จันทน์เทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จันทน์เทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 37 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จันทน์เทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันทน์บ้าน (ภาคเหนือ), ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, หน่วยสาน, จันทน์ปาน (ทั่วไป), ปาลา (มลายู, มาเลเซีย), โหย่งโต้โต่, เหน็กเต่าโขว่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aruana silvestris Burm.f., Myristica aromatica Sw., Myristica moschata Thunb., Myristica officinalis L.f., Palala fragrans (Houtt.) Kuntze
ชื่อสามัญ Mace, Nutmeg, Nutmeg Tree
วงศ์ MYRISTICACEAE

ถิ่นกำเนิดจันทน์เทศ 

จันทน์เทศมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่เกาะบันดา ในหมู่เกาะโมลุกกะ อันได้ชื่อว่าเป็นหมู่เกาะเครื่องเทศ ในประเทศอินโดนีเซีย และยังถือกันว่าจันทน์เทศเป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะนั้นอีกด้วย ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองหมู่เกาะโมลุกกะจึงได้นำเมล็ดจันทน์เทศ ไปปลูกยัง สิงคโปร์ เกาะวินเซอร์ ทรินิแคด ปีนัง สุมตรา เกาะเกรนาดาในอเมริกาใต้ และในศรีลังกา เป็นต้น แล้วจึงมีการแพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วเขตร้อนของโลก เช่นในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากทางภาคตะวันออก และทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช และชุมพร

ประโยชน์และสรรพคุณจันทน์เทศ

  • แก้ธาตุพิการ
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้ไข้
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • แก้จุกเสียด
  • ช่วยขับลม
  • แก้คลื่นไส้ อาเจียน
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้บิด
  • แก้กำเดาไหล
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้เสมหะเป็นโลหิต
  • แก้ปวดมดลูก
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยบำรุงผิวเนื้อให้เจริญ
  • ช่วยขับประจำเดือน
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • แก้ลมอัมพฤกษ์
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • แก้มุตกิด
  • แก้พิษเลือด
  • ใช้เป็นส่วนประกอบยามะเร็งครุด
  • ใช้เป็นส่วนประกอบยาเจ็บหัว
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยบำบัดโรคมะเร็ง
  • แก้ปวดหัว
  • แก้อาการผิดปกติในทางเดินอาหาร
  • แก้อาการปวดที่ไต
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้อาการกระเพาะอาหาร

           จันทน์เทศมีการนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน ในอดีตมีการนำราก และเมล็ดจันทน์เทศมาทำเป็นเครื่องเทศ โดยเครื่องเทศที่ได้จากจันทน์เทศนี้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เช่น ในอินเดียมักใช้เป็นเครื่องเทศในอาหารโมกุล (Moghul) ชาวอาหรับมักใช้ปรุงอาหารที่ทำจากเนื้อแพะ เนื้อแกะ ชาวดัตช์ใส่ในมันฝรั่งบด สตู และฟรุตสลัด ครัวอิตาลีใส่ในอาหารจากผัก รวมทั้งไส้กรอก เนื้อวัว พาสต้า ชาวอินโดนีเซียนำไปทำแยม เยลลี่ ลูกกวาด ในยุโรปใช้ปรุงรสในเค้กน้ำผึ้ง เค้กผลไม้ ไทยนำไปผสมกับขนมปัง เนย แฮม ไส้กรอก เบคอน เนื้อตุ๋นต่างๆ แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น น้ำพริกสำเร็จรูป หรือ นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยในการถนอมอาหาร ส่วนเนื้อผลของจันทน์เทศ ก็สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ นำผลมาทำแช่อิ่ม หยี่ หรือทำจันทน์เทศสามรส และยังใช้เนื้อผลสดกินเป็นของขบเคี้ยว มีรสออกเผ็ด และฉุน ส่วนน้ำมันลูกจันทน์ (Nutmeg oil or myristica oil) ที่ได้จากการกลั่นลูกจันทน์ด้วยไอน้ำ สามารถนำมาไปใช้แต่งกลิ่นผงซักฟอก ยาชะล้าง สบู่ น้ำหอม ครีม และโลชันบำรุงผิวได้ นอกจากนี้เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือ ใช้ทำเครื่องหอมต่างๆ ได้อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ขับลมใช้จันทน์เทศ (รก) 4 อัน บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม หรือ ใช้เมล็ด (ลูกจันทน์) 1-2 เมล็ด บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม

           แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ใช้ดอกจันทน์ (รก) 3-5 อัน ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม หรือ ใช้ลูกจันทน์ 1-2 เมล็ด ทุบเอาเปลือกออก ย่างไฟพอเหลือง ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม

          แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้ดอกจันทน์ นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน 

          ในตำรับยาจีนใช้ แก้อาการท้องมาน บวมน้ำ แก้ธาตุพิการ โดยให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม, เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม, ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

          ช่วยรักษาม้ามหรือไตพิการ ด้วยการใช้ลูกจันทน์ หรือ ดอกจันทน์ 3-10 กรัม ขิง สด 8 กรัม, พุทราจีน 8 ผล, โป๋วกุ๊กจี 10 กรัม, อู่เว้ยจื่อ 10 กรัม, อู๋จูหวี 10 กรัม โดยนำทั้งหมดมารวมกันแล้วต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน 


ลักษณะทั่วไปของจันทน์เทศ

จันทน์เทศเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหยที่เนื้อไม้

            สำหรับตันจันทน์เทศ จะมีต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย โดยต้นตัวผู้จะให้ดอกเฉพาะตัวผู้ และต้นตัวเมียจะให้ดอกเฉพาะตัวเมียเท่านั้น ใบดอกเป็นใบเดี่ยวโดยออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมัน และเป็นสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบ และเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือ ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมขาว กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลมช่อดอกยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น    

            โดยดอกเพศผู้จะเกิดเป็นกลุ่มๆ ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว และดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ โดยต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นเพศผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรกับต้นตัวเมียเท่านั้น ผลเป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเป็นสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน เหลืองออกส้ม หรือ สีแดงอ่อน ส่วนเนื้อมีสีครีมมีรสเปรี้ยวฝาดเมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก เมล็ดลักษณะกลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อ และเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล ส่วนด้านนอกเมล็ดมีรกสีแดงเป็นริ้วคลุมทั่ว

            สำหรับส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ส่วนเยื่อหุ้มเมล็ด ที่เรียกว่า ดอกจันทน์ (Mace) ลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด ดูเหมือนร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาใหม่ๆจะมีสีแดงสด  เมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีเหลืองอ่อน หรือ สีเนื้อ และเปราะ ผิวเรียบ ขนาดความยาว 3-5 เซนติเมตร ความกว้าง 1-3 เซนติเมตร ความหนา 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขม ฝาด เผ็ดร้อน และเมล็ดของจันทน์เทศที่เรียกกันว่า ลูกจันทน์ (Nut meg) คือ เมล็ดที่เอาเปลือกเมล็ดออก  (โดยเปลือกเมล็ดจะแข็งแต่เปราะ) ภายในคือส่วนของเนื้อในเมล็ด เมื่อผ่าดูจะเห็นเนื้อเป็นรอยย่นตามยาวของเมล็ด เมล็ดเมื่อทำแห้ง จะมีกลิ่นแรง  หอมเฉพาะ  รสขม ฝาด เปรี้ยว เผ็ดร้อน

