หนุมานประสานกาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หนุมานประสานกาย งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หนุมานประสานกาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อ้อยช้าง (เลย), ชิดฮะลั้ง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.Viguier.
ชื่อสามัญ Umbrella tree, Edible-stemed Vine
วงศ์ ARALIACEAE

 

ถิ่นกำเนิดหนุมานประสานกาย

หนุมานประสานกาย มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนในแถบจีนตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวียดนามตอนเหนือ แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ลงมาเรื่องๆ สู่ประเทศลาว, พม่า, ไทย และกัมพูชา เป็นต้น ในประเทศไทยสามารถพบได้มากในทุกภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยถูกจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักพบขึ้นตามป่า หรือ ที่รกร้างที่มีความสูง 1200-1700 เมตรจากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณหนุมานประสานกาย

  • นำยาทากันยุง กันยุงได้ถึง 7 ชั่วโมง
  • ช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก
  • แก้อัมพฤกษ์
  • แก้ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ยาแก้ไอ
  • ช่วยบรรเทาหวัด
  • แก้ร้อนใน
  • แก้เจ็บคอ และคออักเสบ
  • ใช้แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต
  • ช่วยกระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อน หรือ คั่งภายใน
  • ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
  • ช่วยแก้โรคหอบหืดได้
  • แก้ภูมิแพ้
  • แก้ช้ำใน
  • ใช้สมานแผลห้ามเลือด
  • ใช้ยางใส่แผลสด ทำให้แผลแห้งเร็ว
  • ช่วยแก้อาการอักเสบบวม
  • ช่วยขับเสมหะ
  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • ช่วยกระจายเลือดที่คั่งในสมอง
  • รักษาแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน
  • แก้พิษต่างๆ
  • ใช้แก่อาการหอบ

           หนุมานประสานกายเป็นไม้พุ่มที่มีทรงพุ่มกว้างเหมาะแก่การใช้แต่งสวน จึงมีการปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ

หนุมานประสานกาย

หนุมานประสานกาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

รักษาโรคหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ ใช้ใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น หรือ ใช้ใบแห้งชงกับน้ำเดือดดื่มแทนชา หรือ ใช้ใบแห้ง บดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง หรือ น้ำเชื่อม ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก็ได้ ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ใบสด 12-15 ใบย่อย ตำคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน หรือ จะใช้ใบสด ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ช้ำใน แก้ปวด กระจายเลือดที่คั่งในสมอง แก้อาเจียนเป็นเลือด ใบตำพอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดก็ได้ อีกตำราหนึ่งระบุว่า ใบสด 1 กำมือล้างน้ำให้สะอาด ต้มกับน้ำ 5 ถ้วยแกง เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วย ดื่มขณะยังอุ่น 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งถ้วย เช้า เย็น ก่อน หรือ หลังอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน ช่วยแก้โรคหอบหืดได้ รักษาแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน ด้วยการรับประทานใบสด 1-2 ใบ แล้วนำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนเช้าเย็น ใช้เป็นยาแก้พิษต่างๆ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำ หรือ นำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเหล้ากิน ใช้แก้อาการหอบ ใช้ใบหนุมานประสานกาย 7 ใบ ชงน้ำรับประทานทุกวัน จนมีอาการดีขึ้น และรับประทานอาทิตย์ละครั้งต่อไป ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากมาทา หรือ พอกเป็นยาสมานแผล และช่วยห้ามเลือด แก้ปวดบวมอักเสบ ช่วยแก้ช้ำใน ด้วยการใช้ใบหนุมานประสานกายประมาณ 1-3 ช่อ นำมาตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง กินทุกเช้าและเย็น


ลักษณะทั่วไปของหนุมานประสานกาย

หนุมานประสานกายจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร มีการแตกกิ่งก้านในระดับต่ำใกล้พื้นดิน ผิวของลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี  หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ส่วนริบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร พื้นผิวใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบหนา ส่วนก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 8-25 มิลลิเมตร  ออกดอกเป็นช่อ ตรงปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 3-5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อยเป็นดอกสีเหลืองแกมเขียวหรือสีขาวนวลและมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ อวบน้ำ ขนาดของผลเท่าเม็ดพริกไทย โดยมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด หนุมานประสานกาย สามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วมที่มีอินทรียวัตถุมากๆ และเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นปานกลาง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่เพราะในถุงพลาสติกแล้วจึงนำกล้าที่ได้ไปปลูก และการกิ่งปักชำ โดยใช้กิ่งพันธุ์ ขนาด 6-8 นิ้ว มีตา 3 ตา มีใบหรือปลายยอด 1/3 ของกิ่ง หนุมานประสานกายเป็นพืชที่โตเร็ว และแตกกิ่งก้านได้เร็ว มีทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง การปลูกจึงใช้ระยะเวลาการปลูก 4 เดือน ขึ้นไป สำหรับการเก็บเกี่ยวจะตัวทั้งกิ่งแล้วริดใบออก เลือกเฉพาะใบที่ไม่อ่อนเกินไป นำไปล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งหมาดๆ แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท หรือนำไปอบควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 65°ซ ซึ่งใบหนุมานประสานกาย สด 10 กก. จะตากแห้งได้ประมาณ 1 กก.


