ส้มโอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

ส้มโอ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ส้มโอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะโอ, มะขุน (ภาคเหนือ), บักส้มโอ (ภาคอีสาน), นาวโอ (ภาคใต้), ลีมาบาลี (มลายู), สังอู (กะเหรี่ยง), โกรัยตะลอง (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus maxima (Burm.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus grandis (L.) Osbeck, Aurantium maxima Burm. ex Rumph.
ชื่อสามัญ Pomelo, Shaddock Pomelo
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดส้มโอ

ส้มโอเป็นพืชตระกูลเดียวกับส้มเขียวหวาน มะนาว มะกรูด ส้มเช้ง และส้มเกรปฟรุต จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญของส้มโอว่า Pomelo ที่หมายความว่า ส้มที่มีผลเท่าฟักทอง ในภาษาดักข์ โดยส้มโอมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, พม่า, ลาว, กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย การปลูกส้มโอในประเทศไทยในช่วงแรกๆ จะมีการปลูกบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงพระนคร และฝั่งธนบุรี ต่อมาจึงส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้นทั่วภาคกลาง เช่น อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้มากมาย และมีการส่งเสริมการปลูกในภาคต่างๆ ในเวลาต่อมา ได้แก่ พันธุ์ขาวแป้น,พันธุ์ขาวพวง เป็นต้น และในปัจจุบันมีจังหวัดที่ปลูกส้มโอ มาก ได้แก่ ชุมพร นครปฐม นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และเชียงราย

           นอกจากนี้ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุ์ส้มโอ ที่มีมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด รวมถึงส้มโอยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออกที่มีมูลค่ามากติดอันดับต้นๆ อีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณส้มโอ

  1. ทำให้ผิวพรรณผุดผ่องตาเป็นประกายสวยงาม
  2. แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  3. ช่วยขับลม
  4. ช่วยขับเสมหะ
  5. แก้อึดอัด
  6. แก้จุกแน่นหน้าอก
  7. แก้ไอ
  8. แก้ปวดท้องน้อย และไส้เลื่อน
  9. แก้ลมในกองลมป่วง แก้ลมในกอง
  10. แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
  11. แก้อาเจียน
  12. ใช้ต้มน้ำอาบแก้คัน
  13. รักษาโรคผิวหนังจำพวกลมพิษ
  14. รักษาปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  15. รักษาโรคลำไส้อักเสบ
  16. ช่วยขับพยาธิ
  17. ช่วยเจริญอาหาร
  18. ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
  19. แก้อาการเมาสุรา
  20. แก้ลำคออักเสบ
  21. รักษาฝี
  22. แก้อาการปวดศีรษะ

           ส้มโอ ถือเป็นผลไม้สมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีการนำมาทำประโยชน์ทั้งทางด้านอาหาร และด้านสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว สำหรับในฐานะอาหารมีการใช้ส้มโอเป็นผลไม้สำหรับรับประทานซึ่งจะนำ เนื้อผลมารับประทาน โดยจะให้น้ำฉ่ำหวาน หรือ หวานอมเปรี้ยวหรือนำเนื้อผลนำมาแปรรูปเป็นน้ำปั่น หรือ ผสมทำไอศครีม รวมถึงนำมาทำอาหาร เช่น ตำส้มโอ, ข้าวยำ เป็นต้น หรือ นำส่วนใยสีขาวจากเปลือกนำมาสับ และตากให้ ก่อนบดให้ละเอียดจนเป็นผงอีกครั้ง แล้วนำมาใช้เป็นส่วนผสมของขนมหวาน เช่น ขนมบ้าบิ่น นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของส้มโอ อีกเช่นเปลือกด้านนอกของส้มโอนำมาบดผสมสำหรับทำธูปหอม ธูปไล่ยุง หรือ นำเปลือกส้มโอชั้นในส่วนที่เป็นสีขาวมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เช่น สบู่เหลว, สบู่, โลชั่นบำรุงผิว หรือ นำมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น

