เทียนแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และงานวิจัย

เทียนแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร เทียนแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตู๋สิงช่าย, ถิงจื่อลี่ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidium sativum Linn. 
ชื่อสามัญ Garden Cress, Garden Cress Seed
วงศ์ CRUCIFERAE (BRASSICACEAE)

ถิ่นกำเนิดเทียนแดง  

เป็นพืชพื้นเมืองของทวีแอฟริกาใต้ แพร่กระจายพันธุ์ไปสู่ประเทศทางยุโรปเอเชียตะวันตก, เอเชียใต้ และในประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยไม่ปรากฏว่ามีการเพาะปลูกเทียนแดงแต่อย่างใดส่วนมาก เมล็ดเทียนแดง ที่จำหน่ายตามร้านขายยาสมุนไพรในประเทศไทยเป็นสมุนไพรนำเข้าจากต่างประเทศ โดยประเทศที่ส่งออกเทียนแดงมาก คือ ปากีสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน

เทียนแดงประโยชน์และสรรพคุณเทียนแดง

  • ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย
  • ใช้ขับความชื้นในปอด น้ำท่วมปอด
  • ใช้แก้เสมหะ
  • แก้น้ำดีพิการ
  • แก้คลื่นเหียนอาเจียน
  • แก้ลมเสียดแทงสองราวข้าง
  • ช่วยขับน้ำนม
  • แก้ลักปิดลักเปิด
  • ช่วยฟอกโลหิต
  • แก้อาการแน่นหน้าอก 
  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย
  • ช่วยขับลม
  • แก้อาเจียน
  • รักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต
  • แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • รักษาอาการอุจจาระธาตุพิการ
  • แก้ท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
  • รักษาหอบหืด
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษาโรคเบาหวาน
  • แก้ไอ และแก้ไอเรื้อรัง
  • ลดอาการบวมน้ำ

           ชาวยุโรปมีการนำเทียนแดงมาใช้ใส่ในซุป, แซนด์วิช และสลัด เพื่อเพิ่มรสชาติ

เทียนแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการนำเทียนแดงมาใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือ นำมาเข้าพิกัดยา เช่น ยาหอมเทพจิต, ยาหอมนวโกฐ, ยาธาตุบรรจบ และพิกัดเทียนทั้ง 5, 7, 9 ควรใช้ในขนาด และปริมาณตามที่ระบุไว้ ส่วนการใช้เทียนแดง ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้นมีดังนี้ ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับลม และอาการบวมน้ำ ด้วยการใช้เมล็ดเทียนแดง 300 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวจนน้ำแห้ง แล้วจึงนำไปแช่กับเหล้ารับประทาน แก้อาการไอเรื้อรัง โดย ใช้เทียนแดง 6 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แบ่งชงกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้น้ำดีพิการ รักษาโรคหอบหืด แน่นหน้าอก ให้ใช้เมล็ดเทียนแดง 5-10 กรัม ต้มกับน้ำใช้ดื่ม ส่วนหากจะใช้แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลักปิดลักเปิด ขับลม แก้ลมเสียดแทง ใช้ขับน้ำนมสตรีให้ใช้เมล็ดเทียนแดง 1-2 ช้อนชาชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้า-เย็น


ลักษณะทั่วไปของเทียนแดง

เทียนแดงเป็นสมุนไพรที่ได้จากเมล็ดแก่แห้งของพืชที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Lepidium sativum L. ส่วนใบของเทียนแดง นั้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง และมีความสูงประมาณ 10-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอด มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั้งต้น เป็นเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแคบ ขอบใบหยักลึก แตกเป็นแฉกคล้ายขนนก มีประมาณ 2-3 แฉก หน้าใบไม่มีขน แต่หลังใบมีขน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนใบด้านบนไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง รวมเป็นกระจุกดอกมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีสีขาวอมม่วง ขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ รอบกลีบมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 6 อัน ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่แบนมีเหลี่ยม ออกบริเวณง่ามใบ มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม เมล็ดมีสีแดงขนาดเล็กคล้ายรูปไข่ ผิวมันลื่น เรียบ ไม่มีขน ปลายข้างหนึ่งเรียวมีลักษณะเป็นร่องตามแนวสั้นๆ ส่วนเปลือกเมล็ดจะพองตัวเมื่อถูกความชื้น


