โป๊ยกั๊ก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

โป๊ยกั๊ก งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โป๊ยกั๊ก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันทร์แปดกลีบ, ดอกโป๊ยกั๊ก, โป๊ยกั๊กจีน (ไทย), Badian khatai (อินเดีย), Bunga lawing (มาเลเซีย), Badian (อาหรับ), Badiane (ฝรั่งเศส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Illicium verum Hook. f.
ชื่อสามัญ Star anise, Chinese Star Anise
วงศ์ Illiciaceae

ถิ่นกำเนิดโป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊กเป็นพืชที่ใช้ผลเป็นเครื่องเทศ และยังจัดเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง ซึ่งในประเทศจีนใช้มานาน กว่า 1300 ปี แล้วโดยโป๊ยกั๊กถือเป็น 1 ใน 5 ของผงเครื่องเทศสมุนไพรในการปรุงอาหารแบบจีนดั้งเดิม ส่วนโป๊ยกั๊กมีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ และทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น มลฑลฟูเจี้ยน, กวางดง, กวางวีส, และมลฑลยูนนานเป็นต้น นอกจากนั้นบางแหล่งยังระยุไว้ว่า โป๊ยกั๊ก อาจมีถิ่นกำเนิดยาวลงมาถึงในบริเวณอ่าวตั่งเกี๋ยในเวียดนามอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยคาดว่ามีการนำโป๊ยกั๊กเข้ามาและใช้ประโยชน์มานานแล้ว และยังมีการใช้จนถึงปัจจุบัน 


ประโยชน์และสรรพคุณโป๊ยกั๊ก
 

  1. ใช้ขับลม
  2. เป็นยากระตุ้น
  3. ขับเสมหะ
  4. บำรุงธาตุ
  5. แก้ธาตุพิการ
  6. แก้อาหารไม่ย่อย
  7. เพิ่มภูมิต้านทาน
  8. แก้ลมกองหยาบ
  9. แก้ไอ
  10. แก้เกร็ง
  11. ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค
  12. คลายกล้ามเนื้อเรียบ
  13. แก้ปวดท้อง
  14. ช่วยขับลม
  15. แก้หวัด
  16. ช่วยลดไข้
  17. แก้อัณฑะบวม ไส้เลื่อน
  18. ขับน้ำนม
  19. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต
  20. บรรเทาอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน
  21. บรรเทาอาการปวดข้อรูมาทอยด์
  22. แก้โรคเกาต์
  23. แก้โรคข้ออักเสบ
  24. แก้หืด
  25. แก้ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว

           มีการนำโป๊ยกั๊ก ไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ มากมายทั่วโลก เช่น ผล และเมล็ดโป๊ยกั๊กทั้งแบบแห้ง หรือ ป่นใช้เป็นเครื่องเทศ และใช้เป็นส่วนผสมของผงเครื่องเทศทั้งห้าที่ใช้ในการปรุงอาหารจีนแบบดั้งเดิมใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ช่วยชูรสชูกลิ่น และผลยังสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นของเครื่องดื่ม ลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ ขนมหวาน ขนมผิง ขนมเค้ก แยม เยลลี่ ซีอิ๊ว ซอสต่างๆ เนื้อกระป๋อง เป็นต้น ส่วนชาวล้านนา ใช้โป๊ยกั๊กเป็นส่วนผสมของเครื่องปรุงลาบ ที่เรียกว่า พริกลาบ หรือ น้ำพริกลาบเพื่อใช้ปรุงรสของลาบ และยำต่างๆ เช่น ยำจิ้นไก่ ยำเห็ดฟาง ยำกบ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้า และเย็น น้ำมันหอมระเหยใช้ผสมในยาผงสำหรับแก้หืด ใช้ผสมกับชะเอม แก้ไอ ฆ่าเชื้อโรค โดยใช้ประมาณ 1-4 หยด


ลักษณะทั่วไปของโป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊ก จัดเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดเล็กอายุยืนมีใบเขียวตลอดปีและมีความสูงได้ถึง 18 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกมีสีขาวเทา ลักษณะหยาบเล็กน้อย ต้นแก่จะมีรอยแตกไม่เป็นระเบียบ ใบออกเป็นใบเดี่ยวโดยออกเป็นกลุ่ม 3-6 ใบ ยาว 5.5-10.5 เซนติเมตร กว้าง 1.6-4.5 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับถึงรูปรีแคบ โคนใบสอบ ปลายใบแคบเป็นแถบยาว ส่วนปลายสุดเว้า หรือ แหลม หน้าใบสีเขียวเข้มผิวลื่นเป็นมันหลังใบสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มอยู่เบาบาง ดอกออกที่ง่ามใบ ก้านดอกยาว 1.5-4 เซนติเมตร มีกลีบหุ้มดอก 8-12 กลีบ เรียงซ้อมกัน 2-3 วง ดอกเป็นดอกเดียว มีสีเหลือง บางครั้งอาจแต้มด้วยสีชมพูถึงสีแดง ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย กลีบดอกมี 10 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ขอบกลีบมีขนและเป็นกระพุ้ง ผลมีลักษณะเป็นกลีบโดยรอบ มองเห็นได้เป็นรูปดาว มีประมาณ 5-13 กลีบ แต่ที่พบมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น 8 กลีบ ผลดิบมีสีเขียว ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ในกลีบแต่ละกลีบจะมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่และแบน ผิวมีสีน้ำตาลเรียบและเป็นเงา ผลมีกลิ่นหอม

