พิกุล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พิกุล งานวิจัยและสรรพคุณ 45 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร พิกุล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), พิกุลทอง (ภาคกลาง), ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา, พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), ต้นหยง (ชวา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Imbricaria perroudii Montrouz., Kaukenia elengi (L.) Kuntze, K. javensis (Burck) Kuntze, K. timorensis (Burck) Kuntze, Magnolia xerophila P.Parm., Manilkara parvifolia (R.Br.) Dubard, Mimusops javensis Burck, M. latericia Elmer, M. lucida Poir., M. parvifolia R.Br., M. timorensisBurck
ชื่อสามัญ Bullet Wood, Headland Flower, Asian bulletwood, Spanish cherry
วงศ์ SAPOTACEAE

ถิ่นกำเนิดพิกุล

พิกุลเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีป เอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเชีย อินโดนีเซีย  รวมถึงในหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ปัจจุบันมีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย หมู่เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย รวมไปถึงเขตร้อนทั่วๆ ไป  สำหรับในประเทศไทยพบพิกุล ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้พิกุลยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดลพบุรีอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณพิกุล

  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ใช้เป็นยานัตถุ์
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้
  • แก้ปวดหัว
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้ไข้จับ
  • แก้ไข้หมดสติ
  • แก้ไข้เพ้อคลั่ง
  • แก้อ่อนเพลีย
  • แก้หอบ หืด
  • ช่วยทำให้ชุ่มชื่นใจ
  • แก้ลม
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลงท้อง
  • แก้ฝีเปื่อยพัง
  • แก้บวม
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้ตกโลหิต
  • แก้ปวดตามร่างกาย
  • แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • แก้ท้องเสีย รักษาท้องผูก
  • ใช้เป็นยาแก้เหงือกอักเสบ อมกลั้วคอ ล้างปาก
  • แก้เหงือกบวม
  • แก้กามโรค
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ลม
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงปอด
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา)
  • แก้ลมกองละเอียด
  • แก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น
  • บำรุงธาตุ
  • แก้ลมปั่นป่วน
  • แก้พรรดึก(อุจจาระที่แข็งมาก)
  • แก้ลมจุกแน่นในอก
  • แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
  • ช่วยบรรเทาอาการ ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้พิษหัด
  • แก้พิษสุกใส
  • ช่วยฆ่าเชื้อกามโรค (ใบ)
  • ช่วยรักษาโรคฟัน (เปลือก)
  • ช่วยรักษาโรคเกลื้อน (แก่น)

          พิกุลเป็นพรรณไม้ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีการใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้ คนไทยโบราณ เชื่อกันว่าการปลูกต้นพิกุล ไว้ในบ้านจะทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทาน และมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ผล พิกุลสามารถใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือ ผลไม้ของคนและสัตว์  ดอก มีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอางน้ำจากดอกใช้กลั้วปากและคอได้ เปลือก ต้นพิกุล ใช้สกัดทำสีย้อมผ้า นิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา และใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ หรือ ริมถนน ส่วนใช้ในการก่อสร้าง และในต้นที่มีอายุมากบางต้นพบว่าเนื้อไม้มีกลิ่นหอม เรียกว่า "ขอนดอก" เชื่อกันว่าเกิดจากเชื้อราบางตัว ขอนดอกก็นำมาเป็นส่วนประกอบของยาหอมได้เช่นเดียวกับดอกพิกุล ตำรายาไทยยังมีการนำดอกพิกุลมาเข้าเครื่องยาไทยใน “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง) “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (มีดอกจำปาและดอกกระดังงาเพิ่มเข้ามา) และ “พิกัดเกสรทั้งเก้า”

พิกุล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้พิกุล

พิกุล ผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอ และปาก ดอกแห้งใช้ชงแบบชา หรือ ใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ปวดหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด หรือ นำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ รากนำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ช่วยบำรุงโลหิต ขับเสมหะ แก้ลม ขับลม เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวาร หรือ ทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก

ดอกพิกุล

ลักษณะทั่วไปพิกุล

พิกุล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่สูงถึง 10-25 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมรูปเจดีย์ หรือ กลมทึบ ใบดกออกหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว กิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันห่างๆ ใบรูปไข่ รูปรี หรือ รูปขอบขนาน ใบกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 4-6 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม เป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน หูใบรูปเรียวแคบ ยาว 3-5 มม. ร่วงง่าย ดอกออกเดี่ยวๆ หรือ เป็นกระจุก 2-6 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล รูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 7-8 มม. ติดทน กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอก 8 กลีบ โคนเชื่อมกัน

           เล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งส่วนที่ยื่นออกมาแต่ละชิ้นนี้จะมีลักษณะ ขนาดและสีคล้ายคลึงกันกับกลีบดอกมาก ทำให้ดูคล้ายกลีบดอกมีทั้งสิ้น 24 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นนอกมี 8 กลีบ ชั้นในมี 16 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมเย็น กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว ดอกร่วงง่าย เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี 8 อัน อับเรณูรูปใบหอก ยาวกว่าก้านชูอับเรณู และเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 8 อัน มีขน รังไข่มี 8 ช่อง ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ รูปไข่ ปลายแหลมสีเขียว กว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลอ่อนสีเขียว มีขนสั้นนุ่ม ผลสุกสีเหลืองถึงสีส้ม มีรสหวานเล็กน้อย รับประทานได้ มีเมล็ดเดียว เมล็ดมีลักษณะแบนรี เปลือกแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นมัน


การขยายพันธุ์พิกุล

พิกุลสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการตอน และวิธีการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด  สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ทั้งนี้พิกุล สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด และสามารถทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี แต่จะชอบดินร่วนซุย มีความชื้นน้อยถึงปานกลาง  และต้องการปริมาณน้ำน้อย ซึ่งหลังปลูกประมาณ 1 เดือน ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง  และยังเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัด หรือ เป็นพืชที่การปลูกไว้กลางแจ้ง    


องค์ประกอบทางเคมี                       

เปลือกต้น พบสารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Taraxerone, taraxerol, betulinic acid, ursolic acid, mimusopfarnanol, beta amyrin, lupeol น้ำมันระเหยง่าย ได้แก่ thymol, cadinol, taumuurolol, hexadecanoic acid, diisobutyl phthalate, octadecadienoic acid สารกลุ่มกรดแกลลิค ได้แก่ phenyl propylgallate ผลและเมล็ด พบ quercitol, ursolic acid, dihydro quercetin, quercetin, สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ mimusops acid, mimusopsic acid, mimusopane เมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่ Mi-saponin A, 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, mimusopside A and B และสารอื่นๆ ได้แก่ taxifolin, alpha-spinasterol glucoside

รูปภาพประกอบทางเคมีของพิกุล
โครงสร้างพิกุล 
  

           นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหย ยังประกอบด้วย 2-phenylethanol 37.80% , methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94% , 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)- cinnamyl alcohol 13.72%, 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%

 โครงสร้างพิกุล  

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพิกุล

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระศึกษาในหลอดทดลอง ศึกษาผลการยับยั้งอนุมูลอิสระ 2 ชนิด ด้วยวิธีทางเคมี คืออนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระทั้ง 2 ชนิดได้ โดยมีค่าการยับยั้ง IC50 เท่ากับ 10.25 และ 13.5 μg/ml ตามลำดับ 

           ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก และการเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis ของเซลล์ โดยใช้สารสกัดเมทานอลจากเปลือกและใบของ พิกุล ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด HPV16 positive human cervical cancer cell line (SiHa) ที่แยกได้จากมนุษย์ ใช้การทดสอบด้วยวิธี MTT (3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2; 5-diphenyltetrazolium bromide) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากเปลือกและใบ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 35.08 ± 2.92 และ 67.46 ± 4.21 μg/ml ตามลำดับ และสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย จาก 0.24% เพิ่มเป็น 60% และ 69% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรท สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวม พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 200 และ 300 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดคาราจีแนนที่บริเวณอุ้งเท้าหนู พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ 33.03% (p<0.01) และ 32.2 % (p<0.01) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ในขนาด 10 mg/kg ลดการอักเสบได้ 33.2% ที่เวลา 12 ชั่วโมง หลังฉีดคาราจีแนน 

