กะเพรา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กะเพรา งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กะเพรา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กำก้อขาว, กำก้อดำ, กำก้อแดง (ภาคเหนือ), กะเพราแดง, กะเพราขาว, กะเพราขน (ภาคกลาง), อีตู่ไทย, อีตู้ข้า (ภาคอีสาน), ห่อกว่อซู, ห่งตู้ปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), อิมคิมหลำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum sanctum  Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum tenuiflorum Linn.
ชื่อสามัญ Holy basil, Sacred Basil, Tulsi, Tulasi
วงศ์ Lamiaceae

ถิ่นกำเนิดกะเพรา

ต้นกะเพราเป็นพืชพื้นเมืองของเขตร้อนในถิ่นโลกเก่า คือ บริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย และแอฟริกา แต่พบมากในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, เนปาล, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา ฯลฯ โดยสามารถพบกะเพรา ได้ทั้งในแบบที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และแบบที่ปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหาร, สมุนไพรรักษาโรค หรือ ใช้ในด้านพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น 


ประโยชน์และสรรพคุณกะเพรา
 

  1. ลดอาการท้องอืดเฟ้อ
  2. ช่วยขับลม
  3. แก้ปวดท้อง
  4. ช่วยบำรุงธาตุ
  5. ขับผายลม
  6. แก้อาการจุกเสียดในท้อง ทำให้เรอ
  7. แก้ท้องร่วง
  8. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. ช่วยขับเหงื่อ
  11. แก้โรคผิวหนัง
  12. แก้อาการปวดท้องในเด็กทารก
  13. เป็นยาเพิ่มน้ำนมสตรีหลังคลอด ขับน้ำนม
  14. บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง
  15. แก้ปวดฟัน
  16. ทาผิวหนังแก้กลากเกลื้อน และโรคผิวหนังอื่น ๆ
  17. ใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู
  18. เป็นยาอายุวัฒนะ
  19. เป็นยารักษาหูด
  20. ใช้บรรเทาโรคธาตุพิการ
  21. แก้อาหารไม่ย่อย
  22. ช่วยแก้ลมพิษ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กะเพรา

  • กะเพราใช้ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง โดยใช้ใบสด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม หรือ ใบแห้ง 4 กรัม ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือ จะใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน ในเด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา
  • ใช้ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) โดยใช้ใบและยอดสด 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือ ใช้กะเพราทั้ง 5 ทั้งสด หรือ แห้ง ชงน้ำดื่ม รับประทานเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3-4 ใบ ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กำมือ หรือ ใบสด 25 กรัม หรือ ผงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 ช้อนแกง
  • ใช้แบบยาภายใน เด็กอ่อน-ใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา ผู้ใหญ่-ใช้ใบกะเพรา แห้ง ชงกับน้ำดื่ม เป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผง ให้ชงกับน้ำรับประทาน
  • ใช้แบบยาภายนอก ใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้ หรือ ใช้ใบสดคั้นกับมหาหิงค์ทารอๆ สะดือ และฝ่าเท้าก็ใช้ได้เช่นกัน
  • ยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดใช้ใบกะเพราสด 1 กำมือ แกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ
  • ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อนใช้ใบสด 15-20 ใบ ตำ หรือ ขยี้ให้น้ำออกมา ใช้ทาถูตรงบริเวณที่เป็นกลาก ทาวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
  • ใช้เป็นยารักษาหูด ใช้ใบกะเพราแดงสด ขยี้ทาตรงหัวหูด เข้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุด
  • เมล็ดกะเพราเมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว เมือกนี้สามารถใช้พอกบริเวณตาเมื่อตามีผล หรือ ฝุ่นละอองเข้า ผง หรือ ฝุ่นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาช้ำอีกด้วย
  • ใช้รากกะเพราที่แห้งดีแล้วนำมาชง หรือ ต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่มซึ่งสามารถใช้บรรเทาโรคธาตุพิการ หรือ อาหารไม่ย่อยได้
  • ช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบกะเพราประมาณ 1 กำมือ นำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • ใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่ หรือ ฆ่ายุงใช้ทั้งใบสด และกิ่งสด 1 กิ่งใหญ่ๆ เอาใบมารขยี้ แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว จะช่วยไล่ยุงได้ และยังสามารถไล่แมลงได้ด้วย น้ำมันกะเพรา เอาใบสดมากลั่น จะได้น้ำมันกะเพรา ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสดๆ


