มะเกี๋ยง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเกี๋ยง งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร มะเกี๋ยง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หว้าน้ำ (พังงา), หว้าส้ม (ชุมพร, สุราษฎ์รธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleistocalyx nervosum (DC.) Kosterm. var. paniala (Roxb.) J. Parn. & P. Chantaranothai หรือ Cleistocalyx nervosum var. paniala
ชื่อสามัญ Sunrose Willow, Creeping Water Primrose
วงศ์ MYRTACEAE

ถิ่นกำเนิดมะเกี๋ยง

เชื่อกันว่ามะเกี๋ยง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา รวมถึงเวียดนาม และจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือตอนบน โดยมักพบตามธรรมชาติบริเวณ ตามริมห้วย ริมแม่น้ำ ที่มีความชุ่มชื้น หรือ อาจพบได้ในพื้นที่สูงในป่าดิบเขา


ประโยชน์และสรรพคุณมะเกี๋ยง

  • แก้อาการท้องเสีย
  • แก้โรคผิวหนัง (ต้มเปลือก)
  • ช่วยรักษาแผลให้หายเร็ว (ต้มเปลือก)
  • เป็นยาระบาย
  • แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
  • ใช้เป็นยาฝาดสมาน
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ปากนกกระจอก
  • รักษาหลอดเลือด
  • รักษาโรคมะเร็ง
  • ช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟัน
  • ช่วยควบคุมการหดตัว และคลายตัวของกล้ามเนื้อ
  • รักษาสภาพของเยื่อบุผิวที่อวัยวะต่างๆ
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • ป้องกันโรคเหน็บชา
  • ป้องกันโรคข้ออักเสบ
  • รักษาโรคความจำเสื่อม
  • รักษาโรคพาร์กินสัน
  • ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี12
  • ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อเกิดบาดแผล
  • ช่วยการเต้นของหัวใจ
  • ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
  • ช่วยป้องกันต้อกระจก
  • ช่วยชะลอการแก่ก่อนวัย
  • ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
  • ช่วยสังเคราะห์ acetylcholine
  • ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
  • ช่วยลดริ้วรอย
  • ช่วยลดฝ้า
  • ช่วยลดจุดด่างดำ
  • ช่วยห้ามเลือด
  • ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

           มะเกี๋ยง เป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งส่วนของผล เมล็ด และลำต้น การใช้ประโยชน์จากผลมะเกี๋ยงในด้านอาหาร พบว่า ผลมะเกี๋ยงนิยมนำมาบริโภคทั้งรูปผลสด และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เปลือก ต้นยังสามารถนำมาต้มน้ำย้อมผ้า ให้สีน้ำตาลอมแดง ใบ นำมาต้มเป็นน้ำย้อมผ้า ให้สีน้ำตาลอ่อน หรือ น้ำตาลเข้ม เนื้อไม้ ค่อนข้างแข็ง ใช้แปรรูปเป็นไม้ปูพื้น ไม้ชายคา ไม่วงกบ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และเมล็ด ยังสามารถนำมาใช้สกัดน้ำมันสำหรับใช้ประกอบอาหาร หรือ ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง น้ำหอม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ

มะเกี๋ยง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ท้องเสีย ท้องเดิน ปวดท้อง โดยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่ม 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น หรือ จะใช้เปลือกต้นนำมาต้มกบน้ำอาบ ช่วยแก้โรงผิวหนังต่างๆ ผลสุกใช้รับประทานสดๆ ช่วยในการระบาย แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปากนกกระจอก เปลือกต้น (ด้านใน) ใช้ถากให้เป็นขุยเล็กๆ ใช้ทา หรือ ประคบแผลช่วยห้ามเลือด และทำให้แผลหายเร็วขึ้น ลดฝ้า และจุดด่างดำ โดยนำผลมะเกี๋ยง มาฝานเป็นแผ่นใช้ทาบริเวณจุดด่างดำเป็นประจำ ใช้ควบคุม และลดน้ำตาลในเลือด โดยการนำใบสด 3-7 ใบ มาต้มในน้ำ 1 ลิตร นาน 15-20 นาที แล้วกรองเอากากออก นำน้ำที่ได้มาใช้ดื่ม ครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร เช้า-เย็น ติดต่อกัน 3-5 วัน


