หนอนตายหยาก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หนอนตายหยาก งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หนอนตายหยาก
ชื่อวิทยาศาสตร์/ชื่อท้องถิ่น มีรายงานว่าหนอนตายหยาก ที่เป็น พืชสกุล Stemona มีอยู่ประมาณ ประมาณ 30 ชนิด ซึ่งศูนย์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จำแนกชนิดของหนอนตายหยากโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ร่วมกับการจำแนกด้วยอนุกรมวิธาน โดยพิจารณาจากใบและดอก สามารถจำแนกได้ 9 ชนิด คือ
        

ชื่อวิทยาศาสตร์                                 ชื่อท้องถิ่น

Stemonaaphylla Craib                         เครือปรุง (ลำปาง)

Stemonaburkillii Prain                        ปงมดง่าม, โป่งมดง่าม (เชียงใหม่)

Stemonacollinsae Craib                      หนอนตายหยาก (ภาคกลาง), ปงช้าง (ภาคเหนือ), กระเพียดช้าง (ภาคอีสาน)

Stemonacurtisii Hook. f.                     รากลิง (พัทลุง), หนอนตายหยาก

Stemonagriffithiana Kurz                    - (พบที่จังหวัดแพร่)

Stemonakerrii Craib                            - (พบที่จังหวัดเชียงใหม่)

Stemonaphyllantha Gangep.               - (พบที่จังหวัดเพชรบุรี และภูเก็ต)

Stemonatuberosa Lour.                       หนอนตายหยาก (แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์), กะเพียด (ประจวบคีรีขันธ์, ชลบุรี) 

Stemona cochichinensis                      - ป้อมดง่าม, ปังสามสิบ (ภาคเหนือ), กระเพียดหนู, สลอดเชียงคำ (ภาคอีสาน) 

           นอกจากนี้บางตำรายังมีหนอนตายหยาก ชื่อ Clitorea hanceana Hemsl วงศ์ Leguminosae (Fabaceae)- Papilionoideae จึงอาจทำให้เกิดความสับสนในการศึกษาข้อมูล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยตรวจสอบและระบุชื่อวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนต่อไป เพราะแต่ละสกุล แต่ล่ะชนิดพันธุ์อาจมีสารออกฤทธิ์ที่มีสมบัติ และปริมาณแตกต่างกัน

ชื่อสามัญ Stemona sp.
วงศ์ Stemonaceae

ถิ่นกำเนิดหนอนตายหยาก

หนอนตายหยาก พบในบริเวณเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางเหนือของออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ฮอลแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฯ สำหรับประเทศไทยพบหนอนตายหยาก พืชสกุลนี้ในภาคต่างๆ ของประเทศ โดยพบมากบริเวณป่าดิบชื้น ป่าผลักใบ และป่าไผ่

ประโยชน์และสรรพคุณหนอนตายหยาก

  1. เป็นยาแก้ไอ
  2. ช่วยขับเสมหะ
  3. เป็นยาขับลม
  4. เป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิตัวแบน ทั้งพยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด พยาธิปากขอ
  5. รักษาวัณโรค
  6. เป็นยาแก้ไอเย็น
  7. แก้ไอเรื้อรัง
  8. แก้หลอดลมอักเสบ
  9. แก้โรคผิวหนัง
  10. ช่วยฆ่าหิดเหา
  11. ช่วยฆ่าเชื้อพยาธิภายใน
  12. รักษามะเร็งตับ
  13. แก้ปวดฟัน
  14. ริดสีดวงทวารหนัก

           หนอนตายหยาก ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มาตั้งแต่อดีตโดยใช้ฆ่าเห็บเหาในสัตว์ประเภทโค และกระบือ บางชนิดใช้ฆ่าหนอน หรือ ใส่ในไหปลาร้าเพื่อกันหนอนแมลงวัน และแมลงศัตรูพืช ในการเกษตรอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเป็นทางเลือดของวิธีการควบคุมศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการจะใช้ราหนอนตายหยากมารับประทานเป็นยาสมุนไพรนั้น จะใช้ได้เป็นบางสายพันธุ์เท่านั้น และต้องมีขั้นตอนการทำลายพิษ โดยนำรากมาล้างให้สะอาดแล้วนำมาลวก หรือ นึ่งจนกระทั่งไม่เห็นแกนสีขาวที่รากแล้วนำไปตากแห้ง และหั่นให้มีขนาดเล็กก่อนนำไปปรุงเป็นตำรายา หรือ บางตำราก็นำมาเชื่อมกับน้ำผึ้งก่อนนำไปใช้ เพราะรากสดของหนอนตายหยาก มีพิษ หากไม่ผ่านกรรมวิธีการทำลายพิษก่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงตายได้ โดยสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพร เช่น S.tuberosa Lour., S. collinsae Craib, S.sessilfolia (Miq), S. japonica (BJ) Miq. เป็นต้น ส่วนรูปแบบวิธีการใช้หนอนตายหยาก มีหลายวิธี ดังนี้