ลักษณะทั่วไปของกะเพรา

โดยทั่วไปแล้วกะเพรา จะมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ กะเพราขาวและกะเพราแดงอยู่ในวงค์ของยี่หร่า โดยมีจุดสังเกต คือ กะเพราขาวมีใบ และกิ่งสีเขียวอ่อนส่วนกะเพราแดงมีใบ และกิ่งสีเขียวอมม่วงแดง และ กะเพราแดงมีกลิ่นแรงกว่ากะเพราขาว ส่วนลักษณะทางพฤกษศาสตร์อื่นๆ ก็เหมือนกันเกือบทั้งหมด คือ จัดเป็นไม้พุ่ม สูง 30-60 ซม. โคนต้นค่อนข้างแข็ง กะเพราแดงลำต้นสีแดงอมเขียว ส่วนกะเพราขาวลำต้นสีเขียวอมขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน รูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียว มีขนสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบนมี 4 แฉก ปากล่างมี 1 แฉก ปากล่างยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรเพศผู้มี 4 อัน ผล เป็นผลแห้ง เมื่อแตกออกจะมีเมล็ด สีดำ รูปไข่

ต้นกะเพรา

ใบกะเพรา

การขยายพันธุ์กะเพรา

กะเพราเป็นพืชที่ขึ้นง่ายเพียงแค่เมล็ดที่แห้งแตก และตกไปบนดิน หากได้น้ำ และอุณหภูมิที่เหมาะสมก็สามารถงอกขึ้นเป็นต้นได้แล้ว ดังนั้นในการขยายพันธุ์กะเพราจึงนิยมใช้เมล็ดในการเพาะต้นกล้าขึ้นมา โดยหว่านกล้าพันธุ์ลงแปลงที่จะใช้เพาะต้นกล้า หลังจากนั้นจะให้น้ำ 1-2 ครั้ง/วัน จนกล้าแตกใบแท้ 2-5 ใบ ก็สามารถขุดต้นกล้าเพื่อย้ายลงปลูกในแปลง

           ในการย้ายต้นกล้า ควรให้มีดินติดรากอยู่ด้วย และควรปลูกทันทีเมื่อมีการถอนย้ายส่วนระยะที่ปลูกในระหว่างแถว และหลุมปลูก ที่ 20-40 x 20-40 เซนติเมตร หากปลูกเพื่อการค้ามักปลูกในระยะถี่ขึ้น เช่น 20-30 x 20-30 เซนติเมตร หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่ม

           ด้านการดูแลควรให้น้ำหลังจากปลูกวันละ 1-2 ครั้ง หรือ อาจให้วันเว้นวันเมื่อต้นกะเพรา แตกกิ่งเป็นพุ่มใหญ่และให้ปุ๋ยคอก อัตรา 200 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30-50 กก./ไร่ หลังปลูกประมาณ 2-4 อาทิตย์ เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้แล้ว การเก็บกะเพราจะเริ่มเก็บได้หลังการปลูก 40-50 วัน และเก็บได้อย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน (หากไม่มีการเก็บโดยการถอนทั้งต้น) ซึ่งควรเก็บกิ่งแก่ในระยะก่อนออกดอก หรือ เริ่มออกดอกซึ่งจะได้กะเพรา ที่มีกลิ่นหอมแรง


