กระทือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

กระทือ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระทือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระทือ (ทั่วไป), กระทือป่า, กะแอน, กะแวน (ภาคเหนือ), เฮียวดำ, เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน), เปลพ้อ (กะเหรี่ยง), เฮียวซ่า (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Smith
ชื่อสามัญ Shampoo ginger, Wild ginger
วงศ์ Zingilberaceae

ถิ่นกำเนิดกระทือ

กระทือมีถิ่นกำเนิดบริเวณเอเชียใต้ บริเวณประเทศอินเดีย และศรีลังกา ต่อมามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่น บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, มาเลเซีย, ลาว, อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมักพบแพร่กระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และชอบขึ้นบริเวณดินร่วน โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นข้างลำน้ำ สำหรับในประเทศไทยพบกระทือ ขึ้นมากตามป่าดงดิบที่มีความชื้นสูงทางภาคเหนือ รวมถึงตามริมลำธารของชายป่าในภาคใต้ 

ประโยชน์และสรรพคุณกระทือ

  1. บำรุงน้ำนมสตรีให้บริบูรณ์
  2. ลดอาการท้องอืด
  3. แก้ท้องเฟ้อ
  4. ช่วยขับลม
  5. แก้ลมจุกเสียด
  6. ช่วยย่อยอาหาร
  7. แก้ปวดมวนในท้อง
  8. แก้บิด
  9. แก้ไอ
  10. บำรุงธาตุ
  11. ขับปัสสาวะ
  12. แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม
  13. ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงสู่ลำไส้
  14. แก้พิษเสมหะ
  15. ทำให้เจริญอาหาร
  16. แก้ไข้
  17. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  18. ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  19. แก้ปวดท้อง
  20. แก้บิดปวดเบ่ง
  21. แก้มีมูก
  22. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง โดยใช้หัว หรือ เหง้ากระทือ สด ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (ประมาณ 20 กรัม) ย่างไฟพอสุก นำมาฝนแล้ว เติมน้ำปูนใสครึ่งแก้ว เอาน้ำดื่มเวลามีอาการ แก้บิดปวดเบ่ง และมีมูก หรือ อาจมีเลือดด้วย) ใช้เหง้า หรือ หัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้หัวกระทือนำมาฝนแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการเคล็ด


ลักษณะทั่วไปของกระทือ

กระทือ จัดเป็น ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบเป็นเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 14-40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มี 10-25 ใบ เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ รูปไข่กลับกว้างหรือเกือบกลม กว้าง 3.0-3.2 ซม. ยาว 2.0-2.3 ซม. ปลายมน ขอบพับเข้าด้านใน ดอกบานสีขาวอมเหลืองโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 ซม. ยาว 1.7 ซม. ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 ซม. ยาว 1.8 ซม. ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 ซม. ยาว 1.6-1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้าง 0.4 ซม. ยาว 1 ซม. ก้านชูอับเรณูสั้นมากยาว 0.1 ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 ซม. ยาว 0.4 ซม. ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 2.5 ซม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม ผล เป็นแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน

กระทือ

กระทือ

กระทือ

การขยายพันธุ์กระทือ

กระทือตามธรรมชาติจะแพร่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ และการงอกของเมล็ด การปลูกกระทือ มักจะนิยมขุดแยกเหง้าหรือหน่อออกจากเหง้าแม่ แล้วนำปลูกลงแปลง ซึ่งจะแตกต้นใหม่ และขยายจนเป็นกอใหญ่ โดยหน่อที่ขุดแยก ควรเป็นหน่อแก่ และให้มีลำต้นติดมาด้วย แต่ให้ตัดเหลือลำต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก่อนนำลงปลูก

           ทั้งนี้กระทือ เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นดินมีอินทรียวัตถุสูง มีความชื้นพอประมาณ และมีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน ดังนั้น การปลูกที่ได้ผลจะต้องให้น้ำเป็นประจำ หรือ ปลูกในบริเวณที่มีน้ำไหลผ่าน เช่น ริมห้วย หรือ คลอง เป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

