมาใช้ประโยชน์ จึงมีแค่นำมาใช้ในการเกษตร และในด้านยาสมุนไพรเท่านั้น โดยการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรมีการใช้ น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม ฆ่าไข่ และป้องกันตัวเต็มวัยของด้วงถั่วเขียว ยังมีการใช้สารสกัดจากตะไคร้หอมกำจัดเพลี้ยที่เข้าทำลายต้นยี่หร่าฝรั่งได้อีกด้วย

ตะไคร้หอม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้ขับประจำเดือน ขับระดู ขับปัสสาวะ ขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง โดยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม แก้แผลในปาก แก้ตานซางที่ลิ้น แก้ไข้ บำรุงธาตุ โดยการนำราก และเหง้าต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาทา หรือ พ่นกันยุง และแมลงต่างๆ โดยตำใบสดหมักในแอลอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 ทาบริเวณผิวหนัง ชุบสำลีแขวนเอาไว้หน้าประตูเข้าออก หรือ อาจจะใช้ใบตะไคร้หอม มัดแล้วทุบให้ช้ำวางไว้ตามมุมมืดในห้อง หรือ ใต้เตียงก็ได้ ในปัจจุบันมีการผลิตโลชั่น และสเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง และแมลงมาใช้แล้ว โดยสามารถป้องกันยุงได้ 4-5 ชั่วโมง เลยทีเดียว

ลักษณะทั่วไปของตะไคร้หอม

ตะไคร้หอมมีลักษณะต่างๆ เหมือนกับตะไคร้ แกงแทบทุกอย่างแต่มีส่วนที่แตกต่างกัน คือ ดอก และกลิ่น เท่านั้น ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปของตะไคร้หอมมีดังนี้ ตะไคร้หอม จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน และมีลำต้นเทียมโผล่ขึ้นมาจากเหง้า มีลักษณะเป็นข้อปล้อง รูปทรงกระบอก ผิวเรียบ มีสีม่วงปนแดง และมีกลิ่นหอมฉุนแตกต่างจากตะไคร้แกง โดยจะออกเป็นกอ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานปลายแหลม ใบยาวสาก และใบโคนแผ่ออกเป็นกาบ มีขนขึ้นตรงบริเวณโคนใบต่อกับกาบ ใบมีสีเขียว กว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 60-120 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อยาวประมาณ 1 เมตร แทงออกจากกลางต้น ดอกมีสีน้ำตาลอมแดง โดยช่อดอกเป็นแบบกระจับออกที่ปลายยอดของก้านดอก แยกเป็นหลายแขนง แต่ละแขนงมี 4-5 ช่อ และมีดอกย่อยจำนวนมาก ผลเป็นผลแบบแห้งติดเมล็ด ทรงกระบอกหรือกลม

การขยายพันธุ์ตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำต้นเหง้า ส่วนวิธีการปักชำต้นเหง้านั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับ การปักชำต้นเหง้าตะไคร้ (โดยสามารถเข้าไปดูได้ในบทความเรื่องตะไคร้)

ตะไคร้หอม

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของตะไคร้หอม พบว่า น้ำมันหอมระเหยในตะไคร้หอมมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ camphor, borneol, cineol, eugenol, methyl eugenol, citral, dipententenre, linalool, citronellal, citronellol และ geraniol 

โครงสร้างตะไคร้หอม 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะไคร้หอม

ฤทธิ์ขจัดรังแค มีรายงานการศึกษาผลของน้ำมันตะไคร้หอมซึ่งมีฤทธิ์ต้านยีสต์ที่เจริญได้ดีบนไขมัน (lipophilic yeasts) และเป็นสาเหตุของการเกิดรังแค โดยศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครคนไทย 30 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ที่มีอาการของการเกิดรังแคอยู่ที่ระดับ 3 เมื่อวัดด้วย D-Squame® scale โดยการศึกษาครั้งนี้แบ่งอาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม และให้ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผม (Hair Tonic) ที่ผสมน้ำมันตะไคร้หอม 5, 10 และ 15% วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วประเมินผลการขจัดรังแคในวันที่ 7 และ 14 ของการทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันตะไคร้หอม 5, 10 และ 15% มีผลลดการเกิดรังแคได้ ในวันที่ 7 (33, 75 และ 51% ตามลำดับ) และขจัดรังแคได้ดีขึ้น ในวันที่ 14 (52, 81 และ 74% ตามลำดับ) และยังไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรืออาการข้างเคียงใดๆ

