ผักกาดหัว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักกาดหัว งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ


ชื่อสมุนไพร
ผักกาดหัว, หัวผักกาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หัวไชเท้า, ไช่เท้า, หัวผักกาด, ไชโป๊ว, ไช่โป๊ว (ทั่วไป), ผักขี้หูด, ผักเปิ๊กหัว (ภาคเหนือ), ผักกาดจีน (ภาคกลาง), ไหล่ฮก, จี๋ช่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus sativus Linn.
ชื่อสามัญ Labanos, Radish, Chinese radish, Oriental radish, Daikon, Daikon radish, White radish
วงศ์ BRASSICACEAE -CRUCIFERAE

ถิ่นกำเนิดผักกาดหัว 

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักกาดหัวยังไม่ทราบถิ่นกำเนิดแน่ชัด แต่คาดว่าบริเวณที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ ทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจรดทะเลแคสเปียน โดยมีการปลูกผักกาดหัวในพื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล และแพร่หลายมายังประเทศจีน เมื่อประมาณ 500 ปี ก่อนคริสตกาล จากนั้นแพร่หลายเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นราวปี ค.ศ.700 ปัจจุบันมีการปลูกผักกาดหัว แพร่หลายไปทั่วโลก 

          โดยทั่วไปแล้ว หัวผักกาดหัวจะมีอยู่ด้วยกันหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีแดง สีม่วง สีชมพู และขนาดก็จะแตกต่างกันออกไปแต่ก็จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Raphanus sativus Linn. แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ตามสายพันธุ์แยกย่อย (Subspecies) ออกมาอีก เช่น Raphanus sativus L. cv. group Chinese radish R. sativus L. var niger (Miller) Persoon, R. sativus L. var hortensis Backer, R. sativus L. var. longipinnatus Bailey เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณผักกาดหัว

  • ช่วยละลายเสมหะ
  • แก้พิษ
  • แก้ท้องอืด แน่น
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้กระอักเป็นเลือด
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้บิด
  • แก้ปวดหัวข้างเดียว
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยสมานลำไส้
  • ช่วยบำรุงม้าม
  • แก้คัน
  • บำรุงเลือด
  • ช่วยระงับอาการหอบ
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยขับลม
  • แก้บวม
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้ต่อมน้ำนมบวม
  • แก้น้ำนมคั่ง
  • แก้ผิวหนังเป็นผื่นคัน (ใบสด)
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการไอเรื้อรัง
  • แก้ท้องผูก

           ผักกาดหัว เป็นผักที่หลายๆ ประเทศนิยมนำมาทำเป็นอาหาร เพราะมีรสชาติในตัวเอง จากผักกาดหัว มีมากมายหลายเมนู นอกจากนี้ยังมีการนำมาแปรรูปต่างๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางยังมีการนำเอา สารสกัดจากผักกาดหัว มาเป็นยารักษาฝ้า และจุดด่างดำ เนื่องจากมีสารหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Antityrosinase Activity) ที่เป็นสารสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณแลดูคล้ำ และในส่วนของหญิงสาวในสมัยก่อนยังนำเอาผักกาดหัว ที่ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำมาปะทับบนใบหน้าเพื่อบำรุงผิวหน้า ช่วยลดริ้วรอย รักษาฝ้า และจุดด่างดำ ใบ ลำต้นหลังการเก็บเกี่ยวยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์หมู โค และกระบือ และยังนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพหรือใช้ทำปุ๋ยหมักได้อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบและขนาดการใช้ตามตำรายาไทยให้ใช้ส่วนต่างๆ ดังนี้

           ราก (หัว) สด 30-100 กรัม คั้นเอาน้ำ หรือ ต้มน้ำกินใช้ภายนอกตำพอก หรือ คั้นเอาน้ำหยอดจมูก เมล็ด แห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน บดเป็นผง หรือ ผสมเป็นยาเม็ดกิน ใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมทา ใบ หรือ ทั้งต้น แห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน หรือ บดเป็นผงกิน ใบสดคั้นเอาน้ำกินหรือทา หรือ หากจะใช้รักษาตามอาการต่างๆ ให้ใช้ดังนี้