           ใช้รักษาเหา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 3-4 ราก ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาตำผสมกับน้ำใช้ชโลมเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน 

           ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ให้ใช้รากสด 1 ราก ที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาหั่นตำให้ละเอียด เติมเกลือ 1/2 ช้อนชา ใช้อมประมาณ 10-15 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ทำแบบนี้ติดต่อกันประมาณ 2-4 ครั้ง

           ใช้ฆ่าพยาธิตัวแบน ทั้งพยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ด้วยการใช้รากแห้งที่ผ่านการเตรียมยามาแล้ว 2 ราก นำมาต้มกับน้ำกินติดต่อกันประมาณ 15-20 วัน (ราก) ส่วนวิธีใช้ถ่ายพยาธิปากขอ ให้ใช้ราก หรือเ หง้า 100 กรัม แบ่งต้ม 4 ครั้ง จากนั้นนำมาสกัดจนเหลือ 30 ซีซี ใช้รับประทานครั้งละ 15 ซีซี โดยให้รับประทานติดกัน 2 วัน 

           ใช้รากหนอนตายหยาก มาต้มกับยาฉุนรมริดสีดวงทวารหนักจะทำให้หัวแห้งฝ่อ ใช้รักษาโรคผิวหนัง โยนำรากที่ผ่านการเตรียมยาแล้ว 50-100 กรัม ไปต้มแล้วใช้อาบนอกจากนี้หนอนตายหยากยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาอีกหลายตำรับเช่น ยาตัดรากอุปะทม, ยาแก้ดีลมแลกำเดา เจือกันทั้งสาม, ยาแก้ดีกำเดา เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของหนอนตายหยาก

หนอนตายหยาก มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่มีเหมือนกัน คือ มีลักษณะเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีเหล้า หรือ หัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นเหนือดินตั้งตรงหรือเลื้อย ใบเลี้ยงเดี่ยว เรียบสลับหรืออยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่หรือเป็นวงรอบข้อ เส้นใบหลายเส้น ออกจากโคนใบขนานกันไปตามความยาวของแผ่นใบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ มีกลีบ 4 กลีบ เรียงกัน 2 วง เกสรตัวผู้ 4 อัน ก้านเกสรตัวผู้สั้นมาก เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือชั้นต่างๆ ของดอก ผลเป็นแบบผลแห้งแก่แล้วแตก

            ส่วนการแยกชนิดของสายพันธุ์ที่สามารถแยกได้ด้วยลักษณะทางกายภาพที่สามารถมองเห็นได้ คือ ต้องดูที่ราก ใบ และดอกเป็นสำคัญ (ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้ารวมถึงต้องอาศัยการแยกลายพิมพ์ดีเอ็นเอ และอนุกรมวิธานเป็นสำคัญ)

หนอนตายหยาก

หนอนตายหยาก

กรขยายพันธุ์หนอนตายหยาก

หนอนตายหยากเป็นพืชที่มักพบป่า และในปัจจุบันยังไม่นิยมนำมาเพาะปลูกในเชิงพาณิชมากเท่าไรนักในการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ก็เป็นการขุดมาจากป่าเสียเป็นส่วนมาก มีรายงานว่ามีการทดลองปลูกหนอนตายหยาก พบว่า การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จะมีอัตราการรอดสูงที่สุด


องค์ประกอบทางเคมี

หนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ซึ่งแต่ละสายพันธุ์อาจมีสารออกฤทธิ์ที่ต่างกัน แต่ได้มีการศึกษาวิจัยบางฉบับระบุว่าหนอนตายหยาก สายพันธุ์ S.collinsae Craib รากพบแอลคาลอยด์ stemonine, tuberostemonine, stemonidine, isostemonidine สารอื่นที่พบ เช่น rotenoid compound, stemonacetal, stemonal, stemonone ส่วนสายพันธุ์ S.tuberrosa Lour พบว่ามีกลุ่มสารอัลคาลอยด์ คือ stemonidine, tuberstemonine, isotuberstemonine, hypotuberstemonine และ oxatuberstemonine.

