เปล้าน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เปล้าน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เปล้าน้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เปล้าท่าโพ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton fluviatilis Esser
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Croton stellatopilosus Ohba., Croton sublyratus Kurz.
ชื่อสามัญ Thai croton
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดเปล้าน้อย

เปล้าน้อยเป็นไม้ประจำถิ่นในเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบขึ้นกระจายในประเทศพม่า และไทย ตามป่าเบญจพรรณ ป่าแพะ รวมถึงป่าชายหาดบางพื้นที่ในประเทศไทยพบได้มากในหลายจังหวัด เช่น สุรินทร์, อุบลราชธานี, นครพนม, กาญจนบุรี, ปราจีนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเปล้าน้อย นี้เป็นพืชที่เจริญได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน และเริ่มติดผลในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 


ประโยชน์และสรรพคุณเปล้าน้อย

  1. แก้คันตามตัว
  2. รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  3. รักษาโรคท้องเสีย
  4. บำรุงโลหิตประจำเดือน
  5. รักษาโรคผิวหนัง
  6. แก้ลมขึ้นเบื้องบนให้เป็นปกติ
  7. ช่วยขับโลหิต
  8. แก้ช้ำใน
  9. ขับหนองให้กระจาย
  10. ขับพยาธิ
  11. ช่วยย่อยอาหาร 
  12. รักษามะเร็ง
  13. รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
  14. บำรุงธาตุ
  15. บำรุงโลหิต


รูปแบบและขนาดวิธีใช้เปล้าน้อย

ในการใช้ตามตำรายาไทยเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้คันตามตัว รักษาโรคผิวหนัง ใช้บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้พยาธิต่างๆ ให้นำใบ ค่อนข้างใบอ่อน ตากแห้ง บดละเอียดแล้วนำมาต้ม หรือ ชงน้ำดื่ม หรือ ใช้รากต้มน้ำดื่มตอนอุ่นๆ แก้โรคกระเพาะอาหาร

            นอกจากนี้ใบเปล้าน้อย ยังสามารถนำไปสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือ ยารักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย ความจริงแล้วสารเปลาโนทอลมีอยู่เกือบทุกส่วนของต้นเปล้าน้อย แต่มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุด คือ ส่วนของใบอ่อนที่อยู่บริเวณปลายช่อที่ได้รับแสงแดด สำหรับการใช้ยา Plaunotol นั้น ควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นถึง 80-90% ซึ่งอาจมีอาการข้างเคียงบ้าง คือ ผื่นคัน ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก


ลักษณะทั่วไปของเปล้าน้อย

เปล้าน้อย จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1-5 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ที่เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวลำต้นค่อนข้างเรียบ ใบเป็นแบบเรียงแบบสลับ เมื่อใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ก้านใบยาว 1-3.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย แผ่นใบตรงแคบยาว กว้าง 1.5 -2.44 เซนติเมตร ยาว 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ฐานใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยเป็นระยะ ขนาด 5-7 มิลลิเมตร ถึงเกือบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกระจายบนเส้นกลางใบเล็กน้อย หรือ เกือบเกลี้ยง ไม่มีนวล มีต่อมที่ฐานของก้านใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.0 มิลลิเมตร เส้นใบข้าง 11-16 คู่ 

           ดอกออกเป็นช่อ เกิดช่อเดี่ยวเล็ก ที่ปลายยอด ขนาดยาว 7-19 เซนติเมตร แกนช่อเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเพศเมีย จำนวน 4-11 ดอก อาจมีหรือไม่มีดอกเพศผู้ ใบประดับของดอกเพศผู้รูปไข่ ขนาดยาว 2-3.5 มิลลิเมตร กว้าง 1.5-2 มิลลิเมตร บางคล้ายเยื่อ ดอกเพศผู้จำนวน 1-3-4 ดอก ในหนึ่งใบประดับ ก้านดอกย่อยยาว 4-5 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม ด้านนอกเกลี้ยง แต่พบขนครุยที่ปลายชัดเจน กลีบดอกลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยงแต่แคบกว่า ขนาดกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 10-12 อัน ก้านชูยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 0.6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย ก้านดอกย่อยเกือบเกลี้ยง ขนาดยาว 2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม เกลี้ยง มองไม่เห็นกลีบดอก รังไข่ยาว 1.5 มิลลิเมตร ขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูเป็นอิสระ ขนาดยาว 3-5 มิลลิเมตร แบ่งเป็น 2 แฉก 