           ฤทธิ์ไล่ยุง และแมลง น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอม สามารถใช้ไล่แมลง และป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญกัดได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง และยังการศึกษาฤทธิ์ไล่ยุงของตำรับน้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ citronella, geraniol และ citronellol ในรูปแบบของครีม พบว่า ตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 17% ป้องกันยุงลายได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง และเมื่อมีการเติมวานิลินซึ่งเป็นสารเพิ่มความคงตัวของน้ำมันหอมระเหย ทำให้ออกฤทธิ์ได้นานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ครีมมีความคงตัวลดลง ส่วนตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 14% ที่ประกอบด้วย geraniol 52.99% ,citronella 27.35% และ citronellol 14.61% ป้องกันยุงลายได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เช่นเดียวกับครีมที่มีสารไล่ยุง dimethyl phthalate 20% และ diethyl toluamide 5% จำนวนยุงที่มาเกาะเฉลี่ย 15 ตัว ที่เวลา 4 ชั่วโมง และ 16 ตัว ที่เวลา 3 ชั่วโมง ของการทาครีมน้ำมันตะไคร้หอม และครีมสารเคมีไล่ยุงตามลำดับ

          ส่วนครีมที่มีน้ำมันจากใบตะไคร้หอม ความเข้มข้นร้อยละ 1.25, 2.5 และ 5 มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงก้นปล่องได้นาน 2 ชั่วโมง และที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 จะป้องกันได้มากกว่า 4 ชั่วโมง ตำรับครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันข่าร้อยละ 5 น้ำมันตะไคร้หอมร้อยละ 2.5 ความวานิลลินร้อยละ 0.5 มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้นานกว่า 6 ชั่วโมง นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอกสามารถไล่ยุงลาย และยุงรำคาญได้นาน 2 ชั่วโมง

          ฤทธิ์ฆ่าแมลงน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม ความเข้มข้นร้อยละ 10 มีฤทธิ์ไล่ตัวอ่อนของเห็บได้นานถึง 8 ชั่วโมง และสามารถไล่ตัวอ่อนของเห็บพันธุ์ Amblyomma cajennense ได้ด้วยค่า EC50 และ EC90 เท่ากับ 0.089 และ 0.343 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตร และที่ความเข้มข้น 1.1 มิลลิกรัม/ตารางเซนติเมตร สามารถไล่ตัวอ่อนของเห็บได้ร้อยละ 90 นาน 35 ชั่วโมง และสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 10 จากต้นตะไคร้หอมแห้ง 50 กรัม/ลิตร  จะให้ผลดีในการลดปริมาณของหมัดกระโดดซึ่งเป็นแมลงศัตรูคะน้า แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักของคะน้าลดลง สารสกัดตะไคร้หอม ผสมกับสารสกัดจากเมล็ดสะเดา และข่า ในสัดส่วน 10 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร มีผลลดการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อน และหนอนเจาะฝักซึ่งเป็นแมลงศัตรูถั่วฝักยาว แต่ไม่สามารถควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะต้นถั่วได้นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไล่แมลงที่ทำลายเมล็ดข้าว ฤทธิ์ไล่แมลงวัน ผีเสื้อกลางคืน และพวกแมลงบินต่างๆ ได้ด้วยอีก