จันทน์เทศ

การขยายพันธุ์จันทน์เทศ 

จันทน์เทศสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยมีวิธีการ คือ นำเมล็ดจันทน์เทศมาเพาะในถุงเพาะชำแล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ 3-4 เดือน เมล็ดจะงอกเป็นต้นสูงประมาณ 1 ฟุต จึงย้ายลงปลูกในหลุม สำหรับการปลูก และการเตรียมดินก็เหมือนกับการเตรียมดิน และการปลูกไม้ผลทั่วๆ ไป โดยขุดหลุมลึกประมาณ 50x50 ซม. ลึก 30 ซม. ใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักรองพื้นก้นหลุม แต่ถ้าดินเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสูงก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้
           สำหรับการปลูกจะใช้ต้นกล้าอายุประมาณ 1 เดือน ลงปลูกในหลุมปลูก ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 6-7.5x 6-7.5 เมตร การปลูกปกติจะปลูกต้นตัวผู้ และต้นตัวเมียในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 เพราะต้นตัวผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรเท่านั้น โดยมีอัตราการปลูก 25-36 ต้น/ไร่ 

          ในระยะแรกของการปลูก ต้นจันทน์เทศต้องการร่มเงา เพื่อการเจริญเติบโตมาก จึงควรปลูกพืชอื่นแซมให้ร่มเงา หรือ ทำที่บังแดดให้ในระยะแรกด้วย ส่วนการให้น้ำ ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และหมั่นกำจัดวัชพืช บริเวณโคนต้น และไม่ควรกวาดใบไม้แห้ง หรือ ขยะมาสุมบริเวณโคนต้น เพราะอาจทำให้ต้นจันทน์เทศตายได้

          ทั้งนี้ ต้นจันทน์เทศ สามารถขึ้นได้ในสภาพของดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีอินทรีย์วัตถุสูง และต้นจันทน์เทศสามารถเจริญได้ดีในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น รวมถึงต้องการปริมาณน้ำฝนปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 900 เมตร 

จันทน์เทศ

องค์ประกอบทางเคมี

ดอกจันทน์มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่ายราว ร้อยละ 7-14 มีองค์ประกอบทางเคมี คือ alpha-pinene (18-26.5%), beta-pinene (9.7-17.7%), sabinene (15.4-36.3%), myrcene (2.2-3.7%), limonene (2.7-3.6%), myristicin, elemicin, safrole

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของจันทน์เทศ
โครงสร้างจันทร์เทศ

ที่มา : Wikipedia

           ส่วนในเมล็ด มีน้ำมันหอมระเหย : 5-15%  ประกอบด้วย d-camphene 60-80%, myristicin 4-8%, elemicin 2%, alpha และ beta-pinenes 35%, safrole (1-2.1%) น้ำมันระเหยยาก : 20-40% ประกอบด้วย myristic acid 60% สารกลุ่ม lignans และ neolignans อีกตำรายาหนึ่งยังระบุว่าในลูกจันทน์ และดอกจันทน์พบสาร geraniol, boneol, terpineol, palmitic acid และ Stearic acid อีกด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจันทน์เทศ

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดรกจันทน์เทศที่สกัดด้วยเมทานอล, อีเทอร์ และเฮกเซน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ทำการทดลองด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทด้วยคาราจีแนน และการเหนี่ยวนำให้เกิดการซึมผ่านของสารที่หลอดเลือด (vascular permeability) ด้วยกรดอะซีติกในหนูเมาส์ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดรกจันทน์เทศ ได้แก่ สารสกัดเมทานอล (1.5 g/kg), สารสกัดอีเทอร์ (0.9 g/kg), สารสกัดเฮกเซน (0.5g/kg), ส่วนสกัดย่อย Fr-II (0.19 g/kg) และ ส่วนสกัดย่อย Fr-VI (0.17 g/kg) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน indomethacin (10 mg/kg) และเมื่อนำสารสกัดไปแยกด้วยวิธี silica gel column chromatography และ วิธี thin layer chromatography พบสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ  myristicin ดังนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่า สารที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของจันทน์เทศ คือ myristicin 

            ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มฟีนอลิคที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ทำการทดสอบฤทธิ์ต่อการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ ที่ถูกกระตุ้นโดยไลโปโพลีแซคค์คาไรด์ (LPS) ในเซลล์ของแมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ผลการศึกษาพบว่าสาร 1-(2,6-dihydroxyphenyl)-9-(3,4-dihydroxyphenyl)-1-nonanone (malabaricone C) ที่แยกได้จากจันทน์เทศ ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO)โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.3±0.4 µM  นอกจากนี้สารบริสุทธิ์ 3 ชนิด ได้แก่ สารชนิดที่ 1 คือ (+)-erythro-(7S,8R)-∆8'-7-acetoxy-3,4,3',5'-tetramethoxy-8-O-4'-neolignan สารชนิดที่ 2 คือ erythro-(7S,8R)-7-(4-hydroxy-3-methoxypheny1)-8-[2'-methoxy-4'-(E)-propenyl) phenoxy] propan-7-ol และสารชนิดที่ 3คือ ((8R,8'S)-7-(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-8'-methylbutan-8-yl)-3'-methoxybenzene-4',5'-diol ออกฤทธิ์ในระดับปานกลาง ในการยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 24.5±2.5, 25.0±3.1 และ 32.5±2.2 µM  ตามลำดับ (สารมาตรฐาน celastrol มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.1 µM ) จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ 

           การทดสอบสารในกลุ่ม neolignans ชนิด dihydrobenzofuran จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ licarin B, 3҆-methoxylicarin B, myrisfrageal A, isodihydrocainatidin, dehydrodiisoeugenol และ myrisfrageal B ซึ่งแยกได้จากเมล็ดแห้งสุกของจันทน์เทศ ผลการทดสอบพบว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 6 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 53.6, 48.7, 76.0, 36.0, 33.6 และ 45.0 ไมโครโมล ตามลำดับ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin และ L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 65.3 และ 27.1 ไมโครโมล ตามลำดับ นอกจากนี้สาร 3, 5 และ 6 สามารถยั้บยั้งการทำงานของ nitric oxide synthase (iNOS) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ได้ ซึ่งจะยับยั้งการสร้าง nitric oxide ในปริมาณที่มากเกินไป ด้วยวิธีการยับยั้งการแสดงออกของ  iNOS mRNA จากการศึกษา จึงสรุปได้ว่า สารประกอบ (1)-(6) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

           สาร neolignans ชนิด 8-O-4҆  จำนวน 5 ชนิด คือ myrifralignan A–E (1–5) และอนุพันธ์อีก 5 ชนิด (6-10) แยกได้จากเมล็ดของจันทน์เทศ โดยสาร 3-10 แสดงฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นโดย lipopolysaccaride โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 47.2 ± 1.1, 49.0 ± 1.0, 32.8 ± 2.7, 48.3 ± 1.4, 21.2 ± 0.8, 48.0 ± 1.2, 49.8 ± 1.9 และ 18.5 ± 0.5 µM ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน  L-N6-(1-iminoethyl)-lysine เท่ากับ 27.1 ± 2.2 µM และ indomethacin เท่ากับ 65.3 ± 6.7 µM สาร myrislignan และ machilin D มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง  nitric oxide (NO) สูงที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 21.2 และ 18.5 µM ตามลำดับ ซึ่งสารทั้งสองมีฤทธิ์ยับยั้งที่สูงกว่าสารมาตรฐาน L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งเป็น selective inhibitor ของ nitric oxide synthase (IC50 = 27.1 ไมโครโมล) นอกจากนี้ สาร neolignans ยังสามารถยับยั้งการแสดงออกของ  nitric oxide synthase ใน mRNA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นสาร neolignans ชนิด 8-O-4҆  มีแนวโน้มเป็นสารยับยั้งการอักเสบได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ Helicobacter pylori จำนวน 39 สายพันธุ์ โดยใช้สารสกัดเมล็ดจันทน์เทศด้วยตัวทำละลาย dichloromethane และ methanol ในขนาด 500 mg/kg และ 250 mg/kg ทำการทดสอบในหนูแรท ที่เหนี่ยวนำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบด้วยเชื้อ H. pylori ผลการทดลองพบว่าค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดของ สารสกัดเมทานอล ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ (minimum inhibitory concentration (MIC) เท่ากับ 6.25 mg/ml การให้สารสกัดเมทานอล ขนาด 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ofloxacin 400 mg แล้วบันทึกค่าคะแนนความหนาแน่นของแบคทีเรีย H. pylori ที่ผนังกระเพาะอาหาร พบว่าจากปริมาณเชื้อเริ่มต้น 5.0±7.07 x 108 เมื่อให้สารสกัดจันทน์เทศ และยา ofloxacin ปริมาณเชื้อลดลงเหลือ 1.6±1.4 x 104 และ  3.45±1.4 x 104 CFU/mL (mean ± SD, p < 0.05) ตามลำดับ

