น้ำนมราชสีห์เล็ก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

น้ำนมราชสีห์เล็ก งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร น้ำนมราชสีห์เล็ก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นอจียง (กะเหรี่ยง), เซียวปวยเอี่ยงเช่า, หยูจั๊บเช่า, หยูเกียเช่า, อั้งจูเช่า, พีซิกหง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia thymifolia
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia humifusa Willd.
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดน้ำนมราชสีห์เล็ก 

สำหรับน้ำนมราชสีห์เล็กเป็นพืชที่ไม่ทราบถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด แต่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ในแอฟริกา และเอเชีย สำหรับในประเทศไทย ถือได้ว่าน้ำนมราชสีห์เล็ก เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำนมราชสีห์ใหญ่ โดยมักจะพบตามที่รกร้างต่างๆ ตามชายป่า ท้องนา หรือริมถนนหนทาง ที่มีความสูง ประมาณ 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณน้ำนมราชสีห์เล็ก

  • ช่วยแก้บวม
  • ช้วยแก้อักเสบ
  • แก้ไข้จับสั่น
  • แก้บิด
  • แก้บิดมูก
  • แก้บิดเลือด
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้แผลอักเสบ
  • แก้กลากน้ำนม
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้หูน้ำหนวก
  • แก้พิษงูสวัด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ไอ
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • แก้กลากเกลื้อน
  • ช่วยฆ่าพยาธิ
  • ใช้บำรุงน้ำนม
  • แก้ไตพิการ
  • แก้กษัย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • รักษาบาดแผล (ยางสด)
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • แก้ขัดเบา
  • แก้ถ่ายเป็นเลือด
  • แก้เด็กเป็นตาลขโมย
  • แก้เด็กตกใจกลัวง่าย
  • ช่วยรักษาเลือดออกตามเหงือกฟัน
  • แก้หูด
  • แก้โรคไฟลามทุ่ง
  • แก้งูพิษกัด (พอกบาดแผล) ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ใช้แก้แมลง สัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษกัดต่อย (ผสมเหล้า)

           นอกจากนี้ น้ำนมราชสีห์เล็ก มีการนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การนำมาเป็นอาหารสัตว์, ใช้เป็นยาขับพยาธิของสัตว์, นำมาผสมเป็นยาสำหรับไล่แมลงต่างๆ

น้ำนมราชสีห์เล็ก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ไข้จับสั่น ใช้ต้นสด 120 กรัม ต้มน้ำ ผสมน้ำตาลแดงพอประมาณ ให้กินก่อนไข้จับสองชั่วโมง
  • แก้บิดจากแบคทีเรีย และลำไส้อักเสบ ใช้ต้นแห้ง 30 กรัม ใบชาแก่ (แห้ง) 15 กรัม ต้มน้ำผสมน้ำผึ้งกิน หรือ ใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้เด็กตกใจกลัวง่าย ใช้ต้นสด 60 กรัม ล้างสะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำซาวข้าว เอากากทิ้งผสมน้ำผึ้งกิน
  • แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ใช้ต้นสดจำนวนพอสมควร ต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
  • แก้กลากน้ำนม ใช้ต้นสดตำผสมน้ำตาลกรวด พอกที่แผล ยานี้ยังมีผลในการแก้อักเสบ และแก้บวมอีกด้วย
  • แก้งูสวัดขึ้นรอบเอว (เม็ดตุ่มเกิดจากเชื้อไวรัสขึ้นตามบริเวณเอว) ใช้ต้นสด 1 กำมือ กระเทียม 1 หัว ตำให้ละเอียด ผสมน้ำสุกที่เย็น ทาบริเวณที่เป็น

