มะเฟือง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเฟือง งานวิจัยและสรรพคุณ 44 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร มะเฟือง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะเฟือง, มะเฟือง (ภาคเหนือ), บักเฟือง, หมากเฟือง (อีสาน), เฟือง (ภาคใต้), สะบือ (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola Linn.
ชื่อสามัญ Star Fruit, Star Apple, Carambola
วงศ์ Oxalidaceae

ถิ่นกำเนิดมะเฟือง

ถิ่นกำเนิดตั้งเดิมของมะเฟืองนั้น เชื่อกันว่าอยู่บริเวณประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบริเวณใกล้เคียง (ซึ่งก็ คือ เอเชียอาคเนย์) จึงอาจกล่าวได้ว่ามะเฟืองเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมกับชาวไทยด้วย ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุถึงถิ่นกำเนิดของมะเฟือง ว่า มะเฟืองมีถิ่นกำเนิดในแถบศรีลังกา และบริเวณมะละกา ซึ่งจัดเป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา รวมทั้งยังนิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณมะเฟือง

  • ช่วยดับพิษร้อน
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • แก้เม็ดผดผื่นคัน ตุ่มคัน
  • แก้บวม
  • รักษาแผลมีหนอง
  • ช่วยห้ามเลือด
  • แก้ปวด
  • ช่วยถอนพิษแมงมุม พิษงู
  • แก้กลากเกลื้อน
  • แก้ปวดฟัน
  • รักษาอีกสุกอีใส
  • แก้กาฬ
  • แก้อาเจียน อาเจียนเป็นโลหิต
  • แก้ไข้ ไข้หวัดใหญ่
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้เจ็บเส้นเอ็นผล
  • แก้ไอ
  • ช่วยถอนพิษผิดสำแดง
  • แก้กระหายน้ำคอแห้ง
  • แก้โรคปอด
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยขับน้ำลาย
  • ช่วยขับนิ่ว
  • แก้กามโรค
  • แก้บิด
  • ช่วยลดการอักเสบ
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • บำรุงเส้นผม
  • ช่วยขจัดรังแค
  • แก้เมา
  • แก้ม้ามโตเนื่องจากไข้ป่า
  • แก้หนองใน
  • ช่วยขับเลือดเสีย
  • ช่วยขับระดู (ประจำเดือน)
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ใช้ทาแก้แพ้
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ปวดข้อ
  • แก้ปวดกล้ามเนื้อ
  • แก้ปวดแสบกระเพาะอาหาร
  • แก้จุกแน่นอก
  • แก้กระหายน้ำ

           คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมะเฟืองในฐานะผลไม้เป็นหลัก จึงมีการนำไปประกอบอาหารค่อนข้างน้อย ส่วนที่มีการใช้ประกอบอาหารบ้างก็ คือ ผลมะเฟือง ซึ่งต้องเลือกชนิดที่มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นเครื่องแต่งรสเปรี้ยว เช่นเดียวกับมะนาว หรือ มะม่วง เช่น ใช้แนมกับน้ำพริก ใช้ประกอบเมี่ยง หรือ แหนม (โดยเฉพาะแหนมเนือง) ใช้แกงแทนมะดัน หรือ ใช้ในยำบางตำรับ และในปัจจุบันมีการนำมะเฟืองมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลมะเฟืองสุกนำมาผ่า และแยกเมล็ดออก หั่นเป็นชิ้น แล้วนำมาปั่น หรือ คั้นเป็นน้ำมะเฟืองเพื่อสุขภาพ หรือ นำผลมะเฟืองสุกนำมาปอกเปลือก และยกเอาเฉพาะเนื้อสำหรับทำแยมมะเฟือง ส่วนผลมะเฟืองที่ยังไม่สุกมากใช้นำมาดองเป็นมะเฟืองดอง มะเฟืองแช่อิ่ม เป็นต้น

