ย่านาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลวิจัย

ย่านาง งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ย่านาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จอยนาง, จ้อยนาง (ภาคเหนือ), เถาย่านาง, เถาวัลย์เขียว, หญ้าภคินี (ภาคกลาง), ย่านนาง, นางวันยอ, ขันยอยาด (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra (Colebr.) Diels,
วงศ์ Menispermaceae

ถิ่นกำเนิดย่านาง

ย่านาง มีถิ่นกำเนิดในตอนกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา ความจริงแล้วพืชวงศ์ย่านางนี้มีราว 70 ตระกูล แต่ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยในป่าเขตร้อนและในป่าไม้ผลัดใบ ในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ ส่วนย่านาง ของเรานั้นพบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ในทุกภาคของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันได้มีการนำมาปลูกใบบริเวณบ้าน เพื่อใช้บริโภคและใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลาย


ประโยชน์และสรรพคุณย่านาง
  

  1. แก้ไข้เบญจโลกวิเชียร
  2. แก้พิษเมาเบื่อ
  3. ใช้กระทุ้งพิษไข้
  4. แก้เมาสุรา ถอนพิษผิดสำแดง
  5. ใช้ขับพิษต่างๆ
  6. แก้ท้องผูก
  7. แก้ไข้กลับ ไข้หัว ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้ป่าเรื้องรัง ไข้ทับระดู
  8. ช่วยบำรุงหัวใจ
  9. ช่วยบำรุงธาตุ
  10. แก้พิษภายในให้ตกสิ้น
  11. แก้โรคหัวใจบวม
  12. แก้กำเดา
  13. แก้ลม
  14. แก้ไข้จับสั่น
  15. แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว
  16. แก้ลิ้นแข็งกระด้าง
  17. รักษาโรคปวดข้อ
  18. แก้ร้อนใน
  19. แก้ดับกระหาย
  20. ไข้ฝีดาษลดพิษยาฆ่าแมลงในร่างกาย และถอนพิษอื่นๆ
  21. แก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น
  22. แก้ไข้มาลาเรีย
  23. รักษาโรคหัวใจ
  24. รักษาโรคหลอดเลือด
  25. รักษาโรคกระดูกและข้อ
  26. รักษาโรคเบาหวาน
  27. รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ
  28. ช่วยแก้อาการเจ็บเหมือนมีไฟช็อต หรือ มีเข็มแทง
  29. ทำให้อาเจียนออก 

           ใบย่านางเป็นสมุนไพรเย็น มีคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ และยังมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมาย เช่นวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน ในปริมาณค่อนข้างสูง โดยเป็นสมุนไพรที่ใครหลายๆ คนต่างก็คุ้นเคยกันดี เพราะนิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงรสช่วยเพิ่มความกลมกล่อมของอาหาร เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ แกงเลียง แกงหวาน

          ประโยชน์ย่านางที่ใช้เป็นอาหารมีดังนี้ ใบย่านาง เก็บบริโภคได้ตลอดปี ยอดอ่อนแตกใบมากในฤดูฝน ยอดอ่อนของเถาย่านางใช้กินแกล้มแนมกับอาหารเผ็ด ชาวไทยอีสาน และชาวลาวใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆ ทำให้น้ำซุปข้นขึ้น เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ ย่านาง สามารถลดฤทธิ์กรดยูริกในหน่อไม้ได้ ลดความขมของหน่อไม้ และเพิ่มคลอโรฟิลล์ และเบต้าแคโรทีน ให้กับอาหารดังกล่าว นอกจากนี้ยังใส่น้ำคั้นใบย่านางในแกงเห็ด ต้มเปรอะ แกงขี้เหล็ก แกงขนุน แกงผักอีลอก แกงยอดหวาย แกงอีลอก นำไปอ่อมและหมก ชาวใต้ใช้ยอด ใบเพสลาด (หมายถึงใบที่ไม่อ่อน ไม่แก่เกินไป) นำไปแกงเลียง แกงหวาน แกงขี้เหล็ก น้ำคั้นจากใบช่วยลดความขมของใบขี้เหล็ก ได้ นอกจากนี้ยังนำไปผัด แกงกะทิ และหั่นซอยกินกับข้าวยำได้อีก ผลสุกใช้กินเล่น ส่วนชาวเหนือใช้ยอดย่านางอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใบแก่คั้นน้ำนำมาใส่แกงพื้นเมือง เช่น แกงหน่อไม้ แกงแค

