สะเดา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สะเดา งานวิจัยและสรรพคุณ 51 ข้อ

ชื่อสมุนไพรสะเดา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), ต้นกะเดา (ภาคอีสาน), เดา, กระเดา (ภาคใต้), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยง), ผักสะเลม (ไทยลื้อ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss. Var. Siamensis Valeton, Azadirachta indica var. siamensis Valeton, Melia azadirachta L.
ชื่อสามัญ Neem, Margosa, Neem tree, Indian margosa
วงศ์ MELIACEAE

ถิ่นกำเนิดสะเดา

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสะเดาอยู่ในบริเวณประเทศพม่า และประเทศอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปในป่าแล้งแถบในประเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย สำหรับในประเทศไทยมีเขตการกระจายตามธรรมชาติเป็นป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าแดงทั่วประเทศ ทั้งนี้ในสภาพธรรมชาติไม้สะเดา ยัง สามารถเจริญงอกงามในท้องถิ่นที่ มีอากาศร้อนชื้น ที่มีอุณหภูมิสูงได้ถึง 44 องศาเซลเซียส ที่ระดับความสูง 50-1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และสามารถขึ้นได้ในสภาพดินที่มีความแห้งแล้งดินหิน และดินเหนียว

ประโยชน์และสรรพคุณสะเดา

  1. แก้โรคผิวหนัง (ใบอ่อน)
  2. ช่วยปรับสมดุลน้ำเหลือง (ใบอ่อน)
  3. รักษาแผลพุพอง (ใบอ่อน)
  4. ช่วยเจริญอาหาร (ใบอ่อน, ผลอ่อน, เปลือกต้น)
  5. ช่วยย่อยอาหาร (ใบอ่อน, ใบแก่)
  6. แก้ไข้ (ใบอ่อน, ใบแก่, ก้าน, เปลือกต้น, ราก)
  7. บำรุงธาตุ (ใบอ่อน, ใบแก่)
  8. ใช้พอกฝี (ใบแก่)
  9. บำรุงน้ำดี (ก้าน)
  10. แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ก้าน)
  11. บำรุงสุขภาพในช่องปาก (ก้าน)
  12. แก้พิษโลหิต (ดอก) 
  13. บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล (ดอก)
  14. แก้ริดสีดวง (ดอก, ผลอ่อน)
  15. บรรเทาอาการคันคอ (ดอก)
  16. บำรุงธาตุไฟ (ดอก, แก่น)
  17. บำรุงหัวใจ (ผล)
  18. เป็นยาระบาย (ผล)
  19. แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ (ผล)
  20. แก้ลม (ผล)
  21. ช่วยฆ่าพยาธิ (ผลอ่อน)
  22. แก้ปัสสาวะขัด (ผลอ่อน)
  23. บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
  24. แก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)
  25. แก้กษัย หรือ โรคซูบผอมแห้งแรงน้อย (เปลือกต้น)
  26. ลดเสมหะ (เปลือกต้น)
  27. แก้อาการท้องเดิน (เปลือกต้น)
  28. แก้บิด มูกเลือด (เปลือกต้น)
  29. แก้คลื่นไส้ (แก่น)
  30. แก้อาเจียน (แก่น)
  31. แก้ไข้จับสั่น (แก่น)
  32. บำรุงโลหิต  (แก่น)
  33. แก้เสมหะในลำคอ (ราก)
  34. แก้เสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก (ราก)
  35. ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ยาง)
  36. แก้น้ำดีพิการให้คลั่งเพ้อ
  37. แก้เพ้อคลั่ง
  38. ใช้บำรุงผิวพรรณ (เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์)
  39. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง (เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์)
  40. บำรุงเส้นผม (เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์)
  41. ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย
  42. ช่วยให้เลือดสะอาด เป็นการล้างพิษในกระแสเลือด
  43. ช่วยกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น
  44. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือหากนอนไม่หลับ
  45. รักษาโรครำมะนาด
  46. รักษาเหงือกอักเสบ
  47. รักษารังแค
  48. รักษาอาการคันหนังศีรษะ
  49. รักษาอาการเคืองตา
  50. รักษาตาอักเสบ
  51. รักษาโรคติดเชื้อได้ดี

           ประโยชน์ทางด้านอาหาร คนไทยนิยมบริโภคสะเดาเป็นผัก โดยดอกและยอดอ่อนนำมาลวกปิ้งไฟ หรือต้มให้สุก ใช้จิ้มน้ำพริก หรือ บริโภคเป็นสะเดาน้ำปลาหวาน โดยสะเดาเป็นผักที่มีแคลเซียม สูงสุดเป็นอันดับ 3 มีธาตุเหล็กสูงสุดเป็นอันดับ 4 มีเส้นใยอาหารสูงเป็นอันดับ 3 และมีเบต้าแคโรทีน สูงเป็นอันดับ 5 ในบรรดาผักทั้งหมด 

           ประโยชน์ด้านความเชื่อ และศาสนา ชาวฮินดูเชื่อว่าสะเดาเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีบูชาต้นสะเดาอยู่หลายพิธี รวมทั้งการนำสะเดาไปประกอบพิธีต่างๆ อีกมากมาย โยคีบางพวกใช้กิ่งสะเดาเสียบที่หูคล้ายตุ้มหู เพราะเชื่อว่าช่วยให้เข้าถึงเทพเจ้าได้ง่ายขึ้น สำหรับชาวไทยแต่ก่อนถือว่าสะเดาเป็นต้นไม้มงคลที่สมควรปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดให้ปลูกทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวบ้าน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยประทับใต้ต้นสะเดาอีกด้วย 

