ม้ากระทืบโรง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ม้ากระทืบโรง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ม้ากระทืบโรง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เดื่อเครือ, บ่าบ่วย (ภาคเหนือ), ม้ากระทืบโรง (ภาคอีสาน), มาดพรายโรง (โคราช), หน่วยเลือด (ชัยภูมิ), พญานอนหลับ (นครสวรรค์), ม้าคอกแตก, คอกม้าแตก, มันฤาษี (ระนอง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus foveolata Wall.
วงศ์ Moraceae

ถิ่นกำเนิดม้ากระทืบโรง 

ม้ากระทืบโรง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณป่าดงดิบ ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้งในบริเวณ เขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่น ในประเทศ อินเดีย, บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา เป็นต้น  สำหรับในประเทศไทย ถือว่าเป็นไม้ประจำถิ่นของภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะมีการพบมาใน 2 ภาคดังกล่าว ทั้งนี้พืชในสกุล Ficus นี้มีมากถึง 800 สายพันธุ์เลยทีเดียว แต่สายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ คือ สายพันธุ์ม้ากระทืบโรง (Ficus foveolata Woll) เท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณม้ากระทืบโรง 

  • บำรุงกำลัง
  • บำรุงร่างกาย
  • บำรุงกำหนัด
  • บำรุงตามกำหนัด
  • บำรุงโลหิต
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้ปวดศีรษะ
  • บำรุงธาตุ
  • แก้ประดงเลือด
  • แก้เม็ดตุ่มตามผิวกาย
  • แก้ประดงลม
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้เลือดเสีย
  • แก้เลือดค้าง
  • แก้ซูบซีด
  • เป็นยาอายุวัฒนะ

ม้ากระทืบโรง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ประดงเลือด ประดงลม แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำหนัด แก้เลือดเสีย แก้ซูบซีด โดยใช้เถาม้ากระทืบโรง แห้งต้มกับน้ำใช้ดื่ม หรือ จะใช้ดองกับสุราแล้วดื่มก็ได้ หรือ อาจจะนำไปเข้ากับเครื่องบาอื่นๆ เช่น เปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ลำต้นฮ่อสะพายควาย ตานเหลือง มะตันขอ จะค้าน ข้าว แก่นฝาง หลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก และโด่ไม่รู้ล้ม แล้วนำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายก็ได้ หรือ จะใช้ดอกแห้งกับเครื่องยาอื่นๆ เช่น ม้ากระทืบโรง กระชาย กำลังวัวเถลิง เถาเอ็นอ่อนก็ได้เช่นกัน


ลักษณะทั่วไปของม้ากระทืบโรง

ม้ากระทืบโรง จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เป็นไม้เถาที่มีขนาดใหญ่มักจะเลื้อยเกาะไปตามพรรณไม้อื่น เนื้อไม้และน้ำยางมีสีขาว สูงได้ถึง 25 เมตร มีกิ่งอ่อน เปลือกเถามีสีน้ำตาล และสาก มีปุ่มขึ้นคล้ายๆ หนาม ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหอก หรือ รูปไข่ หรือ เป็นรูปขอบขนานแกมวงรี ก้านใบและผิวใบด้านล่าง รวมไปถึงฐานรองดอกอ่อนจะมีขนสั้นๆ ใบกว้างประมาณ 7-9 เซติเมตร และยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายผลออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ที่ฐานรองดอกเป็นรูปทรงกลม ผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนสีเขียวล้วนผลแก่เป็นผลแห้งเมล็ดล่อน ภายในสีแดง

การขยายพันธุ์ม้ากระทืบโรง

ม้ากระทืบโรงเป็นพืชสมุนไพรมีการขยายพันธุ์โดยเมล็ดในธรรมชาติมากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากการนำมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อยจึงทำให้ยังไม่มีการนำมาขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ ในการนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นการเข้าไปตัดมาใช้จากในแหล่งธรรมชาติมากกว่า สำหรับการขยายพันธุ์ม้ากระทืบโรคที่สามารถทำได้ง่าย และมีการเจริญเติบโตเร็ว คือ การปักชำ โดยการตัดเอาเถาม้ากระทืบโรง ยาวประมาณ 1 คืบมาปักชำ ในวัสดุที่มีขี้เถ้าแกลบ และขุยมะพร้าวผสมกันในอัตรา 1:1 แล้วรดน้ำให้ชุ่ม นำไปวางในที่ร่มรำไรจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ รากจะเริ่มงอก และจะเริ่มผลิใบใหม่ เมื่อมีใบจริงขึ้น 2-3 ใบ หรือ ระบบรากแข็งแรงแล้วจึงทำการย้ายลงปลูกต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

ลำต้นพบสารกลุ่ม eudesmane sesquiterpene ได้แก่ foveolide A, foveoeudesmenone, 4-eudesmene-1β,6α-diol, 4-eudesmene-1β,5α-diol สารกลุ่ม sesquiterpenoid dimer คือ foveolide B, สารกลุ่ม phenolic ได้แก่ foveospirolide, ethyl rosmarinate สารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ friedelin, taraxerol, betulin นอกจากนี้ยับพบสาร Herniarin อีกด้วย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของม้ากระทืบโรง

โครงสร้างม้ากระทืบโรง 
 

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของม้ากระทืบโรง

สาร foveolide A จากลำต้นแสดงความเป็นพิษระดับปานกลางต่อเซลล์มะเร็งลำไส้, เซลล์มะเร็งตับ, เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และมีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ คือ 200 ไมโครโมลาร์ ส่วนสาร foveolideB จากลำต้นแสดงความเป็นพิษระดับปานกลางต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ และสารสกัดเมทานอลจากม้ากระทืบโรง ซึ่งประกอบด้วย stilbenes และ gnetol สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์บิวทิวริวโคลีนเอสเทอเรส ซ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของม้ากระทืบโรงอื่นๆ อีกเช่น ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ต้านแบคทีเรีย ต้านเนื้องอก เป็นพืษต่อเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง


การศึกษาทางพิษวิทยาของม้ากระทืบโรง  

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ม้ากระทืบโรง มาทำการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเพราะในการนำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นการนำมาใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบต่อกันมายังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยารองรับ ดังนั้นการใช้ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินที่กำหนดในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ม้ากระทืบโรงในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง ม้ากระทืบโรง
  1.  ภญ.กฤติยา ไชยนอก.สมุนไพรไทยกับภารเสื่อมสมรรถภาพ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. พรชนก ชโลปกรณ์, พงศธร กล่อมสกุล. ฤทธิ์ยับยั้งแอลฟาอะไมเลสและอัลฟากลูโคซิเดสของสารสกัด ฝาก ม้ากระทืบโรง และปลาไหลเผือก.บทความวิจัย.วารสารวิจัยราชภัฎพระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 12.ฉบับที่ 1.มกราคม-มิถุนายน 2560.หน้า 63-73
  3. ศรัญญา จุฬารี,กชกร เพียซ้าย, วาริธร ประวัติวงศ์, นฤมล สิงห์แดง, รายงานผลการศึกษาสมุนไพร และการนำไปใช้:กรณีศึกษาพื้นที่รอบเขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.พ.ศ.2557
  4. ม้ากระทืบโรง .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=108
  5. Sermboonpaisam T.& Sawasdee P.(2012). Potent and selective butyrylcholinesterase inhibitors from Ficus foveolata, Fitoterapia. 83, 780-784.