           ผลเปล้าน้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกผลเมื่อแห้งมีสีน้ำตาล และแตกได้ง่าย โดยผลจะแบ่งออกเป็นพู 3 พู มีรอยกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ก้นผล ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลผิวเรียบ มีลายเส้นตามแนวยาวสีขาวหนึ่งเส้น มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร 

เปล้าน้อย

การขยายพันธุ์เปล้าน้อย

การขยายพันธุ์เปล้าน้อย สามารถได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด และกระเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมากกว่าเพราะจะได้พันธุ์แท้ โดยมีรายงานว่าการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดเกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้น สำหรับการปลูกนั้นมีวิธีการ คือ ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร (โดยอาจลดหรืเพิ่มได้ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นกล้าที่จะนำมาปลูก) จากนั้นนำดินที่ขุดออกมาผสมกับปุ๋ยคอกให้เข้ากัน แล้วนำต้นกล้าลงปลูกโดยใช้ระยะห่าง 4x4 เมตร กลบดิน รดน้ำให้ชุ่มและปักไม้ค้ำยันกันลมพัดล้ม


องค์ประกอบทางเคมี

ในใบพบสาร (E.Z,E) -7- hydroxymethyl -3, 11, 15-trimethy-2,6,10,14-hexadecate traen-1-01 มีชื่อว่า CS-684 หรือ Plaunotol, Plaunotol A,B,C,D,E ,Plaunotol

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเปล้าน้อย

โครงสร้างเปล้าน้อย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเปล้าน้อย

ผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปล้าน้อย ในไทยมีน้อยมาก จะมีก็เพียงผลจากการทดสอบฤทธิ์ของเปลาโทนอลในคนไข้โรคกระเพาะที่มีแผลในกระเพาะอาหาร (ผลขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ได้ผลว่า คนไข้จำนวน 8 ใน 10 คน หลังได้รับยาเปลาโนทอลเข้าไป แผลในกระเพาะอาหารจะหายสนิทภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และการศึกษาทางฤทธิ์ของ Plaunotol ที่ระบุว่า มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุลำไส้ที่เสียหาย ทำให้แผลหายเร็วขึ้นมีฤทธิ์ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยให้ระบบป้องกัน การดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะซึ่งถูกทำลายด้วยสารบางชนิด กลับคืนดีได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของเปล้าน้อย

ไม่มีข้อมุลการศึกษาทางพิษวิทยา แต่มีข้อมูลระบุว่ายารักษาโรคกระเพาะจากเปล้าน้อย (Plaunotol) ผ่านการศึกษาถึงความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย มีประสิทธิภาพดี และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสังเคราะห์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่การใช้เปล้าน้อย ที่ไม่ใช่สารสกัด หรือ การใช้ในทางพื้นบ้านยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตามการใช้เปล้าน้อยในการรักษาโรคกระเพาะควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่น


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ยารักษาโรคกระเพาะที่สกัดมาจากเปล้าน้อย (Plaunotol) อาจมีอาการข้างเคียงได้ เช่น ท้องเสีย แน่นท้อง ท้องผูก หรือ มีผื่นคัน ดังนั้นในการใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเสมอ

เอกสารอ้างอิง เปล้าน้อย
  1. ภโวทัย พาสนาโสภณ. สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร. คอลัมน์บทความวิชาการ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปีที่ 27.ฉบับที่ 1 กันยายน 2556-กุมภาพันธ์ 2559. หน้า 120-131
  2. Khovidhunkit,S. O., Yingsaman, N., Chairachvit, K.,Surarit, R., Fuangtharnthip,P., & Petsom, A. (2011). In vitro study of the effects of plaunotol on oral cell proliferation and wound healing. Journal of Asian Natural Products Research, 13(2), 149-159.
  3. เปล้าน้อย, อังกาบหนู. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargenden.com/main.php?action=viewpage&pid=73
  4. เปล้าน้อยที่ไม่ใช่สารสกัดรักษาโรคกระเพาะได้หรือไม่. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=620
  5. เปล้าน้อย .กลุ่มยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs.07.05.htm
  6. เปล้าน้อย.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=85