            ประโยชน์ด้านการเกษตร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สะเดา กลับมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เมื่อมีผู้นำสะเดามาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่างได้ผล และไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมีกำจัดแมลงที่กำลังเป็นปัญหาร้ายแรงของการเกษตรในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมณี ได้วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้สะเดาควบคุมแมลงศัตรูพืชมาไม่น้อยกว่า 30 ปี และพัฒนาวิธีการเตรียมสารควบคุมแมลงศัตรูพืชจากสะเดาจนตั้งโรงงานสกัดสารจากสะเดาออกขาย 

           ประโยชน์ด้านอื่นๆ เนื้อไม้ มีลักษณะคล้ายกับเนื้อไม้มะฮอกกานี เหมาะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง และทำเฟอร์นิเจอร์ ในประเทศไทยชาวบ้านนิยมใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือน เช่น ทำเสาบ้านที่ค่อนข้างตรงแข็งแรง ทำฝาบ้าน เครื่องบนที่รับน้ำหนักจาก คาน ตง ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ขัดชักเงาได้ดี มีสีแดง นอกจากนี้ยังนิยมใช้ทำเชื้อเพลิงจัดเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับปลูกเป็นไม้ฟืน เพราะเนื้อไม้หนักพอประมาณ มีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 0.56-0.85 ให้ความร้อนจำเพาะสูง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้สะเดา

  • ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย นำใบสะเดามาต้มในน้ำร้อน ใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง ก็จะช่วยให้เลือดสะอาด เป็นการล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือ หากนอนไม่หลับ ให้ใช้ใบ และก้านสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยาแล้วต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา 
  • ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ให้ใช้ยอดอ่อน หรือ ดอกลวกจิ้มกินกับน้ำพริก อาการจะบรรเทาภายใน 24 ชั่วโมง หรือ จะใช้ใบทั้งก้าน และดอกนำมาตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำ 3 แก้ว จนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารขณะอุ่นๆ ไม่เกิน 3 วัน ไข้จะหาย หรือ อีกสูตรให้ใช้ก้านสะเดา 33 ก้าน ต้มกับน้ำ 3 แก้ว จนเหลือ 1 แก้วแล้วดื่มให้หมด แล้วเอายาใหม่มาต้มกินอีกวันละ 3-4 ครั้ง หรือ จะใช้รากสะเดาประมาณ 1 กำมือ ยาวหนึ่งฝ่ามือ ต้มกับน้ำจนเดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อน หรือ หลังอาหารครั้งละครึ่งแก้ว ทุกๆ 4 ชั่วโมง จะทำให้ความร้อนลดลง อาการไข้จะหาย
  • แก้อาการไอ ด้วยการใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 4 วัน 
  • ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ใบสะเดา ใบพริกขี้หนู และรากกระเทียม (อย่างละเท่ากัน) นำมาหั่นเป็นฝอยแล้วตากแห้ง ไว้มวนสูบ
  • แก้ปากเปื่อยหรือริมฝีปากเป็นแผล มีอาการเจ็บแผลเมื่อกินรสจัด หรือ กินอาหารไม่ค่อยได้ มีอาการเจ็บคอ ให้กินยอดสะเดาลวก 3 วัน จะหายเป็นปกติ
  • รักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ใช้เปลือกสะเดานำมาต้มกับเกลือประมาณ 10-15 นาที แล้วใช้อมวันละ 2-3 ครั้ง
  • ช่วยขับเสมหะ แก้กองเสมหะ หรือ หากคอมีเสมหะให้ใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม แล้วต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้เสมหะที่ติดคอถูกขับออกมา น้ำลายจะหายเหนียว 
  • แก้บิด อาการบิดเป็นมูกเลือด โดยใช้เปลือกสะเดา 1 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เดือดประมาณ 10 นาที ใช้กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หรือ จะใช้ยอดสะเดา 7 ยอด โขลกกับกระเทียม 3 กลีบ ใส่น้ำตาลอ้อยพอให้มีรสหวาน คลุกเคล้าจนเข้ากัน กินครั้งเดียวให้หมด โดยกินทุก 2 ชั่วโมง หากอาการทุเลาลงแล้วให้กินทุก 4 ชั่วโมง หรือ อีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาแก่ 1 กำมือ นำมาตำคั้นกับน้ำต้มสุก 1 แก้วแล้วกินให้หมด
  • รักษาริดสีดวงในลำไส้ มีอาการปวดท้อง ปวดเจ็บในลำไส้ ถ่ายออกมาเป็นเลือด ให้ใช้รากสะเดานำมาฝนใส่น้ำมะพร้าว ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา
  • รักษารังแคและอาการคันหนังศีรษะ ใช้น้ำต้มใบสะเดาล้างหลังสระผมแล้ว จะช่วยรักษารังแค กำจัดแบคทีเรียบนหนังศีรษะ แก้อาการคัน หนังศีรษะแห้งเป็นขุยได้ 
  • ล้างตา ต้มใบสะเดา สดประมาณ 10 นาที ทิ้งไว้ให้เย็นนำน้ำต้มมาล้างตา รักษาอาการเคืองตา ตาอักเสบ โรคติดเชื้อได้ดี

