กระวาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระวาน งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระวาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระวานไทย, กระวานดำ, กระวานขาว, กระวานจันทร์, กระวานโพธิสัตว์, กระวานแดง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), ข่าโคก, ข่าโค่ม, หมากเนิ้ง (ภาคอีสาน), หมะอี้ (ภาคเหนือ), ปลาก้อ (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw.
ชื่อสามัญ Camphor seed, Round Siam, Siam cardamom, Clustered cardamom
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิดกระวาน

กระวาน จัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงรองลงมาจากวนิลา กระวานที่ซื้อขายในตลาดโลกตั้งแต่อดีตแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

           กระวานแท้ หรือ กระวานเทศ  (Elettaria cardamomum) ผลมีลักษณะ แบนรี ปลูกมากในอินเดีย กัวเตมาลา ศรีลังกา และแทนซาเนีย

           กระวานไทย (Amomum krevanh) ผลมีลักษณะกลม ปลูกมากใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย และในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานยืนยันว่าประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดกระวานไทย 2 แหล่ง ได้แก่ บนภูเขาสูงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะบริเวณเขาสอยดาวและป่าเขาระนาบ จังหวัดจันทบุรี เรียกว่า กระวานจันทบุรี ซึ่งคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกระวานจันทบุรีสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และกระวาน จากภาคใต้ เช่น สงขลา, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, ตรังยะลา, นราธิวาส แต่คุณภาพต่ำกว่ากระวานจันทบุรี กระวานจัดเป็นเครื่องเทศส่งออกที่ทำรายได้แก่ประเทศปีละนับล้านบาท ตลาดต่างประเทศที่สำคัญของกระวานไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และฮ่องกง ทั้งนี้ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกระวานไทย (Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในไทยเท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณกระวาน
 

  1. แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ
  2. ช่วยขับลม
  3. แก้แน่นจุกเสียด
  4. บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ
  5. บำรุงกำลัง
  6. ช่วยขับโลหิต 
  7. แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ 
  8. แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ 
  9. แก้ลมในลำไส้
  10. ช่วยให้เจริญอาหาร 
  11. รักษาโรครำมะนาด 
  12. แก้ลมสันนิบาต 
  13. แก้สะอึก
  14. แก้อัมพาต
  15. รักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน
  16. รักษาโรคผิวหนัง
  17. บำรุงโลหิต
  18. แก้ไข้เซื่องซึม
  19. บำรุงน้ำดี
  20. แก้พิษตานซาง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้องใช้ผลกระวาน แก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทาน ครั้งละ 1-3 ช้อนชา โดยนำไปต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว รับประทานครั้งเดียว หรือ นำไปชงกับน้ำอุ่นดื่ม ผลกระวาน ใช้ผสมมะขามแขก เพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง (คลื่นเหียนอาเจียน) วิธีการใช้ผลกระวานรักษาอาการแน่น จุกเสียด ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เอาผลแก่จัดมาตากแห้ง แล้วบดให้เป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาครึ่ง โดยชงกับน้ำอุ่น


