ครอบฟันสี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ครอบฟันสี งานวิจัยและสรรพคุณ 46 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ครอบฟันสี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ครอบ, ขัดมอญ, ครอบตลับ, ครอบจักรวาล, ตอบแตบ, พรมชาติ (ภาคกลาง), ก่องเข้า, บะก่องข้าว (ภาคเหนือ), โผงผาง (โคราช), บั่วปั่วเช่า, กิมฮวยเช่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abutilon indicum (L.) Sweet
ชื่อสามัญ Country mallow, Moon flower, Indian mallow
วงศ์ MALVACEAE

ถิ่นกำเนิดครอบฟันสี

ครอบฟันสีเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย, ศรีลังกา, ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม รวมถึงบางส่วนในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบครอบฟันสี ได้ทั่วๆ ไป ตามริมถนน หรือ ตามชายป่ารวมไปถึงที่รกร้างทั่วไป แต่ส่วนมากจะพบทางภาคตะวันออกและภาคกลางเป็นส่วนใหญ่

    ครอบฟันสี 

ประโยชน์และสรรพคุณครอบฟันสี

  • ช่วยทำให้เลือดไหลหมุนเวียนดี
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับเลือดร้อน
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้หูอื้อ
  • แก้หูหนวก
  • รักษาแผลบวม
  • รักษาแผลเป็นหนอง
  • รักษาโรคเรื้อน
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • แก้เจ็บขุ่น
  • รักษาคางทูม
  • ใช้แก้ร้อน
  • แก้ชื้น
  • ช่วยฟอกเลือด
  • แก้ไอ
  • แก้หูชั้นกลางอักเสบ
  • แก้เหงือกอักเสบ
  • แก้คอตีบ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ใช้แก้บิดมูกเลือด
  • แก้ฝีฝักบัว
  • ช่วยฝีหนองให้แตกเร็ว
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยย่อยเจริญอาหาร
  • ใช่เป็นยาระบาย
  • รักษาลำไส้อักเสบ
  • แก้ข้อมือ แก้เท้าอักเสบ
  • แก้อาการขัดเบาเป็นเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรังต่างๆ
  • ใช้ชะล้างรักษาบาดแผล
  • แก้รากฟันเน่าเป็นหนอง
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้เบาหวาน
  • แก้ไตพิการ
  • บำรุงกำลัง
  • ยาอายุวัฒน
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชัก
  • แก้อาการเจ็บคอ
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • แก้อาการไอ
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด เจ็บ ขุ่น ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดแสบเวลาขับปัสสาวะ

           ในอดีตมีการใช้เปลือกต้นครอบฟันสี ที่มีเส้นใยเหนียวและมีความแข็งแรง โดยนำมาใช้ปั่นเป็นเชือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะเป็นการทำใช้งานกันเองภายในครัวเรือน ไม่มีการทำเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