การขยายพันธุ์เทียนแดง

เทียนแดง เป็นพืชที่ไม่มีการเพาะปลูกในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม แต่จากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า เทียนแดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยกดารใช้เมล็ด ส่วนวิธีการปลูกนั้นมีวิธีการ เช่นเดียวกันกับการปลูกเทียนขาว (Cuminum cyminum Linn) ที่ได้กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว


องค์ประกอบทางเคมี

ในส่วนเมล็ดเทียนแดง พบน้ำมันระเหยยาก ประมาณ 23%  โดยมีกรดไขมันชนิดแอลฟา ไลโนเลอิก (ALA) 34% ของกรดไขมันทั้งหมด วิตามินซี 37% นอกจากนี้ยังพบสารเมือก (mucilage) และเลคติน (lectin) เป็นองค์ประกอบของเมล็ดด้วยสารสำคัญที่พบแยกตามกลุ่มสารดังนี้ Imidazole alkaloid เช่น lepidine B, lepidine C, lepidine D, lepidine E, lepidine F, semilepidinoside A, semilepidinoside B Glucosinolate พบประมาณ 1.2% ในส่วนประกอบของน้ำมันระเหยง่าย จากใบ และเมล็ด เช่น N,N-dibenzylurea N,N-dibenzylthiourea, benzylthiocyanate, benzyl isothiocyanate, benzyl cyanide, sinapic acid ethyl ester และยังพบสารต่างๆ อีกเช่น allyl glucosinolate, erucic acid, sinapine, stearic acid, sitosterol       

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเทียนแดง

เทียนแดง   

ที่มา : Wikipedia

เทียนแดงการศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทียนแดง

ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอล การให้น้ำมันจากเมล็ด ในขนาด 10% แก่หนู เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าลดระดับคลอเรสเตอรอลที่ตับได้ 12.3% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 40.4% ลดระดับ LDL 9.45% แต่ระดับ HDL ไม่เปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัว และน้ำหนักของอวัยวะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระดับ ALA, EPA, DHA ในตับ และซีรัมเพิ่มขึ้น

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำ เมื่อให้หนูที่มีความดันโลหิตสูงกิน ในขนาด 20 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีผลลดความดันได้ในวันที่ 7 ของการได้รับสารสกัด โดยไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ และไม่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่ในหนูปกติจะเพิ่มการขับปัสสาวะ

           ฤทธิ์ระบาย เพิ่มการขับเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้ การศึกษาพบว่าสารสกัดด้วย 70% เมทานอล จากเมล็ดเทียนแดง ที่ความเข้มข้น 30 และ 100 mg/kg สามารถทำให้อุจจาระของหนู mice เปียกและนุ่มลง คิดเป็น 53.8±9.2% และ 63.2±5.3% ตามลำดับ ในขณะที่สารมาตรฐาน carbamylcholine (CCh) ขนาด 1 mg/kg ทำให้อุจจาระเปียก 73.6±6.8% และในขณะเดียวกันพบว่าสารสกัดของเทียนแดงมีผลต่อการเพิ่มการขับเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้เล็ก โดยการทดสอบกับอาหารที่ผสม charcoal ป้อนให้หนูเม้าส์ หลังจากนั้น 30 นาที นำลำไส้หนูมาตรวจสอบ พบว่าสารสกัดในขนาด 30 และ 100 mg/kg, สารมาตรฐาน CCh 1 mg/kg, และ negative contol ด้วย saline มีผลเพิ่มการขับเคลื่อนของอาหารผ่านลำไส้เล็กได้เท่ากับ 73.9±1.8% (p< 0.01), 86.7±2.8% (p < 0.001), 96.3±2.9% และ 57.1±2.6% ของความยาวลำไส้เล็ก ตามลำดับ การเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนที่ของลำไส้ได้มากขึ้น ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องอืดเฟ้อ

           ฤทธิ์ขยายหลอดลม สารสกัดบิวทานอลจากเมล็ด เมื่อให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้หลอดลมหดตัว ด้วยสารฮีสตามีน และอะเซทิลโคลีน พบว่าสามารถป้องกันหลอดลมหดตัวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketotifen (1 มก./กก.) และ atropine sulphate (2 มก./กก.) 