  • อาหารไม่ย่อย ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว ใช้ราก หรือ ใบสดเคี้ยวกินเล็กน้อย สำหรับราก และใบสุกแห้ง หรือ ดองเกลือกินจะไม่ได้ผล
  • คลื่นไส้อาเจียนเรอเปรี้ยว ใช้รากสดตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำผึ้งเคี้ยวกิน หรือ หั่นรากสด 3-4 แว่นเคี้ยวกิน
  • เสียงแหบแห้ง ใช้รากสดคั้นอำน้ำผสมน้ำขิงกิน
  • เลือดกำเดาออกไม่หยุด ใช้รากสดคั้นเอาน้ำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน และเอาน้ำคั้นสวนจมูกข้างที่มีเลือดออก หรือ เอาน้ำคั้นผสมเหล้าต้มให้เดือดสูดดมไอ และต้มน้ำคั้นผสมเหล้ากิน
  • ท้องผูกเนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ใช้รากสด 500 กรัม หั่นเป็นแผ่นใส่น้ำ 1 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 100 มล. กินครั้งเดียวหมด วันละ 1 ครั้ง
  • คอแห้ง กระหายน้ำ ใช้รากสดคั้นเอาน้ำกิน 1 ถ้วย (ประมาณ 25 มล.)
  • ปวดหัวข้างเดียว ใช้รากสดคั้นเอาน้ำขนาด 1 เปลือกหอยแคลง ให้ผู้ป่วยนอนหงายเอาน้ำคั้นหยอดจมูกทั้ง 2 ข้างทีละข้าง
  • แผลไฟลวก กล้ามเนื้ออักเสบ ใช้รากสด หรือ เมล็ดตำให้ละเอียดพอก
  • ฟกช้ำ ห้อเลือดจากกระทบกระแทก ใช้รากสด หรือ ใบสดตำให้ละเอียดพอก หรือ ใช้เมล็ดตำให้ละเอียดผสมเหล้าพอก
  • ปากเป็นแผลเปื่อยเจ็บ ใช้รากสดต้มเอาน้ำชะล้าง และใช้รากแห้งบดเป็นผงทา
  • เท้าเป็นแผลเจ็บ ใช้รากสดต้มเอาน้ำชะล้างละใช้รากแห้งบดเป็นผงทา
  • ไอเรื้อรังมีเสมหะมากทำให้หอบ เสมหะมีเลือดปน ใช้เมล็ด 1 ถ้วย (ประมาณ 10 กรัม) บดต้นน้ำกิน
  • มีเสมหะเหนียว หอบหืดหายใจลำบาก หรือ หายใจขัด ใช้เมล็ดล้างให้สะอาด นึ่งให้สุก บดให้ละเอียด ผสมน้ำขิงทำเป็นยาเม็ดขนาดเมล็ดถั่วเขียว กินครั้งละ 30 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  • ท้องอืดแน่น อึดอัดใช้เมล็ดคั่วให้แห้งบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม
  • ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือ โดนสะเก็ดไฟ ใช้ตำผักกาดหัว ให้แหลกแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้เมล็ดทำให้แหลกแล้วพอกก็ได้
  • แก้ฟกช้ำดำเขียว (ไม่เป็นแผล) ใช้หัว หรือ ใบดำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือ ใช้เมล็ด 60 กรัม ตำให้ละเอียด คลุกกับเหล้า (อุ่นให้ร้อน) พอกบริเวณที่เป็น
  • แก้หวัด ต้มหัวผักกาดต้มน้ำดื่ม หรือ นำหัวผักกาดสดมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ไว้ในขวดแก้ว หลังจากนั้นโรยน้ำตาล 2-3 ช้อนโต๊ะ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน แล้วรินน้ำดื่มเป็นประจำ
  • ไอ หัวผักกาดพอประมาณใส่ขิงและน้ำผึ้งเล็กน้อยต้มดื่มน้ำ