  • แก้ริดสีดวงทวาร ใช้ราก 150 กรัม ต้มเอาน้ำข้นๆ กินประมาณ 1 ถ้วยชา ที่เหลืออุ่นเอาไอรมที่ก้นพออุ่นๆ ทนได้ เอาน้ำอุ่นๆ ชะล้างแผล ใช้รมวันละ 5-6 ครั้ง
  • แก้ข้อมือ เท้าอักเสบ หรือ แผลอักเสบทั้งหลายที่ทำให้กล้ามเนื้อเน่า ใช้รากนี้ 30 กรัม ผสมน้ำและเหล้าอย่างละเท่าๆ กันต้มกิน
  • แก้คอตีบ ใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน หรือ อาจเพิ่มราก หญ้าพันงู (Achyranthes aspera L..,A.bidentata BL.,A.longifolia Mak) กับรากว่านหางช้าง (Belameahda chinensis DC.) พอสมควรตำคั้นเอาน้ำผสมกับปัสสาวะเด็กกิน
  • แก้รากฟันเน่าเป็นหนอง ใช้รากครอบฟันสี แห้ง 15 กรัม ผสมน้ำตาลแดงพอสมควร ต้มน้ำกิน หรือใช้รากแห้งแช่น้ำส้มสายชู 1 ชั่วโมง แล้วเอาผ้าห่ออมไว้ในปากบ่อยๆ
  • แก้บิดมูกเลือด ใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมบดเป็นผง กินพร้อมกับน้ำผึ้งครั้งละ 3.2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
  • แก้ฝีฝักบัว ใช้เมล็ดต้นนี้ 1 ช่อ บดเป็นผงชงคล้ายกับชาเขียว น้ำสุกอุ่นๆ กินและเอาใบสดตำผสมน้ำผึ้ง หรือ น้ำตาลแดงพอกที่แผล
  • แก้ผื่นคัน เนื่องจาการแพ้ ใช้ทั้งต้นแห้ง 30 กรัม ผสมกับเนื้อหมู (ไม่เอามัน) พอประมาณ ตุ๋นน้ำรับประทาน
  • แก้หกล้ม เป็นบาดแผลหรือร่างกายอ่อนแอ ไม่มีกำลัง ใช้รากแห้ง 60 กรัม ต้มกับขาหมู 2 ขา ผสมกับเหล้าเหลือง 60 กรัม ต้มน้ำรับประทาน
  • แก้หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ใช้รากแห้ง 15- 30 กรัม ข้าวเหนียว 1 ถ้วย หรือ เนื้อหมูไม่ติดมัน หรือ เต้าหู้แทนก็ได้ ในปริมาณสมควร ต้มน้ำรับประทาน

           ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุวิธีการใช้ว่า ใบ นำมาต้มกับน้ำ ใช้อมบ้วนปาก แก้ปวดฟันและแก้เหงือกอักเสบ นอกจากนี้ยังใช้รับประทานเป็นยาหล่อลื่น ขับปัสสาวะ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยเจริญอาหาร  ดอก เมล็ด เปลือกและราก ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ ราก ตากแห้งต้มกับน้ำดื่ม แก้เบาหวาน แก้ไตพิการ บำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ หรือ ใช้ ดอก หรือเมล็ด แห้ง 1 กำมือ มาต้มน้ำดื่มก็ได้ ใบ หรือ ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือใช้ยอดสดยาว 1 คืบ จำนวน 15 ยอด นำมาต้มกับน้ำ 6 แก้ว จนเดือด ใช้ดื่มในขณะยังอุ่นจนหมด ติดต่อกันทุกวันประมาณ 2-3 อาทิตย์ บ้างก็ใช้ผลต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 8-9 ผลต่อน้ำ 2 ลิตร หากน้ำตาลในเลือดลดลงแล้วให้ใช้เพียง 4-5 ผลต่อน้ำ 2 ลิตร ต้มดื่มต่างน้ำ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ บ้างก็ว่าใช้ทั้ง 5 ส่วนของครอบฟันสี ก็ใช้รักษาโรคเบาหวานได้ โดยนอกจากน้ำตาลจะลดแล้วผู้ที่เป็นแผลเปื่อยจากเบาหวานก็หายด้วย  ใช้เป็นยาแก้โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชัก ด้วยการใช้ทั้งต้นรวมรากนำมาต้มกับน้ำปริมาณพอสมควรจนเดือด แล้วนำมาดื่มในขณะยังอุ่นทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ผู้ที่เพิ่งเป็นโรคดังกล่าวจะหายในเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 5 ปีแล้ว ต้องต้มดื่มติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 ปี แก้อาการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ อาการไอ และหลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากนำมาทุบแล้วแช่กับน้ำส้มสายชูประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นนำมาอมจะทำให้อาการดีขึ้น ส่วนอีกวิธีแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ให้ใช้ทั้งต้นสด 40-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด เจ็บ ขุ่น ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดแสบเวลาขับปัสสาวะ โดยใช้ทั้งต้นสด 40-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน บ้างก็ว่าเปลือกนั้นมีเมือก ที่นำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้เช่นกัน ใช้เป็นยาแก้ปวดในกระดูก ด้วยการใช้ครอบฟันสีทั้ง 5 ส่วนนำมาต้มกินและนำมาใช้อาบ หรือจะนำมาประคบร่วมด้วยก็ได้