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดดอกพิกุลด้วยตัวทำละลาย petroleum ether, chloroform, ethyl acetate และ methanol ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรีย 9 ชนิด คือ ชนิด Gram-positive bacteria ได้แก่ Bacillus cereus (MTCC-1305), Staphylococcus aureus (MTCC-96) และ Enterobacter faecalis (MTCC-5112) ชนิด Gram-negative bacteria ได้แก่Salmonella paratyphi (MTCC-735), Escherichia coli (MTCC-729), Klebsiella pneumoniae(MTCC-109), Pseudomonas aeruginosa (MTCC-647), Proteus vulgaris (MTCC-426) และSerratia marcescens (MTCC-86) ทดสอบด้วยวิธี agar well diffusion ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด methanol ในขนาด 500 μg/well ออกฤทธิ์สูงสุดต่อเชื้อทุกชนิด โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งต่อเชื้อ 9 ชนิด เท่ากับ 28, 30, 30, 26, 26, 25, 30, 28 และ 25 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Gentamicin ในขนาด 10 μg/well มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งเชื้อต่อเชื้อ 9 ชนิด เท่ากับ 32, 28, 32, 30, 36, 32, 24, 30 และ 32 มิลลิเมตร ตามลำดับ 

           ฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ การศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ การทดสอบฤทธิ์แก้ปวดใช้วิธี tail immersion model โดยนำหางหนูจุ่มลงในน้ำรัอน บันทึกระยะเวลาที่หนูกระดกหางหนี การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ใช้วิธีการเหนี่ยวนำให้หนูเป็นไข้ด้วย Brewer’s yeast และทดสอบฤทธิ์สารสกัดในการลดอุณหภูมิที่บริเวณทวารหนักของหนูที่เวลาต่างๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดใบพิกุลด้วยเมทานอล มีฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ขนาดยา 200 mg/kg


การศึกษาทางพิษวิทยาของพิกุล

การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกพิกุล ด้วย ethylacetate, ethanol, methanol และน้ำ ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ แบ่งหนูออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มควบคุมได้รับ normal saline (2ml/kg) กลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ ได้รับสารสกัดพิกุล เพียงครั้งเดียวขนาด 50, 100, 200, 400, 800, 1000, 2000 และ 4000 mg/kg ตามลำดับ ติดตามผลการทดลองตั้งแต่ชั่วโมงที่หนึ่งถึงสี่ และติดตามต่อจนครบ 14 วัน พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ หนูทดลองมีพฤติกรรมปกติ น้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบการตายของหนู และยังมีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพิกุลอีกฉบับหนึ่งระบุว่าการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 3,650 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของพิกุล ระบุว่า พิกุล มีความเป็นพิษต่ำและค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ แต่มนการใช้พิกุลในการนำมาใช้บำบัดรักษาโรค หรือ นำมาเป็นส่วนผสมในตำรับยาต่างๆ ก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกับกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินที่กำหนดได้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้พิกุลในการช่วยบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

เอกสารอ้างอิง พิกุล
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า (786)
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). "พิกุล (Pi Kul)". หน้าที่ 195.
  3. พิกุล. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=251
  4. พิกุล.กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_8.htm.
  5. พิกุล. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=92
  6. Ganesh G, Abhishek T, Saurabh M, Sarada NC. Cytotoxic and apoptosis induction potential of Mimusops elengi L. in human cervical cancer (SiHa) cell line. Journal of King Saud University – Science. 2014; 26:333–337.
  7. Sehgal S, GuptaV, Gupta R , Saraf SA. Analgesic and antipyretic activity ofMimusops elengi L. (bakul) leaves. Pharmacology online. 2011;3:1-6.
  8. Reddy LJ, Jose B. Evaluation of antibacterial activity of Mimusops elengi L. flowers and Trichosanthes cucumerina L. fruits from south india. Int J Pharm Sci. 2013;5(3):362-364.
  9. Gadamsetty G, Maru S, Sarada NC. Antioxidant and anti-inflammatory activities of the methanolic leaf extract of traditionally used medicinal plant Mimusops elengi L. J. Pharm. Sci. & Res. 2013;5(6):125–130.
  10. Katedeshmukh RG, Shete RV, Otari KV, Bagade MY, Pattewar A. Acute toxicity and diuretic activity of Mimusops elengi extracts. International Journal of Pharma and Bio Sciences. 2010;1(3):1-6.