           ฤทธิ์ระงับปวด ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัด alkaloid จากเนื้อในเมล็ดจันทน์เทศในหนูถีบจักรเพศผู้ และเพศเมีย โดยวิธีwrithing test โดยการฉีด 0.6% acetic acid เข้าไปในช่องท้องของหนูเพื่อกระตุ้นการปวด และสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู จากการศึกษาพบว่า สารสกัด alkaloids ในเมล็ดจันทน์เทศ ขนาด 1 g/kg มีฤทธิ์ระงับปวด ได้อย่างมีนัยสำคัญในหนูเพศเมีย แต่ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูเพศผู้ ขณะที่สารสกัด alkaloid ในเมล็ดจันทน์เทศขนาด0.5 g/kg ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูทั้งสองเพศ ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง หรือ LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg จากการสังเกตพฤติกรรมพบว่าเมื่อให้สารสกัดขนาด 4 g/kg หรือ สูงกว่า จะทำให้หนูมีกิจกรรมลดลง การเดินไม่มั่นคง เกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังได้รับสารสกัด โดยสรุปสารสกัดอัลคาลอยด์จากเมล็ดในจันทน์เทศมีฤทธิ์ลดปวดได้ โดยมีความเป็นพิษเล็กน้อย 

         การศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดอักเสบเรื้อรังของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ทดสอบในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้ Complete Freund’s adjuvant (CFA) ซึ่งเป็นเชื้อที่แห้ง และตายด้วยความร้อน ใช้เป็นสารเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่ข้อในหนูขาว โดยให้ CFA ภายหลังจากที่หนูแต่ละกลุ่มได้รับน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ในขนาดต่ำ 10 mg/kg ต่อวัน หรือ ขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 30 mg/kg ต่อวัน ทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบโดยดูจากการบวมที่อุ้งเท้าหนู และประเมินฤทธิ์ลดอาการปวดจากพฤติกรรมการเดินของหนูในระยะทางที่กำหนด (pain score test) บันทึกผลทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าในสัปดาห์ที่ 3 หลังให้น้ำมันลูกจันทน์เทศ ในขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน มีผลลดการบวม และการปวดได้มากกว่ายามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันลูกจันทน์เทศ และยามาตรฐาน diclofenac sodium ลดการบวมได้เท่ากับ 41.90 และ 35.52% ตามลำดับ (p<0.05) โดยมีคะแนนการปวด (pain score) เท่ากับ 1.46±0.19 และ 1.625±0.25 ตามลำดับ (p<0.05) และทำให้การแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงในสัปดาห์ที่ 2 และสามารถลด substance P (สารที่สร้างเมื่อมีการอักเสบ) ในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาน้ำมันลูกจันทน์เทศให้เป็นยาระงับอาการปวดเรื้อรังได้