สะเดา

สะเดา 

ลักษณะทั่วไปของสะเดา

สะเดา จัดเป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-25 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบตลอดปี มีระบบรากที่แข็งแรงกว้างขวาง และหยั่งลึก เปลือกไม้ค่อนข้างหนา สีน้ำตาลเทา หรือ เทาปนดำ แตกเป็นร่องตื้นๆ หรือ เป็นสะเก็ดยาวๆ เยื้องสลับกันไปตามความยาวของลำต้นเปลือกของกิ่งค่อนข้างเรียบ

           เนื้อไม้ มีสีแดงเข้มปนน้ำตาล เสี้ยนค่อนข้างสับสนเป็นริ้วๆ แคบ เนื้อหยาบเป็นมัน เลื่อม แข็งทนทาน แกนมีสีน้ำตาลแดง

           ใบ มีสีเขียวเข้มหนาทึบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ยาว 15-40 เซนติเมตรมีใบย่อย 4-7 คู่ ขอบใบหยักเล็กน้อยหรือเกือบเรียบการเรียงตัวของใบแบบสลับ ใบย่อยเรียงตัวแบบตรงกันข้าม ในพื้นที่ที่แล้งจัด จะทิ้งใบเฉพาะส่วนล่างๆ ประมาณเดือนมกราคม ถึงมีนาคม และใบใหม่จะผลิขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเมษายน ช่วงนี้สะเดาจะแทงยอดอ่อนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

           ดอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาว หรือ สีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นเช่นกัน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเป็นพู 5 พูกลม พูซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ท่อเกสรตัวผู้เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีสัน 10 สัน ขอบบนเป็นพูกลม 10 พู มีอับเรณู 10 อัน ยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีแคบ ส่วนรังไข่เกลี้ยงหรือมีขนนุ่มสั้น

           ผล และเมล็ด มีลักษณะคล้ายผลองุ่น ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1 เซ็นติเมตร ผลจะสุกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน แล้วแต่สภาพพื้นที่ ผลสุกสีเหลืองอมเขียว ลักษณะกลมรี มีรสหวานเล็กน้อย เมล็ดมีผิวค่อนข้างเรียบ หรือ แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาวสีเหลืองซีดหรือสีน้ำตาล ลักษณะกลมรี


การขยายพันธุ์สะเดา

การขยายพันธุ์ของไม้สะเดา สามารถทำได้ 2 วิธี คือ แบบไม่อาศัยเพศและแบบอาศัยเพศดังนี้

  • การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เป็นการขุดหน่อที่แตกจากรากต้นสะเดามาชำในแปลงเพาะจนตั้งตัวได้แล้วนำลงชำในถุงพลาสติกที่ได้เตรียมดินไว้แล้ว หรือ ทำโดยการตัดรากที่ขุดจากแม่ไม้สะเดาเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีขนาดโตของเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 ถึง 0.5 เซนติเมตร ชำลงในแปลงเพาะชำ และรดน้ำให้ชุ่มประมาณ 1 เดือน เมื่อหน่อแตกออกมาแล้วย้ายชำลงในถุงพลาสติก ก็จะได้กล้าไม้ที่โตได้ขนาดเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่
  • การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นการเตรียมกล้าไม้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งเมล็ดสะเดาไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ดังนั้นเมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วควรรีบเพาะทันที่ เพราะถ้าเก็บไว้นานจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์การงอกไป

           การปลูก ควรปลูกโดยวิธีจัดเตรียมกล้าไม้ในเรือนเพาะชำแล้วย้ายไปปลูก สำหรับขนาดของกล้าไม้ที่เหมาะในการย้ายปลูกต้องมีอายุประมาณ 4-5 เดือน หรือ สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร และควรเลือกปลูกหลังจากวันที่ฝนตกหนัก โดยเว้นระยะปลูก 2x4 หรือ 4x4 ก็ได้


องค์ประกอบทางเคมี

ใบและเปลือกต้นสะเดา มีสารสำคัญพวก limonoids ได้แก่ nimbolide, gedunin, nimbin, desacetyl nimbin, quercetin ช่อดอก มีสารพวกไกลโคไซด์ nimbosterin 0.005% มีน้ำมันหอมระเหยที่มี รสเผ็ด 0.5% นอกนั้นพบ nimbosterol, nimbecetin ผล พบสารที่มีรสขมชื่อ bakayanin เมล็ด มีน้ำมันขมชื่อ margosic acid 45% (หรือ เรียกว่า nim oil) รวมถึงสารขมที่มีชื่อว่า nimbin nmbidin และสาร azadirachtin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสะเดา

โครงสร้างสะเดา

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ ยอดสะเดา ที่นำมารับประทานเป็นอาหารนั้นยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกมากมายดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของยอดสะเด (ต่อ 100 กรัม)

  • พลังงาน                    76        กิโลแคลอรี 
  • คาร์โบไฮเดรต          12.5     กรัม 
  • โปรตีน                      5.4       กรัม
  • ไขมัน                        0.5       กรัม 
  • เส้นใยอาหาร           2.2       กรัม
  • น้ำ                             77.9     กรัม
  • เบต้าแคโรทีน           3,611   ไมโครกรัม 
  • วิตามินบี 1               0.06     มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                0.07     มิลลิกรัม 
  • วิตามินซี                 194      มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                 354      มิลลิกรัม
  • เหล็ก                         4.6      มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส               26       มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสะเดา

ฤทธิ์ลดไข้ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของสะเดา หลายฉบับดังนี้

          สารสกัดเปลือกต้นและใบสะเดาด้วย 70% เอทานอล เมื่อป้อนให้กับกระต่ายที่เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ ทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ในขนาด 400 มก./กก. และทำการวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก (rectum) ทุกครึ่งชั่วโมง นาน 4 ชั่วโมง โดยทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้การรักษาด้วย acetylsalicylic acid (200 มก./กก.) และ indomethacin (4 มก/กก.) พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นและใบสะเดา สามารถลดอาการไข้ได้ 15.7% ในขณะที่ indomethacin และ acetylsalicylic acid สามารถลดอาการไข้ได้ 30.6% และ 24% ตามลำดับ 

          สารสกัดใบสะเดาแห้งด้วยเมทานอล เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทั้งสองเพศ ในขนาด 250 มก./กก. ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วย endotoxin ของเชื้อ E. coli 026.BC พบว่าสามารถลดอาการไข้ได้ ส่วนสารสกัดใบแห้งด้วยคลอโรฟอร์ม น้ำ และเฮกเซน เมื่อป้อนให้กับกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วยเชื้อยีสต์ ในขนาด 150 มก./กก. ทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร พบว่าสามารถลดอาการไข้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สารสกัดน้ำของใบสะเดาแห้ง ในขนาด 250 โมล/กก. และสารสกัดใบแห้งด้วยอะซีโตนในขนาด 100 มก./กก. เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร และทำการวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก (rectum) พบว่าสามารถลดอาการไข้ได้

          สารสกัดเมล็ดสะเดา เมื่อฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังของหนูขาวตัวผู้ที่เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ ในขนาด 50 มก./กก. พบว่าสามารถลดอาการไข้ได้ แต่บางรายงาน รายงานผลตรงข้ามว่าสารสกัดเมล็ดสะเดาด้วยเฮกเซน คลอโรฟอร์ม น้ำ เมื่อป้อนให้กับกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ ทางปาก ในขนาด 150 มก./กก. และสารสกัดน้ำของเปลือกต้นสะเดา เมื่อป้อนให้กับกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วยเชื้อยีสต์ ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 600 ก./กก. พบว่าไม่สามารถลดอาการไข้ได้

           ฤทธิ์แก้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดที่เป็นสารในกลุ่ม steroids จากใบ สามารถลดการเคลื่อนไหวของหนูขาว ที่ได้รับสารดังกล่าวขนาด 100 มก./กก. แบบฉีดเข้าทางช่องท้อง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ หรือ แบบ single dose ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่สารสกัดข้างต้น ไปมีผลกดระบบประสาทส่วนกลาง และลดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลง นอกจากนี้มีการพบฤทธิ์ระงับประสาทส่วนกลางของสารสกัดเมทานอล และส่วนสกัดที่ไม่ละลายในเมทานอลจากส่วนใบแห้ง เมื่อให้สารดังกล่าวทางปากหนูถีบจักร ขนาด 100 มก./กก.  และพบฤทธิ์ทำให้สงบอย่างอ่อนจากสารสกัดด้วยน้ำของใบแห้ง เมื่อทดสอบในหนูขาว โดยให้ขนาด 500 มก./กก. ส่วนน้ำคั้นจากใบสด เมื่อให้แก่หนูขาวทั้งสองเพศ ขนาด 200 มก./กก. จะพบฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล


การศึกษาทางพิษวิทยาของสะเดา

การทดสอบความเป็นพิษ มีการศึกษาส่วนต่างๆ ของสะเดา และพบพิษดังนี้

           เมื่อป้อนสารสกัดจากเปลือก และใบสะเดาด้วย 70% เอทานอล ให้กับหนูถีบจักรทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 13 ก./กก. สารสกัดใบด้วยน้ำร้อน เมื่อฉีดให้กับหนูตะเภาทั้งเพศผู้และเพศเมียทางหลอดเลือดดำ ในขนาดมากกว่า 40 มก./กก. พบว่าทำให้เกิดพิษ และเป็นพิษต่อคนเมื่อรับประทานในขนาด 100 มล. เมื่อป้อนสารสกัดใบด้วย 95% เอทานอล ให้กับหนูถีบจักร ในขนาด 10 ก./กก. และเมื่อป้อนสารสกัดใบ กิ่ง ด้วยคลอโรฟอร์ม เฮกเซน หรือ น้ำ ให้กับกระต่ายทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ในขนาด 1.6 ก./กก. พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ และเมื่อป้อนสารสกัดใบด้วยเอทานอล 70% ให้กับหนูขาวเพศผู้กิน พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 4.57 ก./กก. สารสกัดจากใบ เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาวเพศผู้ พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 4.57 ก./กก. เมื่อผสมใบสะเดาลงในอาหารให้แพะและหนูตะเภากินติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ พบว่าทำให้เกิดพิษเช่นกัน) สารสกัดเมล็ดสะเดาด้วย 90% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังของหนูขาวเพศเมีย ในขนาด 0.1 มล./ตัว พบว่าทำให้เกิดพิษ ซึ่งพบพยาธิสภาพที่ตับและไตคือ ปริมาณกลัยโคเจนในตับ และไตลดลง แต่เพิ่มขึ้นที่ต่อมหมวกไต จำนวนโปรตีน และ alkaline phosphatase เพิ่มขึ้นที่ต่อมหมวกไต แต่ที่ไตลดลง มีอาการบวมที่ตับ และไตขาดเลือดไปเลี้ยง สารสกัดเมล็ดสะเดาด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทั้งเพศผู้และเมีย พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 68 มก./กก. น้ำมันจากเมล็ดสะเดาเมื่อใช้ทาที่ผิวหนังของกระต่าย ทั้งเพศผู้และเมีย ในขนาด 2.0 มล./วัน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ แต่เมื่อป้อนน้ำมันจากเมล็ดให้กับหนูถีบจักรทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ในขนาด 14.45 ก./กก. พบว่าทำให้เกิดพิษ และน้ำมันจากเมล็ดสะเดาเมื่อผสมลงในอาหาร ในขนาด 10% ของอาหาร และให้หนูขาวกิน เมื่อทดสอบในคนเพศหญิง โดยให้น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 3 มล. เข้าทางมดลูก พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ชายอายุ 60 ปี รับประทานน้ำมันจากเมล็ดสะเดา 60 มล. พบว่าทำให้เกิดพิษ โดยพบพยาธิสภาพที่สมอง ระบบประสาท และสภาพด้านจิตใจเปลี่ยนไป น้ำมันจากเมล็ดสะเดาเมื่อป้อนให้กับกระต่าย และหนูขาว ทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 24 และ 14 มล./กก. ตามลำดับ เมื่อให้ส่วนเนื้อในเมล็ดแทนที่ถั่วเหลือง และรำข้าวในอาหารไก่พันธุ์ Leghorn layer ขนาด 150, 200 ก./กก. เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าทำให้การกินอาหารของไก่ลดลง การผลิต และน้ำหนักของไข่ลดลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบกับการผสมพันธุ์ และวางไข่ด้วย มีการทดสอบความเป็นพิษในปลาแซลมอนของสารสกัดที่มีความบริสุทธิ์ 49% พบค่า LD50 >4 มก./ล. และยังมีการทดสอบพิษของผงจากส่วนเมล็ดในปลาน้ำจืด พบค่า LD50 1.33, 1.25, 1.22 และ 1.05 ก./ล. เมื่อให้ปลาดังกล่าวสัมผัสเป็นเวลา 24, 48, 72 และ 96 ชั่วโมงตามลำดับ นอกจากปลาแล้ว ยังมีการทดสอบความเป็นพิษของสาร tetranortriterpenoids จากสะเดาในปูซึ่งพบค่า LD50 คือ 250 ppm 

            พิษต่อระบบสืบพันธุ์ สารสกัดของใบสะเดา ในกลุ่ม steroid เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ ขนาด 100 มก./กก. สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 10 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดใบสะเดาจะไปทำลายการแบ่งตัวของอสุจิ และเพิ่มจำนวนของอสุจิที่ไม่สมบูรณ์ (ไม่มีหัว) และมีผลลดการเคลื่อนที่ของอสุจิในส่วนหาง ทำให้โอกาสการมีลูกลดน้อยลง แต่เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากใบสะเดา ความเข้มข้น 0.8% ให้กับหนูนาน 7 สัปดาห์ พบว่ามีผลทำให้ฮอร์โมน testosterone ในกระแสเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อการมีลูก และเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าสารสกัดจากส่วนใบยังทำให้โครงสร้างและจำนวนของ spermatocyte chromosome เปลี่ยนแปลงอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต้านเอนโดรเจน (anti-androgenic) ของใบสะเดาในหนูขาว เมื่อให้เป็นเวลา 48 วัน พบว่าความสามารถและความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิลดลง และพบความผิดปกติของตัวอสุจิมากขึ้นด้วย 

           พบฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างตัวอสุจิเมื่อให้หนูขาวเพศผู้กินใบสะเดา ขนาด 20-60 มก. 100 มก. เมื่อให้เป็นเวลา 24 วัน และหากให้น้ำมันจากเมล็ด ขนาด 50 มคก. ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน นอกจากฤทธิ์ในการยับยั้งแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าตัวอสุจิ เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดเอทานอล 80% ของใบแห้งขนาด 100 มก./กก. ทุกวันเป็นเวลา 21 วัน และถ้าให้น้ำมันจากเมล็ดขนาด 0.25, 25 มก./มล. ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากการทดลองในหนูแล้ว ยังมีการศึกษาพบฤทธิ์ดังกล่าวในลิงเช่นกัน และหากใช้กับช่องคลอดของลิงเพศเมีย ขนาด 1 มล. ก็สามารถฆ่าตัวอสุจิได้ ซึ่งอาจเป็นผลดังกล่าว จึงมีการทดลองถึงฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยพบฤทธิ์ยับยั้งการมีลูกในสารสกัดด้วยน้ำจากส่วนใบ เมื่อให้แก่หนูถีบจักร ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวสามารถหมดไปได้เมื่อหยุดใช้ สำหรับการทดลองในคนพบว่าสารสกัดในกลุ่ม saponins จากเมล็ดแห้ง ขนาด 25% ส่วนที่แยกได้จากน้ำมันของเมล็ดขนาด 100 มคก./มล. และน้ำมันจากเมล็ดขนาด 0.25, 25 มก./มล. มีฤทธิ์ในการฆ่าตัวอสุจิ