ลักษณะทั่วไปของผักกาดหัว

ผักกาดหัว จัดเป็นพืชจำพวกผัก มีรากสะสมอาหารลักษณะทรงกระบอกใหญ่ยาว มีสีขาว หรือ สีอื่นๆ ตามสายพันธุ์ ต้นสูงประมาณ 1 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบแตกออกจากโคนต้นเป็นกอ ยาว 12-12 ซม. ตัวใบใหญ่ปลายใบมน ขอบใบมีรอยเว้าลึก 4-6 คู่ ทั้ง 2 ข้าง ขอบใบมีรอยหยักคล้ายฟัน ก้านใบลักษณะสามเหลี่ยม ขอบมนใบที่ออกจากต้นที่ชูสูงขึ้นจะมีขนาดเล็กลง ใบรูปไข่กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบมีรอยหยักตื้นๆ หรือ แทบไม่มีเลย โคนใบมีก้านสั้นๆ หรือ แทบไม่มี ดอกออกเป็นช่อจากปลายก้านดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวเป็นแผ่นยาวปลายมนกลม กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นแผ่นยาวปลายมนกลมสีม่วงอ่อน หรือ สีชมพู ส่วนโคนกลีบดอกสีขาว มีเกสรตัวผู้ 4 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่ลักษณะเป็นฝักยาวกลม ฝักของผักกาดขาว เป็นฝักยาว โดยมีความยาวประมาณ 2-6 ซม. มีสีเขียวเข้ม ฝักจะแก่จากด้านล่างขึ้นด้านบน เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาลเทา เนื้อฝักค่อนข้างแข็ง ไม่มีรอยแตกตามรอยตะเข็บ ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดง บางพันธุ์เป็นสีเหลือง ขนาดเมล็ดประมาณ 3 มม.

ผักกาดหัว

การขยายพันธุ์ผักกาดหัว

ผักกาดหัว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีรูปแบบการปลูกอยู่ 3 แบบ คือ

  1. การปลูกแบบร่องสวน ซึ่งส่วนมากจะเป็นการปลูกในพื้นที่ลุ่ม
  2. การปลูกแบบไร่ เป็นการปลูกในพื้นที่ราบเป็นดินน้ำท่วม หรือ เรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง และอุ้มความชื้นดี
  3. การปลูกแบบยกแปลงปลูก เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำแปลงปลูกสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยขนาดของแปลงกวาง 1-1.50 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตร

           เริ่มด้วยไถ หรือ ขุดดินให้ลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7-15 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช และแมลงในดิน ถ้าดินเป็นกรด หรือ ดินเหนียวต้องใส่ปูนขาว และใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติม ขณะเตรียมดินครั้งที่ 2 ให้หว่านปูนขาวชนิดโดโลไมท์ ปริมาณ 20-30 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 ตัน/ไร่ ให้กระจายทั่วทั้งแปลง แล้วพรวนดินเพื่อให้ปูนขาว และปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับดิน ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงพรวนดินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการพรวนดินครั้งนี้สุดท้ายต้องย่อยดินให้ละเอียดที่สุด เพื่อให้พร้อมที่จะทำการปลูก และเมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว ให้นำเมล็ดไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ โดยวิธีการปลูก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การปลูกโดยการหว่านเมล็ด และการปลูกแบบการหยอดเมล็ดเป็นแถวบนแปลงยกร่อง ส่วนระยะจะขึ้นกับพันธุ์ที่ใช้ปลูก เช่น พันธุ์เบาใช้ระยะปลูก 20x30 เซนติเมตร พันธุ์กลาง ใช้ระยะปลูก 30x45 เซนติเมตร พันธุ์หนัก ใช้ระยะปลูก 30-45 x 50-75 เซนติเมตร สำหรับการให้น้ำควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งผักกาดหัวฟอร์มหัว และเก็บเกี่ยว ถ้าให้น้ำไม่สม่ำเสมอจะทำให้คุณภาพของหัวไม่ดี หัวแตก เนื่องจากการขยายตัวของเซลล์ไม่สม่ำเสมอ

           ทั้งนี้ผักกาดหัว เป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็นแสงแดดจัด เจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้ดีถ้าปลูกบนพื้นที่สูง และมีอากาศเย็น ถ้าปลูกในสภาพช่วงวันสั้น รากจะมีรูปร่างดี และปลายยอดเล็ก แต่ถ้าปลูกในสภาพช่วงวันยาวมากกว่า 15 ชั่วโมง รากจะมีรูปร่างไม่ดีนักยอดจะมีลักษณะเป็นรูปทรงรี และมีการออกดอกเร็ว สภาพอุณหภูมิต่ำ และช่วงวันยาวจะมีการกระตุ้นให้แทงช่อดอก ชอบดินที่มีหน้าดินลึก ร่วนซุย มีการระบายน้ำได้ดี ค่า pH 6.0-6.5