มะเฟือง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ตำรายาไทยใช้ ใบ ต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้อาเจียน แก้พิษสำแดง หรือ ใช้ต้มอาบแก้ ผดผื่นคัน ใบสดนำมาบดใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้ตุ่มคัน ราก นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้ท้องร่วง แก้เจ็บเส้นเอ็น แก้พิษไข้ แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ และกล้ามเนื้อ แก้จุกแน่นอก ดอก ต้มกับน้ำใช้ดื่ม แก้ไข้ ขับพยาธิ ขับพิษในร่างกาย ผล รับประทานสด แก้ไอ แก้ไข้ แก้ผิดสำแดง แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้อาเจียน ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้อาการบวม แก้เลือดออกตามไร้ฟัน เปลือกต้น นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม แก้ท้องเสีย แก้ไข้ หรือ นำมาผสมกับไม้จันทน์ และชะลูด ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน ส่วนตำรายาพื้นบ้านใช้ราก หรือ แก่นมะเฟือง เข้ายากับหญ้าหวาน แห้วหมู ข้าวโพด และเมล็ดฝ้าย ต้มกับน้ำดื่ม แก้นิ่ว หรือ นำมารวมกับใบมะยมและใบหมาก ผู้หมากเมีย ใช้ต้มอาบ แก้อีกสุกสีใส เป็นต้น เมล็ดมะเฟือง นำมาต้มน้ำดื่มช่วยให้นอนหลับง่าย  แก้อาการปวดเมื่อย แก้ดีซ่าน ช่วยในการขับระดู โดยเฉพาะสตรีที่เริ่มมีระดูหลังคลอดใหม่ บรรเทาอาการปวดท้อง แน่นท้อง


ลักษณะทั่วไปของมะเฟือง

มะเฟือง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะเป็นทรงพุ่มแตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้น มีทั้งลักษณะตั้งตรงและกึ่งเลื้อย เป็นไม้เนื้ออ่อน โตช้า สูง 8-12 เมตร แกนกลางมีไส้คล้ายฟองน้ำสีแดงอ่อน ลำต้นสีน้ำตาล เปลือกลำต้นไม่เรียบ

           ใบเป็นประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละใบมีใบย่อย 3-11 ใบ ใบย่อยออกตรงข้ามกัน หรือเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน แถบใบหอก กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-9 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ใบย่อยตรงปลายใบมีขนาดใหญ่  

           ผลมะเฟือง มีลักษณะที่แปลกตา คือ รูปผลเป็นเหลี่ยมหรือเป็นแฉกคล้ายรูปดาว 5 เหลี่ยม หรืออาจพบ 6 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญ Star Fruit โดยผลมีขนาดยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ขนาดผลประมาณ 3-10 เซนติเมตรปลายก้นแหลม ผลหยักเว้าเป็นร่องลึก 5 ร่อง ผลขณะอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน สีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง และสีเหลืองเมื่อสุกเต็มที่ เนื้อผลด้านในฉ่ำด้วยน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย บางพันธุ์มีรสเปรี้ยวมาก 

          ดอกช่อขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ กลีบดอกสีชมพู ถึงม่วงแดง แต่ตอนโคนกลีบสีซีดจางเกือบขาว ปลายกลีบโค้งงอน ออกตามซอกใบที่มีใบติดอยู่ หรือ ใบร่วงหลุดไปแล้ว หรือ อาจจะออกตามลำต้น กลีบเลี้ยงสีม่วงมี 5 กลีบ ปลายแหลม ก้านชูช่อดอกมีสีม่วง ผลสด รูปกลมรี อวบน้ำ มีสันเด่นชัด ลักษณะเป็นกลีบขึ้นเป็นเฟือง 5 เฟือง มองเห็นเป็นสันโดยรอบผล 5 สัน เมื่อผ่าตามขวางจะเป็นรูปดาว 5 แฉก ยาว 7-14 เซนติเมตร


การขยายพันธุ์มะเฟือง

มะเฟือง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีเพาะเมล็ด, ทาบกิ่ง และเสียบยอด แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การทาบกิ่ง และเสียบยอดสำหรับวิธีการปลูกมะเฟือง นั้น ก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ แต่ต้องเตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร และรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยดอก ส่วนระยะปลูกนั้นต้องเว้นระยะประมาณ 4x6 เมตร โดยหลังจากการปลูกประมาณ 3-5 ปี แล้วแต่สายพันธุ์ ก็จะเริ่มติดผล ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