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำ เมื่อให้หนูกิน ขนาดสูงครั้งเดียว หรือให้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในหนูเบาหวาน และหนูปกติ โดยไม่ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดเปลี่ยนแปลง และทำให้น้ำหนักตัวหนูลดลง เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการศึกษาทดลองผลของเมล็ดเทียนแดง ในการลดไขมันเลือด โดยพบสาร flavonoid ในสารสกัดเทียนแดง ทำการทดลองโดยใช้ Chromatog techniques มีผลในการลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด 28.5% (ทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน) และแสดงผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรีกลีเซอไรด์


การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนแดง

สารสกัดผลแห้งด้วย 50% เอทานอล ขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่มีพิษไม่ว่าจะให้หนูถีบจักรกิน หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และสารสกัดเมล็ดด้วย 95% เอทานอล ไม่มีพิษ เมื่อให้หนูถีบจักรกินขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว หรือ ให้กินขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทุกวันติดต่อกัน เป็นเวลา 90 วัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เทียนแดง มีส่วนประกอบของ mustard oil หากรับประทานในขนาดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้เนื้อเยื่ออักเสบได้
  2. ผู้ที่มีธาตุอ่อน และมีภาวะปอดหย่อนไม่มีกำลัง หรือ ปอดอ่อนแอ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
  3. ไม่ควรรับประทานเมล็ดเทียนแดง หรือ ยาตำรับต่างๆ ที่มีเทียนแดงผสมอยู่มากเกินขนาดที่ระบุไว้ตามตำรายานั้นๆ รวมถึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง เทียนแดง
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. บริษัท ประชาชน จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2541.
  2. จิตรา ชัยวัฒน์. การตรวจเอกลักษณ์ทางเคมี-ฟิสิกส์ของเทียนแดง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 56. ฉบับที่ 3. กรกฎาคม-กันยายน 2557. หน้า 109-122
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เทียนแดง ”. หน้า 272.
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล; 2541: 403-6.
  5. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณาเภสัช.พิมพ์ครั้งที่ 2 กทม.อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง. 2548. หน้า 173
  6. หนังสือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “เทียนแดง” หน้า 111.
  7. เทียนแดง.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaiCrudedrug.com/main.php?action=viewpeg&pid=69
  8. Diwakar BT, Duttaa PK, Lokesh BR, Naidu KA.Bio-availability and metabolism of n-3 fatty acid rich garden cress (Lepidium sativum) seed oil in albino rats. Prostaglandins, Leukotrienes and Essential Fatty Acids 2008:78; 123–130.
  9. Mali RG, Shailaja G. Mehta AA, Mehta MA. Studies on bronchodilatory effect of Lepidium sativum against allergen induced bronchospasm in guinea pig.Phcog Mag 2008:4(15);189-192
  10. Gil V, MacLeod AJ. Studies on glucosinolate degradation in Lepidium sativum seed extracts. Phytochemisty 1980; 19(7): 1369-74
  11.  Maghrani M, Zeggwagh N-A, Michel J-B, Eddouks M. Antihypertensive effect of Lepidium sativum L. in spontaneously hypertensive rats. J  Ethnopharmacology  2005:100;193–197.
  12. Duke JA, Bogenschutz-Godwin MJ, duCellier J, Duke P-A. Handbook of Medicinal  Herbs. 2nd. CRC Press: Washinton D.C., 2002.
  13. Rehmana N, Mehmooda MH, Alkharfy KM, Gilania A-H.Prokinetic and laxative activities of Lepidium sativumseed extract with speciesand tissue selective gut stimulatory actions. J Ethnopharmacology. 2011;134:878–883.
  14.  Eddouks M, Maghrani M, Zeggwagh N-A, Michel JB.Study of the hypoglycaemic activity of Lepidium sativum L. aqueous extract in normal and diabetic rats.J  Ethnopharmacology  2005:97;391-395.