เตย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เตย งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เตย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ใบเตย, เตยหอม, ต้นเตย, เตยหอมใหญ่, เตยหอมเล็ก (ภาคกลาง), หวานข้าวใหม่ (ภาคเหนือ), ปาแนะวอวิง, ปาแง๊ะออริง (นราธิวาส, มาเลเซีย), พังลั้ง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus amaryllifolius Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus ordorus Ridl.
ชื่อสามัญ Pandanus Palm, Fragrant Pandan, Pandom wangi.
วงศ์ Pandanaceae

ถิ่นกำเนิดเตย

เตยเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพราะได้นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะส่วนของใบที่เราเรียกว่า ใบเตย จึงทำให้เรียกพืชชนิดนี้ติดปากกันมาจนถึงปัจจุบันว่า “ใบเตย ” สำหรับถิ่นกำเนิดของเตยนั้น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาทิ ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย และประเทศอินเดีย รวมถึงทวีปอื่น เช่น แอฟริกา และออสเตรเลีย ชอบขึ้นตามพื้นที่ชุ่ม ริมลำน้ำ หรือ บริเวณที่ชื้นแฉะที่มีน้ำขังเล็กน้อย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณเตย
  

  1. ช่วยบำรุงหัวใจ
  2. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  3. ช่วยลดความดันโลหิต
  4. ใช้รักษาโรคหัด หรือ โรคผิวหนัง
  5. รักษาเลือดออกตามไรฟัน
  6. แก้หวัด
  7. รักษาอาการตับอักเสบ
  8. ช่วยดับพิษไข้
  9. แก้โรคหัด
  10. แก้ท้องอืด
  11. แก้กระหายน้ำ
  12. แก้ร้อนใน
  13. ช่วยขับปัสสาวะ
  14. รักษาเบาหวาน
  15. ใช้รักษาโรคตับ
  16. รักษาไตอักเสบ
  17. รักษาโรคหืด
  18. แก้หนองใน
  19. แก้พิษโลหิต
  20. แก้ตานซางในเด็ก
  21. ช่วยละลายก้อนนิ่วในไต
  22. บำรุงผิวหน้า

           ใบเตย นำมาห่อทำขนมหวาน เช่น ขนมตะโก้ ใบนำมามัดรวมกัน ใช้สำหรับวางในห้องน้ำ ห้องรับแขกเพื่อให้อากาศมีกลิ่นหอม ช่วยในการดับกลิ่น หรือ ใช้ใบเตยสดนำมายัดหมอน ช่วยให้มีกลิ่นหอม นำมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นบุหรี่ นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนใช้ชงเป็นชาดื่ม น้ำมันหอมระเหยจากเตย นำไปเป็นส่วนผสมของน้ำยาปรับอากาศ ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ครีมทาผิว แชมพู สบู่ หรือ ครีมนวด เป็นต้น

เตย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้ใบสดผสมในอาหาร แล้วรับประทาน หรือ นำใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง
  • ช่วยดับกระหาย นำใบเตยสดมาล้างให้สะอาด นำมาตำ หรือ ปั่นให้ละเอียด แล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำดื่ม
  • รักษาโรคหัด หรือ โรคผิวหนัง โดยนำใบเตย มาตำแล้วมาพอกบนผิว
  • ใช้รักษาโรคเบาหวาน ใช้ราก 1 กำมือนำไปต้มเป็นน้ำดื่ม ทุกเช้า-เย็น
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยการนำต้นเตยหอม 1 ต้น หรือ ราก ครึ่งกำมือไปต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบมาหั่นตากแดดให้แห้งแล้วชงดื่มแบบชาเขียว ก็ได้
  • ใช้บำรุงผิวหน้า โดยการใช้ใบเตยล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาปั่นรวมกับน้ำสะอาดจนละเอียด จะได้ครีมข้นเหนียวแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที


ลักษณะทั่วไปของเตย

เตยจัด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นทรงกลม และเป็นข้อสั้นๆถี่กัน โผล่ขึ้นมาจากดินเพียงเล็กน้อย โคนลำต้นแตกรากแขนงออกเป็นรากค้ำจุน หรือ เรียกว่า รากอากาศ ลำต้นสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้ ทำให้มองเป็นกอ หรือ เป็นพุ่มใหญ่ๆ ที่รวมความสูงของใบแล้วสามารถสูงได้มากกว่า 1 เมตร

           ใบเตย แตกออกเป็นใบเดี่ยวด้านข้างรอบลำต้น และเรียงสลับวนเป็นเกลียวขึ้นตามความสูงของลำต้น จนถึงขอด ใบมีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปดาบ ปลายใบแหลม สีเขียวสด ใบชูเฉียงแนบไปกับลำต้น แผ่นใบเป็นมัน กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่าด้านบน มีเส้นกลางใบลึกเป็นแอ่งตื้นๆ ตรงกลาง ใบนี้ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา เพราะมีน้ำมันหอมระเหย และสาร ACPY