ส้มโอ

ส้มโอ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

เปลือกส้มโอ นำมาตากแดดให้แห้งแล้วนำมาบดใช้ปรุงเป็นยาตามตำรับยาต่างๆ เปลือกใช้ตำแล้วนำมาพอกเพื่อรักษาฝี ใช้รักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ใช้เปลือกผลครั้งละ 0.5-1 ผล หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำอาบ หรือ ทาบ่อยๆบริเวณที่เป็น แก้อาการไอ มีเสมหะ ด้วยการใช้ผลสดนำเมล็ดออก แกะเป็นชิ้นเล็กๆ แช่กับน้ำเหล่าไว้หนึ่งคืน เสร็จแล้วนำไปต้มให้ เละแล้วผสมกับน้ำผึ้ง นำมากวนจนเข้ากันแล้วจิบกินบ่อยๆ แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบมากแล้วพอกบริเวณศีรษะ หรือ นำใบมาตากแห้งใช้ชงดื่มแทนชา แก้ปวดท้อง รักษาโรคลำไส้อักเสบ ช่วยขับลม หรือ จะนำใบสดมาขยี้ทาระงับอาการปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย และขนาดการใช้ทั่วไป ที่กำหนดในเภสัชตำรับจีนเท่ากับ 3-6 กรัม


ลักษณะทั่วไปของส้มโอ

ส้มโอจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้น มีลักษณะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และมีรูปทรงที่ไม่แน่นอน มีความสูงของลำต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้น และกิ่งมีหนามรูปทรงอ้วน ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ลำต้นมีทรงพุ่มบริเวณส่วนปลายของลำต้น ขนาดทรงพุ่มประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะเหนียว แต่ไม่แข็ง กิ่งหักได้ยาก

           ใบแตกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงวนสลับกันบนกิ่ง ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม แผ่นใบหนา และเป็นเป็นมัน กว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยแผ่นใบ และก้านใบ โดยก้านใบจะมีแผ่นใบขนาดเล็กที่เรียกว่า wing ส่วนแผ่นใบจะรูปร่างคล้ายรูปไข่ยาว หรือ รูปโล่ ฐานใบแหลมป้าน ปลายใบมน และมีรอยเว้าตรงกลางเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจะมีหยักเล็กๆ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ส่วนแผ่นใบด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และมีขนนุ่มปกคลุม

           ดอก ออกเป็นช่อ หรือ ออกเป็นดอกเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายของกิ่งอ่อน ประกอบด้วยช่อดอกที่เกิดบริเวณปลายยอด และตายอดด้านข้าง แต่ละช่อมีดอก 1-20 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรในดอกตัวเอง แต่ละดอกมีขนาด 3-7 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่ฐานดอก 3-5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีสีขาว กลีบดอกมีรูปหอก จำนวน 4-5 กลีบ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5-4.0 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกหนา ด้านในกลีบดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 20-25 อัน เรียงซ้อนกันเป็นวงกลมรอบรังไข่ และมีฐานเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 4-5 กลุ่ม ส่วนด้านในสุดเป็นรังไข่ที่แบ่งเป็นช่องๆ 11-16 ช่อง ทั้งนี้ ดอกส้มโอ จะบานจากดอกส่วนปลายก่อน และทยอยบานในดอกโคนช่อ

           ผลมีรูปร่างค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีขั้วผลเรียวแหลม ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดผลประมาณ 10-13 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเขียวอมเหลือง หรือ สีเหลืองทองตามสายพันธุ์ เปลือกหนาประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นนอกสุด เรียกว่า flavedo มีสีเขียวอมเหลือง มีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ชั้นต่อมา เรียกว่า albedo เป็นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มสีขาวที่มีความหนามาก และชั้นที่สามเป็นเนื้อเยื่อของพูที่หุ้มรอบเนื้อผล ส่วนเนื้อผลแบ่งออกเป็นกลีบๆ เรียงติดกันเป็นวงกลม แต่แกะแยกออกจากกันง่าย เรียกลีบเนื้อผลว่า juice sac ภายในกลีบจะฉ่ำด้วยน้ำที่ให้รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว

           เมล็ดรวมกันอยู่ตรงแกนกลางของผล มีจำนวนตั้งแต่ 0-265 เมล็ด/ผล แล้วแต่สายพันธุ์ เมล็ดมีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสุด เมล็ดมีรูปร่างแบน และผิวย่น เปลือกเมล็ดมีสีเขียวอมเหลือง และเป็นร่องลึก ขนาดเมล็ดกว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร

ส้มโอ

ส้มโอ

การขยายพันธุ์ส้มโอ

ส้มโอสามารถขยายพันธุ์ได้ ด้วยวิธีเพาะเมล็ด การติดตา การตอน และการเสียบกิ่ง แต่ทั่วไปนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอนหรือการเสียบกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ไม่สูง และได้ผลส้มโอตามพันธุ์ดั้งเดิมที่ต้องการ

           สำหรับพื้นที่ปลูกที่น้ำไม่ท่วมง่ายสามารถไถพรวนดินเป็นแปลงให้สม่ำเสมอทั่วไปได้เลย แต่หากเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมง่าย เช่น ที่ราบลุ่มทางภาคกลางต้องขุดยกร่องแปลงเป็นแนวยาวให้สูงขึ้น โดยมีขนาดสันร่องปลูกกว้างประมาณ 6-7 เมตร และเป็นร่องน้ำกว้างประมาณ 1-1.50 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร พร้อมกับทำคันกั้นน้ำรอบสวน

           ส่วนการเตรียมหลุม และวิธีการปลูก ให้ขุดหลุมปลูกขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมตากหลุมปลูก และดินที่ขุดขึ้นมานาน 10-14 วัน ควรเว้นระยะหลุมประมาณ 6-8 x 6-8 เมตร (แต่ส่วนมากนิยมในระยะ 7×7 เมตร)

           หลังจากที่ตากดิน และหลุมปลูกแล้ว ให้นำหน้าดินเกลี่ยลงหลุม พร้อมโรยปุ๋ยคอก หรือ วัสดุอินทรีย์คลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก โดยให้ระดับดินในหลุมสูงกว่าระดับดินเดิมเล็กน้อย และโรยปิดด้วยฟางข้าวหรือเศษใบไม้ จากนั้นนำไม้หลักปัก และผูกรัดต้นพันธุ์ป้องกันไม่ให้ต้นโยก หรือ โน้มเอียง โดยส้มโอ จะเริ่มติดดอกและติดผลหลังการปลูกประมาณ 4 ปี  และเริ่มเก็บผลได้หลังจากติดดอกประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ในปัจจุบันพันธุ์ส้มโอที่เป็นที่นิยมปลูกทางการค้า ได้แก่

  1. พันธุ์ทับทิมสยาม เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม เปลือกบางสีเขียวเข้ม มีขนอ่อนปกคลุมทั่วผล ปลูกมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
  2. พันธุ์ขาวใหญ่ เนื้อขาวอมเหลือง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดน้อย นิยมปลูกที่จังหวัดสมุทรสงคราม
  3. พันธุ์ทองดี ผลโต กลมแป้น ไม่มีจุก ที่ขั้วมีจีบเล็กน้อย รสหวาน ฉ่ำน้ำ เนื้อสีชมพู เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกที่จังหวัดนครปฐม
  4. พันธุ์ขาวพวง ผลกลม มีจุกสูง ผิวเรียบ สีเปลือกเขียวอ่อนอมเหลือง มีเมล็ดน้อย เป็นพันธุ์ดั้งเดิม
  5. พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ผลใหญ่ กลมสูง ก้นเรียบ
  6. พันธุ์ขาวแตงกวา ผลขนาดกลางกลมแป้น เปลือกบาง เนื้อสีขาว นิยมปลูกที่จังหวัดชัยนาท และอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด
  7. พันธุ์ปัตตาเวีย ปลูกมากทางภาคใต้
  8. พันธุ์ท่าข่อย เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่จังหวัดพิจิตร