           ส่วนในตำรับยาจีนระบุถึงรูปแบบการใช้ดังนี้

  • แก้บิด ใช้น้ำนมราชสีห์เล็ก 1 ตำลึง ต้มกิน หรือ ตำเอาน้ำกิน หรือ ตำเอานํ้าชงนํ้าผึ้ง กินก็ได้
  • แก้บิดมูก ใช้น้ำนมราชสีห์เล็ก 1 ตำลึง ต้มนํ้าตาลทรายขาว
  • แก้บิดเลือด ใช้น้ำนมราชสีห์เล็ก 1 ตำลึง ต้มเนื้อสันหมู หรือ ต้มกับน้ำ 1 ตำลึงครึ่งใส่น้ำตาลแดง
  • แก้ไข้จับสั่น - น้ำนมราชสีห์เล็ก 2 ตำลึง ตำแหลก เอาน้ำผสมเหล้าปริมาณเท่ากัน
  • ดีซ่าน - น้ำนมราชสีห์เล็ก 2 ตำลึง ต้มน้ำแบ่งกินเป็น 2 ครั้ง ในหนึ่งวัน
  • ปัสสาวะเลือด หรือ อุจจาระเลือด หรือ ริดสีดวงทวารถ่ายเป็นเลือด - น้ำนมราชสีห์เล็ก 2 ตำลึงต้ม
  • น้ำนมน้อยหลังคลอด - น้ำนมราชสีห์เล็ก 1 ตำลึง ต้มเนื้อสันหมู
  • เด็กเป็นตาลขโมย - น้ำนมราชสีห์เล็ก 3 เฉียน ตุ๋นกับตับไก่ หรือ ตับหมู รับประทาน
  • เลือดออกตามไรฟัน หรือ เหงือก - น้ำนมราชสีห์เล็ก ต้มเอาน้ำบ้วนปาก
  • เป็นหูด - ปาดหูดให้หัวขาดพอเลือดไหลนิดๆ เอาน้ำนมราชสีห์เล็ก ตำแหลก เอาน้ำทา

           นอกจากนี้ในอินเดียใช้ใบ และเมล็ดแห้งของน้ำนมราชสีห์เล็กนำมาบดเป็นผงใช้กินแก้ บิด ท้องร่วง ส่วนน้ำคั้นจากต้นสดใช้ทาแก้กลาก แก้โรคไฟลามทุ่ง และในฟิลิปปินส์ ใช้ใบสดตำพอกแก้พิษงู รักษาบาดแผล ส่วนน้ำคั้นจากต้นใช้ผสมเหล้า ทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย


ลักษณะทั่วไปของน้ำนมราชสีห์เล็ก
  

น้ำนมราชสีห์เล็ก จัดเป็นพืชขนาดเล็ก ปีเดียวตาย มียางขาว เหมือนน้ำนม ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่เบี้ยคลุมดิน มีขนเล็กน้อย สูงไม่เกิน 15 ซม. โดยทั่วไปก้านมีสีแดง ใบออกเป็นใบเดียวเรียงตรงข้ามกัน ตัวใบลักษณะรูปไข่หรือกลมรี ยาว 4-6 มม. ปลายใบมน อาจแหลมเล็กน้อย ฐานใบโค้งไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักตื้นๆ เห็นเส้นใบชัด 2-3 เส้น หลังใบสีเขียวแก่ ท้องใบสีเขียวอมเทาอ่อน ก้านใบสั้นมาก 

           ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบสั้นๆ และไม่มีก้าน ดอกย่อยเป็นแบบ Cyathium เรียงชิดกันอยู่ มีประมาณ 1-3 ช่อ ดอกมีสีชมพูอมแดง ส่วนใบประดับเป็นรูปแถบเล็กๆ มีอยู่หลายใบ ก้านช่อ Cyathium ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีขนกระจายอยู่ โดยในแต่ละ Cyathium จะติดบนวงใบประดับรูปถ้วย มีความสูงประมาณ 0.8 มิลลิเมตร มีต่อม 4 ต่อม แต่ละต่อมมีขนาดประมาณ 0.1 มิลลิเมตร สีชมพูอมม่วง มีก้านสั้น ที่ต่อมมีรยางค์เป็นแผ่นสั้นๆ สีชมพู มีขนาดประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ดอกที่ติดภายใน Cyathium จะไม่มีกลีบดอก และกลีบเลี้ยง ส่วนดอกตัวผู้จะอยู่ด้านข้าง มีอยู่หลายดอก โดยเกสรตัวผู้ลดรูปเหลือ 1 ก้าน ก้านเกสรสั้นติดบนก้านดอก ส่วนดอกตัวเมีย 1 ดอกติดอยู่ด้านบน รังไข่มี 3 พู ก้านเกสรตัวเมียมี 3 ก้าน โดยยอดเกสรจะยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก

           ผลมีลักษณะเป็นแบบแคปซูล มีพู 3 พู มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร 1-1.5 มีขนสั้น และนุ่ม และก้านผลมีความประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร เมล็ดมี 1 เมล็ดในแต่ละซีกผล เมล็ดมีสีเหลืองอมน้ำตาล ผิวมีร่องตื้นๆ 5-6 ร่อง โดยลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร

น้ำนมราชสีห์เล็ก

การขยายพันธุ์น้ำนมราชสีห์เล็ก

น้ำนมราชสีห์เล็กสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และใช้กิ่งปักชำ แต่โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติมากกว่า การนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เพราะน้ำนมราชสีห์เล็ก จัดเป็นวัชพืชที่เกษตรกรคอยกำจัดอยู่แล้ว จึงไม่มีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งในส่วนที่สามารถพบเห็น หรือ นำมาใช้ประโยชน์ ก็จะเป็นการเก็บมาใช้จากธรรมชาติมากกว่า

องค์ประกอบทางเคมีน้ำนมราชสีห์เล็ก

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของต้นน้ำนมราชสีห์เล็ก คือ สารกลุ่มฟินอลิก (phenolic) ไฮโดรไลน์ (hydrolysable tannins) ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และสเตียรอยด์  (steroids) นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ ในลำต้น และกิ่งก้านของน้ำนมราชสีห์เล็ก เช่น β-amyrin, β-sitosterol, euphosterol เป็นต้น     

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของน้ำนมราชสีห์เล็ก

โครงสร้างน้ำนมราชสีห์เล็ก

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์เล็ก

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนน และสำลีก้อนเล็กที่ฝังไว้ที่ขาหนีบของหนูแรท โดยการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนนนั้นแบ่งหนูแรทออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ป้อนน้ำกลั่นอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบันต้านการอักเสบ (ibuprofen) 50 มก./กก. กลุ่มที่ 3-5 ป้อนสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ตามลำดับ หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดสารคาราจีแนน 0.1 มล. (1% น้ำหนัก/ปริมาตรใน normal saline) เข้าชั้นใต้ผิวหนังที่อุ้งเท้าซ้ายของหนูแรทเพื่อให้เกิดการอักเสบในทุกกลุ่ม วัดการบวมที่อุ้งเท้าหนูชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 ส่วนกลุ่มที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยก้อนสำลีขนาดเล็กน้ำหนัก 30 มก. ฝังเข้าที่ขาหนีบของหนูแรท แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว เช่นเดียวกับกลุ่มที่เหนี่ยวนำด้วยสารคาราจีแนน ให้สารสกัดนาน 7 พบว่าฤทธิ์ต้านการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนนของสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ในชั่วโมงแรก มีค่าเท่ากับ 29.14%, 29.43% และ 45.71% ตามลำดับ และเพิ่มสูงขึ้นในชั่วโมงที่ 2 และ 3 ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน ibuprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 59.71%, 67.57% และ 68.52% ในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบจากการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสำลีที่ฝังไว้ที่ขาหนีบของหนูพบว่า สารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. สามารถต้านการอักเสบได้ 32.1%, 40.8% และ 45.4% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน ibuprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 60.3%