ลักษณะทั่วไปของมะเกี๋ยง

มะเกี๋ยงเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับหว้า และมีลักษณะคล้ายกันกับหว้ามาก ชื่อในอดีต ชื่อวิทยาศาสตร์เดิมของมะเกี๋ยง คือ Eugenia paniala ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.2375 และจากการศึกษาทบทวนพรรณไม้ในสกุล Eugenia และ Cleistocalyx ใน พ.ศ.2536 โดย ดร.ประนอม จันทรโนทัย ได้เสนอให้จัดพืช E.paniala Roxb. มารวมอยู่ในสกุล Cleistocalyx และกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของมะเกี๋ยงเป็น C.operculatus เช่นเดียวกับต้นหว้า ขาว (หว้าน้ำ หรือ หว้าส้ม) โดยจำแนกออกเป็นสองชนิดพันธุ์ คือ C.operculatusvar. operculatus (หว้าขาว และ C.operculatusvar. paniala (มะเกี๋ยง) ต่อมาใน พ.ศ.3539 ได้มีการศึกษาทบทวนพืชในวงศ์ Myrtaceae ใหม่อีกครั้ง และได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ของหว้าขาว และมะเกี๋ยงเป็น C.nervosum โดยจำแนกออกเป็นสองชนิดพันธุ์ คือ C.nervosumvar. operculatus (หว้าขาว) และ C.nervosumvar. paniala (มะเกี๋ยง) โดยความแตกต่างระหว่างพืชสองชนิดพันธุ์นี้อยู่ที่การจัดเรียง หรือ จำนวนดอกในช่อดอกย่อย ขนาดของฐานรองดอกรูปถ้วย (hypantium) รวมทั้งขนาดและรูปร่างของผล โดยที่มะเกี๋ยงมักมีดอกจำนวน 3 ดอก ติดอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มช่อดอกย่อย มีฐานดอกรูปถ้วย ขนาดใหญ่กว่า 0.4 เซนติเมตร ผลรูปไข่ขอบขนาน (oval-oblong) และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผลมากกว่า 1.5 เซนติเมตร ส่วนหว้าขาวมักมีจำนวนดอกในแต่ละช่อดอกย่อยมากกว่า 4 ดอก ฐานรองดอกรูปถ้วยมีขนาดเล็กกว่า 0.4 เซนติเมตร ผลรูปกลม (globoes) และเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1.5 เซนติเมตร ดังนั้นลักษณะทั่วไปของมะเกี๋ยงจึงมีลักษณะดังนี้

           มะเกี๋ยง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร หรือ มากกว่า ขนาดลำต้นเมื่อมีอายุมากจะมีขนาดเส้นรอบวงได้ถึง 1.5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งมาก เปลือกลำต้นมีสีเทา หรือ น้ำตาลอมเทา เปลือกแก่ด้านนอกหลุดล่อนออกเป็นแผ่น เมื่อใช้มีดสับเปลือกด้านในจะมีสีน้ำตาลอมชมพู แต่เมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง มีสีขาวนวล หรือ เหลืองอ่อน และมีเสี้ยนค่อนข้างมาก

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่บนกิ่งย่อย จำนวน 4-6 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย ใบมีรูปรีถึงรูปหอก ขนาดใบกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบมีลักษณะเป็นคลื่น และเป็นมันเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว 1.5-3 เซนติเมตร มีเส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องตื้น ส่วนเส้นกลางใบด้านล่างนูนขึ้นมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบแยกออกซ้ายขวาสลับกัน ข้างละ 7-15 เส้น ใบอ่อน มีสีเขียวอมแดง ใบแก่มีสีเขียว

           ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ แทงออกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่ง แต่ละกิ่งมีจำนวน 5-15 ช่อดอก ช่อดอกยาว 5-10 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกประมาณ 20-80 ดอก โดยมีดอก 3 ดอก ติดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มช่อดอกย่อย ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ และมีกลีบดอก 4 กลีบ ขนาด 0.35-0.45 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ประมาณ 150-300 อัน มีรังไข่อยู่บริเวณฐานดอก ส่วนฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยมีขนาด 0.4 เซนติเมตร ขึ้นไป

           ผล มีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายผลหว้า แต่เล็ก และป้อมกว่าเล็กน้อย ผลมีเปลือกบาง ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมชมพู ต่อมาเป็นสีแดงเมื่อห่าม เมื่อสุกเป็นสีแดงม่วง และสุกมากเป็นสีดำ ขนาดผลประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร เนื้อผลมีสีขาว หนาประมาณ 3–5 มิลลิเมตร เมื่อรับประทานจะให้รสเปรี้ยวอมฝาดเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม ตรงกลางผลมีเมล็ด 1 เมล็ด 

           เมล็ดมีลักษณะกลม หรือ ค่อนข้างเป็นรูปไข่ ขนาดประมาณ 0.7-8 เซนติเมตร 0.8-1 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อเมล็ดภายในมีสีเขียว

มะเกี๋ยง

การขยายพันธุ์มะเกี๋ยง

มะเกี๋ยง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดมากกว่า เพราะมะเกี๋ยงเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงกว่า 10 เมตร ผู้ที่ปลูกจึงต้องการให้ต้นมะเกี๋ยง มีรากแก้วที่ยึดเกาะแน่นไม่ล้มง่าย ส่วนวิธีการปลูกก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ


องค์ประกอบทางเคมี 

จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลของมะเกี๋ยงมีสาระสำคัญอยู่หลายชนิด เช่น Resveratrol TanninCatechol Catechin Quercetin Kaempferol Cyanidin 3-glucoside (Chrysanthemin) Citric acidMalic acid gallic acid ในเปลือกต้นพบสาร Tannin นอกจากนี้เมล็ดมะเกี๋ยงที่สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ linalool, R-terpinene, R-ionone และ caryophyllene, terpinene-4-ol-, limonene, linalool ทั้งนี้ผลสดของมะเกี๋ยง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของมะเกี๋ยง (ผลสด 100 กรัม)

– พลังงานทั้งหมด                        297.58   กิโลแคลอรี

ใยอาหาร                                 26.32%

– กรดไขมัน                                 2.41%

– โปรตีน                                      6.64%

– คาร์โบไฮเดรต                          59.91%

วิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน)     4574.80  หน่วยสากล (IU)

– วิตามินบี 2                                717.30    ไมโครกรัม

– วิตามินบี 3                                57.44      ไมโครกรัม

วิตามินซี                                 12.80      มิลลิกรัม

– วิตามินอี                                   14           หน่วยสากล (IU)

แคลเซียม                               408.60    มิลลิกรัม

– แมกนีเซียม                              87.32      มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก                                3.50        มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเกี๋ยง
โครงสร้างมะเกี๋ยง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเกี๋ยง

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในการศึกษาได้ทำการสกัดสารจากเมล็ดมะเกี๋ยงบดแห้ง ด้วยวิธีหมักในเอทานอล 95% จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS Assays พบว่า สารสกัดส่วนเอทิลอะซิเตต และบิวทานอล เป็นส่วนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดเฮกเซน และคลอโรฟอร์ม โดยมีค่า TEAC เท่ากับ 1.5108 และ 1.3943 กรัม/กรัม ตามลำดับ

           ฤทธิ์ลดเลือนริ้วรอย มีการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอยจากสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยง ในรูปแบบครีมและเจลที่ผสมสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยงความเข้มข้นร้อยละ 1.25 โดยน้ำหนัก ระบุว่าผลิตภัณฑ์ทั้งสองรูปแบบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดที่ไม่มีส่วนผสมขอสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยง และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระต่ายและจากการทดสอบในอาสาสมัคร 15 คน พบว่าครีมมะเกี๋ยงและเจลมะเกี๋ยง มีประสิทธิภาคลดริ้วรอย และมีความคงตัวที่ดี