โป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊ก

การขยายพันธุ์โป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊ก สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งอาจจะเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีอายุ ประมาณ 3 ปี เพื่อนำไปปลูกหรือการเพาะกล้าในแปลงโดยยกแปลงสูง 20 เซนติเมตร กว้าง 1-1.2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างระหว่างแปลง 30 เซนติเมตร รอบๆ แปลงเพาะให้มีที่ระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมขัง ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเพาะ คือ เดือนพฤศจิกายน- ธันวาคม หรือ การเพาะกล้าโดยการโรยเมล็ด โดยให้โดยเป็นแถวๆ ห่างกัน 15-20 เซนติเมตร ฝังเมล็ดลึกลงไปประมาณ 4 เซนติเมตร แต่ละเมล็ดห่างกันประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลบเมล็ดด้วยดินผสมแกลบดำ หนาประมาณ 3 เซนติเมตร และคลุมแปลงด้วยหญ้าแห้ง หรือ ฟางข้าว เพื่อเก็บกักความชื้น ส่วนการปลูกก็เหมือนกับการปลูกพืชอื่นๆ ทั่วไป ทั้งนี้โป๊ยกั๊ก เป็นพืชที่ต้องการดินที่ร่วนซุย และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ดินที่มีปริมาณฮิวมัสที่เป็นกรด ผิวดินที่บาง หรือ ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 19-23 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปมักจะมีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่แต่ละปีจะมีปริมาณน้ำฝน 1,300 มิลลิเมตรขึ้นไป และมีความชื้นสัมพันธ์ 78% ขึ้นไป


องค์ประกอบทางเคมี

ในผลและเมล็ดของโป๊ยกั๊ก ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 5 ประกอบด้วย trans-anethole เช่น cinede, estragole เป็นองค์ประกอบหลักร้อยละ 80-90 สารอื่นๆ ได้แก่ shikimic acid, 1, 4 cineol, beta-bisabalone, farnescene, caryophyllene, cadinene, phellandrene, safrole, linalool, alpha-pinene และสารกลุ่ม Polyphenals, Flavonoids, Anthocyaning Tannins

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโป๊ยกั๊ก 

โครงสร้างโป๊ยกั๊ก 

         ที่มา : wikipedia

นอกจากนี้โป๊ยกั๊ก ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

            คุณค่าทางโภชนาการของโป๊ยกั๊ก (100 กรัม)

-           โปรตีน                       31%

-           คาร์โบไฮเดรต           31%

-           ใยอาหาร                  38%

-           วิตามิน เอ                 10.5%

-           วิตามิน ซี                 35%

-           แคลเซียม                 65%

-           ธาตุเหล็ก                 62%

-           โพแทสเซียม             31%

-           โซเดียม                    1%


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโป๊ยกั๊ก

           ฤทธิ์ต้านมะเร็งของโป๊ยกั๊ก ศึกษาผลต้านมะเร็งของสารสกัด 50% เอทานอลจากโป๊ยกั๊กในหนูขาว โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม หนูทุกตัวจะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งที่ตับด้วยการฉีด N -nitrosodiethylamine ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางช่องท้องหนูในสัปดาห์ที่ 4 และให้ Phenobarbital ขนาด 0.05% ในน้ำดื่ม ช่วง 6-20 สัปดาห์ของการทดลอง กลุ่มที่ 1, 2 และ 3 จะป้อนสารสกัด ขนาด 10 มก./กก. ในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20, 0-4 และ 6-20 ของการทดลองตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับสารสกัด พบว่าน้ำหนักตับของหนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะลดลง ส่วนน้ำหนักตัวของหนูในทุกกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะมีการเกิดและเพิ่มจำนวนของเนื้องอกลดลง แต่ไม่มีผลในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 จะมีขนาด และปริมาตรของก้อนเนื้อลดลงด้วย ขณะที่อีก 2 กลุ่มไม่มีผล

           หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะมีการเกิด lipid peroxidation ในตับและเม็ดเลือดแดงลดลง แต่ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 จะทำให้ lipid peroxidation ในตับเพิ่มขึ้น สำหรับผลต่อเอนไซม์พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดทุกกลุ่มจะมีระดับของเอนไซม์ superoxide dismutase ในตับและเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์ catalase ในตับของทุกกลุ่มที่ได้รับสารสกัด และระดับของ catalase ในเม็ดเลือดแดงของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊ก ช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดทุกกลุ่ม จะมีผลลดระดับของ glutathione-S-transferase แต่จะเพิ่ม glutathione ในตับและเม็ดลือดแดง 