การศึกษาทางพิษวิทยาของตะไคร้หอม

มีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนของต้นขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ ไม่พบความเป็นพิษ และยังมีการศึกษาพบว่าสารในเหง้าของตะไคร้หอม มีฤทธิ์บีบมดลูก และทำให้ตัวอ่อนแท้งได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานตะไคร้หอม ทั้งในรูปแบบยาสมุนไพรแบบเดี่ยว หรือ ยาตำรับต่างๆ ที่มีตะไคร้หอมผสมอยู่เพราะมีฤทธิ์บีบมดลูก และอาจทำให้แท้งบุตรได้
  2. ในการใช้ตะไคร้หอมในรูปแบบสเปรย์ หรือ โลชั่นทากันยุง ไม่ควรทาบริเวณใบหน้า หรือ ผิวหนังที่อ่อน และไม่ควรใช้กับทารก หรือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
  3. ในการใช้ตะไคร้หอม เป็น สมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่น โดยไม่ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปควรใช้ในปริมาณที่ตำรับตำรายาต่างๆ ระบุไว้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ตะไคร้หอม
  1. ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา. น้ำมันหอมระเหยใช้ทาป้องกันยุง, คอลัมน์ รู้ไหม? ยาอะไรเอ่ย?.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 312. เมษายน 2548
  2. ตะไคร้หอม .สมุนไพร ที่ใช้ในงานธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. วรรณภา สุวรรณเกิด และ กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์. การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรในการป้องกันยุงกัด. วารสารโรคติดต่อ. 2537;20(1):4-11.
  4. ศศิธร วสุวัต ทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์ ศิริเพ็ญ จริเกษม ณัฐมาศ พุฒศรี  อัจฉราพร พันธุ์รักส์วงศ์ ศิรินันท์ จันทร อินสน คล่องการงาน, ประสิทธิภาพป้องกันยุงของครีมตะไคร้หอม วท.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 2533:5(2):62-7.
  5. สุรัตน์วดี จิวะจินดา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล อุดม แก้วสุวรรณ์. การควบคุมแมลงศัตรูผักโดยสารสกัดจากพืช. สรุปผลการดำเนินงานวิจัย ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการวิจัย KIP (KURDI INITIATED PROJECT) ประจำปี 2536, 16-19 พฤษภาคม ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์, 2537. หน้า 101-3.
  6. สุวรรณ ธีระวรพันธ์.สมุนไพรป้องกันยุง. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 24. ฉบับที่ 3.เมษายน 2550.หน้า 1-5
  7. อรัญ งามผ่องใส สุนทร พิพิธแสงจันทร์ วิภาวดี ชำนาญ. การใช้สารฆ่าแมลง และสารสกัดจากพืชบางชนิดควบคุมแมลงศัตรูถั่วฝักยาว. วารสารสงขลานครินทร์ 2546;25(3):307-16.
  8. ปราณี ธาณาธะระนิต พัสรี จิราตระกาล. การตั้งตำรับครีมสมุนไพรทากันยุง. โครงการพิเศษคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2527
  9.  Masui K, Kochi H. Camphor and tricyclodecane in deodorants and insect repelling compositions. Patent: Japan Kokai-74 1974;100(239):4.
  10.   Phasomkusolsil S, Soonwera M. Insect repellent activity of medicinal plant oil against Aedes aegypti (Linn.), Anopheles minimus (Theobald) and Culex quinquefasciatus Say Based on protection time and biting rate. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2010;41:831-40.
  11.  Verma MM. The isolation and identification of a cockroach repellent in Bay leaves and a flourescence method for determination of protein in wheat. Diss Abstr Int B 1981;41:4514.
  12. Bower WS, Oretego F, You XQ, Evans PH. Insect repellants from Chinese pickly ash Zanthoxylum bungenanum. J Nat Prod 1993;566: 935-8.
  13.  Sinchaisri N, Roongsook D, Areekul S. Botanical repellant against the diamonback moth, Plutella xylostella L. Kasetsart J 1988;22(5):71-4.
  14.   Vartak PH, Sharma RN. Vapour toxicity and repellence of some essential oils and terpenoids to adults of Ades Algypti (L) (Doptera: Culicidae). Indian J Med Res 1993;973:122-7.
  15.  Soares SF, Borges LM, de Sousa Braga R, Ferreira LL, Louly CC, Tresvenzol LM, de Paula JR, Ferri PH. Repellentactivity of plant-derived compounds against Amblyom macajennense (Acari: Ixodidae) nymphs. Vet Parasitol 2010;167:67-73.
  16.  Samarasekere R, Kalhari KS, Weerasinghe IS. Insecticidal activity of essential oils of Ceylon Cinnamomum and Cymbopogon species against Musca domestica. J Essent Oil Res. 2006;18:352-4.
  17.   Marcus C, Lichtenstein EP. Biologically active components of anise: toxicity and interactions with insecticides in insects. J Agr Food Chem 1979;276:1217-23.
  18. ฤทธิ์ขจัดรังแคของตะไคร้หอม.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  19. Dhar MLOS, Dhar MN, Dhawan BN, Mehrotra BN, Srimal RC, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. Part IV.  Indian J Exp Biol 1973;11:43.
  20. ตะไคร้หอม. กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงหรือฆ่าแมลง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plans_data/herbs/herbs_25.htm.
  21. ตะไคร้หอม. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=61