องค์ประกอบทางเคมี

ใบกะเพรามีกลิ่นฉุน เนื่องมาจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีสารเคมีอยู่หลายชนิด เช่น สารเซสควิเทอร์พีน ชื่อ บีตาคาร์โยฟิลลีน (ß-caryophyllene) ร้อยละ 30 และบีตาเอลิมีน (ß-elemene) นอกจากนี้ยังมีพรีนิลโพรพานอยด์หลายตัว ได้แก่เมทิลยูจีนอล (methyl eugenol) ร้อยละ 30 และเมทิลชาวิคอล (methylchavicol) ร้อยละ 10 และยังมีสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น α-thujene, (Z)-3-hexanol, ethyl-2-methyl butyrate, α-pinene, β-pinene, camphene, sabinene, myrecene, limonene, 1,8-cineole, cis-β-ocimene, p-cymene, terpinolene, allo-ocimene, α-cubebene, γ-terpene, trans-linalool oxide, geraniol, α-copaene, β-bourbonene, linalool, β -farnesene, iso-eugenol, α-guaiene, α-amorphene, α-humulene, α-terpeneol, iso-borneol, germacrene-D, β -selinene, α-muurolene, δ-cadinene, cuparene, calamenene, geraneol, nerolidol, caryophyllene oxide, (E,Z)-farnesol, elemol, bomeol, limonene, farnesol, urosolic acid, carvacrol, eugenic acid และ limatrol ส่วนนํ้ามันในเมล็ดกะเพรา มีกรดไขมันเป็นองค์ประกอบได้แก่ palmitic, stearic, linolenic, linoleic และ oleic acid นอกจากนี้พบสารเคมีหลายชนิดที่เป็นองค์ประกอบในใบ และส่วนต่างๆ ของกะเพราเช่น urosolic acid, apigenin, luteolin, apignin-7-O-glucuronide, luteolin-7-O-glucuronide, iso-rientin, orientin, molludistin, stigmsterol,  triacontanol ferulate, vicenin-2, vitexin, iso-vitexin, aesculetin, aesculin, chlorgenic  acid, galuteolin, circineol, gallic acid, gallic acid methyl ester, procatechuic acid, 4-hydroxybenzoic acid, vallinin, caffeic acid, phenylpropane glucosides 1, β-stigmsterol, cirsilineol, cirsimartin, isothy musin, isothymonin, rosmarinic acid, carnosic acid, eugenol และ sinapic acid.

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกะเพรา

โครงสร้างกะเพรา
ที่มา : Wikipedia

สูตรโครงสร้างของสารฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์บางชนิดที่พบในกะเพรา

ส่วนข้อมูลทางโภชนาการระบุว่า ใบกะเพรา 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ โปรตีน (4.2 กรัม) ไขมัน (0.5 กรัม) คาร์โบไฮเดรท (2.3 กรัม) วิตามินซี (83 มิลลิกรัม) เบต้าแคโรทีน (2.5 มิลลิกรัม) โครเมียม (2.9 ไมโครกรัม) ทองแดง (0.4 ไมโครกรัม) สังกะสี (0.15 ไมโครกรัม) วาเนเดียม (0.54 ไมโครกรัม) ธาตุเหล็ก (2.32 ไมโครกรัม) และนิกเกิล (0.73 ไมโครกรัม)

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกะเพรา

กะเพรามีฤทธิ์ลดการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยหลายฉบับที่เกี่ยวกับฤทธิ์ลดการอักเสบ ในส่วนใบมีรายงาน ได้แก่ สารสกัดใบไม่ระบุตัวทำละลาย ขนาด 50, 100, 200 และ 400 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนูเพศผู้ที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วย carrageenan พบว่าสามารถลดการอักเสบ สารสกัดใบจากเอทานอล (100%) ขนาด 0.8 มก./หู ทาภายนอกหนูเพศผู้ที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วย EPP พบว่าสามารถลดการอักเสบ ส่วนที่เหนี่ยวนำด้วย 5-HT สามารถลดการอักเสบเพียงเล็กน้อย สารสกัดใบจากเอทานอล:น้ำ (1:1) ขนาด 1 ก./กก. กรอกเข้ากระเพาะหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วย histamine, carrageenan, 5-HT พบว่าสามารถลดการอักเสบ สารสกัดใบจากเอทานอล (50%)-น้ำ ขนาด 100 มก./กก. กรอกเข้ากระเพาะหนูตะเภาที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วย histamine, carrageenan พบว่าสามารถลดการอักเสบ ส่วนที่เหนี่ยวนำด้วย 5-HT สามารถลดการอักเสบได้เพียงเล็กน้อย สารสกัดใบจากเมทานอล ขนาด 100 มก./กก. กรอกเข้ากระเพาะหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย croton oil, carrageenan พบว่าสามารถลดการอักเสบ สารสกัดใบจากน้ำ ขนาด 500 มก./กก. กรอกเข้ากระเพาะหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบด้วย croton oil, carrageenan พบว่าสามารถลดการอักเสบ