           พิษต่อเซลล์ สารสกัดรากสะเดาด้วยเอทานอล มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (lym-phocytic leukemia P388) และสารที่ออกฤทธิ์ คือ 1-tigloyl-3-acetyl-11-methyoxymelia-carpinin, 1-acethyl-3-tigloyl-11-methoxymelia carpinin, 29-isobutylsendanin, 12-hydroxya-moorastin และ 29-deacetylsendanin สาร nimbolide ในเมล็ดสะเดาแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของระบบประสาท ซึ่งความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 20-200 มคก./มล. (72)

           สารสกัดเปลือกต้นด้วยเมทานอลเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาด 100 มก./กก. เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง (Sarcoma 180) และส่วนสกัดโพลีแซคคาไรด์ของเปลือกต้นสะเดา เมื่อทำการทดลองในเซลล์ (cell culture) พบว่าเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง (Sarcoma) เช่นกัน) สารสกัดผลด้วยเมทานอลในขนาด 20 มคก./มล. ทำการทดลองในเซลล์ (cell culture) ของ Cells-Raji ไม่พบความเป็นพิษ ในขณะที่สารสกัดผลและใบสะเดาด้วยคลอโรฟอร์ม ทำการทดลองในเซลล์ (cell culture) ของเซลล์มะเร็ง CA-9KB พบว่าขนาดที่มีผลฆ่าเซลล์มะเร็งได้ครึ่งหนึ่ง (ED50) มีค่าน้อยกว่า 20 มคก./มล. สารสกัดเมล็ดสะเดาด้วยน้ำ เมทานอลในขนาด 100 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษต่อ Cell Vero และสารสกัดเปลือกต้นด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) ทำการทดลองในเซลล์ (cell culture) ต่อเซลล์มะเร็ง CA-9KB พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า ED50 มากกว่า 20 มคก./มล.

           พิษต่อตัวอ่อน น้ำมันจากเมล็ดสะเดา เมื่อป้อนทางสายยางสู่กระเพาะอาหารให้กับหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 6 มล./กก. หรือ เมื่อใส่เข้าไปทางช่องคลอดของหนูที่ตั้งครรภ์ขนาด 0.25 มล./ตัว และขนาด 12.5 มคล./ตัว พบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าน้ำมันสะเดาที่ความเข้มข้น 0.01, 0.05, 0.10, 0.25, 0.50, 0.75, 1.0, 2.50% (v/v) เมื่อใส่เข้าไปทางปากช่องคลอดและในมดลูกของหนูที่ตั้งครรภ์ พบว่ามีผลต่อตัวอ่อน คือ ทำให้มีการสร้างอวัยวะต่างๆ และการแบ่งตัวของเซลล์เนื้อเยื่อช้าลง แต่บางฉบับรายงานว่าน้ำมันจากเมล็ดสะเดาเมื่อป้อนให้หนูที่ตั้งครรภ์ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารในขนาด 2 มล./กก. และ 4 มล./กก. และเมื่อให้ทางช่องคลอดของหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 0.1 มล./ตัว สารสกัดใบด้วย อะซีโตนและเอทานอล:น้ำ (1:1) ขนาด 200 มก./กก. ป้อนให้กับหนูที่ตั้งครรภ์ พบว่าไม่มีพิษต่อตัวอ่อน

           พิษต่อยีน สารสกัดใบด้วยเอทานอล เมื่อป้อนให้กับหนูขาวทั้งสองเพศทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ขนาด 5, 10, 20 มก. และ 10 ก./กก./วัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่อการแบ่งตัวของยีน และมีความผิดปกติของโครโมโซม มีการวิจัยต่อจากสารสกัดลักษณะเดียวกัน แต่ทดลองในหนูถีบจักรเพศผู้ขนาด 0.5, 1.0 หรือ 2.0 ก./กก. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบความเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมในกระบวนการ meiotic และ meiosis เป็นผลให้จำนวนของตัวอสุจิลดลง และเพิ่มความถี่ของตัวอสุจิที่มีลักษณะของหัวผิดปกติ นอกจากส่วนใบ ก็ยังมีงานวิจัยว่าสารสกัดจากทุกส่วนของต้นสะเดาซึ่งไม่ระบุขนาด มีความเป็นพิษต่อโครโมโซม และเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าสารสกัดจากใบสะเดา มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมภายในเซลล์สืบพันธุ์ของหนู 

           พิษต่อตับและไต เมื่อป้อนสารสกัดใบสะเดา ด้วยน้ำให้กับกระต่ายทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ขนาด 2.328 มก./กก. พบว่ามีผลทำให้ระดับ alkaline phosphatase, glutamate oxalate-transaminase และ glutamate pyruvate-transaminase ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (86) และเมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดสะเดาด้วย 90% เอทานอลเข้าทางชั้นใต้ผิวหนังหนูเพศเมียขนาด 0.1 มล./ตัว พบว่าปริมาณกลัยโคเจนในตับ และไตลดลง แต่เพิ่มขึ้นที่ต่อมหมวกไต ส่วนปริมาณโปรตีนและ alkaline phosphatase เพิ่มขึ้นที่ต่อมหมวกไตแต่ลดลงที่ไต และเซลล์ตับมีสีคล้ำ บวม และตายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง และไตถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีการทดลองในไก่อายุ 7-35 วัน โดยผสมผลสุกของสะเดาลงในอาหารขนาด 2, 5 และ 10% ของอาหาร และผสมใบสะเดา 2 และ 5% ลงในอาหาร กินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามีผลทำให้ไก่เกิดภาวะซีด และค่า LDH (lactate dehydrogenase), GOT (glutamic oxaloacetic transminase), ALP (alkaline phosphatase) ในเลือดเพิ่มขึ้น ส่วนโปรตีนในกระแสเลือดลดลง เซลล์ตับและไตถูกทำลาย