ลักษณะทั่วไปของกระวาน

กระวานจัดเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แบ่งลำต้นออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นจริง คือ ส่วนที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน แบ่งออกเป็นแง่งหลายแง่งรวมกันเรียกว่า เหง้า หัวมีลักษณะทรงกลม แตกแง่งเป็นหัวใหม่เชื่อมติดกัน คล้ายกับเหง้าข่า เปลือกหัวปกคลุมด้วยแผ่นเป็นชั้นๆ สีน้ำตาล เนื้อหัวมีสีครีมหรือสีเหลือง มีเสี้ยนจำนวนมาก ลำต้นเทียมลำต้นเทียมเป็นส่วนที่เจริญจากตาหัวของแต่ละหัว หรือ แต่ละแง่ง แทงโผล่ขึ้นเหนือดิน สูงได้ถึง 2 เมตร ลำต้นเทียมมีลักษณะทรงกลม สีเขียวเข้ม คล้ายกับลำต้นข่า แต่ใหญ่ และสูงกว่า ด้านในมีลักษณะเป็นเส้นใย สูงขึ้นมาเป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มลำต้นใบ กระวาน แทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น กาบใบหุ้มแกนลำต้น มีก้านใบ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก้านใบ และแผ่นใบโค้งลงด้านล่าง แผ่นใบมีรูปขอบขนาน หรือ เรียวยาว ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แต่เหนียว มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่น หรือ โค้งงอเล็กน้อย แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาวขนาดใหญ่ และมองเห็นชัดเจน ส่วนเส้นแขนงใบมองเห็นไม่ชัดเจน แต่มีลักษณะเป็นเส้นทอดยาวตามแนวยาวของใบ ดอกกระวานออกเป็นช่อ แทงขึ้นจากเหง้า หรือ แง่งหัว ตัวดอกหลักมีลักษณะรียาว ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ระหว่างดอกย่อยจะมีใบประดับแทรกกั้น ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเหลือง ก้านดอกเป็นหลอดแคบ  ผลกระวานออกรวมกันเป็นกลุ่มผลช่อผล แต่ละช่อมีผล 10-20 ผล ผลมีลักษณะเกือบทรงกลม ขนาดประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ขั้วผลทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะเป็นจุก เปลือกผลดิบมีสีเขียวอมขาว มีขนปกคลุม เมื่อแห้งมีสีครีม หรือ สีขาวนวล แบ่งออกเป็น 3 พูใหญ่ แต่ละพลูแตกออกเป็น 2 พลูเล็ก รวมทั้งหมด 6 พลู เมื่อแห้งจะปริแตกออกตามแนวร่อง ทั้งนี้ ผลกระวานจะเริ่มแก่ และแห้งจากโคนช่อสู่ปลายช่อ เมล็ดกระวานอยู่ถัดจากเปลือกผล มี 9-18 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่ หรือ ผลแห้งจะเปลี่ยนมีสีดำ แต่ละเมล็ดเกาะติดกัน แต่ละเมล็ดมีลักษณะสามเหลี่ยม มีเยื่อหุ้มผลบางๆ เมล็ดมีรสเผ็ด และมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูร

กระวาน

กระวาน

การขยายพันธุ์กระวาน

การขยายพันธุ์กระวาน มี 2 วิธี คือ

  1. ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า แยกเหง้าจากกอแม่ที่มีอายุ 18 เดือน ถึง 2 ปี เหง้าที่แยกออกมาควรมีหน่อติดมาด้วย 2-3 หน่อ มีความสูงประมาณ 1-2 ฟุต ไม่ควรตัดยอดออก เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์การตายสูง ถ้าต้องการปลูกจำนวนไม่มากนัก การแยกหน่อเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่ต้นพันธุ์จากการแยกหน่อจากแปลง ไม่ควรห้างไกลการขนส่งไปแปลงปลูก
  2. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไม่นิยมเพราะเจริญเติบโตช้ากว่า แต่หากว่าต้องการปลูกในพื้นที่มาก การเพาะเมล็ดจะทำให้ได้จำนวนต้นกล้ากระวานในปริมาณมากในเวลาอันสั้น เพียงพอต่อความต้องการใช้ขยายพื้นที่ปลูกได้ผล กระวานที่สมบูรณ์ดีจะมีเมล็ดจำนวนมาก กระวานติดผลเป็นช่อ ช่อหนึ่งๆ ประมาณ 10-20 ผล รูปทรงกลมมีเมล็ด 9-18 เมล็ดต่อผล เมล็ดแก่เต็มที่มีสีดำมีเยื่อหุ้มบาง ๆ การเพาะเมล็ดโดยนำไปเพาะในที่ที่มีความชื้น

การเตรียมดิน

            เลือกพื้นที่ปลูกกระวานสภาพลักษณะธรรมชาติที่กระวานจะขึ้นได้ดี เช่น ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ที่ร่มตลอดเวลา มีแสงแดดถึงพื้นดินบ้านเล็กน้อย ที่มีระดับความสูง ลาดเอียงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำ มีความชื้นสูงและสม่ำเสมอ ดินมีอินทรียวัตถุสูง มีใบไม้ทับถม (ฮิวมัส) โดยสามารถปลูกร่วมในสวนผลไม้ หรือ สวนยางพาราที่กรีดแล้วก็ได้

วิธีการปลูกกระวาน

  • วิธีปลูก ขุดดินเป็นหลุมลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกคลุกลงหลุมก่อนปลูก วางหน่อพันธุ์กระวานในหลุมปลูกในลักษณะตั้งตรง ฝังหน่อลึกประมาณ 3-4 นิ้ว กลบดินกดโคนให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มชื้น
  • ระยะปลูก ระยะระหว่างกอ 2.5x2.5 เมตร ไม่นิยมปลูกชิดมาก ต้องเว้นที่ว่างไว้ให้หน่อได้ขยายเพิ่มขึ้นทุกปี
  • จำนวนต้น ที่เหมาะสมได้แก่ ประมาณ 100 กอต่อไร่