           สำหรับพันธุ์ของผักกาดหัว สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยุโรป (Radish) นิยมปลูก และบริโภคในเขตอบอุ่น เช่น ยุโรป อเมริกา โดยกลุ่มนี้ต้องการอากาศเย็นในการเจริญของราก ประมาณ 15ºC มีช่วงการเก็บเกี่ยวสั้น 20-25 วัน ส่วนของรากมีขนาดเล็ก สีแดงเข้ม บางชนิดมีสีดำ แต่เนื้อภายในจะมีสีขาว หรือ สีแดง และกลุ่มเอเชีย (Chinese Radish หรือ Japanese Radish) ก็มีการปลูกมากแถบเอเชีย ส่วนของรากมีขนาดใหญ่ รูปร่างแบบกลม และยาว ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ปกติผิวของรากมีสีขาว แต่บางพันธุ์อาจมีสีแดงเนื้อภายในมีสีขาว อายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่ากลุ่มแรก คือ พันธุ์เบาประมาณ 40-50 วัน และพันธุ์หนักประมาณ 60-70 วัน โดยกลุ่มนี้สามารถแยกเป็น 2 ชนิด คือ พันธุ์แบบญี่ปุ่น (Japanese Type) ลักษณะเด่น คือ ขอบใบมีลักษณะหยักลึก มีจำนวนใบมากน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ มีอายุทั้งสองปี และปีเดียว ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หนัก หรือ ปานกลาง และพันธุ์แบบจีน (Chinese Type) ลักษณะเด่น คือ ขอบใบเรียบ ไม่มีรอยหยัก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา และมีอายุปีเดียว

ผักกาดหัว

องค์ประกอบทางเคมี

ในส่วนของหัวผักกาด พบองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด ได้แก่ Isothiocyanate, Kempferol, Cyanidine, Triterpenes, Gentisic acid, Hydrocinnamic acid, Vanillic acid, Pelargonidin, Luteolin, Myricetin, Quercetin, Lignin, Allyl isothiocayanate, Benzyl isothiocyanate, Phenethyl isothiocyanate, L-ascorbic acid Coumaric acid, Ferulic acid, Gentisic acid, Phenylpyruvic acid และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดส่วนในเมล็ด พบสารกลุ่ม ไขมัน เช่น: -Erucic acid, Linolenic acid และ Glycerol sinapate เป็นต้น ในน้ำมันหอมระเหยพบสารที่สำคัญ คือ Methyl mercaptan นอกจากนี้ยังมีสารที่ยับยั้งแบคทีเรีย คือ Raphanin อีกด้วย

           นอกจากนี้ผักกาดหัว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ ข้อมูลทางโภชนาการของหัวไชเท้าดิน (ต่อ 100 กรัม)             

             พลังงาน                        18                    กิโลแคลอรี

 คาร์โบไฮเดรต                4.1                   กรัม

น้ำตาล                          2.5                   กรัม

เส้นใย                           1.6                   กรัม

ไขมัน                            0.1                   กรัม

โปรตีน                          0.6                   กรัม

วิตามินบี 1                    0.02                 มิลลิกรัม

วิตามินบี 2                    0.02                 มิลลิกรัม

วิตามินบี 3                    0.2                   มิลลิกรัม

วิตามินบี 5                    0.138               มิลลิกรัม

วิตามินบี 6                    0.046               มิลลิกรัม

    วิตามินบี 9                    28                    ไมโครกรัม

วิตามินซี                        22                    มิลลิกรัม

ธาตุแคลเซียม                27                    มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก                       0.4                   มิลลิกรัม

ธาตุแมกนีเซียม              16                    มิลลิกรัม

ธาตุแมงกานีส                0.038               มิลลิกรัม

ธาตุฟอสฟอรัส               23                    มิลลิกรัม

ธาตุโพแทสเซียม            227                  มิลลิกรัม

ธาตุโซเดียม                   21                    มิลลิกรัม

ธาตุสังกะสี                     0.15                 มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหัวผัดกาด

โครงสร้างผักกาดหัว

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหัวผักกาด

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาทดลองให้สารสกัดน้ำจากใบหัวผักกาด (Raphanus sativus Linn.) ในหนูขาวเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM) และหนูขาวแรกเกิดอายุ 2 วัน ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (NIDDM) ด้วย streptozocin โดยให้กินในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ทุกวันตอนเช้านาน 4 และ 6 สัปดาห์ตามลำดับ เปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน แต่ไม่ได้รับสารสกัด พบว่า สารสกัดน้ำจากใบหัวผักกาดมีผลลดน้ำตาลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มประสิทธิภาพความทนทานต่อกลูโคส (glucose tolerance) ในหนูที่เป็นเบาหวานกลุ่ม IDDM สารสกัดน้ำจากใบหัวผักกาดให้ผลลดน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่าอินซูลิน และการให้ร่วมกันมีผลลดประสิทธิภาพของอินซูลิน ในขณะที่เมื่อให้ aminoguanidine ร่วมกับอินซูลินไม่แสดงผลดังกล่าว ในหนูที่เป็นเบาหวานกลุ่ม NIDDM สารสกัดน้ำจากใบหัวผักกาดให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากกว่า glibenclamide