           พิษต่อหัวใจ เมื่อฉีดสารสกัดใบด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) เข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัข พบว่าไม่เป็นพิษต่อหัวใจ 

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ของสะเดา ขนาด 0.1 มล./จานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ Salmonella typhimurium TA98, TA100, TA1535 และ TA1537 ในจานเพาะเชื้อ สารสกัดด้วยอะซีโตนและ DMSO ขนาด 200, 500 มก./จานเพาะเชื้อ และน้ำมันจากเมล็ดสะเดา ทำการทดสอบในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100

           ฤทธิ์ก่อมะเร็ง สาร azadirachtin จากสะเดา สามารถเหนี่ยวนำและก่อให้เกิดมะเร็ง และเป็นพิษต่อยีนของคนได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การรับประทานน้ำมันสะเดา และเปลือกของต้นสะเดาค่อนข้างไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรและทำให้ไม่มีน้ำนมได้
  2. คนเป็นโรคความดันโลหิตต่ำไม่ควรทาน เพราะสะเดา มีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือด อาจยิ่งทำให้เลือดไหลเวียนน้อยลง เป็นลม หมดสติ หรือวูบได้ง่าย
  3. การรับประทานน้ำมันสะเดา และเปลือกของต้นสะเดาค่อนข้างไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
  4. สะเดามีรสขม จึงเป็นยาเย็น จึงไม่เหมาะกับคนธาตุเย็น เพราะจะยิ่งทำให้ท้องอืด เกิดลมในกระเพาะ 
  5. งานวิจัยบางงานเผยว่าสะเดาอาจเป็นอันตรายต่ออสุจิ รวมถึงลดโอกาสในการมีบุตรในทางอื่นๆ ผู้ที่ต้องการมีบุตรจึงควรหลีกเลี่ยง
  6. คนที่เป็นโรคกระเพาะหรือโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง เช่น โรคกรดไหลย้อน ภาวะเรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก เพราะรสขมเป็นรสที่ช่วยกระตุ้นสร้างน้ำย่อยให้ออกมาขึ้น 