ในเหง้าแก่ มีน้ำมันหอมระเหย ที่มีองค์ประกอบของ methylgingerol, zingerone, citral, Zerumbone, Zerumbone oxide นอกจากนี้ในเหง้ายังพบสาร Afzelin, Camphene, Caryophyllene  Curzerenone Isoborneol Sesquiterpene

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระทือ

โครงสร้างกระทือ

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระทือ

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ 4 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่ zerumbone(1), 3-O-methyl kaempferol(2), kaempferol-3-O-(2, 4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (3) และ kaempferol-3-O-(3,4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (4) โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบที่หลั่งจากแมคโครฟาจ (RAW 264.7 murine macrophage cell lines) ของหนู โดยใช้ lipopolysaccharide (LPS) เป็นสารกระตุ้นการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้าง NO ได้ร้อยละ 84.1 ± 2.31 และ 47.1 ± 2.97 ตามลำดับ โดยสามารถยับยั้งการผลิต NO ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีค่า IC50 เท่ากับ 4.37 และ 24.35 µM ตามลำดับ ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 (PGE2) พบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง PGE2ได้ร้อยละ 51.0±12.7 และ 68.6±15.9 ตามลำดับ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 40 µM ตามลำดับ

           ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ใช้การทดสอบด้วยวิธี writhing test ในหนูขาวเพศเมียสายพันธุ์ Sprague–Dawley ฉีดสาร zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนูก่อนฉีดคาราจีนแนน หรือ พรอสตาแกลนดิน E2 ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวาของหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ บันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าหนูด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4 และ 5 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า สาร zerumbone มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน และ prostaglandin E2 (PGE2) เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piroxicam (20mg/kg) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)โดยสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg และยา piroxicam มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05) โดยมีค่าการต้านการอักเสบได้ร้อยละ 45.67, 70.37 และ 75.31 ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยพรอสตาแกลนดิน E2 พบว่ามีค่าการต้านการอักเสบคิดเป็นร้อยละ 41.46, 87.80 และ 92.68 ตามลำดับ

           ฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนู การทดสอบฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR โดยการฉีดสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่ zerumbone ขนาด 10 mg/kg ก่อนให้คาราจีแนน 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้านหลังของหนู แล้วบันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสาร zerumbone และสารมาตรฐาน indomethacin ขนาด 100 mg/kg สามารถลดปริมาตรการบวมได้ โดยมีค่าร้อยละของการเพิ่มขึ้นของปริมาตรอุ้งเท้าเท่ากับ 38.8±16.7 และ 51.0±16.7% (P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) ตามลำดับ โดยสาร zerumbone ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน โดยสรุปสาร zerumbone มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และลดการบวมได้ดีที่สุด โดยสามารถยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง และลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้