การดูแลรักษา

  1. การใส่ปุ๋ย หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยคอกเก่าปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นและปลายฝน กอละ 3-5 กิโลกรัม
  2. การให้น้ำ ให้น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงแล้ง
  3. การดูแลรักษาที่ต้องทำประจำ คือ ตัดใบแก่ที่แห้งและลำต้นที่แห้งตาย หรือ ไม่สมบูรณ์ออกให้หมดเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว

องค์ประกอบทางเคมี

ผลแก่และเมล็ดของกระวาน ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil) 5-9%  ซึ่งมีองค์ประกอบ camphor, myrcene, limonene, linalool, cineol, bornyl acetate, Pinene,1,8-cineol, beta-pinene, alpha-pinene, p-cymene, car-3-ene, terpinen-4-ol, alpha-terpineol, thujone, (E)-nuciferol, alpha-santalol, farnesol isomer, alpha-bisabolol, cinnamaldehyde, (Z)-alpha-trans- bergamotol, safrole, cis-laceol, alpha-curcumene

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระวาน

โครงสร้างกระวาน

ที่มา    :  wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระวาน

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ของสารบริสุทธิ์ 7 ชนิด ที่แยกได้จากเมล็ดกระวานไทยซึ่งเป็นสารกลุ่มโมโนเทอร์ปีน 4 ชนิด ฟลาโวนอยด์ 1 ชนิด และคาดว่าเป็นสารประเภทไดเทอร์ปีน 2 ชนิด (ยังไม่ทราบโครงสร้างที่แน่นอน) พบว่าโมโนเทอร์ปีน 3 ชนิด คือ เมอร์ทีนาล, เมอร์ทีนอล และ ทราน-ไพโนคาร์วีออล สารดังกล่าวข้างต้น (ยกเว้นฟลาโวนอยด์) ให้ค่า EC50 (ความเข้มข้นของยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้ 50%) อยู่ในช่วง 10 -5- 10-8 กรัมต่อมิลลิลิตร

           ฤทธิ์ยับยั้งภูมิคุ้มกัน การทดสอบสารสกัดน้ำของผลกระวาน ในการยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ (การทำงานของคอมพลีเมนต์นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดพยาธิสภาพในผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง การทดลองนี้จึงสนใจที่จะศึกษาสมุนไพรที่สามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ในการทำให้เม็ดเลือดแดงของแกะแตก) โดยนำสารสกัดสมุนไพรด้วยน้ำ จำนวน 53 ชนิด รวมทั้งกระวาน นำพืชมาทำให้แห้งแล้วบดละเอียด น้ำหนัก 1 กรัม ผสมกับน้ำกลั่น 20 มล. ต้มให้เดือดจนกระทั่งเหลือปริมาตรประมาณ 4 มล. นำไปกรอง และปั่นเอาน้ำใสส่วนบนไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนใช้ แล้วทำการทดสอบโดยผสมสารสกัดสมุนไพรกับซีรัม (คอมพลีเมนต์) แล้วเติมเม็ดเลือดแดงของแกะที่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีแล้ว ดูผลการแตกของเม็ดเลือดแดงแกะ พบว่ากระวาน สามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ได้ 95%

           ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 สารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดด้วยเหล้า และน้ำมันหอมระเหย มีผลลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดด้วยเอทานอลจากผลกระวาน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella sp. แต่สารสกัดด้วน้ำ หรือ น้ำร้อน หรือ ผงกระวานในขนาด 0.5 ซีซี/disc ไม่สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtillis  H-17 (Rec+) และ B. subtilis M-45 ซ (Rec-)

           ฤทธิ์ลดไข้ เมื่อกรอกสารสกัดผลกระวานด้วยอัลกอฮอล์ และน้ำ (1:1) ผ่านสายยางเข้าช่องท้องกระต่ายในขนาดต่างๆ กัน พบว่าไม่สามารถลดไข้ในกระต่าย ซึ่งทำให้เป็นไข้โดยใช้ยีสต์

           ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน สารสกัดผลกระวานด้วยน้ำ และอัลกอฮอล์ (1:1) ไม่สามารถต้านฤทธิ์ฮีสตามีน เมื่อทดลองกับลำไส้เล็กหนูตะเภาที่ตัดแยกจากลำตัว และไม่มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต เมื่อฉีดสารสกัดผลกระวาน ด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) เข้าทางหลอดเลือดดำสุนัข พบว่าไม่มีผลลดความดันโลหิต