เอกสารอ้างอิง สะเดา
  1. เดชา ศิริภัทร.สะเดา ความขมที่เป็นยา. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 157. พฤษภาคม.2535
  2. สะเดา. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ผัก-ผลไม้พื้นบ้าน. คอลัมน์เรารักสุขภาพ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 229. พฤษภาคม. 2541
  4. Debelmas AM, Hache J. Toxicity of several medicinal plants of Nepal including some behavioral and central nervous system effects. Plant Med Phytother 1976; 10:128-38.
  5.  Sinha KC, Riar SS. Neem oil - an ideal contraceptive. Biol Mem 1985;10(1/2):107-14. 
  6. Okpanyi SN, Ezeukwu GC. Anti-inflammatory and antipyretic activities of Azadirachta indica. Planta Med 1981;41:34-39.
  7. Gowda SK, Verma SV, Elangovan AV, Singh SD. Neem (Azadirachta indica) kernel meal in the diet of white leghorn layers. Br Poult Sci 1998;39(5):648-52.
  8. Parshad O, Young LE, Young RE. Neem (Azadirachta indica) treatment decreases spontaneous motor activity in rat: implications for its central sedative action. Phytother Res 1997;11:398-400.
  9.  Okpanyi SN, Ezeukwu GC. Anti-inflammatory and antipyretic activities of Azadirachta indica. Planta Med 1981;41:34-39.
  10. Deshpande VY, Mendulkar KN, Sadre NL. Antifertility activity of Azadirachta indica in male mice. Abstr 4th Asian Symp Med Plants Spices, Bangkok, September 15-19, 1980:64.
  11.  Parshad O, Gardner MT, The TL, Williams LAD, Fletcher CK. Antifertility effects of aqueous and steroidal extracts of neem leaf (Azadirachta indica) in male Wistar rats.  Phytother Res 1997;11(2):168-70.
  12. Ashorobi RB. Antipyretic effects of Azadirachta indica in bacteria endotoxin induced fever in the rat. Phytother Res 1998;12(1):41-3.
  13. Choudhary DN, Singh JN, Verma SK, Singh BP. Antifertility effects of leaf extracts of some plants in male rats. Indian J Exp Biol 1990;28(8):714-6.
  14. Prakash AO, Mishra A, Metha H, Mathur R. Effect of ethanolic extract of Azadirachta Indica seeds on organs in female rats.  Fitoterapia1991;62(2):99-105.
  15. Singh PP, Junnarkar AY, Thomas GP, Tripathi RM, Varma RK. A pharmacological study of Azadirachta indica. Fitoterapia 1990;61(2):164-8.
  16.  Anjaneyulu GVSR, Mishra KD. Acute toxicity of “Neemax” (neem seed powder) to the freshwater fish, Puntius ticto (HAM.). Pollut Res 1999;18(4):391-4.
  17. Khattak,SG,Gilani SN, Ikram M. Antipyretic studies on some indigenous Pakistani medicinal plants. J Ethnopharmacol 1985;(14)1:45-51.
  18. Aladakatti RH, Nazeer AR, Ahmed M, Ghosesawar MG. Sperm parameters changes induced by Azadirachta indica in albino rats. J Basic Clin Physiol Pharmacol 2001;12(1):69-76.
  19.  Bhakuni DS, Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Gupta B, Srimali RC. Screening of Indian plants for biological activity. Part III. Indian J Exp biol 1971;9:91.
  20. Khattak,SG,Gilani SN, Ikram M. Antipyretic studies on some indigenous Pakistani medicinal plants. J Ethnopharmacol 1985;14(1):45-51.
  21. Riar SS, Bardhan J, Thomas P, Kain AK, Parshad R. Mechanism of antifertility action of neem oil. Indian J Med Res 1988;88(4):339-42.
  22.  Azmi MA, Jahan S, Naqvi SNH, Tabassum R, Jahan M, Khan MF. Toxic effect of tetranortriterpenoids (neem products) and deltamethrin (pyrethroid) against Cyprinus carpio (common carp). Proc Pak Congr Zool 1997;17:171-7.
  23. Singh PP, Junnarkar AY, Reddi GS, Singh KV. Azadirachta indica: neuro-psychopharmacological and antimicrobial studies. Fitoterapia 1987;58(4):235-8.
  24. Akah PA, Onuogu OE. Hepatotoxic effect of Azadirachta indica leaf extract in rabbits. Fitoterapia 1992;63(4):311-9.
  25. Tandan SK, Gupta S, Chandra S, Lal J. Safety evaluation of Azadirachta indica seed oil, a herbal wound dressing agent.  Fitoterapia 1995;66(1):69-72.
  26. Awasthy KS, Chaurasia OP, Sinha. Prolonged murine genotoxic effects of crude extract in rabbits. Fitoterapia 1991;62(2):99-105.
  27. Murthy PS, Sirsi M. Pharmacological studies on Melia azadirachta. Part II. Estrogenic and antipyretic activity of neem oil and its fraction. Indian J Physiol Pharmacol 1958;2:456 .
  28. Shimizu M, Sudo T, Nomura T. China tree bark extract with antineoplastic action. Patent: Swiss 650,404, 1985:12pp.
  29. Sivashanmugam R. Neem leaf poisoning. Reply from the authors. J Assoc Physicious India 1985;33(12):817.
  30.  Upadhyay S, Dhawan S, Talwar GP. Antifertility effects of neem (Azadirachta indica) oil in male rats by single intra-vas administration: an alternate approach to vasectomy. J Androl 1993;14(4):275-81. 
  31.   Juneja SC, William RS. Neem oil inhibits in vitro development of mouse embryos. Adv Contracept Delivery Syst 1994;10(3/4):179-89.
  32.   Ikram M, khattak SG, Gilani SN. Antipyretic studies on some indigenous Pakistani medicinal plants: II. J Ethnopharmacol 1987;19(2):185-92.
  33. Itokawa H, Qiao Z-S, Hirobe C, Takeya K. Cytotoxic limonoids and tetranortriter-penoids from Melia azedarach. Chem Pharm Bull 1995;43(7):1171-5. 
  34. Joshi AR, Ahamed RN, Pathan KM, Manivannan B. Effect of Azadirachta indica leaves on testis and its recovery in albino rats. Indian J Exp Biol 1996;34(11):1091-4. 
  35.  Dhawan BN, Dubey MP, Mehrotra BN, Rastogi RP, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. Part IX. Indian J Exp Biol 1980;18:594-606.
  36. Prakash AO. Potentialities of some indigenous plants for antifertility. Int J crude Drug Res 1986;24(1):19-24.
  37. Anon. Unpublished data, National Cancer Institute. Nat Cancer Inst Central Files 1976.
  38.  Awasthy KS. Genotoxicity of a crude leaf extract of neem in male germ cells of mice. Cytobios 2001;106(suppl 2):151-64.
  39.  Riazuddin S, Malik MM, Nasim A. Mutagenicity testing of some medicinal herbs. Eviron Molec mutagen 1987;10(2):141-8.
  40. Khare AK, Srivastava MC, Sharma MK, Tewari JP. Antifertility activity of neem oil rabbits and rats. Probe 1984;23(2):90-4.
  41. Cohen E, Quistad GB, Jefferies PR, Casida JE. Nimbolide is the principal cytotoxic component of neem-seed insecticide preparations. Pestic Sci 1996;48(2):135-40.
  42. Prakash AO, Mishra A, Metha H, Mathur R. Effect of ethanolic extract of Azadirachta indica seeds on organs in female rats. Fitoterapia 1991;62(2):99-105.
  43. Rosenkranz HS, Klopman G. An examination of the potential “genotoxic” carcino- genicity of a biopesticide derived from the neem tree. Environ Mol Mutagen 1995; 26(3):255-60.
  44.   Jaiswal AK, Bhattacharya SK, Acharya SB.  Anxiolytic activity of Azadirachta indica leaf extract in rats. Indian J Exp Biol 1994;32(7):489-91.