            ฤทธิ์ป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีการศึกษาฤทธิ์ของเมล็ดผักกาดหัว (Raphanus sativus L.) ในการป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลเรื้อรังในลำไส้ด้วย trinitrobenzenesulphonicacid (TNBS) และ dextran sodium sulfate (DSS) จากนั้นป้อนสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดขนาด 10, 40, 70 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว หรือ ยารักษาโรคลำไส้อักเสบเมซาลาซีน (mesalazine) ขนาด 25 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ทั้งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นด้วย TNBS และ DSS โดยสารสกัดจากเมล็ดหัวผักกาดที่ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้ผลป้องกันความเสียหายของลำไส้ได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาเมซาลาซีน สามารถลดการทำงานของเอนไซม์ myeloperoxidase ลดการหลั่ง tumor necrosis factor (TNF)-α และ interleukin (IL)- 1β ยับยั้งการสร้าง malondialdehyde และป้องกันการลดลงของ glutathione ในลำไส้ใหญ่ รวมถึงกดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, IL-1β, monocyte chemotactic protein-1, inducible nitric oxide และ intercellular adhesion molecule-1 นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของ p38 kinase และ DNA–nuclear factor-κB ได้ทั้งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นด้วย TNBS และ DSS ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดช่วยบรรเทาความเสียหายของลำไส้ได้ทั้งจากสภาวะความเครียดออกซิเดชัน และกระบวนการอักเสบ

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางเภสัชอื่นๆ ในต่างประเทศอีกหลายงานวิจัย เช่น สารที่ได้จากสารสกัดหัวผักกาดขาวด้วยแอลกอฮอล์ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีความไวต่อแบคทีเรียแกรมบวก และในเมล็ดหัวผักกาดขาว ก็มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย โดยสาร Raphanin ในเมล็ด ที่มีปริมาณความเข้มข้น 1 มก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้ง Staphylococcus และ Colibacillus อย่างเห็นได้ชัด

การศึกษาทางพิษวิทยาของหัวผักกาด

การทดสอบความเป็นพิษมีการทดลองฉีดสารสกัดเอทานอลของเมล็ดแห้งจากหัวผักกาด แล้วกำจัดไขมันด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ โดยฉีดสารสกัดดังกล่าวนี้เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร พบว่ามี LD50 มากกว่า 1 ก./กก. และจากการศึกษา raphanin ซึ่งเป็นสารสำคัญในหัวผักกาด พบว่ามีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ได้จาก rabbit testicle และมีพิษต่อหนูถีบจักรและหัวใจของกบปานกลาง

           พิษต่อเซลล์ มีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้ง และนำสารสกัดที่ได้ไปกำจัดไขมันออกด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ มีค่า ED50 เมื่อทดสอบกับ Hela cells เท่ากับ 62 มคก./มล. พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีพิษต่อเซลล์ การทดสอบน้ำสกัดจากเมล็ด ความเข้มข้น 500 มคก./มล. กับ CA-mammary-microalveolar พบว่าไม่มีฤทธิ์มีการทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มจากเมล็ดกับ cells-human-SNU 1, SNU-C4 หรือ Leuk (Shay) โดยมี IC50 เท่ากับ 300 มคก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์เช่นกัน ส่วนการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นของหัวผักกาด ความเข้มข้น 50 มคก./มล.กับ CA-9KB พบว่าผลการทดสอบไม่แน่นอน และยังมีการทดสอบสารสกัดเอทานอล (100%) จากเมล็ดแห้ง (ไม่ทราบความเข้มข้น) กับ CA-A549, CA-mammary-MCF7, human colon cancer cell line dld-1 พบว่าไม่มีฤทธิ์ ต่อมามีการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากสด หรือ จากเมล็ดสดของหัวผักกาด ความเข้มข้น 200 มคก./มล. กับ macrophage cell line raw 264.7 พบว่ามีฤทธิ์อ่อน แต่การใช้สารสกัดนี้ ความเข้มข้น 40 มคก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ เช่นกัน