           น้ำมันหอมระเหยขนาด 10 มล./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan, 5-HT และ histamine พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ น้ำมันหอมระเหย ขนาด 10 มล./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะหนูตะเภาที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย prostaglandin E-2 พบว่าสามารถต้านอาการอักเสบได้

           การศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันระเหยยากจากกะเพรา พบว่าสามารถลดการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อทดสอบด้วยวิธีใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู และมีนัยสำคัญในการยับยั้งอาการท้องเสีย ในการทดสอบโดยเหนี่ยวนำหนูแรทให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง กลไกการลดการอักเสบ โดยการยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอักเสบได้แก่ arachidonic metabolism, cyclooxygenase และ lypoxygenase โดยสารสกัดกะเพราขนาด 3.0 ml/kg สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูแรทที่ถูกตัดต่อม adrenal และหนูปกติ พบว่าสามารถลดการบวมได้ไม่แตกต่างกันที่ 66.66% และ 68.34% ตามลำดับ โดยใช้ phenylbutazone 100 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน พบว่าสามารถลดการบวมได้ ไม่แตกต่างกันกับน้ำมันกะเพรา (สารมาตรฐานลดการบวมได้ 72.22% และ 69.34% ตามลำดับ) แสดงว่าฤทธิ์ลดการอักเสบไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อม adrenal ที่พิทูอิตารี

           ฤทธิ์อาการปวด การทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวดของสารสกัดกะเพรา ที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิด ได้แก่ เมทานอล และน้ำ เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน sodium salicylate โดยสารสกัดกะเพราสามารถลดการอักเสบได้ทั้งในระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง เมื่อใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูแรทบวม และใช้น้ำมันละหุ่งเหนี่ยวนำให้เกิด granuloma (เป็นการอักเสบเรื้อรัง ชนิดหนึ่ง บริเวณที่อักเสบพบเซลล์ชนิด epitheloid cells หรือ histiocytes และ macrophages ร่วมกับ fibroblastic tissue และ เซลล์อักเสบ lymphocytes เซลล์เหล่านี้ มักอยู่ รวมกัน เป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า granuloma) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอล และน้ำ ของกะเพราในขนาด ขนาด 500 mg/kg ออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน sodium salicylate ขนาด 300 mg/kg สารสกัดทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ลดปวด เมื่อทดสอบในหนูเม้าส์ ด้วยวิธีทดสอบ hot-plate สารสกัดทั้งสองชนิดสามารถลดไข้ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน typhoid-paratyphoid A/B ได้แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า sodium salicylate ขนาด 300 mg/kg และสารสกัดทั้งสองชนิดสามารถเพิ่มระยะเวลาก่อนที่จะเกิดอาการท้องเสียในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่งได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ การศึกษาฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา ต่อเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ เคพีเอสเคทู ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้ฟันผุโดยใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบของกะเพราโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อด้วยวิธีอาการ์ดิสค์ดิฟฟิวชัน และไมโครบรอธไดลูชั่น ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยกะเพรา มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงใสในการยับยั้งเชื้อได้ตั้งแต่ 7-25.95 มิลลิเมตร และฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เคพีเอสเคทู ของน้ำมันหอมระเหยกะเพรามีศักยภาพสูงกว่าการต้านเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ เอทีซีซี 25175 โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุด (MIC) ของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถยับยั้งเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เคพีเอสเคทู เท่ากับ 0.188 และ 0.047 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าความเข้มข้นต่ำสุดของน้ำมันหอมระเหยใบกะเพราที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) สเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เอทีซีซี 25175 และสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ สายพันธุ์เคพีเอสเคทู เท่ากับ 0.377 และ 0.095 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ผลการศึกษานี้อาจเป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อการนำน้ำมันหอมระเหยกะเพรา ไปพัฒนาใช้ประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาโรคฟันผุต่อไป