มะเฟือง

มะเฟือง

องค์ประกอบทางเคมี

ในผลมะเฟือง พบสาระสำคัญ คือ Quercetin, Epicatechin, Gallic acid, Oxalic acid เป็นต้น นอกจากนี้มะเฟืองยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • พลังงาน                    31       กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต          6.73    กรัม
  • น้ำตาล                      3.98    กรัม
  • เส้นใย                       2.8      กรัม
  • ไขมัน                        0.33    กรัม
  • โปรตีน                     1.04     กรัม
  • วิตามินบี1               0.014   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2               0.016   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3               0.367   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5              0.391   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6               0.017   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9               12        ไมโครกรัม
  • วิตามินซี                34.4     มิลลิกรัม
  • วิตามินอี                  0.15     มิลลิกรัม
  • ลูทีนและซีแซนทีน  66        ไมโครกรัม
  • โคลีน                       7.6      มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม        3        มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                0.08    มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม      10       มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส      0.037   มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส       12        มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม   133     มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม          2        มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี             0.12    มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเฟือง

โครงสร้างมะเฟือง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเฟือง

จากการศึกษาวิจัยต่างๆ พบว่ามะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน โดยสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5 (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
           นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้มะเฟืองยังมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก และคุมน้ำตาลในเลือด หรือ ลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกาย และป้องกันการเกิดสิว

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟือง มีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

           ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล มีการนำสารสกัดจากมะเฟือง มาทดลองหาคุณสมบัติด้านการลดระดับคอเลสเตอรอลในสัตว์ทดลอง และในเซลล์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารสกัดจากมะเฟืองช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล และไขมันพอกตับลงได้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาค้นคว้าหนึ่งได้นำสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) จากมะเฟืองไปสกัดจนเป็นสารประกอบน้ำตาล แล้วนำไปฉีดกับหนูทดลองแล้วพบว่าสารดังกล่าวช่วยลด กระบวนการอักเสบได้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ ในการต่อยอดการศึกษาวิจัยในการบรรเทาความเจ็บปวดจากการอักเสบของผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้

           ฤทธิ์ป้องกันมะเร็งตับ มีงานวิจัยหนึ่งได้นำสารสกัดจากมะเฟืองไปทดลองกับหนู พบว่าสารสกัดจากมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเซลล์ตับในหนูทดลอง ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ในอนาคต


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเฟือง

มีรายงานการศึกษาวิจัย และตรวจสอบพิษเฉียบพลันของใบมะเฟือง โดยใช้หนูถีบจักร ให้สารสกัดจากใบมะเฟืองด้วยวิธีกรอกเข้าทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยให้ในขนาด 13 กรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักตัว) (ซึ่งเปรียบเทียบกับขนาดการรักษาในคน 5909 เท่า) และ 4 กรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ผลปรากฏว่า ทั้งการกรอกเข้าปาก และการฉีดเข้าใต้ผิวหนังไม่พบพิษแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า มะเฟือง มีปริมาณกรดออกซาลิคมากโดยเฉพาะมะเฟืองเปรี้ยว ซึ่งผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไตแล้ว ไม่สามารถขับสารชนิดนี้ได้ ทำให้อาจส่งผลต่อสมองได้ ทำให้สะอึก ซึม และชักได้ ส่วนในผู้ป่วยไตระยะปานกลาง หากรับประทานมากเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน และส่วนคนทั่วไปหากกินมากกินไปอาจทำให้เกิดนิวในไตได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะเฟือง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการสับสนมึนงง ชักเกร็ง หรือ อาจป่วยรุนแรงถึงชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ กำลังใช้ยารักษาโรคอื่นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคมะเฟือง หรือ ผลิตภัณฑ์ใดๆ จากมะเฟือง ส่วนผู้ที่มีสุขภาพดี ก็ควรบริโภคแต่พอดีไม่รับประทานมากจนเกินไปรวมถึงไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพาะคงส่งผลกระทบต่อสุภาพได้

เอกสารอ้างอิง มะเฟือง
  1. เดชา ศิริภัทร.มะเฟือง :ผักผลรูปกาวของชาวเอเชียอาคเนย์. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 240.เมษายน 2540.
  2. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวหะ, การศึกษาพิษของสมุนไพร. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. ปีที่ 12. ฉบับที่ 2-4.2513
  3. ราชันย์ ภู่มา และสมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=94
  4. รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ.มะเฟืองผลไม้ควบคุมน้ำหนัก.คอลัมน์.บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 366.มกราคม 2552.
  5. มะเฟือง,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=94
  6. สมุนไพรในผู้ป่วยโรคไต.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=7131
  7. มะเฟืองประโยชน์ต่อสุขภาพกับคำแนะนำในการบริโภค. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. มะเฟืองสรรพคุณและการปลูกมะเฟือง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com