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ P.acnes ของสารสกัดและน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพรพบว่าสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยงแห้ง และสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยงสดที่สกัดโดยการ reflux ด้วยเอทานอล 50% และหมักด้วยเอทานอล 95% มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P.acnes ต่ำสุด คือ 0.623% W/V หรือ 6.25mg/ml


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเกี๋ยง

จากการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา พบว่า สารสกัดเนื้อมะเกี๋ยง ด้วยน้ำ ไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลัน และกึ่งเฉียบพลันในหนูขาว และยังมีฤทธิ์เหนี่ยวนำระบบต้านอนุมูลอิสระในตับหนู


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานผลสุกแบบสดๆ ของมะเกี๋ยง หรือ รับประทานในรูปแบบอาหารน่าจะมีประโยชน์ และความปลอดภัยมากกว่าการบริโภคแบบแปรรูปอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานมากจนเกินไปอาจทำให้ท้องเสีย หรือท้องเดินได้ เพราะผลสุกของมะเกี๋ยงมีรสเปรี้ยวผสมอยู่ ส่วนการรับประทานเพื่อหวังผลในการรักษาป้องกันโรค ควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรใช้เกินขนาดที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพาะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง มะเกี๋ยง
  1. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. http://puechkaset.com/มะเกี๋ยง/
  2. ทวีพร อณุจักร. การวิเคราะห์ลูกมะเกี๋ยงสุก (Eugenia paniala Roxb., Myrtaceae) ทางเคมี.วิทยานิพนธ์ปริญญาเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต.เชียงใหม่:คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2530
  3. พิมพร  ลีลาพรพิสิฐ อุดมภัณฑ์ ขาลสุวรรณ นิสิต กิตติพงษ์พัฒนา และจตุรงค์ รจนากูล.รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาพฤกษเคมี และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเมล็ดมะเกี๋ยงเพื่อใช้ทางยา เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547.
  4. พิมพ์ใจ อาษา.ฤทธิ์ต้านเชื้อ Propionibacterium acnes และ Staphylococcus acnes ของเมล็ดมะเกี๋ยง .วิทยานิพนธิวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม. เชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2551.
  5. พิมพ์ใจ อาษา.ฤทธิ์ต้านเชื้อ Propionibacterium acnes ของสารสกัดและน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพร.รายงานกระบวนวิชาปัญหาพิเศษเทคโนโลยีเภสัชกรรม.เชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549
  6. สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มะเกี๋ยง, ฝรั่ง พืชในโครงการอนุรักษ์.กรุงเทพฯ.กระทรวงศึกษาธิการ.2545
  7. ธนธร รจนากูล.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอยจากสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยง. วิทยานิพนธ์ปริญญาเภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต.เชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549
  8. การศึกษา ฐานทรัพยากรพืชพื้นถิ่นล้านนาเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์อาหารจาพืชพื้นถิ่นล้านนา. ฐานทรัพยากรพืชพื้นถิ่นล้านา.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  9. มะเกี๋ยง.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6482
  10. มะเกี๋ยง สรรพคุณและประโยชน์ มะเกี๋ยง.พืชเกษตรดอทคอม.เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  11. Taya S., Punvittayagul C., Chewonarin T., Wongpoomchai R. Effect of aqueous extract grom Clristocalyx nervosum on oxidative status in rat liver. Thai J.Toxicol 2008;249(2):101-105.
  12. Taya S., Charoensin S., Punvittagul C., Wongpornchai S. ang Wongpoomchai R.Toxicological study of antioxdative substances extracted from Ma-kiang (Cleistocalyx nervosum var poniala) in rat การประชุมวิชาการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี ครั้งที่ 6, 3-6 พฤษภาคม 2552, พัทยา, ชลบุรี, หน้า 273.