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากสด (ไม่ทราบความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ) กับ Salmonella typhimurium TA98 พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ การทดลองนำส่วนที่กินได้ของผักกาดหัว สดมาสับจนเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทำการ lyophilized และสกัดด้วยเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล ตามลำดับ แยกตัวทำละลายออกโดยการระเหยแห้ง นำส่วนที่ได้ไปละลายใน dimethylsulfoxide ก่อนที่จะนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านหรือเหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella หรือ mammalian microsome mutagenicity test จากการทดลองพบว่า ไม่มีส่วนสกัดใดเลยที่แสดงฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ใน S. typhimurium TA98 และ TA100 ทั้งในภาวะที่มีหรือไม่มี S9 อยู่ด้วย จากการทดลองนี้ชี้ว่าหัวผักกาดไม่มีสารใดที่มีฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ การทดสอบน้ำคั้นจากหัวผักกาด ขนาด 200 มคล. กับ S. typhimurium TA98 และ TA100 ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์อ่อน แต่การใช้สารสกัดเอทานอล (100%) (ไม่ทราบความเข้มข้น) ทดสอบกับ S. typhimurium T1530 ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์ มีการศึกษา 3-hydroxymethylene-2-trioxopyrrolidine (HMTP) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ได้จากส่วนที่มีกลิ่นของหัวผักกาด โดยทำการศึกษาฤทธิ์เหนี่ยวนำหรือต้านการก่อกลายพันธุ์ใน S. typhimurium TA98 และ TA100 เมื่อทำการ incubate โดยไม่มี rat microsomal fraction (S9) พบว่า HMTP มีฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์อย่างอ่อนกับแบคทีเรียทั้ง 2 สายพันธุ์ เมื่อใช้ HMTP ในขนาด 260-520 มคก. (2-4 ไมโครโมล) แต่ฤทธิ์ ดังกล่าวจะลดลงอย่างมากหรือไม่มีเลย เมื่อมี S9 fraction อยู่ด้วย และการทดสอบฤทธิ์ของ HMTP กับการต้านฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ของ heterocyclic amines คือ 2-amino-3-methyl-imidazo[4,5-f]quinoline (IQ) และ 3-amino-1,4-dimethyl-5H-pyrido[4,3-b]indole (Trp-P-1) พบว่า HMTP ขนาด 390-520 มคก. (3-4 ไมโครโมล) มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารทั้ง 2 เป็นอย่างมาก จากการวิเคราะห์ด้วย HPLC เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของปริมาณ HMTP, IQ และ Trp-P-1 ในระหว่างที่ incubate กับ S9 fraction พบว่า HMTP ถูก metabolized ไปเป็น S9 inhibitor ซึ่งมีผลให้การ metabolize ของ heterocyclic amine ถูกยับยั้ง และเมื่อ plot กราฟแบบ Lineweaver-Burk พบว่าฤทธิ์ยับยั้งของ HMTP เป็นแบบ uncompetitive inhibitor ของ cytochrome P-450s ใน S9 fraction (11) มีการศึกษาโครงสร้างของสารสีเหลืองที่พบในหัวผักกาดที่ปรุงรสด้วยเกลือซึ่งมีโครงสร้างเป็น 1-(2-thioxopyrrolidin-3-yl)-1,2,3,4-tetrahydro-b-carboline-3-carboxylic acid ซึ่งพบว่าสารดังกล่าวไม่มีฤทธิ์เหนี่ยวนำการก่อกลายพันธุ์ใน S. typhimurium TA98 และ TA100 ทั้งในภาวะที่มี หรือ ไม่มีการ activate มาก่อน

           ฤทธิ์ก่อมะเร็ง มีรายงานความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จากการได้รับ aliphatic amines และ nitrate จากผักต่างๆ โดยพบว่าการบริโภคผักต้มจำพวก Brassicaมาก ทำให้ได้รับ nitrate ปริมาณสูงถึง 237 มก./วัน