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร anethole จากโป๊ยกั๊กในภาวะเกิดการบาดเจ็บของปอดเฉียบพลัน ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร anethole จากโป๊ยกั๊ก (Illicium verum) โดยทำการทดลองในหนูเม้าส์ เพศผู้สายพันธุ์ BALB/C 8 กลุ่ม (กลุ่มละ 7-10 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ โดยไม่มีการให้สารใดๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง กลุ่มที่ 3-7 ฉีดน้ำเกลือ และสาร anethole เข้าทางช่องท้อง ขนาด 62.5, 125, 250, และ 500 มก./กก. ตามลำดับ กลุ่มที่ 8 ฉีดยาแก้อักเสบ dexathethasone (DEX) ขนาด 1 มก./กก. หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง นำหนูกลุ่มที่ 3-8 มาเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะปอดเสียหายเฉียบพลันด้วยการให้ lipopolysaccharide จาก E. coli (LPS) เข้าทางท่อหลอดลม (intratracheal) ทำการเก็บตัวอย่างเสมหะเพื่อตรวจวิเคราะห์จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและเสียหายของปอด เมื่อครบ 4 ชั่วโมง ทำการชำแหละซากหนู และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคทางจุลกายวิภาคศาสตร์ และวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบด้วยเทคนิค western blot analysis ผลจากการทดลองพบว่า การฉีดสาร anethole มีผลช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปอด การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเสมหะพบว่า การฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก. / กก. มีผลลดความเข้มข้นของโปรตีน จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil และ macrophage และลดการทำงานของเอนไซม์ lactate dehydrogenase ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการถูกทำลายของเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า การฉีดสาร anethole มีผลลดการทำงาน และการแสดงออกของเอนไซม์ matrix metalloproteinase-9 ลดการแสดงออกของโปรตีน tumor necrosis factor-α, Interleukin-6 และ nitric oxide ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้ถึงการเกิดกระบวนการอักเสบ และจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดพบว่า การฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก./กก. มีผลยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน nuclear factor kappa - B (NF-ҡB) และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน I - kappa - B - α (IҡB-α) อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS เพียงอย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาร anethole จากโป๊ยกั๊ก มีกลไกต้านการอักเสบคือ ลดการทำลาย โปรตีน IҡB-α ซึ่งทำหน้าที่จับและยับยั้งการทำงานของ NF-ҡB ที่เป็นตัวกระตุ้นการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ


การศึกษาทางพิษวิทยาของโป๊ยกั๊ก

การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าขนาดของน้ำมันจากเมล็ดโป๊ยกั๊ก ที่ทำให้หนูเม้าส์ตาย (LD50) มากกว่า 40 มล./กก.น้ำหนักตัว และยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่าการใช้น้ำมันหอมระเหยมากกว่า 4% อาจทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง มีรายงานว่า anethole ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันโป๊ยกั๊ก ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้ สาร anethole และ safrole เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. โป๊ยกั๊กที่นิยมใช้ในการบริโภคหรือใช้เป็นยาสมุนไพรนี้ เป็นโป๊ยกั๊กจีน ซึ่งเป็นคนละชนิดกันกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นซึ่งเป็นพืชมีพิษ ซึ่งหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง และเลือกใช้โป๊ยกั๊กจีนเท่านั้น
  2. สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตรควรระมัดระวังในการบริโภคโป๊ยกั๊ก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้
  3. ควรระมัดระวังในการใช้โป๊ยกั๊กในเด็กเพราะมีรายงานว่า เด็กที่ดื่มชาโป๊ยกั๊ก มีอาการ งอแง อาเจียน และชัก (ซึ่งคล้ายกับอาการของผู้ที่ได้รับพิษจากโป๊ยกั๊กญี่ปุ่น)
  4. ในตำรายาจีนระบุว่าโป๊ยกั๊กไม่เหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง และผู้ที่เป็นโรคต่างๆเกี่ยวกับยา รวมถึงผู้ที่มีภาวะร้อนใน

 

เอกสารอ้างอิง โป๊ยกั๊ก
  1. ประธาน นันไชยศิลป์.(2550).สัมภาษณ์. 3 กรกฎาคม.
  2. ฤทธิ์ต้านมะเร็งของโป๊ยกั๊ก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. สุพจน์ คิลานเภสัช.2543. “โป๊ยกั๊ก “. หนังสือสมุนไพรเครื่องเทศและพืชปรุงแต่งกลิ่นรส. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาสน์.
  4. ฤทธิ์ต้านการอับเสบของสาร anethole จากโป๊ยกั๊กในภาวะเกิดการบาดเจ็บของปอดเฉียบพลัน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. โป๊ยกั๊ก.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com2main.php?action=viewpage&pid=87
  6. พิษวิทยาของโป๊ยกั๊ก.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5503