บวบเหลี่ยม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บวบเหลี่ยม งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บวบเหลี่ยม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะนอย, หมักนอย, มะนอยเหลี่ยม (ภาคเหนือ), บักบวม (ภาคอีสาน), มะนอยหวาน (แม่ฮ่องสอน), กะตอรอ (ปัตตานี), เดเรส่า, เดเรเนอมู (กะเหรี่ยง), หมากไห (ไทยใหญ่), อ๊อซีก่วน (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa acutangula (Linn.) Roxb.
ชื่อสามัญ Angled gourd, Angled loofah
วงศ์ Cucurbitaceae

ถิ่นกำเนิดบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนเขตเอเชียใต้ โดยเชื่อกันว่าอยู่ในประเทศอินเดีย (เพราะมีการสำรวจพบพืชป่าที่มีลักษณะเดียวกันกับบวบเหลี่ยมในบริเวณ ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย) ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล และยังมีการแพร่กระจายพันธุ์มาจนถึง ภูมิภาค เอเชียอาคเนย์ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ซึ่งถือว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก

ประโยชน์และสรรพคุณบวบเหลี่ย

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • รักษาคางทูม
  • ช่วยลดไข้
  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับน้ำนม
  • ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • รักษาอาการไอเจ็บคอ
  • แก้หอบ
  • ช่วยใช้รักษาสตรีที่ตกเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • รักษากลากเกลื้อน
  • รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ใช้แก้ปวดศีรษะ
  • แก้จมูกอักเสบ
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้บวมช้ำ
  • ช่วยระบายท้อง
  • แก้หวัด
  • แก้ไอ
  • แก้เหน็บชา
  • ช่วยขับพยาธิตัวกลม(เนื้อในเมล็ด)
  • ช่วยขับนิ่ว
  • ช่วยทำให้อาเจียน
  • แก้อาการปวดเอวเรื้อรัง

           คนไทยรู้จักบวบในฐานะเป็นผักอย่างหนึ่งมากที่สุด ซึ่งบวบเหลี่ยม นับเป็นผักที่รู้จักแพร่หลายหาซื้อได้ในตลาดทั่วประเทศไทย และมีตลอดปี ผลอ่อนของบวบเหลี่ยมใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภท โดยจะนิยมต้ม หรือ นึ่งให้สุกเสียก่อน ส่วนในภาคอีสานบางท้องถิ่นใช้ยอดอ่อนของบวบเหลี่ยมเป็นผักด้วย ซึ่งจะใช้ปรุงอาหารเช่นเดียวกับผลอ่อน แต่จะมีรสขมกว่าผลอ่อน นอกจากใช้ผลอ่อนเป็นผักแล้ว เมื่อผลบวบแก่จนแห้งแล้วจะมีเส้นใยที่เหนียว โปร่ง ยืดหยุ่นได้ดี จึงมีการ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ถูตัว หรือ นำมาขัดถูล้างถ้วยชามแทนฝอยขัดชนิดต่าง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ตกแต่งเป็นดอกไม้ประดิษฐ์รูปแบบต่างๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งใช้รองป้านชา และยัดในรองเท้า เพื่อรักษารูปทรงได้อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ด้วยการนำรากบวบเหลี่ยม นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม หรือ จะใช้ดอกสดตำร่วมกับฮั่วเถ่าเช่าสด ใช้เป็นยาพอกก็ได้ หรือ อาจจะใช้เถาบริเวณใกล้กับรากนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้ากิน

           ใช้ระบายท้อง แก้เจ็บคอ แก้อาการบวมช้ำ โดยนำรากบวบตากแห้งต้มกับน้ำ ชงเป็นชาดื่ม

           ใช้รักษาคางทูม โดยใช้ใยผล (รังบวบ) เผาเป็นถ่าน ผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด 

           ใช้ขับเสมหะ ขับปัสสาวะให้นำใบบวบตากแห้ง 5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น

           ใช้รักษาอาการไอ เจ็บคอ และหอบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม ผสมต้มแล้วรินมาผสมกับน้ำผึ้งใช้จิบเป็นยา หรือ จะใช้น้ำจากเถาสดผสมกับน้ำตาลทรายเล็กน้อยจิบกินพอประมาณก็ใช้เป็นยาแก้ไอ ได้เช่นกัน

           ใช้รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยใช้เถาแห้งประมาณ  ประมาณ 250 กรัม หั่นเป็นฝอยแล้วแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มแยกเอากากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วกินวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ใบแก้บิด ใช้ใบให้ใช้ประมาณ 500-600มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำกิน

           ใช้ขับพยาธิตัวกลม นำเมล็ดแก่มาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง (เด็กให้กินครั้งละประมาณ 30 เม็ด หากเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ 40-50 เม็ด) ติดต่อกัน 2 วัน หรือ จะนำมาเมล็ดแห้งบดให้ละเอียดใส่แคปซูลกินวันละครั้งก็ได้

           ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 10 กรัม นำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบบวบเหลี่ยม สด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือดแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม

           แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายกิน หรือ นำรากมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไข้ โดยการนำผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ จะนำผลอ่อนใส่น้ำพอท่วมต้มให้เดือดใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น ก็ได้

           แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน รักษาบาดแผลเรื้อรัง แผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน รักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือใช้ใบสดตำพอก หรือ ใช้ใบแห้งบดให้เป็นผงละเอียดผสมเป็นยาทาก็ได้

ลักษณะทั่วไปของบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อย หรือ เป็นล้มลุกมีอายุเพียงปีเดียว ชอบเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น หรือ ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เถา หรือ ลำต้นเป็นเหลี่ยม ตามบริเวณข้อเถามีมือสำหรับใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าปลายยอด ใบดอกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบทั่วคล้ายกับใบบวบหอม แต่จะมีรอยเว้าเข้าตื้นกว่า ลักษณะของใบเป็นรูป 5-7 เหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า หลังใบ และท้องใบเรียบ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเป็นเหลี่ยม โดยยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว แยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกจะออกเป็นช่อๆ ตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลมบาง และย่น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ด้านนอกมีขนสั้น และอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-3 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียรังไข่จะเป็นรูปขอบขนาน ท่อรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกภายในรังไข่มีช่อง 3 ช่อง และมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ผลเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดสั้นกว่าบวบหอม แต่ผลจะมีเหลี่ยมเป็นสันตามความยาวของผล โดยผลจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกของผลหนา ปลายผลโตโคนผลเรียวเล็ก เนื้อในผลมีรสขม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเมื่อแห้งจะเป็นเมล็ด สีมีลักษณะสีดำแบนมันวาว ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก

บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม

การขยายพันธุ์บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีขั้นตอนการขยายพันธุ์ดังนี้

         การเตรียมแปลงสำหรับปลูกควรไถดินตากแดดประมาณ 7-10 วัน เพื่อทำลายวัชพืช และศัตรูพืชแล้วไถพรวนซ้ำอีกครั้ง แล้วจึงหว่านปูนขาว และใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอกอัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ เสร็จแล้วให้ยกแปลงสูง 4-5 นิ้ว กว้าง 120 ซม. เสร็จแล้วจึงทำการขุดหลุมปลูก โดยมีระยะห่างระหว่างต้น 75 ซม. และระหว่างแถว 100 ซม.สำหรับการปลูกมี 2 วิธี คือ

           1.การเพาะกล้า โดยการเตรียมเมล็ดพันธุ์ แช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 30 นาที แล้วจึงนำไปวางในอุณหภูมิห้องจนกว่าเมล็ดงอก และมีรากยาวประมาณ 0.5 ซม.จึงจะนำไปเพาะ จากนั้นให้เตรียมดินเพาะกล้า โดยมีอัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก 2:1 แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ในถาดหลุมเพาะเมล็ด เพื่อเตรียมหยอดเมล็ดแล้วจึงนำเมล็ดที่เตรียมไว้หยอดลงในหลุมเพาะเมล็ด กลบดินประมาณ 1 ซม. แล้วนำถามเพาะกล้าไปไว้ในบริเวณที่ร่ม หรือ มีวัสดุพรางแสง รดน้ำทันทีด้วยบัวฝอย เมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ จึงนำย้ายปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่มพร้อมทำค้างทันที  

           2.การหยอดเมล็ด เมื่อเตรียมดิน และหลุมปลูกตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 แล้ว ให้ทำการหยอดเมล็ด 3-4 เมล็ด ต่อหลุมกลบดิน คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม

           สำหรับการทำค้างให้ใช้ไม้ไผ่ที่มีลำต้นตรง ความยาว 2-2.5 เมตร ปักตั้งฉากกับพื้นดิน ให้สูงเหนือผิวแปลง 2 เมตร หลุมละ 1 ค้างแล้วใช้ไม้อีกอันประกบส่วนปลายค้างให้ต่ำกว่าปลายค้าง 25 ซม.ให้ไม้ค้างที่ประกบขนานกับผิวแปลง แล้วใช้ไม้คำยันหัวท้ายข้างละ 2 อัน ไขว้ไม้ค้ำยันตรงบริเวณที่ไม้ประกบมัดติดกับปลายไม้ค้างส่วนบน ให้โคนไม้ค้ำยันห่างจากไม้ค้างที่ปักข้างละ 20 ซม. เพื่อใช้ยืดต้นพืช และกันการกระพือของลมแรง และรับน้ำหนักเถาบวมได้เต็มที่

