พรมมิ ประโยช์ดีๆ สรพพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

พรมมิ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พรมมิ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักมิ, ผักหมี่, หยดน้ำตา (ทั่วไป), พรมลี (ชุมพร), Brahmi (ฮินดู-อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bacopa monnieri Wettst
ชื่อสามัญ Indian pennywort, Brahmi
วงศ์ Schrophulariaceae

ถิ่นกำเนิดพรมมิ

พรมมิเป็นพืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และยังสามารถพบได้ในประเทศแถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย พม่า ศรีลังกา บังคลาเทศ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น โดยมักจะพบตามที่ชื้นแฉะมีน้ำชุ่ม หรือ แถวริมตลิ่งต่างๆ สำหรับในประเทศไทยได้มีหลักฐานการใช้พรมมิ เป็นยามาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการกล่าวถึงการใช้พรมมิในตำราโอสถพระนารายณ์ และในอินเดียก็ได้มีการบันทึกในตำราอายุรเวทว่ามีการใช้พรมมิมานานกว่า 3000 ปี มาแล้วเช่นกัน 


ประโยชน์และสรรพคุณพรมมิ
 

  1. บำรุงสมอง
  2. บำรุงประสาท
  3. ช่วยเพิ่มความสงบ
  4. ทำให้อ่อนวัย
  5. เป็นยาอายุวัฒนะ
  6. ช่วยขับโลหิต
  7. แก้ไข้
  8. ขับพิษร้อน
  9. ขับเสมหะ
  10. ขับปัสสาวะ
  11. บำรุงกำลัง
  12. บำรุงหัวใจ
  13. ขับพยาธิ
  14. แก้หืด
  15. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  16. ช่วยเพิ่ม และฟื้นฟูความจำ
  17. ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการใช้พรมมิ เป็นอาหาร และผักจิ้มน้ำพริกคล้ายตำลึง สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่หากเป็นการใช้สารสกัดพรมมิ ควรใช้วันละ 1 เม็ด (300 มิลลิกรัม) หรือ อาจรับประทานผักพรมมิ 30 กรัม (50ยอด) ก็จะเท่ากับสารสกัด 1 เม็ดเช่นกัน


ลักษณะทั่วไปของพรมมิ

พรมมิ เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นแตกกิ่งก้านมาก มีความยาว 10-40 เซนติเมตร มีรากออกตามข้อ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปช้อน หรือ รูปไข่กลับ ไม่มีก้านใบ ใบอวบน้ำ ขอบใบเรียบ หรือ หยักเล็กน้อยปลายใบมน กว้าง 1-5 มิลลิเมตร ยาว 6-20 มิลลิเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกจากซอกใบ ก้านดอกยาว 6-15 มิลลิเมตร กลีบดอก รูปของขนานแกมไข่กลับยาว 8-10 มิลลิเมตร มีสีขาวปนม่วงอ่อน มีใบประดับรูปดาบ ยาว 2-3 มิลลิเมตร ผลแห้งแตกได้ รูปไข่ กว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร

พรมมิ

พรมมิ

การขยายพันธุ์พรมมิ

พรมมิสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำ โดยมีวิธีการดังนี้ การเตรียมวัสดุ ดิน ใช้ดินร่วน, ปุ๋ยคอก, ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 ถุงปักชำ การปักชำลงถุงจะต้องใช้ถุงดำขนาดที่พอเหมาะ  การเลือกก้านพรมมิ ในการปักชำ โดยการตัดกิ่งก้านอ่อน ที่มีลักษณะสมบูรณ์ อาจมียอดและใบติด หรือ ไม่มีก็ได้ แต่ก้านที่ตัดต้องไม่เป็นโรค โดยตัดกิ่งก้านหรือปลายยอดยาว 3-4 นิ้ว วิธีการปักชำพรมมิ นำกิ่งพันธุ์พรมมิ ที่ตัดก้าน หรือ ปลายยอด ยาว 3-4 นิ้ว ริดใบบริเวณโคนก้านออกเล็กน้อย ปักก้านพรมมิลงไปในถุงดำที่กรอกดินเตรียมไว้ ให้ลึกลงไปในดิน 2 ส่วน ใน 3 ส่วน และให้ส่วนปลายตั้งขึ้นเหนือขอบถุงปักชำ รดน้ำให้ชุ่ม และคอยรดน้ำต่อไปให้วัตถุที่ปักชำชุ่มชื้นอยู่เสมอ จนกระทั่งก้านพรมมิที่ชำออกรากซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงสามารถย้ายลงปลูกในแปลงปลูกได้ และควรรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 1-2 ครั้งต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

 จากการศึกษาสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิ คือ สารกลุ่ม saponinglyclosides ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ jujubogenin glycosides เช่น bacoside A3 และ becopaside X และ pseudojujubogenin glycosides เช่น bacopaside L II และ becopasaponin C 

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของพรมมิ     

  โครงสร้างพรมมิ

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ ยังพบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin และ luteolin ส่วนสารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B รวมถึงยังมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ brahmine อีกด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพรมมิ

            การศึกษาผลการฟื้นฟูความจำของสารสกัด triterpenoid saponin จากต้นพรมมิ โดยการป้อนสารสกัด triterpenoid saponin ชนิดต่างๆ ที่สกัดได้จากพรมมิ ชนิดต่างๆ ที่สกัดได้จากพรมมิขนาด 50 มก./กก. ให้แก่ หนูเม้าส์ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อมด้วยการฉีดสาร scopolamine 1 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง พบว่าสารสกัด triterpenoid saponin ชนิดที่ 3,4 และ 6 ซึ่งได้แก่ bacoside XI, bacoside I และ bacosaponin C ตามลำดับ มีฤทธิ์ในการช่วยป้องกันการสูญเสียความจำได้ เมื่อให้สารสกัดพรมมิขนาด 20,40 และ 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักในหนูเป็นเวลา 14 วัน ปรากฏว่าหนูมีการเรียนรู้และความจำดีขึ้น ป้องกันการสูญเสียความจำในสัตว์ทดลองที่ถูกชักนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม สารสกัดพรมมิมีกลไกในการปกป้องเซลล์ประสาท และเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท จากการทดสอบพิษแบบเฉียบพลันและเรื้อรังไม่พบว่าสารสกัดพรมมิมีพิษต่อสัตว์ทดลอง      

            การศึกษาผลกึ่งเรื้อรัง (subchronic) ของพรมมิต่อความสามารถในการเรียนรู้และความจำในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์โดยการฉีดสาร colchicines เข้าทางโพรงสมอง  (i.c.v.) และกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บของสมองส่วน nucleus basalis magnocellularis ด้วยการฉีดสาร ibotenic acid พบว่าการป้อนสารสกัดมาตรฐานจากพรมมิ (มีสาร bacoside A ประกอบอยู่ 82.0  0.5%) ให้แก่หนูแรทขนาด 5 และ 10 มก./กก. น้ำหนักตัว นาน 14 วัน มีช่วยลดการสูญเสียความจำ ป้องกันการลดลงของ Ach และระดับการทำงานของเอนไซม์ choline acetyltransferase (ChAT) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สร้าง ACh และระดับ muscarinic cholinergic receptor ที่เป็นตัวรับ Ach ในสมองบริเวณเนื้อสมองชั้นนอกของสมองส่วนหน้า (frontal cortex) และ hippocampus โดยพบว่าการป้อนที่ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว จะเห็นผลชัดเจนทั้งในวันที่ 7 และ 14 ของการศึกษา ส่วนการป้อนที่ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว จะเห็นผลในวันที่ 14 ของการศึกษา และเมื่อทดลองให้สารสกัดจากพรมมิขนาด 40 มก./กก. นาน 7 วัน ในสัตว์ทดลองร่วมกับยากันชัก Phenytoin สามารถลดผลข้างเคียงของยาที่ไปทำให้การรับรู้ของสัตว์ทดลองเสียไปได้

             เมื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของสารสกัดพรมมิ กับสารสกัดจากใบแปะก๊วย และยา donepezil ซึ่งเป็นยาต้านอัลไซเมอร์ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ และความจำของหนูที่แก่ตามธรรมชาติ ผลการทดลองหลังจาก้อนสารสกัดหรือยาติดต่อกันนาน 3 เดือน พบว่า หนูแก่ที่ได้รับสารสกัดพรมมิ (40 มก./กก.) มีการเรียนรู้และความจำเกี่ยวกับสถานที่ และความสามารถในการจดจำสิ่งของได้ดีพอๆ กับหนูแก่ที่ได้รับสารสกัดจากใบแปะก๊วย (60 มก./กก.) หรือ ที่ได้รับยา donepezil (1 มก./กก.) และดีกว่าหนูแก่กลุ่มควบคุมที่ได้รับเฉพาะน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญ 

