หนามกระสุน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หนามกระสุน งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หนามกระสุน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาบินหนี (ชื่อเรียกในตำรับยา), โคกกระสุน (ภาคกลาง), หนามดิน (ตาก), ไปจี๋ลี่, ซือจี๋ลี่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tribulus cistoides Linn.
ชื่อสามัญ Ground burnut, Small caltrops, Bullhead, Devil's eyelashes.
วงศ์  ZYGOPHYLLACEAE

ถิ่นกำเนิดหนามกระสุน

หนามกระสุน เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นของเขตอบอุ่น และเขตร้อนของโลกโดยเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่หลายแหล่งตามทวีปต่างๆ เช่นในเขตอบอุ่นทางยุโรปตอนใต้ และออสเตรเลีย ส่วนในเขตร้อนได้แก่ บริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา เป็นต้น ทุ่งนา หรือ ตามไร่ส่วน และของเกษตรกร รวมถึงตามริมทาง ริมถนน ก็สามารถพบได้เช่นเดียวกัน
 

ประโยชน์และสรรพคุณหนามกระสุน

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้นิ่ว
  • แก้กษัย
  • แก้หนองใน
  • ขับระดูขาว
  • แก้ไตพิการ
  • แก้ปัสสาวะพิการ
  • แก้หน้ามืด
  • แก้วิงเวียน
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงไต
  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้อาการปวดทางเดินปัสสาวะ 
  • ช่วยป้องกันการชัก
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยบำรุงอสุจิในเพศชาย
  • แก้โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ
  • ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย
  • ใช้กระตุ้นการสร้างมวลกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักกีฬา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับปัสสาวะ แก้หนองใน ขับระดูขาว แก้ไตพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว บำรุงกำลัง เพิ่มความกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยใช้หนามกระสุน ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ราก เมล็ด บดเป็นผง ชงกับน้ำร้อน ก็ได้ แก้ไตพิการ แก้นิ่ว แก้กษัย แก้หน้ามืด วิงเวียน โดยใช้ต้นโคกกระสุน 1 กำมือ ต้มดื่มวันละ 3 เวลา แก้ปวดฟัน ใช้รากนำมาฝนผสมกับน้ำนิดหน่อย แล้วจึงนำมาถูกับฟันซี่ที่ปวด บำรุงตับ ไต กระดูก และสายตา ใช้ผลแห้ง จำนวน 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว นำมาดื่มครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง กระตุ้นกำหนัด บำรุงน้ำอสุจิ โดยใช้เมล็ดแห้งบดให้เป็นผง ใช้กินกับน้ำผึ้ง วันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา ลดความดันโลหิต ใช้ผลหนามกระสุน 15 กรัม ชุมเห็ดเทศ 30 กรัม ชะเอม 6 กรัม เก๊กฮวย 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนสารสกัดหนามกระสุน 45% ที่มีในต่างประเทศได้ระบุขนาดการใช้ คือ 200–450 มิลลิกรัมต่อวัน


ลักษณะทั่วไปของหนามกระสุน

หนามกระสุน จัดเป็นไม้เถาล้มลุกเลื้อยคลุมดิน มักแตกกิ่งกันไปโดยรอบ ส่วนของปลายยอดจะชูตั้งขึ้น ตามลำต้นมีขนขึ้นปกคลุมโดยแต่ละต้นสามารถยามได้ถึง 150 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดี่ยว ออกเรียงตรงกันข้ามเป็นคู่ มีใบย่อย ซึ่งมีขนาดประมาณ 2.5x6.5 ซม. ปลายใบแหลมมน ขอบใบเรียบ และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว สีเหลืองมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 4-8 มิลลิเมตร โดยดอกจะออกตามซอกใบ หรือ ตามข้อของลำต้น ผลเป็นรูปแบบกลมแบบแห้งแล้วแตก โดยซีกผลเป็นแบบผลผักชี กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร แบ่งได้เป็น 5 ซีก ส่วนเปลือกผลหนา และแข็งเป็นหนามแหลม ที่เรียงเป็น 2 คู่ เนื้อแข็งซึ่ง ใน 1 พู จะมี 2-5เมล็ด

หนามกระสุน

การขยายพันธุ์หนามกระสุน

หนามกระสุนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยนับเป็นพืชที่มีขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เพียงแค่เมล็ดแห้งตกลงพื้นดิน และได้น้ำเพียงนิดหน่อยก็สามารถเจริญเติบโตได้แล้ว ในปัจจุบันยังไม่มีการนิยมนำมาปลูกแต่อย่างใด เพราะหนามกระสุน พบมากในธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นวัชพืชที่คอยรบกวนผลิตผลทางการเกษตรกรจึงถูกกำจัดมากกว่าการปลูก ส่วนมากการขยายพันธุ์จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ

หนามกระสุน

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของหนามกระสุน ระบุว่า ใบ และรากพบ protodioscin, Diosgenin, Chlorogenin Harmol, Gitogenin. เมล็ดพบสาร Harman, Harmine. และส่วนอื่นๆ ยังพบสาร Tribuloside, Flavonoid glycoside, Kaempferol-3-glucoside, Kaempferitrin, Kaempferide.