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหนอนตายหยาก

           โครงสร้างหนอนตายหยาก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหนอนตายหยาก

รายงานการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหนอนตายหยากต่อสัตว์ทดลอง รายงานว่า ยาชงสกัดหนอนตายหยากด้วยอีเทอร์ จะได้ปริมาณอัลคาลอยด์สูง มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิไส้เดือนได้มากกว่ายาชงสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และสารสกัดหนอยตายหยากที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่อยู่ในรูปของยาครีม จะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาได้ดีกว่าในรูปของยาน้ำ และฤทธิ์ตกค้างเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น  และมีรายงานศึกษาผลของ 6-deoxyclitoriacetal ซึ่งเป็นสาร retonoids ที่สกัดได้จากรากหนอนตายหยาก ต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบจากอวัยวะต่างๆ ที่แยกจากกายของหนูทดลองพบว่า  6-deoxyclitoriacetal 0.2 มก./มล. สามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกหนูขาวทั้งที่เกิดขึ้นเอง หรือ เกิดจากการกระตุ้นด้วย serotonin และ norepinephrine แบบความเข้มข้นสะสม และยังสามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงใหญ่ของหนูขาวจากการกระตุ้นด้วยสารละลายแคลเซียมคลอไรด์แบบความเข้มข้นสะสม นอกจากนี้ยังสามารถมีผลต่อการหกตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วน ileum ของหนูตะเภา เมื่อมีการกระตุ้นด้วย acetylcholine จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า 6-deoxyclitoriacetal มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบจากอวัยวะต่างๆ และกลไกของการยับยั้งการหดตัวนี้เป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีกเช่นสมุนไพรหนอนตายหยาก สามารถยับยั้งการไอของสัตว์ทดลองได้ และมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางของระบบหายใจ ทำให้การหายใจได้ผลช้าลง


การศึกษาทางพิษวิทยาของหนอนตายหยาก
 

การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของหนอนตายหยาก สารพันธุ์ S.curtisii Hook. F.HC ในหนูถีบจักร โดยการป้อนสารสกัดจากรากหนอนตายหยากขนาด 0.25-80 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 14 วัน และขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 30 วัน สำหรับทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันของหนอนตายหยาก ไม่พบความเป็นพิษของสารสกัดหนอนตายหยาก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. รากหนอนตายหยากมีพิษ หากรับประทานเข้าไปโดยไม่ผ่านกระบวนการทำลายพิษก่อน จะทำให้มึนเมา และอาจถึงตายได้
  2. การจะนำหนอนตายหยากมาใช้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพราะ หนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่มีสรรพคุณทางยา
  3. ไม่ควรใช้หนอนตายหยาก เป็นยาสมุนไพรในปริมาณที่มาก และใช้เป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้
  4. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หนอดตายหยาก เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบหรือมีผลต่อครรภ์ได้

เอกสารอ้างอิง หนอนตายหยาก
  1. มณฑา วงศ์มณีโรจน์. การเพิ่มประสิทธิภาคการชักนำรากหนอนตายหยาก (Stemona collinsae Craib) ในสภาพปลอดเชื้อและการนำต้นออกปลูกวารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก.ปีที่ 6 ฉบับที่ 1.มกราคม-เมษายน 2551.หน้า 65-71
  2. ฌุฉัตรา วีระฉัตร. 2528.ผลของสารสกัดหนอนตายหยาก (Stemona collinsae Craib) ต่อสัตว์น้ำบางชนิด.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 41 หน้า.
  3. กองวิจัยทางแพทย์.2527. สมุนไพรพื้นบ้านตอนที่ 1.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.กรุงเทพฯ 131 หน้า
  4. Burkill I.H. 1935. Dictionary of the Economic Products of the Malay Peninsula. 2 vols., Oxford University Press, London. 2402 p.
  5. ประคอง พันธุ์อุไร. อุษาวดี ธำรง ผลชีวัน บุญล้วน พันธุมจินดา ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา และสุวรรณา จารุนุช 2523.สารสกัดจากรากหนอนตายหยากเพื่อใช้ฆ่าเหา.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,กรุงเทพฯ. 16 หน้า.
  6. ผศ.ดร.ดริยาภรณ์ พงษ์รัตน์และคณะ. การศึกษาการผลิต และการขยายพันธุ์หนอนตายหยาก. รายงานการวิจัยคณะเกษตรศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
  7. การะเกด สายบรรดาศักดิ์ 2540 ฤทธิ์ของ 6- deoxyclitoriacetal จากรากหนอนตายหยาก ต่อกล้ามเนื้อเรียบ.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาเภสัชวิทยา บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.119 หน้า.
  8. นันทวัน บุณยะประภัสร. อรนุช โชคชัยเจริญพร.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (5) มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ พ.ศ.2543. หน้า 118-22.
  9. บุณย์ธนิสร์ โอทกานนท์.2494. การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหนอนตายหยาก. ในรายงานการวิจัยเพื่อปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์. 8 หน้า.
  10. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนอนตายหยาก”. หน้า 608.
  11. วีเชียร กีรตินิจกาล.หนอนตายหยากพลู. ศูนย์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช. เอกสารประกอบการจัดนิทรรศการงานเกษตร ประจำปี 2548. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ.
  12. บุญชู ธรรมทัศนานนท์. ว่านรักษาโรค. คอลัมน์การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมดชาวบ้าน เล่มที่ 20. ธันวาคม2523.
  13. หนอนตายหยาก. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=132
  14. รากของหนอนตายหยาก. กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5915