           ฤทธิ์ยับยั้งการเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และปอด โดยการศึกษาแบ่งเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 ใช้หนูเม้าส์เพศผู้ 85 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 8 กลุ่ม โดยหนูจะได้รับสาร azoxymethane (AOM) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วน colon ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว ฉีดเข้าทางช่องท้อง หลังจากนั้น 7 วัน ให้กินน้ำที่มีส่วนผสมของ dextran sulphate sodium (DSS) 1.5% (w/v) นาน 7 วัน หลังจากนั้นอีก 7 วัน ให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone จากเหง้ากระทือ นาน 17 สัปดาห์ ซึ่งกลุ่มที่ 1 (20 ตัว) ได้รับสาร azoxymethane (AOM) ร่วมกับให้กินน้ำที่มีส่วนผสมของ DSS 1.5% (w/v) กลุ่มที่ 2-4 (กลุ่มละ 15 ตัว) เป็นกลุ่มที่ได้รับสาร AOM ร่วมกับการให้กินน้ำที่มีส่วนผสม DSS 1.5% (w/v) และได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 100, 250 และ 500 ppm ตามลำดับ กลุ่มที่ 5 (5 ตัว) ได้รับน้ำที่มีส่วนผสมของ DSS 1.5% (w/v) ร่วมกับอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 500 ppm กลุ่มที่ 6 (5 ตัว) ได้รับน้ำที่มีส่วนผสมของ DSS 1.5% (w/v) เพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 7 (5 ตัว) ได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 500 ppm เพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 8 เป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรเลย และการทดลองที่ 2 ใช้หนูเม้าส์เพศเมีย 50 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (10 ตัว) ได้รับสาร 4-(N -methyl-N -nitrosamino) -1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) ขนาด 10 ไมโครโมล/หนู 1 ตัว ฉีดเข้าทางช่องท้อง เหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งที่ปอด กลุ่มที่ 2-4 (กลุ่มละ 10 ตัว) ได้รับสาร NNK หลังจากนั้น 7 วัน ให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 100, 250 และ 500 ppm ตามลำดับ นาน 21 สัปดาห์ กลุ่มที่ 5 ได้รับสาร zerumbone ขนาด 500 ppm เพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 6 เป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรเลย พบว่าในการทดลองที่ 1 กลุ่ม ที่ได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 100, 250 และ 500 ppm สามารถลดการอักเสบ และยับยั้งการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 1 ที่ไม่ได้รับสาร zerumbone ซึ่งขนาดที่ให้ผลดีที่สุด คือ 500 ppm ในขณะที่การทดลองที่ 2 กลุ่ม ที่ได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของสาร zerumbone ขนาด 250 และ 500 ppm สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งที่ปอดได้ จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าสาร zerumbone สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ และปอดได้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง เหนี่ยวนำให้มีการตายแบบอะพอพโทซิส (apopotosis) และกดการทำงานของโปรตีน Nuclear Factor (NF) Kappa B ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ

           ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียสารสกัดกะทือ ด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง เช่น Escherichia coli, Shigella flexneri, Vibrio cholerae, และ Vibrio parahaemolyticus ในขณะที่สารกลุ่มเทอร์ปีนในน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcal

           ฤทธิ์แก้ปวด ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากเหง้ากระทือ ในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยกระตุ้นให้หนูเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยการฉีดกรดอะซิติก (writing test) ซึ่งแสดงถึงการเจ็บปวด โดยให้น้ำมันหอมระเหยในขนาดความเข้มข้นต่างๆ แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติกเข้าทางช่องท้องเพื่อกระตุ้นการปวด ผลการศึกษาพบว่าเมื่อให้หนูได้รับน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง และให้ทางปาก ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg มีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าการยับยั้งอาการปวดเมื่อให้โดยวิธีการฉีดเท่ากับ 23.02, 53.89, 83.63 และ 98.57% ตามลำดับ และค่าการยับยั้งการปวดเมื่อให้ทางปากเท่ากับ 13.04, 28.30, 54.69 และ 75.68% ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอาการปวดได้ร้อยละ 50 (ID50) โดยวิธีการฉีด และให้ทางปากเท่ากับ 88.8 และ 118.8 mg/kg ตามลำดับ แสดงว่าการฉีดมีผลยับยั้งการปวดได้ดีกว่าการกิน ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธีการฉีดในการศึกษาวิธีอื่นๆ ต่อไป การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดโดยใช้สารกระตุ้นการปวด 3 ชนิด ได้แก่ capsaicin, glutamate และ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) ทดสอบโดยฉีดน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ เข้าทางช่องท้องหนู ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม ใช้ยาแอสไพริน (100 mg/kg, i.p.) และ capsazepine (0.17 mmol/kg, i.p.) เป็นสารมาตรฐาน หลังฉีดสารทดสอบแล้ว 30 นาที จึงฉีดสารกระตุ้นการปวดชนิดต่างๆ ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (แสดงถึงการเจ็บปวด) ผลการทดสอบโดยใช้ capsaicin เป็นสารกระตุ้นการปวดพบว่าสารสกัดความเข้มข้น 100, 200 และ 300 mg/kg สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งการปวดเท่ากับ 33.00, 73.40 และ 97.64% ตามลำดับ มีค่า ID50 เท่ากับ 128.8 mg/kg ขณะที่สารมาตรฐานแอสไพริน และ capsazepine มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.07 และ 62.29 % ตามลำดับ ผลการทดสอบเมื่อใช้ glutamate เป็นสารกระตุ้น พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น  และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 11.27, 41.70, 64.81, 99.30 และ 63.88% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าเท่ากับ 124.8 mg/kg ผลการทดสอบเมื่อใช้ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) เป็นสารกระตุ้นการปวด พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าการยับยั้งการปวดได้เท่ากับ 59.94, 80.42, 94.58,100 และ 56.93% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.29 mg/kg จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ สามารถลดอาการปวดได้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในทางคลินิกสำหรับบรรเทาอาการปวดได้ต่อไป