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหนามกระสุน

โครงสร้างหนามกระสุน

ที่มา :Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหนามกระสุน

ฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์กระตุ้มความกำหนดในหนูแรทพบว่า สารสกัดหนามกระสุนสามารถเพิ่มแรงดันขององคชาตในหนูแรทที่ถูกทำหมั้นได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ประสิทธิภาพยังน้อยกว่าฮอร์โมนเพศชาย (testosterone)และอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่าจากการศึกษาผลแบบเฉียบพลันในลิง และการศึกษาผลแบบเรื้อรังในกระต่าย และหนูแรทโดยให้กินสารสกัดหนามกระสุนพบว่าระดับ testosterone ของสัตว์ทดลองทั้งหมดสูงขึ้น

            ส่วนผลการทพลองทางคลินิกในอาสาสมัครเพศชาย กลุ่มต่างๆ มีผลดังนี้
           ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี เมื่อรับประทานสารสกัดหนามกระสุน แห้งอัดแคปซูลในขนาด 10 และ 20 มก./กก./วัน นาน 4 สัปดาห์ พบว่าระดับ testosterone ไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มยาหลอก และการศึกษาในชายที่มีภาวะ ED โดยทานแคปซูลสารสกัดน้ำขนาด 400 มก.  วันละ 2 ครั้ง 1 เดือน พบว่าระดับ testosterone ไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มยาหลอก ส่วนการศึกษาในผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย 30 คน ให้ทางสารสกัดน้ำวันละ 750 มก. 3 เดือน ว่าพบมีผลเพิ่มระดับ testosterone

           ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย มีการศึกษาฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศของเพศชายของสารสกัดต้นหนาม กระสุน (Tribulus terrestris L.) โดยสุ่มให้อาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอย่างอ่อน และปานกลาง จำนวน 180 คน รับประทานยาเม็ดสารสกัดจากต้นหนามกระสุน (Tribestan®) ขนาด 250มก. (ซึ่งประกอบด้วยสารสกัดมาตรฐาน furotanol sapaonin ไม่น้อยกว่า 112.5 มก.) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3ครั้ง หลังมื้ออาหาร และให้อีกกลุ่มหนึ่งรับประทานยาหลอก ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ จากการประเมินผลการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามของ International Index of Erectile Function (IIEF) พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาเม็ดหนามกระสุน เพิ่มความพึงพอใจระหว่างการร่วมเพศ ความต้องการทางเพศ และความพอใจทางเพศโดยรวม เพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรืออาการไม่พึงประสงค์

             นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหนามกระสุน ด้านอื่นๆ อีกเช่น มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด คลายกล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อลาย ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ขับปัสสาวะ ลดการอับเสบ แก้ปวด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

การศึกษาทางพิษวิทยาของหนามกระสุน

มีการศึกษาความเป็นพิษของหนามกระสุน โดยเมื่อฉีดสารสกัด 95% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูขาวและหนูถีบจักร พบค่า LD50 ที่ขนาด 56.4 มล./กก. และ 7 มล./กก. ตามลำดับ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรห้ามใช้สมุนไพรหนามกระสุน
  2. เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดน้ำของหนามกระสุนมีปริมาณโพเทสเซียม สูง ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง หรือ ควรระมัดระวังในการใช้
  3. ในทางการแพทย์จีนได้ระบุไว้ว่า ผู้ที่มีภาวะ เลือดจาง เลือดน้อย ควรหลีกเลี่ยงการใช้หนามกระสุน
  4. ในการใช้สมุนไพรหนามกระสุนควรต้องระมัดระวัง ในการใช้ ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็กผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องการรับประทานยาต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หนามกระสุน เสมอ

เอกสารอ้างอิง หนามกระสุน
  1. ผศ.ดร.วีณา พุกูลการ. หนามกระสุนสมุนไพร กับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “โคกกระสุน”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 105.
  3. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  4. วงศ์สถิต ฉั่วกุล พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. และคณะ. สมุนไพรพื้นบ้าน. ในวงศ์สถิต ฉั่วกุล พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และวิชิต เปานิล บรรณาธิกา, สยามไภษัชยพฤก์ ภูมิปัญญาของชาติ. กรุงเทพมหานคร อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พันลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) 2538 272 หน้า
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “โคกกระสุน Kok Kra Sun”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 85.
  6. ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชายของต้นหนามกระสุน .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โคกกระสุน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 166.
  8. Actas Urol Esp 2014, 38: 244-248, Phytomedicine 2008, 15: 44-54 , J Sex Marital Ther. 2015, 7:1-5
  9. Chayamarit K. ZYGOPHYLLACEAE. In: Santisuk T, Larsen K, eds. Flora of Thailand, Volume seven part two. Bangkok: Diamon Co. Ltd., 2000:347-9.