องค์ประกอบทางเคมี

สารสำคัญที่พบในเปลือกส้มโอ (ทั้งส่วนที่เขียวและสีขาว) ส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มของน้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม flavonoids เช่น naringenin, hesperetin, Hesperidin, apigenin, poncirin และ eriocitin และยังพบสาร acridone, acronycine, anthranilate, bergamottin, camphor, citral, Limonene, limonin, linalool, myricetin, nerol, nomilin, pinene, quercetin, rutin, scopoletin, umbelliferone และยังพบสารขมในเปลือกชื่อ naringin

          รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของส้มโอ

          โครงสร้างส้มโอ

ที่มา : Wikipedia

           และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ ที่สกัดได้จากวิธี TLC และ GC-MS พบว่ามี limonene เป็นองค์ประกอบหลัก และสารกลุ่ม monoterpene อื่นๆ ปริมาณเล็กน้อยได้แก่ alpha-pinene, sabinene, beta-pinene, beta-myrcene, alpha-phellandrene, trans-carveol, cis-carveol และ carvone นอกจากนี้ในเนื้อส้มโอยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของส้มโอ (100 กรัม)

  • พลังงาน                        38        กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต               9.62     กรัม
  • เส้นใย                           1          กรัม
  • ไขมัน                            0.04     กรัม
  • โปรตีน                          0.76     กรัม
  • วิตามินบี 1                   0.034   มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 2                    0.027   มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 3                    0.22     มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินบี 6                  0.036   มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินซี                       61        มิลลิกรัม 73%
  • ธาตุแคลเซียม              4          มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุเหล็ก                     0.11     มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุแมกนีเซียม          6         มิลลิกรัม 2
  • ธาตุแมงกานีส             0.017    มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุฟอสฟอรัส          17          มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุโพแทสเซียม        216       มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุโซเดียม                1           มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี                 0.08      มิลลิกรัม 1%

           % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของส้มโอ

           ฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ และลดการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ในการแก้ไอ ขับเสมหะ และลดการอักเสบของสารสกัด 4 ชนิด จากเปลือกส้มโอ ได้แก่ สารสกัดน้ำ, 50% เอทานอล, 70% เอทานอล และ 90% เอทานอล ในหนูเม้าส์ พบว่ามีเพียงสารสกัดน้ำ และ 70% เอทานอล เท่านั้นที่มีผล โดยสารสกัดน้ำ ขนาด 1005 มก./กก.น้ำหนักตัว และสารสกัด 70% เอทานอล ขนาด 493 มก./กก.น้ำหนักตัว จะมีผลลดความถี่ของการไอในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยน้ำแอมโมเนีย (ammonium liquor) เพิ่มการหลั่งสารฟีนอล เรด (ซึ่งแสดงถึงผลในการขับเสมหะ) และลดการบวมที่ใบหูของหนูที่ถูกทำให้เกิดการบวมโดยสาร xylene ได้ ซึ่งสารสกัด 70% เอทานอล จะมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดน้ำ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดไขมันในเลือด การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดไขมันในเลือดของสารสกัดจากเนื้อผลส้มโอพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ ขาวใหญ่ ทองดี ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ท่าข่อย และทับทิมสยาม พบว่าสารสกัดจากส้มโอ พันธุ์ขาวใหญ่ จะมีปริมาณสารฟีนอลิกสูงสุด และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ 1,1-diphenyl-2-pireyhydrazyl radical และ hydroxyl radical ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ขณะที่สารสกัดจากพันธุ์ขาวแตงกวาและท่าข่อย สารฟลาโวนอยด์หลักที่พบ คือ naringin และ naringenin สารสกัดจากส้มโอทั้ง 6 พันธุ์ มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase และ pancreatic cholesterol esterase ยับยั้งการเกิดไมเซลล์ของคอเลสเตอรอล (cholesterol micellization) และยับยั้งการจับกับกรดน้ำดีได้ เมื่อจัดแบ่งกลุ่มส้มโอทั้ง 6 พันธุ์ ด้วยการวิเคราะห์กลุ่มแบบขั้นตอน (Hierarchical Cluster Analysis) ตามองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ พันธุ์ทองดี ทับทิมสยาม ขาวแตงกวา และท่าข่อย ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและปริมาณฟีนอลิกต่ำจนถึงปานกลาง และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ พันธุ์ขาวใหญ่ และขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะมีปริมาณฟีนอลิกและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสูง

           ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษมีงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองฉีดสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ในหนูทดลอง จากนั้นให้หนูบริโภคผงสกัดจากเปลือกส้มโอ พบว่าผงสกัดดังกล่าวอาจช่วยลดภาวะเซลล์ตับอักเสบ ลดปริมาณการสะสมธาตุเหล็กที่ทำให้ตับเสื่อม และช่วยป้องกันตับของหนูทดลองจากสารพิษได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งให้สัตว์ทดลอง 2 กลุ่มแรกบริโภคอาหารต่างกันพร้อมกับสารสกัดจากส้มโอ และให้อีก 2 กลุ่มบริโภคอาหารที่ปราศจากสารสกัดดังกล่าว ผลการทดลองพบว่า การบริโภคอาหารร่วมกับสารสกัดจากใบของส้มโออาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในตับลงได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบสารประกอบกลุ่มฟีนอลในส้มโอที่อาจมีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ลดไขมันในเลือด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า น้ำมันสกัดจากส้มโออาจช่วยต้านเชื้ออีโคไล (E. Coli) หรือเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่มักปนเปื้อนในอาหารจนทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยสกัดเย็นจากส้มโอและเกรปฟรุต โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพได้เช่นกัน ทั้งยังช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างปลอดภัย

           ฤทธิ์รักษาโรคเบาหวาน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า สารประกอบกลุ่มฟีนอลที่สกัดได้จากเปลือกส้มโอมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส (α-amylase) และอัลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) รวมถึงยับยั้งการเกิดสาร AGEs และมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร


การศึกษาทางพิษวิทยาของส้มโอ

ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษ จากการรับประทานเนื้อและเปลือกส้มโอ แต่มีการศึกษาความเป็น พิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากใบส้มโอ เมื่อนำสารสกัดเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซีเตท, บิวทานอล และน้ำจากใบส้มโอ ความเข้มข้น 50, 100, 200 มคก./มล. ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 5 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด NCI-H460, เซลล์มะเร็ง neuroblastoma SK-N-H460, เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-15, เซลล์มะเร็งปากมดลูก Hela และเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 ต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิด เท่ากับ 81.18, 129.56, 114.94, 56.54 และ 176.93 มคก./มล ตามลำดับ แต่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติของปอด สารสกัดคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 50, 100, 150, 200 มคก./มล. เหนี่ยวนำให้เกิดการตายแบบ apoptosis ของเซลล์มะเร็ง Hela โดยทำให้เกิดการแตกหักของ DNA (DNA fragmentation) และยับยั้งการแสดงออกของยีน Bcl-2 ซึ่งมีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase และการสลายตัวของโปรตีน poly (ADP-ribose) polymerase (PARP) เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่าสารสำคัญประกอบด้วยสารในกลุ่ม polymethoxylated flavones ได้แก่ isosinensetin, sinensetin, tetramethyl-o-isoscutellarein, nobiletin, tangeretin และ 5-hydroxy-6,7,8-3′,4′-pentamethoxyflavone และมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับอันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา อย่างเช่น ทีมวิจัยของ Guo LQ. et al (2007) ได้ทดสอบ และเปรียบเทียบผลที่เกิดจากอันตรกิริยาระหว่าง Felodipine (ยาลดความดันโลหิต) กับเกรปฟรุต และอันตรกิริยาระหว่าง Felodipine กับส้มโอ พบว่า ทั้ง เกรปฟรุตและส้มโอ มีสารกลุ่ม Fluranocoumarins ที่สามารถยับยั้ง Cytochrome P450 (กลุ่ม CYP 3A4) ในร่างกายมนุษย์ ได้เหมือนกัน แต่เกรปฟรุตมีสาร Fluranocoumarins ในปริมาณที่มากกว่าที่มีในส้มโอ (โดยเฉลี่ยประมาณ 2 เท่า) จึงส่งผลต่อระดับยาในเลือดได้มากกว่า