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากรกจันทน์เทศ ด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธี beta-carotene/linoleic acid bleaching assay และวิธี reducing power ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ เป็นการศึกษา โดยใช้วิธี ex vivo rat aortic assay ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley จากผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากรกจันทน์เทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของ linoleic acid จึงยับยั้งการที่ beta-carotene จะถูกออกซิไดส์ได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 88.68±0.1% ใกล้เคียงกับสารมาตรฐาน BHT (93.2 ±0.1%) วิธี reducing power พบว่าน้ำมันหอมระเหยมีสมบัติการรีดิวส์ที่แรง แสดงถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 181.4 μg/mL แต่ออกฤทธิ์ต่ำกว่าสารมาตรฐานวิตามินซี (EC50 เท่ากับ 36.1 μg/mL) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ พบว่าน้ำมันหอมระเหย สามารถยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 77.64 μg/mL (สารมาตรฐาน suramine มีค่า IC50 เท่ากับ 16.6 μg/mL)  ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากรกจันทน์เทศ จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคสัมพันธ์กับการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่น การเจริญของเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน การทดสอบสาร lignans ที่อยู่ในส่วนสกัดน้ำของรกจันทน์เทศสด ทดสอบในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ และสามารถปกป้อง DNA จากการถูกทำลายด้วยรังสี โดยสามารถลดการแตกหักของ DNA ได้ สามารถยับยั้งการตอบสนองของ gene ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการ transcription ของ IL-2 และ IL-4 ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นในระบบภูมิคุ้มกัน สาร lignans สามารถปกป้องเซลล์ม้ามจากรังสีที่เหนี่ยวนำให้เกิดการผลิตอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฎิกิริยา(ROS) มาทำลายเซลล์ได้ จากการศึกษาสรุปได้ว่าสาร lignans ในจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และมีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน

           ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มนีโอลิกแนน erythro-(7S,8R)-7-acetoxy-3,4,3`,5`-tetramethoxy-8-O-4`-neolignan (EATN) ที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศต่อเกล็ดเลือดของคน ผลการทดสอบพบว่า สาร EATN มีฤทธิ์ในการยับยั้ง thrombin (thrombin ทำหน้าที่เปลี่ยน fibrinogen ไปเป็น fibrin ซึ่งจะมีบทบาทในการสร้างลิ่มเลือดในขั้นตอนการแข็งตัวของเลือด) และ platelet activating factor (PAF) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.2±0.4 และ 3.4±0.3 µM ตามลำดับ นอกจากนั้นยังยับยั้งการหลั่ง ATP, serotonin และ thromboxane B2 ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย thrombin โดยผ่านกลไกการเพิ่มระดับ cyclic AMP (cAMP) ส่งผลต่อการยับยั้ง Ca2+ ที่จะเคลื่อนที่เข้าไปภายในเซลล์ และลดการกระตุ้นการรวมตัวของเกล็ดเลือดตามมา โดยสรุปสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศสามารถนำไปศึกษาเชิงลึกถึงกลไกการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเพื่อนำไปพัฒนายาที่ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ต่อไป

           ฤทธิ์ระงับความกังวล สารสกัดเฮกเซน (MF), สารสกัดส่วนที่ไม่ละลายในอะซิโตนที่แยกจากสารสกัดเฮกเซน (AIMF) และสารบริสุทธิ์ trimyristin (TM) ที่ได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ถูกนำมาทดสอบฤทธิ์คลายความกังวล โดยใช้ MF ในขนาด 10 และ 30 mg/kg, AIMF ในขนาด 30, 100 และ 300 mg/kg และ TM ในขนาด 10, 30 และ 100 mg/kg ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรเพศผู้ เพื่อดูฤทธิ์คลายกังวล โดยใช้วิธี elevated plus-maze (EPM), open-field test และ hole-board test จากการทดสอบ EPM test ซึ่งเป็นการทดสอบความกลัว และวิตกกังวลของหนู เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายในอุปกรณ์ที่จัดทำขึ้น ภายหลังการได้รับสารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นประเมินระยะเวลาที่หนูเข้าไปในopen arm หรือ ใช้เวลาใน open arm ภายในเวลา 5 นาที ผลการทดสอบพบว่า MF, AIMF และ TM มีฤทธิ์ระงับความกังวล ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน diazepam (ฉีดเข้าช่องท้องหนู ในขนาด 1 mg/kg) โดย TM ออกฤทธิ์สูงสุด ส่วนการทดลอง open-field test และ hole board apparatus ที่เหนี่ยวนำให้หนูมีความวิตกกังวล ด้วยวิธีนำหนูใส่กล่องไม้ในพื้นที่จำกัด และมีแสงขนาด 40 วัตต์ วิธีนำหนูใส่ในกล่องไม้เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ซม. จำนวน 16 รู บันทึกเวลาที่หนูใช้ในการออกจากกล่อง จำนวนครั้งที่หนูโผล่ศีรษะออกมา และพฤติกรรมต่างๆ โดยให้สารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นจึงนำหนูใส่ในกล่องทดสอบ พบว่า AIMF และ TM สามารถลดความวิตกกังวลของหนูได้