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมีของสารสกัดกะเพราขาว และกะเพราแดง โดยวิธี FRAP (Ferric reducing ability of plasma), ABTS (2,2-azino-bis[3-ethylbenz-thiazoline-6-sulphonate]) และ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) พบว่ากะเพราแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากะเพราขาว รายงานการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากกะเพรา พบว่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่อนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออน อนุมูลไฮดรอกซิล อนุมูลเปอร์ออกไซด์ และจับกับโลหะเหล็ก (เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ oxidative stress ตามมา) ซึ่งส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากิ่ง และช่อดอก การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลของกะเพรามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง น้ำมันกะเพราแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากะเพราขาว ในน้ำมันหอมระเหยมีสาร eugenol เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารที่มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (การเกิดออกซิเดชันของไขมัน) พบสารฟลาโวนอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ orientin และ vicenin ในใบกะเพรา ซึ่งสามารถยับยั้งปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชันในตับหนูด้วยความเข้มข้นต่ำประมาณ 10-500 ไมโครโมลาร์ โดยยับยั้งการเกิดอนุมูลไฮดรอกซิลที่เกิดจากปฏิกิริยาเฟนตัน มีรายงานสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารฟีนอลิกในใบกะเพรา 6 ชนิด ได้แก่ cirsilineol, cirsimaritin, isothymusin, isothymonin, apigenin และ rosmarinic acid และพบว่าสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารบริสุทธิ์ urolic acid จากกะเพรา พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 60% และสามารถลดปฏิกิริยาลิพิดเปอร์ออกซิเดชันในตับ และไมโครโซมของหัวใจสัตว์ทดลอง ที่ได้รับยา Adriamycin จากองค์ประกอบทางเคมีที่พบในกะเพรา พบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน สารฟลาโวนอยด์ และสารฟีนอลิกหลายชนิด

           นอกจากนี้ยังมีผลงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอีกหลายชิ้น เช่น ฤทธิ์ปกป้องตับ เมื่อฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ 70% เข้าช่องท้องหนูถีบจักร 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือป้อนตำรับยาที่มีกะเพราเป็นส่วนประกอบขนาดต่างๆ กันให้กับหนูขาวทางปาก และสารสกัดใบกะเพรา ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักรทางปากนาน 10 วัน พบว่าป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์ หรือ สารปรอทได้

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และรักษาเบาหวาน ประเทศอินเดียมีประวัติการใช้น้ำชงช่อดอกดื่มรักษาเบาหวาน และใช้ชาชงจากใบดื่มเพื่อควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือด ส่วนประเทศปากีสถานกินผงใบกะเพรา มื้อละ 21 กรัม วันละ 2 ครั้ง เพื่อรักษาเบาหวาน เมื่อให้ใบกะเพราผงแก่หนูเบาหวานจาก strep-tozocin และหนูปกติ 1 เดือน พบว่าระดับ fasting blood sugar, uronic acid กรดอะมิโนรวมสุทธิ ปริมาณคอเลสเตอรอลสุทธิ ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลพิด และปริมาณไลพิดสุทธิลดลง จากการศึกษาเชิงคลินิกกับผู้ป่วยแบบไม่พึ่งอินซูลิน กินผงใบกะเพรา 2.5 กรัม/คน ยังยืนยันผลของการกินกะเพราลดน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และลดระดับน้ำตาลในปัสสาวะได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียสารในกลุ่มฟีนอล แทนนิน และซาโพนิน จากต้นกะเพราและสารสกัดเอทานอล น้ำมันหอมระเหยจากกะเพราสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย E.coli  และ Shigella dysenteriae ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อสิว งานวิจัยของประเทศไทยพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา ซึ่งมีสารยูจีนอล แกมม่าคาร์โยฟิลีน และเมททิลยูจีนอลเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของเชื้อสิว Propionibacterium acnes ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสารรักษาสิวต่อไป


การศึกษาทางพิษวิทยาของกะเพรา

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบกะเพราด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 35,714 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

