หูเสือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หูเสือ งานวิจัยและสรรพคุณ 37 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร เนียมหูเสือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ใบหูเสือ (ทั่วไป, ภาคกลาง), หอมด่วนหลวง, หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ทั่วไป, ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่ (ไทยใหญ่), โฮ่อิ๋มเช่าชี่ปอ, โฮว่ฮีเช่า, เนียมอีไหลหลึง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coleus aromaticus Benth., Coleus amboinicus Lour. Coleuscrassifolius Benth., 
ชื่อสามัญ Indian borage, French thyme, Country borage, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille.
วงศ์ LAMIACEAE - LABIATAE

ถิ่นกำเนิดเนียมหูเสือ

หูเสือเป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแถบประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่น อินเดีย, จีน ตอนใต้ รวมถึง บางประเทศในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย สามารถพบหูเสือ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่พบได้มากในภาคเหนือ โดยมักจะพบขึ้นตามที่ชื้นแฉะทั่วไป หรือ ตามที่รกร้างต่างๆ ที่มีความชื้นสูง


ประโยชน์และสรรพคุณเนียมหูเสือ

  • ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า หรือ สระผมได้
  • ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม
  • นำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงก็ได้
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • แก้พิษฝีในหู
  • แก้ปวดหู
  • แก้หูน้ำหนวก
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้ไข้หวัดในเด็ก
  • แก้โรคหืด
  • บำรุงร่างกาย
  • แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ
  • แก้อาการปวด
  • ลดไข้
  • ช่วยรักษาอาการหวัดคัดจมูก
  • รักษาหิด
  • แก้ลมชักบางประเภท
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา
  • ช่วยขับลม
  • แก้ปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อย
  • แก้แมลง สัตว์ กัดต่อย
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • รักษาอาการบวม
  • แก้ปวดข้อ
  • ใช้ขยี้ทาห้ามเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • ช่วยดับกลิ่นปาก
  • แก้ปวดฟัน
  • ป้องกันฟันผุ
  • ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม
  • บำรุงร่างกายขับน้ำนมหลังคลอด
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้เจ็บคอ คออักเสบ
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ

           หูเสือเป็นสมุนไพรที่คนไทย และคนจีนรับประทานเป็นอาหารมาอย่างยาวนาน เนื่องจากหูเสือ มีกลิ่นหอมชวนให้รับประทาน โดยรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหาร เพื่อดับกลิ่นคาวและทำ ให้อาหารมีกลิ่นหอมหรือนำ ยังมีการนำใบของต้นหูเสือ มาใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารไทย ฝรั่ง โดยกลิ่นหอมของใบหูเสือ จะมีกลิ่นคล้ายกับเครื่องเทศ "ออริกาโน" (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนออริกาโนได้


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใบสดคั้นเอาน้ำมาหยอดหู แก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูน้ำหนวก บำรุงเลือดลม ให้ใช้รากหูเสือนำมาต้มกับน้ำกิน แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา แล้วนำมากินและอมบ่อยๆ ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการคัดจมูกเนื่องจากหวัดได้ แก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา ต้มดื่มเรื่อยๆ หรือ ใช้ใบหูเสือ สดประมาณ 4-5 ใบ นำมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียด ใช้ต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำ และเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนตำรับยาแก้ไอในเด็ก ระบุให้นำใบหูเสือมานวดกับเกลือ คั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือด แล้วนำมาให้เด็กกิน ช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยโดยใช้ยางจากใบใช้ผสมกับน้ำตาลกิน ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา แก้อาการท้องอืดในเด็กโดยนำต้นและใบนำมาขยี้ใช้ทาท้องเด็ก ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือ เป็นตุ่มพุพอง ใบนำมาขยี้ทารักษาหิด ไปใช้ภายนอกนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด ช่วยรักษาอาการบวม โดยใช้ใบตำพอกแก้ปวดข้อ

ลักษณะทั่วไปเนียมหูเสือ  

หูเสือ จัดเป็นไม้ล้มลุกมี อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือ รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่ง หรือ ยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น ผล มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