           และมีการทดลองในชายไทยสุขภาพดี 14 คน โดยให้รับประทานส้มโอ (พันธุ์ทองดี) ในปริมาณ 250 กรัม เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะให้ยา Cyclosporin (ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังปลูกถ่ายอวัยวะ) และเมื่อทานยาแล้ว รับประทานส้มโอ (ในปริมาณเดิม) อีกครั้งหลังได้รับยาไปแล้ว 10 นาที แล้วทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับยาเมื่อครบ 24 ชั่วโมง การทดลองนี้พบว่า ส้มโอในปริมาณดังกล่าว สามารถเพิ่มระดับยา Cyclosporin ในเลือดได้ประมาณ 30% แต่การศึกษานี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคำแนะนำในการปรับขนาดยา หรือ ข้อแนะนำในการรับประทานส้มโอว่า ควรรับประทานห่างจากยาเป็นระยะเวลาเท่าไร เนื่องจากการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้และการวิเคราะห์สารเคมีในส้มโอ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ควรรับประทานส้มโอ ในปริมาณเหมาะสม หรือ รับประทานส้มโอสลับกับผลไม้ชนิดอื่นที่หวานน้อยกว่า เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป
  2. ควรรับประทานส้มโอแต่พอดีไม่รับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ท้องเสีย และปวดมวนท้องได้
  3. ส้มโอเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับเกรปฟรุต จึงอาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้เมื่อใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด และยาแก้แพ้บางชนิด 
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานส้มโอในช่วงที่ใช้ยา เช่น ยา Simvastin, Crizotinib, Halofantrine, Dronedarone และ Domperidone เป็นต้น หรือ ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเกี่ยวกับปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อรับประทานส้มโอ

เอกสารอ้างอิง ส้มโอ
  1. ดร.ภญ.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์, ดร.ภก.ภานุพงษ์ พงษ์ชีวัน. อันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ส้มโอ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 225 - 229
  3. ฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ และลดการอักเสบของสารสกัดจากเปลือกสารสกัดจากเปลือกส้มโอ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Myung K, Narciso JA and Manthey JA. (2008). Removal of furanocoumarins in grapefruit juice by edible fungi. Journal of Agricultural and Food Chemistry 56(24): 12064–12068.
  5. Guo LQ. et al. (2007). Different roles of pummelo furanocoumarin and cytochrome P450 3A5*3 polymorphism in the fate and action of felodipine. Current Drug Metabolism;8(6):623-30
  6. พิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากใบส้มโอ .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. Anlamlert W, Sermsappasuk P, Yokubol D, Jones S. (2015). Pomelo Enhances Cyclosporine Bioavailability in Healthy Male Thai Volunteers. Journal of Clinical Pharmacology: 55(4) 377–383.
  8. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดไข้มันในเลือดของส้มโอพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ส้มโอ.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudruy.com/main.php?action=viewpaye&pid=134
  10. สารในน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6785
  11. ส้มโอ (Pomelo) สรรพคุณและการปลูกส้มโอ.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  12. สารสกัดในเปลือกส้มโอ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6946