           เมื่อป้อน หรือ ฉีดสารสกัดกะเพราทั้งต้นด้วยเอทานอล (70%) ทดสอบในหนูถีบจักรพบว่า ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 4.5 ก./กก. และ 3.24 ก./กก. ตามลำดับ สารสกัดใบจากเอทานอลและน้ำ (1:1) ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูพบว่าขนาดสูงสุดที่ทนได้ คือ 1 ก./กก. สารสกัดใบจากเอทานอล (70%) ทดสอบโดยฉีดเข้าทางกระเพาะหนูพบว่า ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 4.85 ก./กก. และสารสกัดใบไม่ระบุสารสกัด ทดสอบโดยฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู ไม่แสดงความเป็นพิษ สารสกัดเอทานอล และน้ำ (1:1) ขนาด 10 ก./กก. ให้ทางสายยางเข้าสู่กระเพาะไม่แสดงความเป็นพิษ น้ำมันจากเมล็ด ขนาด 3 มล./กก. ทดสอบโดยฉีดเข้าทางช่องท้องหนู ไม่แสดงความเป็นพิษ สารสกัดน้ำ:อัลกอฮอล์ (1:1) ฉีดเข้าช่องท้องหนู ขนาดสูงสุดที่หนูทนได้ คือ 1 ก./กก. แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน สารสกัดใบด้วยเอทานอล (50%) ป้อน และฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัดใบกะเพราด้วยน้ำในหนูเผือก พบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน และสารสกัดใบจากน้ำ ขนาด 100 และ 200 มก./กก. ให้ทางปากหนูเพศเมียพบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน สารสกัดรากจากเอทานอล (100%) ขนาด 200 มก./กก. ทดสอบโดยกรอกเข้าทางกระเพาะหนูที่ตั้งท้อง พบว่าไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้ง

            การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน ของสารสกัด 50% เอทานอลของใบกะเพรา โดยการศึกษาพิษเฉียบพลัน ให้หนูได้รับสารสกัดกะเพราขนาด 200, 600 และ 2000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แล้วประเมินพฤติกรรม ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ และอัตราการตาย ดูผลเป็นเวลานาน 14 วัน การศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูได้รับสารสกัดกะเพราขนาด 200, 400 และ 800 mg/kg เป็นเวลา 28 วัน ประเมินค่าชีวเคมีของเลือด เนื้อเยื่อของตับ ไต ม้าม หัวใจ และระบบสืบพันธุ์ ผลการศึกษาที่ได้ พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ 

           การศึกษาความเป็นพิษเรื้อรัง (chronic toxicity) ทำการทดลองในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ให้สารสกัดน้ำจากใบกะเพราขนาด 100, 500 และ 1000 mg/kg เพียงครั้งเดียว และติดตามผลต่ออีก 30 วัน บันทึกผลด้วยการวัดน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป วัดระดับของ Protein, Urea, Creatinine, Uric acid, Lactate Dehydrogenase [LDH] วัดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ Aspartate Transaminase [AST], Alanine Transaminase [ALT] ซึ่งพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ในระดับปกติ

          พิษต่อเซลล์ สารสกัดใบจากเอทานอล (100%) ขนาด 50 มคก./มล. ทดสอบในเซลล์ fibroblasts พบว่าเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดเอทานอลและน้ำ (1:1) ขนาดมากว่า 20 มคก./มล. ทดสอบในเซลล์ CA-9KB พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์  สารสกัดใบจากน้ำ ขนาด 0.5 มล./จานเพาะเชื้อ ทดสอบใน Bacillus subtilis M-45, B. subtilis H-17 ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. น้ำยางกะเพราที่ใช้สำหรับกัดหูดนี้เป็นพิษมาก ดังนั้นควรใช้ด้วยความระวัง อย่าให้เข้าตารวมถึงให้กัดเฉพาะตรงที่เป็นหูด อย่าให้ยางถูกเนื้อดี ถ้าถูกเนื้อดี เนื้อดีจะเน่าเปื่อย ซึ่งรักษาให้หายได้ยาก
  2. กะเพรา มีอยู่ 2 ชนิด หากนำไปประกอบอาหาร ควรใช้กะเพราะขาว แต่หากต้องการนำไปใช้เป็นสมุนไพรการเลือกกะเพราแดง เพราะมีฤทธิ์ทางยาแรงกว่ากะเพราขาว
  3. ในการเลือกใช้กะเพรามาใช้ประโยชน์ควรเลือกกะเพราที่ปลอดสารพิษ หากเป็นไปได้ควรปลูกเพื่อนำไปใช้เองจะดีที่สุด
  4. การใช้กะเพราเป็นยาสมุนไพรควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปเพราะอาจเป็นอันตรายได้

 