ลักษณะทั่วไปของครอบฟันสี

ครอบฟันสี จัดเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สูง 0.5-2.5 เมตร มีขนอ่อนนุ่มสีเทาปกคลุมทั่วไป

           ใบ ออกแบบเรื่องสลับกัน ก้านใบยาว ตัวใบลักษณะกลม ปลายใบแหลมสั้นฐานใบเว้าคล้ายหัวใจยาว 3-9 เซนติเมตร กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ขอบใบมีรอยหยักรูปฟัน มีขนนุ่มสีเทาปกคลุมทั้ง 2 ด้าน

           ดอก ออกจากซอกก้านใบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว ทางใกล้โคนดอกไม้มีรอยเป็นข้อ 1 รอย กลีบเลี้ยงติดกัน บานออกคล้ายจาน มีรอยแยกฉีกๆ แบ่งออกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบปลายแหลมสั้นๆ มีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทา ปกคลุมด้านนอกกลีบดอกมี 5 กลีบ ตัวผู้มีจำนวนมากติดกันที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ รังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นของดอกทั้งหมด ผนังรังไข่เป็นกลีบเรียง ติดกันรอบๆ เป็นรังสีทรงกลม

           ผล เป็นกลีบๆ เรียงติดกันคล้ายฟันเฟืองข้าว มี 15-20 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายนอกมีขนสั้นๆ ปกคลุมอยู่

           เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต มีขนสั้นๆ โดยในเมล็ดจะมีไขมันอยู่ประมาณ 5%

ครอบฟันสี

การขยายพันธุ์ครอบฟันสี

ครอบฟันสี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ และชอบขึ้นในดินร่วนปนทราย สำหรับวิธีการปลูกครอบฟันสีสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดและการปักชำ ไม้พุ่มอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาในบทความอื่นๆก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีครอบฟันสี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของครอบฟันสี พบว่า ทั้งต้น พบสารกลุ่มมี Flavonoid glycoside, Gossypin, Gossypitrin, Cyanidin-3-rutinoside Phenols, และ Amino acids นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม ใบ พบสาร Mucilage, Tannins, Organic acid, Traces of asparagin และเถ้าที่ประกอบด้วย Alkaline sulphates, Chlorides, magnesium phosphate และ Calcium carbonate ราก พบสาร Asparagin เมล็ด พบกรดไขมันต่างๆ ซึ่งมี Oleic acid 41.3% Linoleic acid 26.67% Linolenic acid 6.8% Stearic acid 11.17% Palmitic acid 5.08% Non-saponified matter ประมาณ 1.77% (ซึ่งเป็นพวก Sitosterol) กากเมล็ด พบสาร Raffinose (C18  H32  O16)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของครอบฟันสี

  โครงสร้างครอบฟันสี

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของครอบฟันสี

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสกัดจากทั้งต้นที่สกัดด้วย บิวทานอลมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยการจับกับ PPAR-Gamma และสามารถกระตุ้น 3T3-L1 ซึ่งเป็นกลไกในการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยการกระตุ้น promoter ของ GLUT-1 ส่วนสารสกัดจากทั้งต้นมีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลูโคส และช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน โดยสารสกัดด้วยน้ำ ขนาด 0.5 และ 1 กรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในพลาสมาในหนูเบาหวานระดับปานกลางได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนในหนูปกติ และหนูเบาหวานระดับรุนแรง พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในพลาสมาได้เล็กน้อย สารสกัดนี้ยังสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนของหนูถีบจักร และในเซลล์มะเร็งชนิด INS-1E และสารสกัดเมทานอลจากใบมีฤทธิ์ต้านเบาหวานในหนูปกติและหนูเบาหวานพบว่าสารสกัดขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมสามารถลดน้ำตาลในเลือดในหนูปกติได้ในนาทีที่ 60 และ 120 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนสกัดเอทานอลจากใบ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ในชั่วโมงที่ 4 ถึงชั่วโมงที่ 8 และสารสกัดด้วยน้ำสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ในชั่วโมงที่ 4 และชั่วโมงที่ 6