         ฤทธิ์ลดไขมัน ศึกษาฤทธิ์ลดไขมันของสาร zerumbone จากเหง้ากระทือ (Zingiber zerumbet) ในหนูแฮมเตอร์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยการเลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูง (high-fat diet) นาน 2 สัปดาห์ ทำการป้อนสาร zerumbone ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. ให้แก่หนูวันละครั้งนาน 8 สัปดาห์ จากนั้น ชำแหละซากหนู แยกเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อตับและเลือด เพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีที่เปลี่ยนแปลงไป ผลจากการทดลองพบว่า หนูแฮมเตอร์ที่ถูกป้อนด้วยสาร zerumbone ทุกขนาด มีค่าโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ low density lipoprotein- cholesterol (LDL-C) ทั้งในเลือดและในตับลดลง พบไขมันในอุจจาระเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับหนูที่ถูกป้อนด้วยอาหารที่มีไขมันสูงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การป้อนสาร zerumbone ยังมีผลลดการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างไขมันได้แก่ fatty acid synthase, malic enzyme, sterol-regulatory element binding protein และ 3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-CoA reductase และเพิ่มแสดงออกของโปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายไขมันได้แก่ peroxisome proliferator-activated receptor α, carnitine palmitoyl transferase และ acyl-CoA oxidase ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สาร zerumbone จากกระทือมีฤทธิ์ลดไขมันทั้งในเลือดและในตับ โดยไปมีผลเกี่ยวข้องกับกลไกการแสดงออกของโปรตีนในกระบวนการสร้างและสลายไขมัน

             และยังมีการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ทดสอบในหนูขาวโดยกระตุ้นให้หนูเกิดการปวดจนเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยกรดอะซิติก (writing test) ทดสอบโดยฉีดสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg แก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติก ใช้ piroxicam (20mg/kg) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่า การให้ zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg สามารถระงับอาการปวดได้ คิดเป็นร้อยละ 47.89 และ 71.05 ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน piroxicam (ระงับการปวดได้ร้อยละ 71.49)

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระทือในต่างประเทศอีกมากมาย เช่น น้ำมันหอมระเหยของกระทือมีฤทธิ์ช่วยขับลม และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาจากสารสกัดกะทือเป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระทือ

การทดสอบความเป็นพิษเมื่อป้อนสารสกัดจากเหง้ากะทือด้วยเอทานอล 50% ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) และฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ ในขนาดเดียวกันซึ่งขนาดที่ใช้มีความแรงเป็น 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรับยาไม่พบความเป็นพิษใดๆ และเมื่อป้อนตำรับยาที่มีกระทือเป็นส่วนประกอบให้กับหนูเม้าส์ ไม่พบความผิดปกติของตัวอ่อนในหนูที่กำลังตั้งท้อง 

           ความเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดจากเหง้า และสาร zerumbone ในน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดด้วยน้ำร้อนและน้ำจากรากของกระทือ รวมทั้งตำรับยาที่มีกระทือเป็นส่วนประกอบ ไม่มีผลให้เกิดการกลายพันธุ์กับเซลล์แบคทีเรีย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. กระทือ เป็นพืขในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ดังนั้นผู้ที่แพ้ขิง หรือ พืชวงศ์นี้ไม่ควรใช้กระทือ
  2. การใช้ประโยชน์จากกระทืบในด้านสมุนไพร ควรใช้ในปริมาณที่กำหนด ห้ามใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง กระทือ
  1. กระทือ.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุข.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ฤทธิ์ลดไขมันของสาร zerumbone จากกระทือ (Zingiber zerumbet). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. Kitayama T. Attractive reactivity of a natural product, Zerumbone. Biosci. Bioctechnol. Biochem 2011;75(2):199-207.
  4. สาร Zerumbone จากเหง้ากระทือสามารถยับยั้งการเป็นกระเร็งที่ลำไส้ใหญ่และที่ปอด.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. กระทือ.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=200
  6. กระทือประโยชน์และสรรพคุณกระทือ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pucehkasel.com
  7. กระทือ.กลุ่มยาขับน้ำนม.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plont_data/herbs_13_2.htm
  8. กระทือ.ฐานข้อมูลสมุนไพรเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedruy.com/main.php?action=viewpaye&pid=17
  9. กองวิจัยการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 12.
  10. Chien TY, Chen LG, Lee CJ, Lee FY, Wang CC. Anti-inflammatory constituents of Zingiber zerumbet. Food Chemistry. 2008;110:584-589.
  11. Kader MG, Habib MR, Nikkon F, Yeasmin T, Rashid MA, Rahman MM, Gibbons S. Zederone from the rhizomes of Zingiber zerumbet and its anti-staphylococcal Activity. Boletín Latinoamericano y del Caribe de Plantas Medicinales y Aromáticas 2010;9(1):63-68.
  12. Ross MSF, Brain KK. An introduction to phytopharmacy. London: Pithman Medical Publishing Co. Ltd. 1977. p.158-76.
  13. Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Cosmet Toxicol 1982;20:527-30.
  14.  Khalid MH, Akhtar MN, Mohamad AS, Perimal EK, Akira A, Israf DA, et al. Antinociceptive effect of the essential oil of Zingiber zerumbet  in mice: Possible mechanisms. J ethnopharmacology. 2011;137: 345-351.
  15. Ostraff M, Anitoni K, Nicholsan A, Booth GM. Traditional Tongan cures for morning sickness and their mutagenic/toxicological evaluations. J Ethnopharmacol 2000;71:201-9.
  16.  Thamaree S, Pachotikarn C, Tankeyoon M, Itthipanichpong C. Effects on intestinal motility of thirty herbal medicines used in the treatment of diarrhoea and dysentry. Chula Med J 1985; 29(1):39-51.
  17. Mokkhasmit M, Sawasdimongkol K, Sartravaha P. Toxicity study of some medicinal plants. Bull Dep Med Sci Thailand 1971;13(1):36-66.
  18. Somchit MN, Mak JH, Bustamam AA, Zuraini A, Arifah AK, Adam Y, et al. Zerumbone isolated from Zingiber zerumbet inhibits inflammation and pain in rats. J Med Plants Res. 2012;6(2):177-180.
  19. Gristsanapan W, Chulasiri M. A preliminary study of antidiarrheal plants: I. Antibacterial activity. J Pharm Sci Mahidol Univ 1983;10(4):119-22.
  20.  Bradacs G, Maes L, Heilmann J. In vitro cytotoxic, amtiprotozoal and antimicrobial activities of medicinal plants from Vanuatu. Phytother 2010;24:800-9.