องค์ประกอบทางเคมีหนุมานประสานกาย

สารเคมีที่พบ ในส่วนต่างๆ ของหนุมานประสานกาย เช่น oleanolic acid,Oleic acid, betulinic acid, Scheffler leucantha triterpenoid saponin, D-glucose, D-Xylose, L-rhamnose และจากการสกัดใบของหนุมานประสานกายพบว่ามีสาร betulinic acid, lup-20-en-28-oic acid, 3-0-[œ-L-rhamnopyranosyl (1-2) β-D-glucopyranosyl (1-2)-β-D-glucuaronpy-ranosyl], lup-20-cn-28oic acid,3-0-[œ-L-glucopyranosyl (1-2)-β-D-xylopy-ranosyl (1-2)-β-D-glucopyranosyl, oleanolic acid, olean- 12-en-28-oic acid,3-O-[œ-L-amnopyranosy (1-2)-β-D-glucuaronpy-ranosyl], Schefflera leucantha trierpenoid saponin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหนุมานประสานกาย

โครงสร้างหนุมานประสานกาย   

ที่มา : Wikipedia

 การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหนุมานประสานกาย

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทิลอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 10 มก./แผ่น ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ในจานเลี้ยงเชื้อ โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญเท่ากับ 13.6 มม. และสารในขนาดเดียวกันไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย b-Streptococcus group A, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa สารสกัดจากใบหนุมานประสานกาย มีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมแต่ไปกดหัวใจ โดยสารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins) สามารถขยายหลอดลม ซึ่งจะลดการหลั่งของสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ คือ ฮีสตามีน (Histamine) และสารเมซโคลิน (Methcholine) ได้ และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบหนุมานประสานกาย มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวให้เร็วขึ้น และเพิ่มการหดตัวของบาดแผลได้

           ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของหนุมานประสานกายยังพบว่าสามารถ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา ขยายหลอดลม ไล่แมลง ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นพิษต่อเซลล์ เพิ่มแรงบีบของหัวใจ เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของหนุมานประสานกาย

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ มีการศึกษาผลของหนุมานประสานกาย ที่มีต่อหัวใจ พบว่าเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ และเป็นพิษต่อหัวใจ ในขนาดสูง และอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ห้ามใช้สมุนไพรหนุมานประสานกาย กับคนที่เป็นโรคหัวใจ คนที่มีไข้สูง และหญิงตั้งครรภ์
  2. ในการใช้สมุนไพรหนุมานประสานกายอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ หรือ ใช้เกินขนาด โดยจะมีอาการ ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น
  3. ห้ามใช้ยานี้ในขณะที่กำลังเหนื่อยหรือในขณะที่หัวใจเต้นเร็ว เช่น หลังการออกกำลังกาย เพราะจะยิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  4. ไม่ควรใช้หนุมานประสานกาย ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และใช้เกินขนาดเพราะอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือดได้

เอกสารอ้างอิง หนุมานประสานกาย
  1. วราภรณ์ คีรีพัฒน์.สมุนไพรไทย.เพื่อความเป็นไทย.คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัดและสมุนไพร.วารสารรูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.ปีที่ 29.ฉบับที่ 3. กันยายน-ธันวาคม 2551 หน้า 80-85
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนุมานประสานกาย ”. หน้า 185.
  3. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  4. อารีรัตน์ ลออปักษา สุรัตนา อำนวยผล วิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร 1988;13(1):23-36.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนุมานประสานกาย”. หน้า 818-819.
  6. สอบถามเรื่องการใช้หนุมานประสานกาย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://ww.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6158
  7. หนุมานประสานกาย.กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_08_12.htm.
  8. ต้นหนุมานประสานกาย.กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5238
  9. Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Thiantanawat A, Kositchaiwat U.  Hypoglycemic activity of the aqueous extract of Schefflera venosa Viguier in rats.  Thai J Phytopharmacy 1996;3(1):1-5.
  10.  Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Saivises R, Sanvarindy Y.  Pharmacological and toxicological studies of the constituents of Schefflera venulosa.  The 4th Asian Symposium on Medicinal Plants and Spices, Bangkok, Thailand 1980:47.