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์ มีรายงานการทดสอบพิษของหัวผักกาดต่อการฝังตัวของตัวอ่อนดังนี้ คือ เมื่อทดลองฉีดสารสกัด (ไม่ทราบชนิดของสารสกัดและส่วนของพืชที่ใช้) ขนาด 0.2 มล./ตัว เข้าใต้ผิวหนังของหนู ถีบจักรเพศเมีย พบว่าไม่มีฤทธิ์ แต่การทดลองป้อนสารสกัดจากหัวผักกาด (ไม่ระบุชนิดสารสกัด ส่วนของพืชที่ใช้ และขนาดที่ใช้ทดลอง) ให้กับหนูขาวเพศเมีย พบว่ามีฤทธิ์อ่อน และเมื่อทดลองฉีดสารสกัดเอทานอล (100%) จากเมล็ดแห้ง ในขนาด 200 มก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาวเพศเมีย พบว่าไม่มีฤทธิ์ ส่วนอีกการทดลองหนึ่งใช้สารสกัดจากเมล็ดแห้ง (ไม่ทราบชนิดและขนาดที่ใช้) ฉีดเข้าทางช่องท้องหนูขาวเพศเมีย ก็พบว่าไม่มีฤทธิ์เช่นกัน มีการทดสอบน้ำสกัดหรือสารสกัดเอทานอล (90%) จากพืชที่มีการใช้คุมกำเนิดในผู้หญิงอินเดีย ซึ่งในการทดลองนี้มีการทดสอบน้ำสกัดจากหัวผักกาดด้วย โดยใช้ในขนาด 175 มก./กก. โดยทำการป้อนให้กับหนูขาวที่ท้อง เป็นเวลา 10 วัน หลังจากฉีดน้ำเชื้อจากเพศผู้เพื่อให้สัตว์ทดลองตั้งท้อง แล้วดูผลของสารสกัดต่อตัวอ่อน พบว่าสารสกัดจากหัวผักกาดมีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนการทดสอบพิษต่อตัวอ่อนของหัวผักกาดมีดังนี้ มีการทดลองให้สารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) หรือปิโตรเลียมอีเทอร์ จากเมล็ดแห้ง ขนาด 150 มก./กก. ทางกระเพาะอาหารหนูขาวที่ท้อง พบว่าไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้มีการทดลองฉีดสารสกัดเอทานอล (100%) จากเมล็ดแห้ง ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาวท้อง พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจาก Amylase ในหัวผักกาดขาวไม่ทนต่อความร้อน จะถูกทำลาย ณ อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นอกจากนี้วิตามินซีก็ไม่ทนต่อความร้อนสูง ดังนั้นจึงควรกินหัวผักกาดขาวดิบๆ จะได้รับสารอาหารมากกว่าการกินแบบสุก
  2. หัวผักกาดเป็นพืชอาหาร ซึ่งมี nitrate สูง จึงอาจจะทำให้ก่อมะเร็งได้ถ้ารับประทานมาก จึงควรรับประทานแต่พอควร ไม่มีรายงานฤทธิ์ในการเจริญอาหาร แม้ว่าในภาพรวมแล้วค่อนข้างปลอดภัย ก็ควรรับประทานในขนาดพอควร และสลับกับผักอื่น
  3. ผักกาดหัว มีสาร Allyl isothiocyanate และ Thioglycoside ที่สามารถทำให้เกิดอาหารผื่นแพ้บนผิวหนังได้
  4. ผู้ที่มีอาการม้ามพร่อง คือ มีอาการท้องอืด แน่น เป็นประจำ กินอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ไม่ควรกินผักกาดหัว
  5. ผู้ป่วยโรคไฮโปไทรอยด์ไม่ควรรับประทานผักกาดหัว เพราะในผักกาดหัวมีสารกอยโตรเจนที่มีฤทธิ์ไปขวางการจับกับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นโรคคอหอยพอกได้
  6. ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย และหอบหืด เมื่อกินเมล็ดผักกาดหัว จะทำให้อาการหอบรุนแรงขึ้น รวมถึงผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เลือดน้อย ห้ามกินเมล็ด และใบของผักกาดหัวดัวยเช่นกัน
  7. ผักกาดหัวมีฤทธิ์เป็นยาเย็นจึงไม่ควรรับประทานร่วมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น โสม หรือ ตังกุย เพราะอาจจะทำให้ไปสะเทินฤทธิ์กันเอง มีผลทำให้การออกฤทธิ์ของสมุนไพรไม่ดีเท่าที่ควร
  8. เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผักกาดหัวในการบำบัดรักษาโรคเสมอ