ย่านาง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ย่านาง

แก้ไข้ใช้รากย่านาง แห้ง 1 กำมือ ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำ 2 แก้วครึ่ง เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว ให้ดื่มครั้ง 1-2 แก้ว ก่อนอาหาร 3 เวลา แก้ป่วง (ปวดท้องเพราะกินอาหารผิดสำแดง)ใช้รากย่านางแดง และรากมะปรางหวาน ฝนกับน้ำอุ่น แต่ไม่ถึงกับข้น ดื่มครั้งละ 1-2 แก้วต่อครั้ง วันละ 3-4 ครั้ง หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีรากมะปรางหวาน ก็ใช้รากย่านางแดงอย่างเดียวก็ได้ หรือ ถ้าให้ดียิ่งขึ้น ใช้รากมะขาม ฝนรวมด้วย ถอนพิษเบื่อเมาในอาหาร เช่น เห็ด กลอย ใช้รากย่านางต้นและใบ 1 กำมือ ตำผสมกับข้าวสารเจ้า 1 หยิบมือ เติมน้ำคั้นให้ได้ 1 แก้ว กรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่เกลือ และน้ำตาลเล็กน้อยพอดื่มง่ายให้หมดทั้งแก้ว ทำให้อาเจียนออกมา จะช่วยให้ดีขึ้น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้หัวย่านางเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วนดื่มครั้งละ 1-2แก้ว  การใช้เป็นยาพื้นบ้านในภาคอีสาน ใช้ราก ต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น ใช้รากย่านางผสมรากหมาน้อย ต้มแก้ไข้มาลาเรีย ใช้ราก ต้มขับพิษต่างๆ น้ำย่านางเมื่อนำมาผสมกับดินสอพอง หรือ ปูนเคี้ยวหมากผสมจนเหลว สามารถนำมาทา สิว ฝ้า ตุ่มคัน ตุ่มใส ผื่นคัน พอกฝีหนองได้อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของย่านาง

ย่านาง เป็นไม้เถาเลื้อย เถากลมขนาดเล็ก มีเนื้อไม้ เลื้อยพันตามต้นไม้ หรือ กิ่งไม้ เถามีสีเขียว ยาว 10-15 เมตร เถาอ่อนสีเขียว เมื่อเถาแก่จะมีสีคล้ำ แตกเป็นแนวถี่ เถาอ่อนมีขนนุ่มสีเทา มีเหง้าใต้ดิน กิ่งก้านมีรอยแผลเป็นรูปจานที่ก้านใบหลุดไป มีขนประปราย หรือ เกลี้ยง ใบเดี่ยว หนา สีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงแบบสลับ รูปไข่ ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ฐานใบมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบมัน ไม่มีหูใบ เนื้อใบคล้ายกระดาษ แต่แข็ง เหนียว มีเส้นใบกึ่งออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบ 2-6 คู่ เส้นเหล่านี้จะไปเชื่อมกันที่ขอบใบ เส้นกลางใบด้านล่างจะย่นละเอียดใกล้ๆ โคน ขนเกลี้ยง ก้านใบผิวย่นละเอียด ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ แบบแยกแขนงตามข้อและซอกใบ มีดอก 1-3 ดอก สีเหลือง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร แยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้สีเหลือง กลีบเลี้ยงมี 6-12 กลีบ กลีบวงนอกสุดมีขนาดเล็กที่สุด กลีบวงในมีขนาดใหญ่กว่า และเรียงซ้อนกัน รูปรีกว้าง ยาว 2 มิลลิเมตร ค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกมี 3 หรือ 6 กลีบ สอบแคบ ปลายเว้าตื้น ยาว 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง เกสรเพศผู้มี 3 อัน เป็นรูปกระบอง ยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงวงในรูปกลม ยาว 2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปรีแกมขอบขนาน ยาว 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 8-9 อัน แต่ละอันยาวไม่ถึง 1 มิลลิเมตร ติดอยู่บนก้านชูสั้นๆ ยอดเกสรเพศเมียไม่มีก้าน ผลเป็นผลกลุ่ม ผลกลมรูปไข่กลับ กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง มีเมล็ดแข็ง ผลสีเขียว ฉ่ำน้ำ ออกเป็นพวง ตามข้อและซอกใบ ติดบนก้านยาว 3-4 มิลลิเมตร เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และแดงสด เมล็ดรูปเกือกม้า ผนังผลชั้นในมีสันไม่เป็นระเบียบ ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