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระวาน

การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์-น้ำ (1:1)  เข้าใต้ผิวหนังหรือป้อนหนูถีบจักร  ในขนาด 10 ก/กก (ขนาดที่ทดลองเป็น 16,667 เท่า ของที่ใช้ในตำรับยา) ไม่พบพิษ  แต่การให้น้ำมันหอมระเหยจากกระวาน พบพิษปานกลางในหนูเม้าส์และเมื่อมีการทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์จาก สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ของ Bacillus  subtillis  H-17 (Rec+)  และ M-45 (Rec-) การศึกษาความเป็นพิษของเมล็ดกระวานไทย พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเมล็ดกระวานไทยซึ่่งสกัดด้วย diluted alcohol:glycerol (95:5) ในขนาดความเข้มข้นของสารสกัด 0.5 ก./มล. แก่หนูขาวและหนูถีบจักรทั้งสองเพศในขนาดสูงถึง 10 มก./กก. ครั้งเดียว ไม่มีสัตว์ทดลองตาย หนูขาวที่ป้อนด้วยสารสกัดขนาด 2 มก./กก./วัน นาน 30 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนความเป็นพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเมล็ดกระวานไทยเมื่อป้อนให้หนูถีบจักรได้ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 2.14 มล./กก. หรือ เทียบได้กับเมล็ดกระวานไทย 43 ก./กก. จากผลการทดลองที่ได้แสดงว่าเมล็ดกระวานไทยค่อนข้างปลอดภัย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

กระวาน ก็เหมือนกับพืชสมุนไพรทั่วไป ดังนั้นข้อควรระวังในการใช้ในการเป็นยาสมุนไพรนั้นก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานานจนเกินไป ส่วนการใช้เครื่องปรุง และเครื่องเทศในการทำอาหารนั้น ในอดีตมีการใช้กันมานานมากแล้ว และไม่พบรายงานความเป็นพิษจากการใช้ในลักษณะนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้ใช้ในปริมาณที่มาก ดังนั้นการใช้กระวาน จึงน่าจะมีความปลอดภัยสูง

เอกสารอ้างอิง กระวาน
  1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา : กรุงเทพมหานคร.
  2. กระวาน. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ทรงโปรด ขวัญใจพานิช, ธวัชชัย ลิขิตาภรณ์, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, ปราณี ใจอาจ, โอภา วัชระคุปต์. การทดสอบความเป็นพิษของกระวานไทย. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2529.
  4. วัชรพงษ์ ทสะสังคินทร์, 2556, องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพ-ของเหง้าเร่วหอม และเมล็ดกระวาน.
  5. กานต์ธีรา สิงห์คำ. การศึกษาสมุนไพรยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์. โครงการพิเศษปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.1998.
  6. กระวาน (Cardamom) สรรพคุณ และการปลูกกระวาน. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. นันทวัน บุญยะประภัศร ก้าวไปกับสมุนไพร 2 ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหิดล โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง กรมป่าไม้ พิมพ์ที่ธรรมกมลการพิมพ์
  8. จงดี นิละนนท์. การค้นคว้าสารต้านมาลาเรียจากเมล็ดกระวานขาวไทย. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 1993.
  9. กระวานไทย. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.
  10. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531, หน้า 55.
  11. สมใจ นครชัย, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, ปราณี ใจอาจ, พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์, ปัญญา เต็มเจริญ. พิษวิทยาของเมล็ดกระวานไทย. วารสารสมุนไพร 1995;2(1) :7-11
  12. กระวาน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษพันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_06_1.htm
  13. Nivises N, Warmanajchinda W. Smooth muscle actions of some carminatives. Annual Research Abstracts and Bibliography of Non Formal Publication, 1987, Vol. 14.
  14. Nanasombat S, Lohasupthawee P. Antibacterial activity of crude ethanolic extracts and essential oils of species against Salmonellae and other enterobacteria. KMITL Sci. Tech. J. 2005; 5(3) 527-538.
  15. Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U. Phamacological evaluation of Thai medicinal plants (continued). J Med Assoc Thailand 1971; 54,(7): 490-504.
  16. ยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
  17. Aunphak J, Sriubolmas N, De-Eknamkul W, Ruangrungsi N. Chemical composition and antimicrobial activity of essential oil from the fruits of Amomum krervanh and A. uliginosum.  Thai J Pharm Sci 1998;22(3):S45.