เอกสารอ้างอิง หัวผักกาด
  1. หัวผักกาด.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ผักกาดหัว. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 41.กันยายน.2525
  3. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหัวผักกาด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. วิฑิต วัณนาวิบูล. หัวผักกาด. อาหารช่วยย่อยที่ดี. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 80 .ธันวาคม 2528
  5. ฤทธิ์ป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื่องรังของเมล็ดหัวผักกาด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. หัวไชเท้า/ผักกาดหัว สรรพคุณ และการปลูกหัวไชเท้า. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkasct.com
  7.  Kassie F, Parzefall W, Musk S, Johnson I, Lamprecht G, Sontag G, Knasmuller S.  Genotoxic effects of crude juice from Brassicavegetables and juices and extracts from phytopharmaceutical preparations and spices of Cruciferous plants origin in bacterial and mammalian cells.  Chem Biol Interact 1996;102(1):1-16.
  8. Sato A.  Studies on anti-tumor activity of crude drugs. I. The effects of aqueous extracts of some crude drugs in shortterm screening test.  Yakugaku Zasshi 1989;109(6):407-23.
  9.  Prakash AO, Gupta RB, Mathur R.  Effect of oral administration of forty-two indigenous plant extracts on early and late pregnancy in albino rats.  Probe 1978; 17(4):315-23.
  10. Siddiqi M, Kumar R, Fazili Z, Spiegelhalder B, Preussmann R.  Increased exposure to dietary amines and nitrate in a population at high risk of esophageal and gastric cancer in Kashmir (India).  Carcinogenesis (London) 1992;13(8):1331-5. 
  11.  Alkofahi A, Batshoun R, Owais W, Najib N.  Biological activity of some Jordanian medicinal plant extracts.  Fitoterapia 1996;67(5):435-42
  12. Kamboj VP.  A review of Indian medicinal plants with interceptive activity.  Indian J Med Res 1988;4:336-55.  
  13. Woo WS, Lee EB, Chang I.  Biological evaluation of Korean medicinal plants  II.  Yakhak Hoe Chi 1977;21:177-83. 
  14. Uda Y, Havashi H, Takahashi A, Shimizu A.  Mutagenic and antimutagenic property of 3-hydroxymethylene-2-thioxopyrrolidine, a major product generating from pungent principle of radish.  Lebensm-Wiss 2000;33(1):37-43. 
  15. Kim OK, Murakami A, Nakamura Y, Ohigashi H.  Screening of edible Japanese plants for nitric oxide generation inhibitory activities in raw 264.7 cells.  Cancer Lett 1998;125(1/2):199-207.  
  16. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO.  Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception, Boston:MTP Press, Ltd., 1984:115-28.
  17. Park JG, Hyun JW, Lim KH, et al.  Antineoplastic effect of extracts from traditional medicinal plants.  Korean J Pharmacog 1993;24(3):223-30
  18. Matsui ADS, Hoskin S, Kashiwagi M, Aguda BW, Zebart Be, Norton TR, Cutting WC.  A survey of natural products from Hawaii and other areas of the Pacific for an antifertility effect in mice.  Int Z Klin Pharmakol Ther Toxikol 1971;5(1):65-9.
  19.  Rojanapo W, Tepsuwan A.  Antimutagenic and mutagenic potentials of Chinese radish.  Environ Health Perspect 1993;101(Suppl 3):247-52. 
  20. Nath D, Sethi N, Singh RK, Jain AK.  Commonly used Indian abortifacient plants with special reference to their teratogic effects in rats.  J Ethnopharmacol 1992; 36:147-54.  
  21. Ivanovics G, Horvath S.  Raphanin, an antibacterial principle of the radish.  Nature 1947;160:297-8. 
  22. Matsuoka H, Takahashi A, Ozawa Y, Yamada Y, Uda Y, Kawakishi S.  2-[3-(2-thioxopyrrolidin-3-ylidene) methyl]-tryptophan, a novel yellow pigment in salted radish roots.  Biosci Biotechnol Biochem 2002;66(7):1450-4.
  23.  Takahashi Y, Nagao M, Fujino T, Yamaizumi Z, Sugimura T.  Mutagens in Japanese pickle identified as flavonoids.  Mutat Res 1979;68:117-23.
  24.  Dhar SK, Gupta S, Chandhoke N.  Antifertility studies of some Indigenous plants.  Proc XI Ann Conf Indian Pharmacol Soc, New Delhi, 1978:1.
  25. Arisawa M.  Cell growth inhibition of KB cells by plant extracts.  Natural Med 1994;48(4):338-47.