เตย

เตย

การขยายพันธุ์เตย

            เตยสารมารถขยายพันธุ์ได้เองโดยการแตกหน่อ แต่ในปัจจุบันก็สามารถปลูกด้วยการแยกเหง้าหรือย้ายหน่อปลูกได้เช่นกัน ทั้งนี้ เตยสามารถขึ้นได้ดีในที่ชุ่ม และทนต่อสภาพดินชื้นแฉะได้ดี แต่ควรเลือกพื้นที่ปลูกไม่ให้น้ำท่วมขังง่าย โดยมีวิธีการดังนี้

           การเตรียมแปลง แปลงปลูกเตย ควรไถแปลง และตากดินก่อน 5-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ก่อนหว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตัน/ไร่ และปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบ
           การปลูกเตย ควรปลูกในช่วงฤดูฝน เพราะดินจะชื้นดี ทำให้ต้นเตย ติด และตั้งตัวได้ง่าย ด้วยการขุดหลุมปลูกเป็นแถว ระยะหลุม และระยะแถวที่ 50 เซนติเมตร หรือ ที่ 30x50 เซนติเมตร ก่อนนำต้นพันธุ์เตยลงปลูก
           หลังจากปลูกเตยเสร็จ ควรให้น้ำทันที แต่หากดินชื้นมากก็ไม่จำเป็นต้องให้ และให้น้ำเป็นประจำทุกๆ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับความชื้นดิน และฝนที่ตก

องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาทางเคมีของใบเตย พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด เมื่อนำใบเตยหอมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้สารหอมที่ประกอบด้วย แพนดานาไมน์ (Pandanamine) ไลนาลิลอะซีเตท (linalylacetate) เบนซิลอะซีเตท (benzyl acetate) ไลนาโลออน (linalool) และเจอรานิออล (geraniol) มีสารที่ทำให้มีกลิ่นหอม คือ คูมาริน (coumarin) และเอทิลวานิลลลิน (ethyl vanillin) สารคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ทำให้มีสีเขียวเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) และสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญ

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเตย

        โครงสร้างเตย

           นอกจากนี้ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการของเตย คุณค่าทางโภชนาการของใบเตยสดใน 100 กรัม

                          องค์ประกอบใบเตยสด

พลังงาน                                        35       กิโลแคลอรี่

ความชื้น                                        85.3    กรัม

คาร์โบไฮเดรต                               4.6     กรัม

โปรตีน                                          1.9      กรัม

ไขมัน                                            0.8      กรัม

เยื่อใย                                           5.2      กรัม

แคลเซียม                                    124     มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                                     27       มิลลิกรัม

เหล็ก                                             0.1      มิลลิกรัม

วิตามิน บี 2                                   0.2      มิลลิกรัม

ไนอะซิน                                        1.2      มิลลิกรัม

วิตามิน ซี                                      8         มิลลิกรัม

เบ้ตา-แคโรทีน                               2.987  ไมโครกรัม


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเตย

ใบเตย มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และลดอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มความแรงในการหดตัว และลดอัตราการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด ลดไข้ ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis แต่ยังเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง และในหลอดทดลองเท่านั้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของเตย

จากการสืบค้นข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษ หรือ อาการไม่พึงประสงค์จากการรับประทานใบเตย


ข้อแนะนำและข้อความระวัง

  1. ถึงแม้ว่าเตย จะเป็นพืชจากธรรมชาติ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และไม่บริโภคเป็นระยะเวลานานจนเกินไป
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญก่อนบริโภค หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ จากเตย เพราะสารเคมีในเตยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
  3. ในขั้นตอนการเตรียมการใช้ใบเตยด้วยตนเองควรล้างทำความสะอาดใบเตยอย่างดีอย่าให้มีสิ่งแปลกปลอมปนไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง เตย
  1. อัจฉรา นิยมเดชา. ผลของการเสริมใบเตย หอม (Pandanus amarylifolius Roxb.) ในอาหารต่อสมรรถภาพการผลิตของนกกระทาญี่ปุ่นและคุณภาพไข่. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปีงบประมาณ 2555. 38 หน้า
  2. ดวงจันทร์เกรียงสุวรรณ. 2546. พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยาเตยหอมและแตงกวา. งานศูนย์บริการวิชาการ และฝึกอบรมฝ่ายวิจัย และบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่
  3. ใบเตย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6483
  4. วันดี กฤษณพันธ์.2538.สมุนไพรสารพัดประโยชน์.ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.กรุงเทพฯ
  5. สรรพคุณของน้ำเห็ดหลินจือต้มผสมกับอ้อยดำและใบเตย .กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6132
  6. เตย/ใบเตย สรรพคุณและการปลูกเตย.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรเพื่อพืชไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechKaset.com
  7. Linda S.M Ooi, Samuel S.M Sun and Vincent E.C Ooi . 2004. Purification and characterization of a new antiviral protein from the leaves of Pandanus amaryllifolius (Pandanaceae). Department of Biology. The Chinese University of Hong Kong, Shatin, N.T., Hong Kong, China.