เอกสารอ้างอิง กะเพรา
  1. กะเพรา.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ. กะเพรา ราชินีสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 355. คอลัมน์บทความพิเศษ.พฤศจิกายน.2555
  3. รัตติพร กายเพชร, ธนิยา หมวดเชียงคะ, ไพรินทร์ ต้นพุฒ. ฤทธิ์การต้านเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสมิวแทนส์ของน้ำมันหอมระเหยกะเพรา. วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล. 2558;35(3):311-319.
  4. กะเพราแดง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์อุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaocrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=9
  5. สุกัญญา เขียวสะอาด. กะเพรากับการต้านอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง. 2555;21(2):54-65.
  6. กะเพรา. กลุ่มยาแก้อาเจียน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.espg.go.th/plants_data/herbs_11.htm
  7. กะเพราและการปลูกกะเพรา.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรกรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  8. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  9. Uma M, Suresh M, Thulasiraman K, Lakshmidevi E, Kalaiselvia P. Chronic toxicity studies of aqueous leaf extract of Indian traditional medicinal plant Ocimum tenuiflorum (L.) in rats. European Journal of Experimental Biology. 2013; 3(5):240-247.
  10. Singh S, Agrawal SS. Anti-asthmatic and anti-inflammatory activity of Ocimum sanctum. Int J Pharmacog 1991;29(4):306-10.      
  11.  Chattopadhyay RR, Sarkar SK, Ganguly S, Basu TK. A comparative evaluation of some anti-inflammatory agents of plant origin. Fitoterapia 1994;65(2):146-8.   
  12. Gautamn MK, Goel RK. Toxicological Study of Ocimum sanctum L. Leaves:Hematological, Biochemical, and Histopathological Studies. Journal of Toxicology. 2014;2014:1-9.
  13. Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  14. Singh S, Majumdar DK. Effect of Ocimum sanctum fixed oil on vascular permeability and leucocytes migration. Indian J Exp Biol 1999;37(11):1136-8.
  15. Godhwani S, Godhwanim JL, Vyas DS. Ocimum sanctum: An experimental study evaluating its anti-inflammatory, analgesic and antipyretic activity in animals. J Ethnopharmacology.1987;21(2):153-163.
  16. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  17.   Dunstan CA, Noreen Y, Serrano G, Cox PA, Perera P, Bohlin L. Evaluation of some Samoan and Peruvian medicinal plants by prostaglandin biosynthesis and rat ear oedema assays. J Ethnopharmacol 1997;57:35-56.      
  18. Singh S, Majumdar DK, Rehan HMS. Evaluation of anti-inflammatory potential of fixed oil of Ocimum sanctum (Holybasil) and its possible mechanism of action. J Ethnopharmacology .1996; 54 :19-26.
  19. Singh S, Majumdar DK. Effect of fixed oil of Ocimum sanctum against experimentally induced arthritis and joint edema in laboratory animals. Int J Pharmacog 1996;34(3):218-22.
  20. Chattopadhyay RR. A comparative evaluation of some blood sugar lowering agents of plant origin. J Ethnopharmacol 1999;67(3):367-72.
  21. Singh S, Agrawal SS. Anti-asthmatic and anti-inflammatory activity of Ocimum sanctum Linn. J Res Edu Ind Med 1991;10(3):23-8.           
  22. Karthikeyan K, Gunasekaran P, Ramamurthy N, Gvindasamy S. Anticancer activity of Ocimum sanctum. Pharmaceutical Biol 1999;37(4):285-90.
  23. Bhargava KP, Singh N. Anti-stress activity of Ocimum sanctum Linn. Indian J MedRes 1981;73:443-51.
  24.  Singh S, Majumdar DK. Anti-inflammatory and antipyretic activities of Ocimum sanctum fixed oil. Int J Parmacog 1995;3(4):288-92.
  25. Vohora SB, Garg SK. Chaudhurg RR. Antifertility screening of plant. Part III. Effect of six indigenous plants on early pregnancy in albino rats. Indian J Med 1969; 57: 893-9.
  26. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception. Boston:MTP press, Ltd, 1984:115-28.
  27. Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Chem Toxicol 1982;20:527-30.
  28.  Prakash. AO, Gupta RB, Mathur R. Effect of oral administration of forty-two indigenous plant on early and late pregnancy in albino rats. Probe 1978;17(4):315-23.