ย่านาง

ย่านาง

การขยายพันธุ์ย่านาง

ย่านางเป็นพืชที่เจริญได้ ในดินแทบทุกชนิด ชอบดินร่วนปนทรายจะเจริญได้ดี การปลูกในฤดูฝน จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า จะงอกงามเร็วกว่าปลูกในช่วงอื่น ย่านางที่ปลูกง่ายขึ้นง่าย ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องดูแลมาก ทนความแห้งแล้งได้ดี 

           ส่วนการขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด หรือ การแยกเหง้าปลูก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เมล็ดย่านางจะมีอัตราการงอกของเมล็ดสูง แต่ต้องใช้เมล็ดที่แก่เต็มที่ที่มีลักษณะสีดำ ซึ่งควรนำมาตากแห้ง 5-7 วัน ก่อนปลูก การปลูกด้วยการหยอดเมล็ดต้องระวังอย่าขุดหลุมลึก เพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้ง่าย

           ส่วนการดูแลรักษาย่านาง ไม่มียุ่งยากมาก เนื่องจากย่านางจะเติบโตได้ดี ในดินมีความชื้นเพียงพอ และสามารถเติบโตได้ถึงแม้จะมีวัชพืชขึ้นหนา เนื่องจากต้นย่านางจะสร้างเถาเลื้อยอยู่ด้านบนพืชชนิดอื่น

           สำหรับเรื่องการใส่ปุ๋ยย่านางนั้นไม่จำเป็น ถ้าหากดินมีสภาพอินทรีย์วัตถุที่เพียงพอ เราสามารถใช้เพียงปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ 1 ถัง/ต้น ก็เพียงพอ แต่หากต้องการให้ใบเขียวเข้มมากขึ้น อาจต้องใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 หรือ ปุ๋ยยูเรียเพิ่มในอัตรา 50-100 กรัม/ต้น หรือ ประมาณ 1 กำมือ สำหรับต้นที่แตกเถายาว ส่วนต้นขนาดเล็กต้องปรับปริมาณลดลงแล้วนำต้นกล้าที่ได้มาปลูกลงในแปลงดิน ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1×1 เมตร และเมื่อต้นเริ่มเลื้อยทอดยอด ให้ทำหลักปักไว้ ทำค้างให้เถาเลื้อยขึ้น

           การเก็บผลผลิตย่านาง จะเริ่มเก็บผลผลิตใบย่านาง ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังปลูกลงในแปลง ใบมีขนาดโตเต็มที่มีสีเขียว จะสามารถเก็บเกี่ยวใบย่านางได้ และจะเก็บได้ตลอดไปเรื่อยๆ


องค์ประกอบทางเคมี

สาระสำคัญที่พบในใบย่านางส่วนมากจะเป็นสารกลุ่มฟินอลิก (phenolic compound) ได้แก่ มิเนโคไซด์ (Minecoside), กรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก (p-hydroxy benzoic acid) และสารในกลุ่มฟลาโวนไกลโคไซด์ ได้แก่ สารโมโนอีพอกซีบีตาแคโรทีน (moonoepoxy-betacarotene) และอนุพันธ์ของกรดซินนามิก (flavones glycosidf cinnamic acid derivative) ส่วนสารอัลาลอยด์ (alkaloid) ได้แก่ ทิเรียโครีน (tiliacorine), ทิเรียโคลินิน (Tiliacorinine), นอร์ทิเรียโครินิน (nor-tiliacorinine), tiliacorinin 2,-N-oxide Tiliandrine, Tetraandrine และ D-isochondendrine พบได้ทั้งในราก และใบย่านาง การศึกษาองค์ประกอบหลักที่มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากรากย่านาง โดยสกัดรากด้วยตัวทำละลาย chloroform:methanol:ammonium hydroxide ในอัตราส่วน (50:50:1) ใช้วิธีแยกสารด้วย column chromatography และการตกผลึก พบว่าได้สารประกอบ alkaloid 2 ชนิด คือ tiliacorinine (I) และ tiliacorine (II) ปริมาณ 0.0082% และ 0.0029% ตามลำดับ ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของย่านาง นั้นมีดังนี้