             ฤทธ์ต้านชัก การศึกษาฤทธิ์ของน้ำมันจันทน์เทศในการต้านการชักที่เหนี่ยวนำโดยสารเคมี และไฟฟ้าในหนูเมาส์ โดยแบบการทดลอง (model) ที่ใช้เหนี่ยวนำให้หนูชัก คือ การฉีด pentylenetetrazole (PTZ) ขนาด 100 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนัง การเหนี่ยวนำด้วยกระแสไฟฟ้า (maximal electroshock seizure) ขนาด 50 มิลลิแอมแปร์ ความถี่ 60 เฮิร์ท เป็นเวลา 0.2 วินาที หรือ การฉีด strychnine ขนาด 1.2 มก./กก. และ bicuculline ขนาด 2.7 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังของหนู พบว่าแบบการทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย PTZ, strychnine และ bicuculline การฉีดน้ำมันจันทน์เทศ ขนาด 100, 200 และ 300 มคล./กก. เข้าทางช่องท้อง 5 นาที ก่อนการเหนี่ยวนำให้หนูชัก มีผลต้านการชักได้ และในแบบการทดลองที่เหนี่ยวนำด้วยกระแสไฟฟ้า น้ำมันจันทน์เทศ ขนาด 50, 100 และ 200 มคล./กก. มีผลต้านการชักได้เช่นเดียวกัน โดยขนาด 200 มคล./กก. จะให้ผลดีที่สุด สำหรับการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าน้ำมันจันทน์เทศที่ขนาดสูงถึง 600 มคล./กก. ไม่เป็นพิษต่อระบบประสาทของหนู ขนาดของสารที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) และขนาดของสารที่ทำให้หนูจำนวนครึ่งหนึ่งหลับ (HD50) เท่ากับ 2,150 และ 1,265 มคล./กก. ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของจันทน์เทศ

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 12,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

             การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ จากลูกจันทน์เทศ (สกัดใน 70% ethanol : distilled water ) ในขนาด 2, 3, 4, 5 และ 6 g/kg ทางปาก พบว่า มีค่า LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg หนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 4 g/kg ขึ้นไป จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป 72 ชั่วโมง โดยจะมีอาการเคลื่อนไหวได้ช้า เดินเซ ปวดศีรษะ ส่วนหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 3 g/kg ลงไป ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติแต่อย่างใด

             การศึกษาการเกิดพิษของ myristicin ที่พบในผลจันทน์เทศพบว่ามีรายงานการเกิดอาการประสาทหลอนอาการผิดปกติทางระบบประสาท ขนาดที่ทำให้เกิดพิษ คือ ผงจันทน์เทศ 5 กรัม เทียบเท่ากับสาร myristicin1-2 กรัม อาการจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับขนาดยาดังกล่าวภายใน 3-6 ชั่วโมง อาการคงอยู่ถึง 72 ชั่วโมง และหากได้รับในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่าการเกิดพิษดังกล่าวเกิดจากสารที่ได้จากระบวนการเมตาบอลิซึม คือ 3-methoxy-4,5- methylendioxyamphetamine (MMDA) 

             การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ประสามหลอน การบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ สาร safrole มีผลก่อมะเร็งตับในหนู น้ำมันหอมระเหยทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย แต่ไม่ระคายเคืองในคนสาร  myristicin ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่จะมีผลต่อระะบบประสาท

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การรับประทานดอกจันทน์ปริมาณมาก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แขนขาไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจตายได้
  2. เครื่องยาดอกจันทน์มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
  3. การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก และอาจถึงตายได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
  4. น้ำมันจันทน์เทศ จากลูกจันทน์ มีสาร safrole เป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับได้ จึงควรระวังในการใช้ไม่ให้มีสาร safrole เกิน 1% เพราะทำให้เกิดพิษได้
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจาก myristicin สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S-transferase ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกฃ
  6. เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้จันทน์เทศ ในการนำมาเป็นยาสมุนไพร

เอกสารอ้างอิง จันทน์เทศ
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “จันทน์เทศ Nutmeg tree”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 148.
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์. จันทน์เทศเป็นทั้งยาเป็นทั้งเครื่องเทศมีปลูกทางภาคใต้ของไทย.ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 210 ธันวาคม 2554 หน้า 12
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จันทน์เทศ (Chan Tet)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 90.
  4. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “จันทน์เทศ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 180
  6. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  7. ฤทธิ์ต้านชักของน้ำมันจันทน์เทศ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ลูกจันทน์. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=121
  9. ดอกจันทน์. ฐานข้อมูลเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=55
  10. Cao G-Y, Xu W, Yang X-W, Gonzalez FJ, Li F. New neolignans from the seeds of Myristica fragrans that inhibit nitric oxide production. Food Chemistry. 2015;173:231–237.
  11. Ozaki Y, Soedigdo S, Wattimena YR, Suganda AG. Antiinflammatory Effect of Mace, Aril of Myristica fragrans HOUTT., and Its Active Principles. Japan J Pharmacol.1989:49;155-163.
  12. Rahman NAA, Fazilah A, Effarizah ME.Toxicity of Nutmeg (Myristicin): A Review. International on advanced science engineering information technology.2015;5(3):61-64.
  13. Sonavane GS, Sarveiya VP, Kasture VS, Kasture SB. Anxiogenic activity of Myristica fragrans seeds. Pharmacology Biochemistry and Behavior. 2002;71:239–244.
  14. Checker R, Chatterjee S, Sharma D, Gupta S, Variyar P, Sharma A, et al. Immunomodulatory and radioprotective effects of lignans derived from fresh nutmeg mace (Myristica fragrans) in mammalian splenocytes. International Immunopharmacology. 2008;8(5):661-669.
  15. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์เทศ ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [24 ก.พ. 2014].
  16. นิดดา หงส์วิวัฒน์. น้ำจันทน์เทศ. ครัว. ปีที่ 20 ฉบับ 240 หน้า 12
  17. Piaru SP, Mahmud R, Majid AMSA, Nassar ZDM. Antioxidant and antiangiogenic activities of the essential oils of Myristica fragrans and Morinda citrifolia. Asian Pac J Trop Med. 2012;5(4):294-298.
  18. Zhang WK, Tao S-S, Li T-T, Li Y-S, Li X-J, Tang H-B, et al. Nutmeg oil alleviates chronic inflammatory pain through inhibition of COX-2 expression and substance P release in vivo. Food & nutrition research. 2016;60:1-10.
  19. Cao G-Y, Yang X-W, Xu W, Li F. New inhibitors of nitric oxide production from the seeds of Myristica fragrans. Food and Chemical Toxicology. 2013;62:167–171.
  20. Oyedemi TO, Lawal TO, Adeniyi BA.Effect of Myristica fragrans Houtt. seed (Nutmeg) on Helicobacter pylori  induced gastritis in albino rats: in vitro and in vivo studies. Int J Biol Chem Sci. 2014; 8(4):1355-1367.