หูเสือ

หูเสือ

การขยายพันธุ์เนียมหูเสือ

หูเสือ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการปักชำยอด หรือ ต้นโดยเลือกกิ่งที่แข็งแรงแล้วนำมาตัดใบออกบางส่วน แต่อย่างตัดให้กิ่งโดนก้านใบเพราะจำทำให้ตาที่จะแตกยอดใหม่ถูกต้องไปด้วยจากนั้นจึงนำมาปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกๆ วัน จากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มมีรากออกมาและแตกกิ่งก้านสาขาไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ หูเสือ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง แต่ก็สามารถขึ้นได้ทุกสภาพดินเป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก และชอบแสงแดดปานกลาง 


องค์ประกอบทางเคมี 

สารสำคัญที่พบในใบของต้นหูเสือ เช่น น้ำมันหอมระเหย thymol, carvacrol, γ-terpinene, cyperene เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหูเสือ
 
ที่มา : Wikipedia

 การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหูเสือ

ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร ศึกษากระตุ้นความอยากอาหารของหูเสือ (Coleus aromaticus) ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 32 คน (เพศชาย 24 คน และ เพศหญิง 8 คน) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 คน โดยในแต่ละกลุ่มให้มีอาสาสมัครเพศชาย 6 คน และอาสาสมัครเพศหญิง 2 คน) กลุ่มที่ 1 ให้เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2-4 ให้ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12, 18 และ 24% ตามลำดับ โดยให้ดื่มขนาด 170 มล. หลังจากนั้น 30 นาที ทำการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และประเมินความอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยใช้แบบสอบถาม visual analog scale ผลจากการทดลองพบว่า อาสาสมัครที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% มีค่าระดับฮอร์โมน leptin ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความอิ่มหรือทำให้ไม่อยากอาหารลดลง โดยกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือที่ความเข้มข้น 12% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือเข้มข้น 24% ระดับฮอร์โมน leptin จะมีค่าเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับผลการประเมินความรู้สึกอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยพบว่า อาสาสมัครในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% จะมีความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 24% จะมีความอยากอาหารลดลง ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือ มีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารได้ แต่การดื่มที่ความเข้มข้นสูงเกินไปก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม และขนาดความเข้มข้นที่พอเหมาะสำหรับดื่มเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร คือ 12% และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศของต้นหูเสืออีกหลายเรื่อง เช่น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ทั้งประเภท gram-positive และ gram-nagative และน้ำยาที่สกัดจากเนียมหูเสือสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ยั้บยั้งเชื้อราและยีสต์ ยับยั้งเอนไซม์ protease ที่เกิดจากเชื้อ HIV เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของหูเสือ

ในการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าน้ำยาสกัดจากจากต้นหูเสือ ทั้งต้นโดยใช้เอทานอล 50% เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในอัตราสูงกว่า 1 มก. ทำให้หนูตาย 50%(LD50) แสดงว่ามีความเป็นพิษมาก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานต้นหูเสือรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปต่างๆ จากต้นหูเสือ
  2. ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ต้นหูเสือ เสมอเพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
  3. ไม่ควรรับประทานส่วนต่างๆ ของต้นหูเสือทั้งรับประทานแบบสดๆ หรือ รูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆของต้นหูเสือในปริมาณที่มากและนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง หูเสือ
  1. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/เนียมหูเสือ/
  2. หลากหลายสรรพคุณกับสมุนไพรไทย.คอลัมน์เก็บมาฝาก.หนังสือพิมพ์กสิกร.กรมวิชาการเกษตร.ปีที่ 85.ฉบับที่ 4. กรกฎาคม-สิงหาคม. 2555 หน้า 53-61
  3. ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารของเนียมหูเสือ (Coleus aromaticus). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ใบหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.main.php?action=viewpage&pid=173
  5. หูเสือ. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phorgarden.com/main.php?action=viewpage&id=5439
  6. หูเสือ, ตะลิงปลิง. กลุ่มยารักษาตาคางทูม แก้ปวดหู. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_4.htm.
  7. มะแขว่นและเนียมหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/repiy.asp?id=5558