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของย่านาง

โครงสร้างย่านาง

  • พลังงาน                     95        กิโลแคลอรี
  • เส้นใย                        7.9       กรัม
  • แคลเซียม                155.0    กรัม
  • ฟอสฟอรัส                 11.0      มิลลิกรัม
  • เหล็ก                          7.0       มิลลิกรัม
  •  วิตามินเอ                   30625   (IU)
  • วิตามินบี 1                 0.03     มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                  0.36     มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน                     1.4       มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                   141.0   มิลลิกรัม
  • เถ้า                             8.46%
  • ไขมัน                         1.26%
  • โปรตีน                       15% 
  • น้ำตาลทั้งหมด           59.47%
  • แคลเซียม                 1.42%
  • ฟอสฟอรัส                  0.24% 
  • โพแทสเซียม             1.29%
  • กรดยูเรนิค                 10.12%
  • โมโนแซคคาไรด์
  • แรมโนส                     0.50%
  • อะราบิโนส                 7.70%   หน่วยเปอร์เซ็นต์ (ใบย่านาง 100 กรัม/น้ำหนักแห้ง)
  • กาแลคโตส                8.36%
  • กลูโคส                      11.04%
  • ไซโลส                      72.90% 


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของย่านาง

           ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum ของสารสกัดรากย่านางด้วยเมทานอล ซึ่งสารสกัดมีสาร alkaloid เป็นองค์ประกอบ 2 ส่วนสกัด คือส่วนที่ละลายน้ำ และส่วนที่ไม่ละลายน้ำ พบว่าเฉพาะสาร alkaloid ที่ไม่ละลายน้ำ (water-insoluble alkaloid) มีฤทธิ์เพิ่มการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย จากองค์ประกอบทางเคมีที่แยกได้ พบสาร alkaloid ที่แตกต่างกัน 5 ชนิด ในกลุ่ม bisbenzyl isoquinoline ได้แก่ tiliacorine, tiliacorinine, nor-tiliacorinine A, และสาร alkaloid ที่ไม่สามารถระบุโครงสร้างได้ คือ G และ H ซึ่งพบว่าสาร alkaloid G มีฤทธิ์สูงสุดในการกำจัดเชื้อมาลาเรียระยะ schizont (เป็นระยะที่เชื้อมาลาเรียเข้าสู่เซลล์ตับ แล้วเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลมรี และมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการแบ่งนิวเคลียสเป็นหลายๆ ก้อน) โดยมีค่า ID50 เท่ากับ 344 ng/mL ตามด้วย nor-tiliacorinine A และ tiliacorine ตามลำดับ (ID50s เท่ากับ 558 และ 675 mg/mL ตามลำดับ)

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค สาร bisbenzylisoquinoline alkaloids 3 ชนิด ได้แก่ tiliacorinine, 20-nortiliacorinine และ tiliacorine ที่แยกได้จากรากย่านาง และอนุพันธ์สังเคราะห์ 1 ชนิด คือ 13҆-bromo-tiliacorinine สารทั้ง 4 ชนิดนี้ ได้นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยา multidrug-resistant Mycobacterium tuberculosis (MDR-MTB) ผลการทดสอบพบว่า สารทั้ง 4 ชนิด มีค่า MIC อยุ่ระหว่าง 0.7 - 6.2 μg/ml แต่ที่ค่า MIC เท่ากับ 3.1 μg/ml เป็นค่าที่สามารถยับยั้ง MDR-MTB ได้จำนวนมากที่สุด

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง โดยศึกษาผลของสาร tiliacorinine ซึ่งเป็นสาร กลุ่ม alkaloid ที่พบใบย่านาง ในการทดสอบ in vivo ทำในหนูถีบจักร เพื่อดูผลลดการเจริญของก้อน เนื้องอกในหนูที่ได้รับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และสาร tiliacorinine ผลการทดสอบพบว่า tiliacorinine มีนัยสำคัญในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลอง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.5-7 µM โดยกลไกการกระตุ้นกระบวนการ apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย และการทดสอบในหนูพบว่าสามารถลดการเจริญของก้อนเนื้องอกในหนูได้

           การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้านไทย จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ผักกูด ผักติ้ว ผักปลัง ขาว ย่านาง ผักเหมียง และผักหวานบ้าน โดยการสกัดสารสำคัญด้วยแอลกอฮอล์จากผักแต่ละชนิด ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผักทั้ง 6 ชนิด เปรียบเทียบกับตัวควบคุม วิตามินซี และวิตามินอี สารสกัดจากย่านางส่วนที่ละลายน้ำและส่วนที่ไม่ละลายน้ำให้ค่า IC50 499.24 และ 772.63 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าที่ได้จากวิตามินซี และวิตามินอี ที่ IC50 9.34 และ 15.91 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

           งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในประเทศไทยตรวจสอบฤทธิ์ระงับปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบของพืชผักพื้นบ้านอีสาน 10 ชนิด การตรวจหาฤทธิ์ระงับปวดโดยใช้ writhing test และ tail flick test สำหรับการตรวจฤทธิ์ต้านอักเสบ ใช้ rat hind paw edema model

           ผลการทดสอบใช้สารสกัดพืชผักพื้นบ้านด้วยน้ำ ขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูเพศผู้ 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดจาก ใบตำลึง ใบย่านาง มะระขี้นก ผักติ้วแดง ผักชะพลู ผักกาดฮีน และผักชีลาว มีผลลดการเกิด writhing ในหนูร้อยละ 35-64 (p<0.05)

           การทดสอบฤทธิ์ระงับปวดด้วย tail flick test พบว่าสารสกัดจากใบตำลึง และใบย่านางมีฤทธิ์ระงับปวด จากนั้นคัดเลือกสารสกัดที่มีฤทธิ์มากที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ ใบตำลึง ใบย่านาง ผักติ้วแดง และผักกาดฮีน มาทำการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยใช้คาราจีแนนเป็นสารระตุ้น พบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ไม่มีฤทธิ์ต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง ผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดจากใบตำลึง และใบย่านางอาจจะออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาท

           ส่วนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในห้องทดลองขั้นต้นพบว่า สารสกัดใบย่านางมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของรีเซ็ปเตอร์ที่ขนคอเลสเตอรอลเข้าสู่ตับ แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลลดคอเลสเตอรอลในเลือดของระบบร่างกาย หรือ ไม่ การค้นพบนี้อาจเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของย่านางที่ใช้รักษาโรคหัวใจมาแต่โบราณได้ หากแต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

           จากการทดสอบฤทธิ์ลดไข้ของสารสกัด 50% เอทานอลจากรากย่านาง เมื่อนำไปตรวจสอบฤทธิ์ในการลดไข้ พบว่าไม่มีคุณสมบัติในการลดไข้แต่มีพิษต่อสัตว์ทดลอง การวิจัยทางเคมีได้แยกอัลคาลอยด์ ออกมาสองประเภท คือ อัลคาลอยด์ที่ไม่ละลายน้ำ (water-insoluble alkaloids) และอัลคาลอด์ที่ละลายน้ำ (water-soluble quarternary base) เมื่อตรวจสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอัลคาลอยด์ที่แยกได้ พบว่าการเกิดพิษต่อสัตว์ทดลองเกิดจาก water-soluble quarternary base ซึ่งมีฤทธิ์คล้าย curare จากการตรวจหาสูตรโครงสร้างสรุปได้ว่า water-soluble quarternary base นี้อาจอยู่ในจำพวก aporphine alkaloids


การศึกษาทางพิษวิทยาของย่านาง

พิษเฉียบพลัน และกึ่งเรื้อรังของย่านาง ศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากทุกส่วนของย่านาง โดยการป้อนสารสกัด ในหนูเพศผู้ และเพศเมีย ชนิดละ 5 ตัว ในขนาด 5,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว พบว่าไม่มีอาการแสดงของภาวะเป็นพิษเกิดขึ้น และ ไม่มีการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงไม่มีการตาย หรือ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายใน สารสกัดใบย่านาง ด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังของหนู ปริมาณ 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัม (คิดเป็นปริมาณ 6,250 เท่าของปริมาณที่คนได้รับ) ไม่แสดงความเป็นพิษ การศึกษาพิษเรื้องรัง ทดสอบโดยป้อนสารสกัดแก่หนูทดลอง เพศผู้ และเพศเมีย ชนิดละ 10 ตัว ทุกวัน ในขนาดความเข้มข้น 300, 600 และ 1,200 mg/kg ติดต่อกันนาน 90 วัน ไม่พบความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม และสุขภาพ หนูในกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม จะมีการทดสอบในวันที่ 90 และ 118 โดยตรวจร่างกาย และมีกลุ่มที่ติดตามผลต่อไปอีก 118 วัน ผลการทสอบพบว่า น้ำหนักของอวัยวะ ค่าชีวเคมีในเลือด และเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน ไม่พบการเกิดพิษ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดย่านางด้วยน้ำ ไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังในหนูทดลอง ทั้งในหนูเพศผู้ และเพศเมีย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เมื่อทำน้ำย่านาง เสร็จแล้วควรดื่มทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไปจะเกิดกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือ เกิดการบูดขึ้นได้ แต่สามารถนำมาแช่ตู้เย็นได้ และควรดื่มให้หมดภายใน 3 วัน
  2. ในการดื่มน้ำย่านาง ควรดื่มก่อนอาหาร หรือ ตอนท้องว่างประมาณครึ่งแก้ว 3 ครั้งต่อวัน
  3. บางคนที่รู้สึกว่าน้ำย่านาง เหม็นเขียว รับประทานยากสามารถนำน้ำย่านางไปต้มให้เดือดแล้วนำมาดื่ม หรือ จะผสมกับน้ำสมุนไพรชนิดอื่นๆ ก็ได้ เช่น ขิง ขมิ้น ตะไคร้ หรือ จะผสมกับน้ำมะพร้าว น้ำตาล น้ำมะนาว หรือ แม้แต่น้ำหวานก็ได้เช่นกัน
  4. ควรดื่มปริมาณแต่พอดี หากดื่มแล้วรู้สึกแพ้ พะอืดพะอม ก็ควรลดความเข้มข้นของสมุนไพรที่ใส่ลงไปให้น้อยลง