           ฤทธิ์ปกป้องตับสารสกัดด้วยน้ำจากใบมีฤทธิ์ปกป้องตับ ในหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษต่อตับ พบว่า สารสกัดขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันพิษต่อตับได้โดยค่าการทำงานของตับมีค่าใกล้เคียงกับยา Silymarin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) 

           นอกจากนี้ยังมีผลรายงานการวิจัยที่ระบุว่า สารสกัดน้ำและแอลกกอฮอล์จากส่วนใบของครอบฟันสี มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลมชักได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของครอบฟันสี

มีการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง โดยป้อนสารสกัดด้วยน้ำจากส่วนซองใบของครอบฟันสี ให้หนูขาวกิน พบว่าขนาดที่ทำให้หนูขาวตาย 50% มีขนาดมากกว่า 4 กรัม/กก. นอกจากนี้ยังมีการทดสอบ โดยการกรอกสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% จากทั้งต้นครอบฟันสี ขนาด 10 กรัม/กก. หรือ ฉีดสารสกัดเข้าใต้ผิวหนังขนาด 10 กรัม/กก. ในหนูถีบจักร ไม่พบความเป็นพิษ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าในการทดสอบทางพิษวิทยา จะพบว่าครอบฟันสีมีความเป็นพิษต่ำ แต่อย่างๆรก็ตามในการใช้ครอบฟันสี ในการบำบัดรักษาโรคควรต้องระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ในส่วนของเด็กสตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ครอบฟันสี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง ครอบฟันสี

  • กองประกอบโรคศิลปะ. สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ครอบทั้ง 3 (ครอบจักรวาล ครอบฟันสีครอบตลับ). ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม หน้า 18, นนทบุรี
  • หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ครอบจักรวาฬ, ครอบตลับ, ครอบฟันสี ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 164-167.
  • นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร. (2539). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (1).กรุงเทพฯ ประชาชน
  • ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 11.มีนาคม 2523.
  • วุฒิ วุฒิธรรมเวช.ครอบฟันสี. สารานุกรมสมุนไพร หน้า 148, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์ 2540
  • หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ครอบตลับ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 152.
  • อำภา คนซื่อ,ขวัญยืน เลี่ยมสำโรง,สภาวดี ตรีรัตนถวัลย์.ศรีอรุณ โพธิ์เกตุ.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดครอบฟันสี และไทยราบ.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 46.ฉบับที่ 2. เมษายน-มิถุนายน 2561.หน้า 228-237
  • ครอบฟันสี ครอบจักรวาล.กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5269
  • ครอบฟันสี.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_17_1.htm
  • ครอบฟันสีรักษาโรคลมชักได้จริงหรือไม่?.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5612
  • Krisanapun, C., Lee, S.H., Peungvicha, P., Temsiririrkkul, R. and Baek, S.J. (2011). Antidiabetic activities of Abutilon indicum (L.) Sweet are mediated by enhancement of Adipocyte differentiation and activation of the GLUT1 promoter. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2011 (2011): 1-9.
  • Seetharam, Y.N., Gururaj C., Ramachandra, S.S. and Bheemachar. (2002). Hypoglycemic activity of Abutilon indicum leaf extracts in rats. Fitoterapia 73: 156-159
  • Krisanapun, C., Peungvicha, P., Temsiririrkkul, R. & Wongkrajanga, Y. (2009). Aqueous extract of Abutilon indicum Sweet inhibits glucose absorption and stimulates insulin secretion in rodents. Nutrition Research 29: 579–587.
  • Porchezhian, E. and Ansari, S.H. (2005). Hepatoprotective activity of Abutilon indicum on experimental liver damage in rats. Phytomedicine 12: 62–64.
  • Adisakwattana, S., Pudhom, K. and Yibchok-anun, S. (2009). Influence of the methanolic extract from Abutilon indicum leaves in normal and streptozotocin-induced diabetic rats. African Journal of Biotechnology 8(10): 2011-2015.