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษที่ตับด้วยสารคาร์บอนเตดตระคลอไรด์ (CCl4) โดยแบ่งหนูแรทออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนสาร 1% โพลีเอทิลีนไกลคอล (PEG) ขนาด 2 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อน CCl4: PEG อัตราส่วน 1:1 ขนาด 0.5 มล./กก. กลุ่มที่ 3 ป้อนยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ปกป้องตับ (silymarin) 50 มก./กก. ใน 1% PEG ครั้งเดียว กลุ่มที่ 4 ป้อนสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็ก ขนาด 100 มก./กก./วัน นาน 7 วัน ซึ่งในวันที่ 5 ของการทดลองให้ป้อนสาร CCl4 ทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มควบคุม พบว่าสามารถลดระดับเอนไซม์ในเลือดของตับ alanine amino tranferase (ALT), aspartate aminotranferase (AST) และ lipid peroxidation (LPO) ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสาร CCl4 เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ดีเท่ากับยาแผนปัจจุบัน (silymarin)

            และมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดเอทานอลจากพืชทั้งต้น (whole plant) ของน้ำนมราชสีห์เล็กมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวก เช่น (Bacillus subtilis และ S. aureus) และแบคทีเรียแกรมลบ เช่น (Proteus spp. และ Escherichia coli) ได้

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์เล็ก ที่น่าสนใจอีกหลายฉบับ เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อราไวรัส ต้านมาลาเรีย ฆ่าไรทะเล ยับยั้งเนื้องอก ความเป็นพิษต่อเซลล์ และฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำนมราชสีห์เล็ก

ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา เพราะการศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำนมราชสีห์เล็ก ในประเทศไทย ยังมีน้อย โดยส่วนมากจะเป็นกรศึกษาในต่างประเทศเสียมากกว่า แต่มีรายงานจากศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ระบุว่าน้ำยางของน้ำนมราชสีห์เล็ก มีฤทธิ์กัดผิวหนังทำให้อาจเกิดการระคายเคือง เป็นผื่น หรึอ เป็นแผลได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ส่วนต่างๆของน้ำนมราชสีห์เล็ก ควรระมัดระวังในการใช้โดยเฉพาะส่วนของลำต้น และกิ่งก้านเพราะมีน้ำยางที่มีฤทธิ์ผิวหนังอาจทำให้เป็นผื่น หรือ เป็นแผลได้ และที่สำคัญควรใช้ส่วนต่างๆ ของพืชชนิดนี้ ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีครรภ์ เด็ก และผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้น้ำนมราชสีห์เล็กเสมอ

เอกสารอ้างอิง น้ำนมราชสีห์เล็ก
  1. ฤทธิ์รงค์  ทองดอน, เกษศิรินทร์ ภูมลี, พรรณรัตน์ อกนิษฐาภิชาติ, ศิริมา สุวรรณกูฏ จันต๊ะมา. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดสมุนไพร จากน้ำนมราชสีห์เล็ก. วารสารวิทยศาสตร์ และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 15.ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2556. หน้า 41-47
  2. นันทวัน บุณยะประภัสสร และอรนุช โชคชัยเจริญ พร. 2541. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (2), กรุงเทพมหานคร. บริษัทประชาชนจำกัด
  3. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.น้ำนมราชสีห์ และน้ำนมราชสีห์เล็ก. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 14. มิถุนายน 2523
  4. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และปกป้องตับของสารสกัดน้ำนมราชสีห์เล็ก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Jayaveera, K.N.; Yoganandham, R.K.; Govindarajula, Y.; and Kumanan, R. 2010. “Phytochemical screenings, antibacterial activity and physicochemical constants of ethanolic extract of Euphorbia thymofolia Linn.” International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences. 2(3), 81-82.
  6. Ma, J.S. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Euphorbia). In Flora of China Vol. 11: 288, 293, 296.
  7. Gupta, B.; Srivastava, R.S.; and Goyal, R. 2007. “Therapeutic uses of Euphorbia thymifolia: A review”. PharmacognosyReviews. 1(2), 299-304.
  8. Esser, H.-J. (2005). Euphorbiaceae (Euphorbia). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 263-292.