เอกสารอ้างอิง ย่านาง
  1. Dechatiwongse T, Kanchanapee P, Nishimoto K. Isolation of active principle from Ya-nang (Tiliacora triandra Diels). Bull Dept Med Sci. 1974;16(2):75-81.
  2. อัจฉราภรณ์ ดวงใจ, นันทีทิพ ลิ้มเพียรชอบ, ขนิษฐพร ไตรศรัทธ์. คุณสมบัติคลอเรสเตอรอลของสารสกัดใบย่านางในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่เลี้ยงต่อเนื่อง Caco-2.คอลัมน์บทความวิจัย. วารสารนเรศวรพะเยา. ปีที่ 8. ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2558. หน้า 87-92
  3. รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ. มหัศจรรย์ย่านาง จากซุปหน่อไม้ถึงเครื่องดื่มสุขภาพ. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 370. กุมภาพันธ์. 2553
  4. Sireeratawong S, Lertprasertsuke N, Srisawat U, Thuppia A, Ngamjariyawat A, Suwanlikhid N, et al. Acute and subchronic toxicity study of the water extract from Tiliacora triandra (Colebr.) Diels in rats. Sonklanakarin J Sci and Technol. 2008;30(5):611-619.
  5. ย่านาง..อาหารที่เป็นยา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. Pavanand K, Webster HK, Yongvanitchit K, Dechatiwongse T. Antimalarial activity of Tiliacora triandra Diels against Plasmodium falciparum in vitro. Phytotherapy Research. 1989;3(5):215-217.
  7. ย่านาง. ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=148
  8. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา. เอกชัย ดำเกลี้ยง, พยุงศักดิ์ สุรินต๊ะ, วสันต์ ดีล้ำ, ฤทธิ์ปรับ ภูมิคึ้มกัน ต้านออกซิเดชั่น และต้านจุลชีพของสารสกัดผักพื้นบ้านและสมุนไพรอีสาน, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน
  9. Janeklang S, Nakaew A, Vaeteewoottacharn K, Seubwai W, Boonsiri P, Kismali G, et al. In vitro and in vivo antitumor activity of tiliacorinine in human cholangiocarcinoma. Asian Pac J Cancer Prev. 2014;15(17): 7473-7478.
  10. Phomkaivon N, Areekul V. Screening for antioxidant activity in selected Thai wild plants. Asian J Food Agro-Ind. 2009;2(4)433-40
  11. ย่านาง. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชมหาวิทยาอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=192
  12. Sureram S, Senadeera S, Hongmanee P, Mahidol C, Ruchirawat S, Kittakoop P. Antimycobacterial activity of bisbenzylisoquinoline alkaloids from Tiliacora triandra against multidrug-resistant isolates of Mycobacterium tuberculosis. Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters. 2012;22:2902-2905.
  13. Fumio I, Supanee D, Naoko K, Yuichi F, Masaki A, Nijsiri R, et al. Chemical and biological studies on some Thai medicinal plants. J Sci Soc.1990;16:25-31.
  14. Saiin C, Markmee S. Isolation of anti-malaria active compound from Yanang (Tiliacora triandra Diels.). Kasetsart J Nat Sci. 2003;37:47-51.
  15. Naibaho NM, Laohankunjit N, Kerdchoechuen O. Volatile composition and antibacterial activity of essential oil from Yanang (Tiliacora triandra) leaves. Agri Sci J. 2012;43(2):529-32.