           ผลของพรมมิต่อระบบหัวใจหลอดเลือด เมื่อให้สารสกัดพรมมิ (40 มก./กก.) หรือ สารสกัดแปะก๊วย (60 มก./กก.) ทางปากในหนูแรทเป็นเวลานานติดต่อกัน 2 เดือน พบว่าทั้งสารสกัดพรมมิ และสารสกัดแปะก๊วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณหลอดเลือดแดงบนเยื่อหุ้มสมอง โดยมีประสิทธิภาพเท่าๆ กัน สารสกัดพรมมิไม่มีผลทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นหัวใจของหนูแรทเปลี่ยนแปลงไป 

            การศึกษาผลของพรมมิในอาสาสมัครวัยกลางคน และสูงอายุ อายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาหลอก และได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าในกลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานยาจริงมีความจำ มีการทรงตัวที่ดี มีความจำและสมาธิ รวมทั้งการตอบสนองต่อสิ่งเร้าดีกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานยาหลอก โดยเห็นผลหลังจากรับประทานยา ติดต่อกัน 2 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังไม่พบข้างเคียงใดๆ และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มก.) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มก. (ประกอบด้วย  bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของพรมมิ

จากการศึกษาความเป็นพิษของพรมมิ ในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ (BacoMindTM) ขนาด 300 มก./วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มก./วัน อีก 15 วัน ไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับและไต ควรระมัดระวังในการใช้พรมมิ และควรปรึกษาแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ
  2. ในการใช้พรมมิ อาจพบอาการข้างเคียงในบางราย เช่น ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
  3. แม้ว่าพรมมิจะไม่มีความเป็นพิษ แต่ในการใช้ควรใช้แต่พอดีและไม่ควรบริโภคติดต่อกันนานเกินไป

เอกสารอ้างอิง พรมมิ
  1. รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์.พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ ผลงานวิจัยดีเด่น สาชวิทยาศาสตร์เคมี และเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2559 คอลัมน์ อาคันตุกะ.สรรพสรวงทางยา. ปีที่ 15. ฉบับ 201 ประจำเดือน 2558. หน้า 35-37
  2. พิชานันท์ สีแก้ว .พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม.จุลสารข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 29 ฉบับที่ 3.เมษายน 2555 หน้า 16-19
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 3. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2543. 823 หน้า
  4. กรกนก อิงคนันท์, วธู พรหมพิทยารัตน์, พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ และคณะ. การศึกษาพัฒนาพรมมิเพื่อใช้เป็นสมุนไพรบำรุงความจำ. การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรมครั้งที่ 2. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช). 2550.
  5. ต้นพรมมิ.กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5214
  6. Pravina K, Ravidra KR, Goudar KS, et al. Safety evaluation of BacoMindTM in healthy volunteer: a phase I study. Phytomedicine 2007; 14: 301-8.
  7. Bhattacharya SK, Kumar A, Ghosal S. Effect of Bacopa monniera on animal models of Alzheimer’s disease and perturbed central cholinergic markers of cognition in rats. Research communications in pharmacology and toxicology 1999; 4(3&4): II/1-II/12.
  8. Negi KS, Singh YD, Kushwaha KP, et al., Clinical evaluation of memory enhancing properties of memory plus in children with attention deficit hyperactivity disorder. Ind J Psychiatry 2000; 42: Supplement
  9. Deepak BM, Amit A. The need for establishing identities of 'bacoside A and B', the putative major bioactive saponins of Indian medicinal plant Bacopa monnieri. Phytomedicine 2004; 11(2-3): 264-8
  10. Zhou Y, Peng L, Zhang WD, Kong DY. Effect of triterpenoid saponin from Bacopa monniera on scopolamine-induced memory impairment in mice. Planta Med 2009; 75: 568-74.