          ทั้งนี้การปักค้างควรทำทันทีที่หยอดเมล็ดดีกว่าปักเมื่อมีต้นพืชงอกขึ้นมาแล้ว เพราะไม้ค้างที่ปักในภายหลังอาจทำให้รากพืชขาดเสียหายได้ นอกจากนี้การปักค้างก่อนยังช่วยบอกตำแหน่งของหลุมที่ต้นพืชจะงอกขึ้นมาอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมีบวบเหลี่ยม

จากการศึกษาวิจัยพบว่าในส่วนต่างๆ ของบวบเหลี่ยม มีสารอยู่หลายชนิด เช่น เมล็ดบวบมีรสขมจะมีสาร Cucurbitacin B และยังมีสาร Elatarin ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย นอกจากนี้ในส่วนของผล ยังมีสารต่างๆ อีกเช่น Oleic acid, Stearic acid, Palmitic acid  และมี Lignoceric acid, Linoleic acid, Apigenin, P-Coumaric acid เป็นต้น นอกจากนี้ บวบเหลี่ยมเมื่อนำมาบริโภคยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของผลบวบเหลี่ยม ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 18 กิโลแคลอรี                                                                                                                                                                                                                 
  • น้ำ 95.4 กรัม
  • เถ้า 0.4 กรัม
  • ใยอาหาร 0.3 กรัม
  • โปรตีน 0.7 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม
  • เบต้าแคโรทีน 30 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 5 RE
  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 5 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม                                                  
  • ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบวบเหลี่ยม

โครงสร้างบวบเหลี่ยม
ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบวบเหลี่ยม

           สรรพคุณทางยาของบวบเหลี่ยม ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำผสมแอลกอฮอล์ ที่แสดงฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ (carbon tetrachloride และ rifampicin) ในหนูทดลอง โดยมีกลไกหลายชนิด เช่น เพิ่มประสิทธิการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นได้ ทั้งที่เป็นเอนโซม์ (catalase, superoxide dismutase) และกลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ลักษณะของเซลล์ตับดีขึ้น และลดปฏิกิริยาการเกิดออกซเดชั่นของไขมัน ทำให้ระดับเอนไซมืที่บ่งถึงการอักเสบของตับ (AST, ALT, ALP และ LDH) ในเลือดสัตว์ทดลองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้กินสารสกัด

            ฤทธิ์รักษาภูมิแพ้ผิวหนัง จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ระบุผลการทดลองว่า หลังจากทาสารสกัดจากบวบในบริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะช่วยลดการอักเสบ และยับยั้งการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

            ฤทธิ์แก้อักเสบในโรคไซนัสอักเสบ มีการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งระบุผลการศึกษาทดลองว่า การใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากบวบมีประสิทธิภาพในการรักษาไซนัสอักเสบได้ดี เมื่อเทียบกับการรักษาโดยใช้สารละลายน้ำเกลือ

การศึกษาทางพิษวิทยาของบวบเหลี่ยม

มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของบวบเหลี่ยมระบุว่า เมล็ดมีผลทำให้หนูแท้ง และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดบวบเหลี่ยม ในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลทำให้สุนัขที่กินเข้าไปตาย โดยก่อนตายจะมีอาการน้ำลายฟูมปากอาเจียน และยังพบว่ามีเลือดออกในลำไส้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เมล็ดแก่ของบวบเหลี่ยมเพราะมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้หนูทดลองแท้ง
  2. เมล็ดแก่ของบวบเหลี่ยมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรงได้ หากรับประทานเข้าไปมาก เพราะมีสาร Elaterin และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
  3. ในการใช้บวบเหลี่ยม เป็นอาหารไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากใช้เป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ใช้มากเกินไป และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องการรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้บวบเหลี่ยมเป็นสุมนไพรในการรักษาโรคเสมอ 
     

เอกสารอ้างอิง บวบเหลี่ยม

  1. รศ.พร้อมจิต  ศรลัมพ์. แกงเลียง...อาหารเด็ด ของคนไทย. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 30. ฉบับที่ 3. เมษายน 2556. หน้า 2-8
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “บวบเหลี่ยม ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 410-412.
  3. เดชา ศิริภัทร.บวบ:ผักผลพื้นบ้าน ดอกนั้นสีงาม. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 201. มกราคม. 2539
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“ขยัน (Khayan)” หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 58.
  5. การปลูกบวบ ฟักทอง มะระ แตงกวา ถั่วฝักยาว. เอกสารเผยแพร่. กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก สำนักส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  6. ความเป็นพิษของเมล็ดบวบ.กระดาน ถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5464